จากกรณี ยูเอ็มไอ(1)

 

การต่อสู้ของธุรกิจขนาดกลางในเกมใหม่น่าสนใจเสมอ    

 

แต่กรณียูเอ็มไอน่าสนใจเป็นพิเศษ —จากบทบาทผู้แข่งขันนอกสายตา ในฐานะผู้ผลิตเซรามิกอีกราย ซึ่งเอสซีจีเป็นเจ้าตลาด    ได้สะท้อนสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ และพัฒนาการที่มีเริ่มต้นร่วมกัน   โดยมีเส้นทางที่แตกต่างและก้าวมาไกลในช่วงสามทศวรรษ

 

ขณะที่เอสซีจีเพิ่งไช้เงินกว่า 6,500 ล้านบาท เข้าซื้อธุรกิจเซรามิก และจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในอินโดนีเซีย โดยมีเปาหมายยิ่งใหญ่ว่า จะกลายเป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกรายใหญ่ในอันดับ 2 ของโลกในธุรกิจเซรามิก (สิงหาคม2554)    ยูเอ็มไอใช้เงินตามกำลังประมาณ 500 ล้านบาท เข้าถือหุ้นใหญ่ใน โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม หรือ RCI และ ที.ที เซรามิค     ซึ่งเป็นกิจการผลิตกระเบื้อง เซรามิคและกระเบื้องพอร์ซเลนซึ่งเพิ่งดำเนินการในขั้นตอนซื้อขายเสร็จสิ้นไม่นานมานี้ ด้วยเป้าหมาย“มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น พัฒนาแบรนด์เป็นทางเลือกอันดับแรกของผู้บริโภค”

 

เชื่อว่าน้อยคนจะรู้ว่า ทั้งธุรกิจเซรามิกเอสซีจี  ยู้เอ็มไอ  และอาร์ซีไอ มีที่มาจากจุดเดียวกัน ในยุทธศาสตร์  และ การก่อเกิดธุรกิจใหม่ๆในช่วง3 ทศวรรษที่ผ่านมา กับความเป็นไปของธุรกิจที่มีแรงบันดาลใจแตกต่างกัน ทั้งในฐานะผู้นำ ผู้อยู่รอดและผู้พ่ายแพ้

 

บริษัทโรแยลโมเสคเอ็กซ์ปอร์ตอุตสาหกรรม จำกัด( RMEX) ก่อตั้งขึ้นจากแนวความคิดที่เป็นจริงราวปี 2512 โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่– อุดม สังขทรัพย์ และพลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นโรงงานผลิตกระเบื้องโมเสกขนาดใหญ่มาก ตั้งอยู่ที่สระบุรี โดยใช้เงินกู้จำนวนมาก จากหลายธนาคาร เช่น ธนาคารแหลมทอง ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม รวมทั้งบริษัทเงินทุนอีกหลายแห่ง

 

แต่กว่าจะดำเนินการอย่างจริงจัง ต้องผ่านมาอีกหลายปี  ในปี 2520 มีปัญหากิจการอย่างหนัก ด้วยประสบการขาดทุนอย่างหนัก    ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ ด้วยสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งกับธนาคารเจ้าหนี้ ที่ไม่ยอมจ่ายเงินกู้งวดสุดท้ายตามที่ตกลงไว้ สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน แม้ว่ามีบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ต่อมาถูกรวมกับธนาคารทหารไทย) เท่านั้นที่ตัดสินใจให้เงินกู้เพิ่มอีกนับพันล้านบาท แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

 

สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นผู้บทบทอย่างมาก ทั้งในฐานะผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย( 2519-2523) และเป็นประธานบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2516   เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการโรแยลโมเสกมาตั้งแต่ต้น ทั้งในฐานะส่วนตัวเป็นเพื่อนนักเรียนญี่ปุ่นรุ่นเดียวกับกับนายอุดม สังขทรัพย์ และเป็นช่วงเดียวกับที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆในสังคมไทย

 

เขาจึงเสนอให้เครือซิเมนต์ไทยเข้าไปหาทางช่วยเหลือ โรแยลโมเสก   ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อึดอัดและมีความขัดแย้งกันพอสมควรในที่ประชุมคณะกรรมการเครือซิเมนต์ไทย

 

เอสซีจี

เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีในเวลานั้น กำลังขยายตัวสู่ธุรกิจอื่นๆ แต่กรรมการบางคนมองการลงทุนในธุรกิจกระเบื้องโมเสก  ว่าไม่เกี่ยวข้องและเกื้อกูลกับธุรกิจโดยรวมในขณะนั้นเลย   แต่ด้วยความคิดพยายามสร้างบริษัทการค้าระหว่างประเทศ   เป็นแนวทางที่พอนำมาใช้กับกรณีได้ ในที่สุดเอสซีจี( ปี 2522) เข้าซื้อเครื่องจักรสำคัญของโรแยลโมเสก แล้วนำมาสร้างโรงงานใหม่เอง

 

ยุทธศาสตร์ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของเอสซีจีเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังก่อนหน้านั้นเล็กน้อย(2521)เป็นที่รู้กันกว่าเป็นบทเรียนจากธุรกิจญี่ปุ่น– Sogo Shosha บริษัทการค้า (Trading Company)ญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและวัตถุดิบ Sogo Shosha เป็นเครือข่ายธุรกิจหลากหลายและมีขนาดใหญ่   เช่น  Mitsubishi  , Mitsui & Co, Sumitomo Corporation  โดยมีสำนักงานนับพันแห่งรวมกันในทุกเมืองสำคัญทั่วโลก   ความคิดนี้จึงเชื่อมโยงกับธุรกิจกระเบื้องโมเสก ด้วยเป้าหมายนำสินค้าส่งออกไปขายจากต่างประเทศ

 

ว่าไปแล้วแนวคิด Sogo Shosha ที่นำมาใช้ในยุคสมหมาย ฮุนตระกูล มีด้านที่สำคัญ คือความพยายามส่งออกสินค้า แต่ขณะที่เครือข่ายธุรกิจของไทยยังเล็กมาก มีบทบาทในต่างประเทศอย่างจำกัด เมื่อเทียบกับ Sogo Shosha            ดังนั้นไม่นาน แนวคิดนี้ซึ่งด้านหนึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของระบบเศรษฐกิจของไทยที่พยายามพัฒนาการส่งออกเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งมีแรงเสียดทานอย่างมาก

 

สำหรับเอสซีจีดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังเพียงช่วงหนึ่ง ก็ค่อยๆลดบทบาทลง  อย่างไรก็ตามในอีก 3ทศวรรษต่อมาบางบทสรุป ว่าด้วยยุทธศาสตร์การลงทุนต่างประเทศกลับมีร่องรอยเชื่อมโยงมาถึง ผู้บริหารบางคนสรุปว่าความล้มเหลวการลงทุนธุรกิจวัสดุก่อสร้างในจีนในช่วงก่อนวิกฤติการณ์ ด้วยการเริ่มต้นการลงทุนด้านการผลิต น่าจะไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดี ควรเริ่มจากการค้าเพื่อเรียนรู้ เข้าใจตลาดเสียก่อน ผมคิดว่า นี่คือการค้นพบแก่นสำคัญของ Sogo Shosha โดยมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศของเอสซีจีในปัจจุบัน

 

แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งการเริ่มต้นธุรกิจนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสำคัญใหม่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการพัฒนาของสินค้า   จากบทสรุปตลาดในประเทศ สำหรับกระเบื้องโมเสกเล็กเกินไป  นำไปสู่การสร้างเครือข่ายธุรกิจกระเบื้องเซรามิก ภายใต้การแข่งขันอันดุเดือด เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ธุรกิจวัสดุก่อสร้างกว้างขึ้น ไปสู่ สุขภัณฑ์  กระเบื้องหลังคา   ฯลฯ         ในเวลาต่อมา ขณะเดียวดันกับการผลิตสินค้าเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ถือเป็นจุดสำคัญของการก้าวข้ามจากผู้ผลิตสินค้าพื้นฐาน  สู่การผลิตสินค้าผู้บริโภคมากขึ้น  เป็นแรงขับเคลื่อนให้เอสซีจี ก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่มีเครือข่ายเข้าถึงผู้บริโภคในปัจจุบัน

 

ยูเอ็มไอ กับอาร์ซีไอ

แม้ว่าปูนซิเมนต์ไทยได้ซื้อเครื่องจักรสำคัญของโรงงานโรแยลโมเสกไปแล้ว แต่ยังมีตัวโรงงานบนที่ดิน 200 ไร่ ในเวลาใกล้เคียงกันมีการแบ่งสินทรัพย์ที่เหลืออยู่เป็นสองส่วน ต่อมาส่วนหนึ่งเป็นของชำนาญ เพ็ญชาติ และอีกส่วนหนึ่งยังอยู่กับตระกูลสังขทรัพย์ต่อไป

 

ชำนาญ เพ็ญชาติ  เป็นบุตรเขยคนสำคัญของพลเอกถนอม กิตติขจร  เขาได้บุกเบิกธุรกิจต่างๆในช่วงถนอมมีอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะธนาคารสหธนาคาร  ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นผู้บริหารมาตั้งแต่ปี2499 ก่อนมาถึงยุคเรื่องราวขัดแย้งต่อสู้ ระหว่างผู้ถือหุ้นสองฝ่าย ชำนาญ กับ บรรเจิด ชลวิจารณ์   กลายเป็นกรณีอื้อฉาว (2626-2530) ก่อนจะขายหุ้นออกไป และในที่สุดธนาคารก็เดินทางไปถึงจุดจบ เมื่อถูกทางการสั่งปิดกิจการเมื่อวิกฤติการณ์มาถึง ในปี 2541

 

กิจการผลิตเซรามิก–บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม หรือยูเอ็มไอ   ถือเป็นกิจการเล็กๆที่ปล่อยให้มืออาชีพบริหาร  จนเมือไม่มีธนาคารแล้ว ทายาทของชำนาญ จึงเข้ามามีบทบาทตามสมควร  และถือเป็นธุรกิจขนาดเล็กมีความเข้มแข็ง  สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขัน

 

ส่วนบริษัท โรแยลซีรามิค อุตสาหกรรม หรืออาร์ซีไอของตระกูลสังขทรัพย์ได้ผ่านจากรุ่นบิดามาถึงบุตรีนานแล้ว กิจการเป็นไปแอย่างลุ่มๆดอนๆ จนประสบการขาดทุนติดต่อกันหลายปี    ว่ากันว่าผู้ถือหุ้นบางคนมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองคนสำคัญทางภาคใต้และบุตรชายของนักการเมือง(ปัจจุบันเป็นนักการเมือง) เคยเป็นผู้บริหารการตลาดของอาร์ซีไอมาก่อน

 

ผมไม่เคยเชื่อตรรกะ “เกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วธุรกิจจะมีปัญหา”  เพียงแต่เชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทางเศรษฐกิจกับความสามารถในการตอบสนอง“ตลาดกระเบื้องเซรามิกมีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรงต่อเนื่องมาหลายปี นอกจากจะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตภายในประเทศแล้ว ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ยังมีกระเบื้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น ด้วยโดยเฉพาะกระเบื้องพอร์ซเลน (Porcelain Tile) จากประเทศจีนที่มีราคาต่ำมีบทบาทมากขึน้ เป็นลำดับ”  ความเห็นของที่ปรึกษาต่อคำเสนอซื้อหลักทรัพย์บางส่วน (Partial Tender Offer) ของอาร์ซีไอ(24 พฤษภาคม 2555)  ย่อมสะท้อนมาถึงผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่องมา5 ปี

 

โปรดติดตามตอนต่อไป

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: