เจริญ นาครเขษม

เรื่องราวของเจริญ สิริวัฒนภักดี  กับกรณีการเข้าซื่้อที่ดินย่านเวิ้งนาครเขษม มีมิติมากกว่าธุรกิจทีมองอย่างง่ายๆ   เชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของภาพเชื่อมโยงกับความเชื่อ และแรงบันดาลใจ  ในฐานะปัจเจก ว่าด้วยสถานะทางสังคม

 

ด้วยความพยายามปะติดประต่อ  ข้อมูลหรือจ๊กซอร์ต่างๆ ส่วนใหญ่ได้มาจากการพินิจพิเคราะห์และอ้างอิงจากฝ่ายเจริญ  สิริวัฒนภักดีเอง จากนั้นผมพยายามตีความ และขยายความขึ้นเอง

“คุณเจริญเกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้ คุณเจริญได้เริ่มทำการค้าตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาได้สมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่” (อ้างจาก http://www.tcc.co.th) นี่คือความตั้งใจกล่าวถึงประวัติของกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะชน ผ่านwebsite ทางการของกลุ่มทีซีซีเอง ถือว่ามีมากกว่าธุรกิจครอบครัวไทยทั่วไป   มักไม่ให้ความสำคัญกับการบันทึกประวัติธุรกิจตนเอง

 

เรื่องราวที่บันทึกไว้ให้ความสำคัญผู้ก่อตั้งมากเป็นพิเศษ  โดยสาระแม้จะมีการตีความแตกต่างออกไปบ้าง “เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจมาด้วยความยากลำบาก จนกลายเป็น “คนสุดท้าย” ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน ซึ่งกลายพันธุ์ไปมากแล้วในปัจจุบัน ความสำเร็จของเขาดูมั่นคงและมีรากฐานมากคนหนึ่ง” ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเขียนถึงไว้เช่นกัน (กลุ่มไทยเจริญ(1) ภาพใหญ่  กลางปี 2553   )

 

ในข้อมูลชุดเดียวกันของทีซีซี  ให้ภาพใหญ่ของธุรกิจไว้ด้วย “จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น เบียร์ แอลกอฮอลล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ตลอดจนได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ และการร่วมทุนกับแคปปิตอล แลนด์ ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น”

 

ในแง่ความเชื่อ แรงบันดาลใจ ความภาคภูมิและความสำเร็จ ประวัติที่ตั้งใจเขียนขึ้นเอง  ให้ความสำคัญ 2 เรื่อง หนึ่ง–ความสำคัญของบทบาทพ่อตา (กึ้งจู แซ่จิว)“คุณเจริญได้มีโอกาสใกล้ชิดและได้รับคำชี้แนะจากพ่อตาซึ่งให้หลักยึดด้วยคำจีน 4 คำ คือ ยิ่ม (ความอดทน จะทำให้สำเร็จและบรรลุตามเป้าหมาย) เหยียง (ความเสียสละ จะทำให้พ้นภัย) แจ๋ (ความเงียบ สุขุม ทำให้เกิดปัญญา) และ ลัก (ความร่าเริง จะมีสุขอายุยืน) เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ดำเนินชีวิต”   ถือเป้นการนำเสนอความหมายที่น่าสนใจเพิ่มเติม   นอกจากบทบาทเป็นที่รู้กันในวงการในฐานะผู้สนับสนุนและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางธุรกิจของเจริญ สิริวัฒนภักดี

 

อีกเรื่องที่เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก  โดยกล่าวเน้นไว้เป็นพิเศษ  “เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานนามสกุล “สิริวัฒนภักดี” คุณเจริญได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) และปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)…….”

 

เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า  ทีซีซี–กลุ่มธุรกิจที่เคยปิดตัวเองอย่างมากในอดีต  แต่ปัจจุบันกลับเสนอเรื่องราวของตนเองมากขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น  โดยเฉพาะในมิติความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์และบริบททางสังคม   มีแง่มุมเชิงความคิดมากขึ้น โดยสะท้อนจาก 2 กรณีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ด้วย

 

หนึ่ง–ท่าเรือบริษัท อีสท์ เอเชียติก

“ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประเทศในแถบทวีปเอเชียถูกรุกรานโดยชาติมหาอำนาจจากยุโรป และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก พร้อมกับการก่อกำเนิดท่าเรือของบริษัท อีสท์ เอเชียติก ซึ่งมีนายฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์กเป็นเจ้าของ เพื่อการค้าไม้สักไปต่างประเทศ จึงสร้างท่าเรือขนถ่ายสินค้าขึ้น   ณ ท่าเรือแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของประตูการค้าสากลระหว่างสยามประเทศและยุโรป เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้สยามดำรงความเป็นเอกราชมาจนปัจจุบัน

 

ในวันนี้ ณ ผืนแผ่นดินเดิม อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ อีสท์ เอเชียติก ได้ถูกเนรมิตให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ “ASIATIQUE the Riverfront” โครงการไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แลนด์มาร์คใหม่ล่าสุดของกรุงเทพมหานคร” (http://www.thaiasiatique.com) ความพยายามเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคมไทยยุคอาณานิคมกับการลงทุนทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน แม้ดูไม่กลมกลืนเท่าที่ควร แต่ได้ให้ภาพหนึ่งที่น่าทึ่ง มีสีสัน เป็นจินตนาการต่อเนื่อง จากภาพพ่อค้าเชื้อสายจีน เริ่มต้นจากสองมือเปล่า กับธุรกิจอิทธิพลจากสัมปทานการค้าสุราในยุคไม่นานัก กลับย้อนเวลาไปเชื่อมต่อกับร่องรอยและกลิ่นไอประวัติศาสตร์สำคัญของสังคมไทย

 

ที่มาของเรื่องข้างต้น มีความสัมพันธ์กัน เมื่อเจริญ สิริวัฒนภักดี  ได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ธุรกิจสุราในช่วงปี 2530 เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่   อีสท์ เอเชียติก ผู้นำการค้าตั้งแต่ยุคอาณานิคมกำลังเสื่อมถอยในสังคมธุรกิจไทยยุคใหม่ เจริญได้เข้าซื้อทีดินและสิ่งก่อสร้างของบริษัทเก่าแก่นี้ไว้

 

สอง-เบอร์ลียุคเกอร์

“จากอดีตแห่งความภาคภูมิกว่า 120 ปีในประเทศไทย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี”) ในวันนี้ เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทชั้นนำของไทย ในการประกอบธุรกิจพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก การผลิต และการให้บริการ จุดเริ่มต้นของบีเจซี มาจากหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ระหว่างตระกูลเบอร์ลี่และตระกูลยุคเกอร์ ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อันเป็นหนึ่งในบริษัททางการค้ายุคแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม” (http://www.bjc.co.th )

 

ผมเองเคยนำเสนอเรื่องราวเบอร์ลียุกเกอร์ไว้บ้าง โดยอาศัยบทสนทนา กับวอลเตอร์ ไม่เยอร์ บุคคลสำคัญของเบอร์ลียุคเกอร์ในช่วงตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี2475 จนถึงปี2536   มีบางตอนให้ภาพสนับสนุนและเพิ่มเติม “ตำนานเบอร์ลียุคเกอร๋เกิดขั้นในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง เป็นห้างฝรั่งที่นำสินค้าสมัยใหม่มาขายให้ราชสำนัก และซื้อสินค้าขั้นปฐมจากเมืองไทยส่งออกไป” (จาก เรื่องวอลเตอร์ ไมเยอร์ ในหนังสือ อำนาจธุรกิจใหม่ ปี 2541)

 

เท่าที่ทราบเมื่อเจริญซื้อกิจการเบอร์ลียุกเกอร์ในปี2544   มีความพยายามให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์กิจการอย่างจริงจัง แม้ว่าจะไม่ทราบว่าบทสรุปเป็นเช่นใด แต่พอจะคาดได้ว่า เขามีความภูมิใจกับการครอบครองกิจการอายุ 100 ปีไม่มากก็น้อย

 

ในกระบวนการ  ความพยายาม ก้าวจากธุรกิจสัมปทานผูกขาดในยุคก่อนหน้า  เข้าสู่การแข่งขันเสรีมากขึ้น จากธุรกิจสุรา ซึ่งเป็นกิจการประเภทหนึ่งที่ถูกเพ่งงมอง และตั้งข้อกังขาบางประเด็น รวมทั้ง เป็นอุปสรรคในการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทย ก้าวไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีอัลกอร์ฮอล์และอื่นๆอีกมากมาย จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ทีซีซีภายใต้การนำของเจริญ  สิริวัฒนภักดี ได้ผ่านเส้นทางหลากหลายของความล่มสลายของกิจการเก่า   ผ่านพบและสัมพันธ์กับผู้คนทรงอำนาจ  สามารถเข้าถึงเรื่องราวสำคัญของสังคม และเข้าสู่วงในของสังคมไทยมากขึ้น

 

กรณีเสริมสุข การซื้อที่ดินย่านเวิ้งนาครเขษม ไดให้ภาพเชิงซ้อนเช่นนั้นด้วยเช่นกัน

 

บริษัทเสริมสุข เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตรตระกูลธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลสังคมไทย(โดยเฉพาะ ตระกูลบูลสุขและล่ำซำ)ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป้นครั้งสำคัญของการบรรจบกันกับธุรกิจอิทธิลพระดับโลกจากสหรัฐ—PEPSI แม้ว่าเจริญและทีซีซีเข้าสวมแทนธุรกิจระดับโลก ในฐานะเจ้าของคนใหม่ โดยใช้เงินหลายพันล้านบาทซื้อกิจการ มาเสริมฐานระบบจัดจำหน่ายยุคใหม่ แต่รากเหง้า ตำนาน และสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ยังคงอยู่

 

ส่วนกรณีล่าสุด  เข้าซื้อที่ดินย่านเวิ้งนาครเขษม มูลค่าประมาณ 5000 ล้านบาท ย่อมมีความหมายและให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่เพียงเป็นการสร้างสถิติใหม่ –ซื่อขายที่ดินราคาแพงที่สุดของประเทศ   หากเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์    สำหรับเจริญ สิริวัฒนภักดี อาจเป็นเรื่องที่น่าตื้นเต้นเพิ่มขึ้น –เวิ้งนาครเขษมเป็นย่านการค้ายุคแรกๆของสังคมวงในของไทย

“ก่อนจะมาเป็นเวิ้งนาครเขษม ที่ดินตรงนี้เคยเป็นวังมาก่อน ชื่อวังน้ำทิพย์ ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นมีการขุดสระขนาดใหญ่ และทำเป็นสวนสาธารณะให้คนในวังบูรพามาเล่น สวนสนาน พักผ่อนกัน จนกระทั่งมีการล้มเลิกระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์…

 

ทูลกระหม่อมบริพัตร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ท่านทรงเห็นว่ามีชุมชนเกิดขึ้นที่นี่แล้ว จึงปรับเปลี่ยนที่ดินตรงนี้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัย เหมือนกับทางฝั่งตะวันตก ที่วังน้ำทิพย์เลยถูกถมที่ใหม่ทั้งหมด จนกลายเป็นเนินกว้างใหญ่เป็นเวิ้ง ท่านเลยประทานชื่อใหม่ว่า “เวิ้งนาครเขษม” และสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมขึ้นมา อีกทั้งในการสร้างศูนย์การค้าครั้งแรกนั้นมีการสร้างโรงภาพยนตร์นาครเขษมขึ้นมาด้วย เป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่มีโรงภาพยนตร์ขึ้น และเลื่องชื่อมาก” (อ้างจาก http://www.thairath.co.th )

 

เจริญ สิริวัฒนภักดีนับว่าเป็น “คนสุดท้าย”สามารถสร้างโอกาสครั้งใหญ่ จากจุดเริ่มต้นจากความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน เมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว ได้ก้าวไปไกลมากทีเดียว ในฐานะผู้มีความมั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย

 

ผมเชื่อว่ามีมิติอื่นที่ก้าวไปไกลเช่นกัน   — เขาสามารถก้าวเข้ามาในตำแหน่งที่เขาเลือก ในทีที่ได้รับการยอมรับ และควรจะอยู่อย่างมั่นคง

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “เจริญ นาครเขษม”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: