บทสรุป(2) ว่าด้วยเออีซี

ปรากฏการณ์การตื่นตัวเตรียมรับการหลอมรวมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ดูคึกคักอย่างมาก  มีความสัมพันธ์กับโอกาสและพลิกโฉมหน้าใหม่ทางธุรกิจ หรือไม่ อย่างไร    เป็นเรื่องต้องติดตามต่อไป  แม้ว่าจะ เป็นความตื่นตัวอย่างไม่เป็นกระบวน แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย

 

ความเข้าใจพื้นฐานในทางธุรกิจที่มีความสัมพันธ์โดยตรงการเกิดขึ้นของ AEC (Asean Economics Community) คงต้องพิจารณาจาก AEC Blueprint   ซึ่งให้ความหมายสำคัญอันดับแรกไว้อย่างชัดเจน ถึง “การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน” (http://www.thai-aec.com)   ซึ่งขยายความว่ามี 5 องค์ประกอบหลัก คือ (1) การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี (2) การเคลื่อนย้ายบริการเสรี (3) การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี (4) การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีขึ้น (5) การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี

จากชิ้นส่วนของบทความชุดโฉมหน้าธุรกิจไทยหลังปี 2540   ที่ได้เสนอมามาตลอดหนึ่งปีมานี้ ให้ภาพและพาดพิงถึง อย่างสม่ำเสมอ แต่กระจัดกระจายไปตามความสนใจเรื่องต่างๆ โดยได้กล่าวถึงประเด็นการหลอมรวมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไว้ตั้งแต่ตอนแรกๆ ถือเป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญของบทความ ที่เชื่อว่า ปรากฏการณ์การหลอมรวมทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลวง หัวเมืองและชนบท กับระหว่างระบบเศรษฐกิจ (ประเทศ) ในภูมิภาคเดียวกันจะมีมากขึ้นๆ

แต่ยังไม่เคยกล่าวถึงโดยตรง เช่นบทสรุปตอนนี้

ธุรกิจการเงิน

จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ช่องทางที่เปิดกว้างครั้งใหญ่สำหรับธนาคารต่างชาติ ให้เข้ามาเป็นธนาคารท้องถิ่นของไทย ที่มาจากวิกฤติการณ์เมื่อปี  2540 เป็นต้นมา  ถือเป็นความต่อเนื่องของความพยายามและความเอาการเอางานและสอดคล้องกับความเป็นไปในระดับภูมิภาค

โดยเฉพาะเครือข่ายการเงินของสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (เครือข่ายของ CIMB-มาเลเซีย) เข้าซื้อกิจการธนาคารไทย ซึ่งมาจากรวมกิจการธนาคารสหธนาคารที่มีปัญหากับบริษัทเงินทุนอีกหลายแห่ง)   United Overseas Bank (UOB)–สิงคโปร์ (เริ่มต้นเข้าซื้อกิจการธนาคารแหลมทอง ต่อมาชื้อกิจการธนาคารเอเชีย ซึ่ง ABN Amro แห่งเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ถือหุ้นก่อนหน้านั้น มารวมกัน)     สะท้อนบทบาทและยุทธ์ศาสตร์การปรับตัวของระบบธนาคารในภูมิภาค ถือว่าเป็นครั้งแรกๆที่เครือข่ายธนาคารระดับภูมิภาค สร้างเครือข่ายเข้าถึงผู้บริโภคไทยได้โดยตรง

ความกระตือรือร้นของUOBแห่งสิงคโปร์ CIMB แห่งมาเลเซีย ให้ภาพรวมและเป็น”ตังแทน” ความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในความพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจครอบคุลมทั้งภูมิภาค โดยไม่จำกัดเฉพาะประเทศไทย

ทั้งนี้รวมไปถึงความเคลื่อนไหวที่คึกคักมากกว่านั้น ที่ตลาดหุ้นด้วย

DBS Bank ธนาคารอันดับหนึ่งของสิงคโปร์ ถือหุ้นใหญ่โดย Temasek holding ในช่วงแรกดำเนินธุรกิจเชิงรุก นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารต่างชาติเข้าถือหุ้นข้างมากในธนาคารพาณิชย์ไทย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง   DBS Bank จึงเหลือหุ้นในธนาคารทหารไทยเพียง6.8 % แต่ก็ยังถือคงบทบาทสำคัญไม่น้อย ในขณะที่ให้ความสำคัญในฐานะผู้ค้าหลักทรัพย์ในประเทศไทยต่อไป

DBS   เริ่มต้นธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในเมืองไทยอย่างจริงในฐานะซับโบรกเกอร์ ด้วยการประมูลสินทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2541   ต่อมาได้ขยายเครือข่าย ด้วยการซื้อธุรกิจนายหน้าค้าหุ้นรายใหญ่ในสิงคโปร์ – Vickers Ballas (VB) ซึ่งมีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ในเมืองไทยด้วย

ส่วน UOB ธนาคารอันดับสองของสิงคโปร์ ดูเหมือนเอาการเอางานมากว่า DBS ทั้งในธุรกิจธนาคารและค้าหลักทรัพย์ เริ่มต้นซื้อธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยในปี 2543  ต่อมาควบรวมกิจการระหว่าง UOB Securities และKay Hian Holdings Ltd  ในสิงคโปร์  โดยอัตโนมัติจึงครอบงำ กิจการในไทย–หลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และยังได้ซื้อธุรกิจรายย่อยจาก บริษัทหลักทรัพย์บีเอ็นพี พาริบาส์ พีรีกรีน (ประเทศไทย)ด้วย

กรณี ซีไอเอ็มบี  มาเลเซีย เมื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไทยธนาคารแล้วนั้น ได้มีธุรกิจหลักทรัพย์ พ่วงเป็นของแถมมาด้วย   ถือเป็นความต่อเนื่องของการขยายเครือข่ายค้าหลักทรัพย์  จากก่อนหน้านั้น ซีไอเอ็มบี เข้ามาในตลาดหุ้นไทย ในฐานะผู้ค้าหลักทรัพย์ (บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี-จีเค)

จากนั้นไม่นาน Maybank –ธนาคารใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นธนาคารระดับภูมิภาคแล้ว ได้ขยายเครือข่ายการค้าหุ้นเข้ามาเมืองไทยอย่างคึกโครม ด้วยการซื้อกิจการ Kimeng ธุรกิจค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย (เป็นผู้ค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย) เป็นจุดเริ่มต้น ในการก้าวสูเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายการเงินครบวงจรในประเทศไทยต่อไป

โดยภาพรวมที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารใหญ่ในอาเซียนอีกอย่างน้อย 5 แห่ง ล้วนมีขนาดธุรกิจ (สินทรัพย์) ใหญ่กว่าธนาคารใหญ่ของไทย (ไมว่าธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ )โดยเฉพาะรวมทั้งธนาคารของสิงคโปร์และมาเลเซีย 4 แห่ง ที่มีเครือข่ายอย่างมั่นคงในประเทศไทยด้วย  ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ในฐานะเป็นกลไกขับเคลื่อนทางธุรกิจที่สำคัญมาก  ทั้งๆที่เมื่อประมาณ 2 ทศวรรษที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพของไทย เคยเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ว่าไปแล้ว บทบาทระดับภูมิภาคของธนาคารไทยดำเนินไปอย่างเฉื่อยเนือย  จำกัดและไม่ทันกาล  มีความสัมพันธ์กับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างแยกไม่ออก   ระบบการเงินไทย ทั้งสถาบันการเงินและตลาดหุ้นมีปัญหาทั้งระบบ ต้องใช้เวลาถึงประมาณ5 ปีในกระบวนการปรับปรุง และฟื้นตัว    นับว่าเสียโอกาสไปมากทีเดียว ที่สำคัญภาพหลอนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ สะท้อนไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้บริหาร มืออาชีพทั้งระบบ รวมทั้งกระทบมายังผู้กำกับกฎ กติกาด้วยทั้งธนาคารกลางและผู้กำกับตลาดทุนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีปัญหามากมาย โดยเฉพาะในกระบวนการการแก้วิกฤติการณ์ที่มี”ความเสียหาย”ซ่อนอยู่อย่างมาก

ความไม่นั่นใจในความสามารถ ของระบบการเงินไทย จึงแสดงออกมาในสถานการณ์นี้อย่างช่วยไม่ได้

เครือข่ายเกษตรกรรม

แผนการใหม่ของธุรกิจเกษตรไทย  ในความพยายามขยายธุรกิจออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ควรได้รับการประเมินใหม่ ว่าเป็นความพยายาม”สร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน” อย่างเป็นจริง และเป็นเรื่องน่าสนใจ

“—-กันยายน 2548กลุ่มน้ำตาลมิตรผล เริ่มต้นธุรกิจในประเทศลาว ตามแผนการปลูกอ้อยประมาณหนึ่งแสนไร่และตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลมากถึงล้านตัน/ปี ในแขวงสะหวันนะเขต

 

— มกราคม 2553 กิจการในกลุ่มเคเอสแอล เปิดโรงงานผลิตน้ำตาล ถือได้ว่าเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศกัมพูชา  ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการร่วมทุน( ไทย กัมพูชา และไต้หวัน )ในโครงการเพาะปลูกอ้อยและก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ที่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา  โดยได้รับสัมปทานพื้นที่เพาะปลูกจากกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมสองอำเภอของจังหวัดเกาะกง เนื้อที่รวมกันมากว่าหนึ่งแสนไร่  การดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทั้งดำเนินการเพาะปลูกอ้อย และธุรกิจโรงงานน้ำตาล–ท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งมีกำลังหีบอ้อย 700,000 ตันอ้อยต่อปี”(จากเรื่องเกษตรกรรมไทย(3) โมเดลใหม่   มกราคม 2555  ) ไม่เพียงเป็นตัวอย่างของความพยายาม  สร้างจินตนาการและโมเดลอุตสาหกรรมการเกษตรแบบเดิมไปสู่ทิศทางใหม่ ยังจะกลายเป็นการผลิตสินค้าและฐานการผลิตที่มีอนาคตในระดับภูมิภาคด้วย

โมเดลการการจัดการกับที่ดินเกษตรกรรมแปลงใหญ่ของธุรกิจไทย ในประเทศเพื่อนบ้าน มีภาพที่กว้างออกไปจากอุตสาหกรรมน้ำตาลมากที่กล่าวมาแล้วอย่างน่าตื่นเต้น  ถือเป็นระบบPlantationที่กว้างขึ้น ที่มองเห็นโอกาสของธุรกิจเกษตร ที่เป็นภาพเชื่อมโยงถึงสินค้าปลายทาง อาหารและพลังงาน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งพัฒนาจากการเกษตรพื้นฐาน สู่อุตสาหกรรม หรือกระบวนการใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่ม

“เครือข่ายธุรกิจไทยเจริญหรือทีซีซี โดยกลุ่มพรรณธิอร กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรที่จัดกลุ่มใหม่ ขยายธุรกิจสู่กัมพูชา โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549   โครงการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจร ตั้งแต่การปลูกปาล์มในพื้นที่กว้างใหญ่ จนถึงก่อตั้งโรงงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งแรกในกัมพูชา ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองสีหนุวิลล์ โครงการที่สอง—ท่าเรือแห่งแรกที่เป็นของเอกชนที่เกาะกงด้วย ทั้งสองโครงการอยู่ในพื้นที่ประมาณ 150,000   ไร ส่วนในประเทศลาว กลุ่มพรรณธิอรจัดการกับพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่ในโครงการครบวงจรจากการปลูกกาแฟในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล1.300 เมตรบริเวณที่ราบสูงในเมืองปากซ่อง แขวงจำปาสัก”

 

สำหรับประเทศลาว มีความเคลื่อนไหวจากธุรกิจไทยรายอื่นๆ อย่างคึกคัก ตั้งแต่กลุ่มซีพีเข้าไปสนับสนุนให้ชาวลาวปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยพันธุ์เฉพาะของซีพีในแขวงไซยะบุลี  บริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง ข้าไปส่งเสริมการปลูกและรับซื้อเมล็ดละหุ่งในแขวงเวียงจันทน์และไซยะบุลี  กลุ่มแอดว๊านซ์อะโกร เจ้าของผลิตภัณฑ์กระดาษดับเบิ้ลเอ ส่งเสริมและรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสในแขวงสะหวันนะเขต คำม่วน และเวียงจันทน์ บริษัทไทยฮั้วยางพาราผู้นำธุรกิจยางพาราของไทย ร่วมทุนกับฝ่ายลาวนำกล้ายางไปทดลองปลูกและส่งเสริมเกษตรกรในแขวงสะหวันนะเขต  จนถึงบริษัทเจียเม้ง ธุรกิจค้าข้าวเก่าแก่ของไทย เข้าไปทดลองปลูกข้าวทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธ์ใหม่ๆในเขตนครหลวงเวียงจันทน์(จากตอนเดียวกันที่อ้างแล้ว)

ถือเป็นภาพใหญ่ที่น่าสนใจ   ในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจไทยที่มีคิดชี้นำสังคมพอสมควร เส้นทางที่เขาเลือกเดินเพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดระดับภูมิภาค  เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างยาวไกล มีความเสี่ยงพอสมควร เมื่อเปรียบกับปรากฏการณ์อันฉาบฉวย  ที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เคยถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในช่วงก่อนวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่ผ่านมา

มีบางคนมองว่า เมื่อสถานการณ์ข้างหน้ามีความผันแปร มีความไม่แน่นอน   ผู้คนมักมองไปไกลกว้านั้น เพื่อสร้างความหวัง และดูเหมือนเกษตรกรรมและธุรกิจต่อเนื่อง   ซึ่งถือเป็นรากฐานดั้งเดิมของสังคมไทย และอาเซียน กลายเป็นที่จับต้อง  ยึดมั่น  และเป็นอนาคตที่ยั่งยืน  

เป็นภาพความขัดแย้ง ที่สะท้อนอย่างเด่นชัด  เป็นบทสรุปเบื้องต้น  ที่ควรติดตามและปุจฉา วิสัชนาอย่างถี่ถ้วนต่อไปอีก

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: