โอกาสใหม่(3) ธุรกิจรายย่อย

หลายคนคงประเมินว่า บทความชุดนี้ให้ความสำคัญแต่ธุรกิจใหญ่  และยังมองไม่เห็นว่าธุรกิจขนาดเล็กมีตำแหน่งอย่างไรในสังคมธุรกิจไทย   แท้จริงแล้ว เป็นคำถามที่ผมพยายามตั้งขึ้นอย่างจริงจังตลอดมาเช่นกัน และนี่คือความพยายามปะติดปะต่อภาพเท่าที่เป็นไปได้

เรืองเกี่ยวเนื่อง

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ 

ซีพี เฟรชมาร์ท วางโมเดลขยายธุรกิจเข้าถึงทุกชุมชน

ซิงเกอร์ชูโมเดล”1หมู่บ้าน1โชห่วย”

ด้วยความเชื่อมั่นว่าธุรกิจรายเล็ก ขยายตัวไปมากกว่ายุคใดๆ ตั้งแต่สังคมธุรกิจไทยสถาปนาขึ้นอย่างมั่นคง  แต่สิ่งที่พยายามแสวงหาเป็นพิเศษ  พัฒนาการของธุรกิจรายเล็กที่เชื่อว่ากำลังเติบโตเป็นคลื่นลูกใหม่นั้น แม้ยังมองไม่เห็นเด่นชัด  แต่ก็เชื่อมั่นต่อไปอีกว่า กำลังก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำ เพื่อรอเวลาอันเหมาะสม

ความเชื่อมั่นของผมมิใช่เพิ่งเกิดขึ้น  หากเป็นความคิดที่ก่อต่อมาตั้งแต่ในช่วงวิกฤดิการณ์ เมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว และตอนนั้นดูจะเป็นความมั่นใจที่มากเกินไปเสียด้วย

“สังคมไทย กำลังปรับฐานครั้งใหญ่ผู้ประกอบการยุคใหม่ กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆเหมือนกับช่องแสงเล็กๆที่ดูสว่างไสวมาก เพราะอยู่ในถ้ำที่มืดมากเหลือเกินวนเวลานี้ คัดมาจากต้อนต้นบทความของผมเอง ซึ่งเขียนไว้หลายตอน ชื่อ “ผู้ประกอบการยุคใหม่” เมษายน2540 (ปรากฏในหนังสือเล่ม เล่มแรกของผม “โรคโลกานุวัตร” กุมภาพันธ์ 2541 คงสามารถหาอ่านได้บ้าง ในหอสมุดมหาวิทยาลัย)

“ผมเชื่อว่าเวลานี้ ธุรกิจใหญ่โดยทั่วไป ไม่มีกระบวนการสร้างสรรค์ เลือกสรร ความคิดสร้างสรรค์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยเป็นกระบวนการราชการและการเมือง มากเสียจนความคิดสร้างสรรค์ใหม่เกิดขึ้นและไม่นำไปปฏิบัติ”

มีอีกบางตอนที่คาดการณ์อย่างเป็นจริงเป็นจังไว้   “ผมเชื่อว่าจากนี้ผู้มีความรู้และประสบการณ์จะลงสู่ภาคธุรกิจขนาดย่อยและการเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น ทั้งนี้พื้นที่ในการดำเนินธุรกิจ จะขยายสู่ระดับภูมิภาค (หมายถึงหัวเมืองและชนบท) มากขึ้นเป็นลำดับ” ในตอนนั้นให้ความสำคัญในเกษตรกรรมสมัยใหม่และส่วนหนึ่งภาคขยายของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหาร   โดยเชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญชิ้นหนึ่งของบุคลิกสังคมธุรกิจไทยในเวลาต่อมา

 

“จากนั้นธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆจะสร้างสรรค์บุคลิกใหม่ของสังคมไทยก็จะค่อยๆเกิดขึ้น สะสมความมั่งคั่ง จนถึงชั้นมีแบรนด์และสิทธิบัตร ซึ่งถือเป็นเป้าหมายปลายทางที่สำคัญ”

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีการให้คำนิยามผู้ประกอบการใหม่ที่ว่านั้น  เรียกว่าเป็น  SME (Small and medium enterprises) เป็นครั้งแรกๆของสังคมไทย   โดยมีความพยายามอรรถาธิบายบทบาทและความคาดหวังกันอย่างกว้างขวาง

ภาพใหญ่

จากข้อมูลที่อ้างจากกระทรวงพาณิชย์ท้ายบทความ ให้ภาพที่ชัดเจน สนับสนุนสมมติฐานข้างต้นในบางระดับ  ในช่วงกว่าทศวรรษมานี้ ปรากฏชัดว่า ธุรกิจรายย่อยเกิดขึ้นจำนวนมากมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน   เป็นภาพสะท้อนในเชิงปริมาณ ที่ควรศึกษาค้นคว้าและวิจัยเชิงคุณภาพต่อไป  อย่างไรก็ตาม สามารถมีบทสรุปเบื้องต้นในบางประเด็นได้

–สังคมธุรกิจไทย ขยายตัวอย่างมากมายในช่วงทศวรรษมานี้ โดยให้ภาพชัดเจนว่า ธุรกิจรายย่อยเกิดขึ้นอย่างมากมายในอัตราเร่งอย่างน่าสนใจ

–ขณะเดียวกันให้ภาพสังคมธุรกิจไทยมีพลวัตรอย่างสูงด้วย ทั้งการก่อตั้งใหม่ การปิดกิจการจำนวนไม่น้อยในเวลาเดียวกัน ถือเป็นช่วงที่น่าสนใจของความพยายาม  แสวงหาโอกาส และการเผชิญปัญหาด้วย อาจสรุปว่าเป็นช่วงหล่อหลอม จากบททดสอบที่สำคัญช่วงหนึ่ง ทั้งนี้มาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับโลกมีความผันผวนมากกว่ายุคใดๆ

–ประเด็นสุดท้ายที่ควรสรุป   พลังของสังคมธุรกิจไทย พลังของผู้ประกอบการรายย่อย เป็นพลังที่จุดติด แม้จะเผชิญปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ยังมีผู้คนจำนวนอีกมากมาย เข้ามาท้าทายและผ่านกระบวนการทดสอบอย่างไม่ขาดสาย

ตลาดหุ้นใหม่

ตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ประวัติศาสตร์ท่าผ่านมาสรุปว่าเป็นที่ที่ “สะท้อนโอกาสที่เปิดช่องขึ้นครั้งสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย สำหรับคนหน้าใหม่ๆ แม้ว่าจะต้องเผชิญความผันแปร ความเสี่ยง และการแข่งขันอันเข้มข้น” ดังที่ผมกล่าวไวในตอนต้นๆของบทความชุดนี้ ว่าด้วยโอกาสของผู้มาใหม่ กับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ แม้ว่าจะเป็นบทสรุปที่มาของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจหลายครั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ก็เป็นที่ที่แห่งเดียวก็ว่าได้ สามารถสร้างสรรค์โอกาสใหม่ให้กับผู้มาใหม่   ที่ว่าไปแล้วไม่ได้หลุดลอยและล่มสลายไปกับวิกฤติการณ์เสียทั้งหมด

ผมก็ยังเชื่อมั่นและประเมินว่าตลาดหุ้นใหม่(ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ  หรือ Market for Alternative Investment– mai) คงทำหน้าที่เช่นเดียวกัน เป็นที่ที่เสริมและเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย

ในช่วงปลายปี 2541 ได้มีแนวคิดจัดตั้งตลาดหุ้นใหม่ เป็นตลาดรองสำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก แต่การดำเนินการในช่วง 3-4 ปีแรก (2542-2545) ไม่มีความคึกคักเลยแม้แต่น้อย จุดเริ่มต้นมีขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในปี 2545 ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจไม่มาก แต่ก็ค่อยๆเติบโตขึ้นมาอย่างช้าๆ จนถึงปัจจุบันนี้มีสมาชิกประมาณ 70 ราย (ไม่รวมใบแสดงสิทธิ์อื่นๆ) มูลค่าการซื้อขายหุ้นทั้งปี เพิ่งทะลุหนึ่งแสนล้านบาทในปีที่แล้วนี่เอง

แม้ว่าข้อกำหนดหลักทรัพย์ พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจขนาดกลาง ที่มีทุนจดทะเบียน20 ล้านบาทขึ้น แม้ว่าจะถือเป็นความคิดเชิงเทคนิค มากกว่าความพยายามเข้าใจคุณค่าทางธุรกิจขนาดกลางและเล็กในมุมมองที่กว้างขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเป็นความพยายามสร้างและเพาะกิจการเพื่อส่งต่อเข้าตลาดหุ้นหลักเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนของผู้มาใหม่รายที่เล็กลงอีกช่องทางหนึ่ง โดยมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจรายย่อยโดยตรงมากขึ้น

ทั้งนี้เชื่อว่าตลาดหุ้นใหม่ จะค่อยๆเติบโตและมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต  ในฐานะกลไกที่สำคัญในการสร้างโอกาส และสีสันใหม่ๆของสังคมธุรกิจไทย เช่นที่ตลาดหุ้นหลักได้ทำหน้าที่มาแล้ว

TCDC

พัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง “ความรู้” (Knowledge-software) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อันจะนำไปสู่กระบวนการสร้างนักคิด นักออกแบบ ตลอดจนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่นำ “ทุน” มาบวกกับ “ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ” อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมหรือศึกษาเรื่องราวและบทบาทเพื่อทำความรู้จักมากขึ้นอีก ได้จากhttp://www.tcdc.or.th

สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือThailandCreative & DesignCenter– TCDC ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2546 เป็นที่รู้ในกันว่า พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญ

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทยสองคน(ชาติชาย ชุณหะวัณ และทักษิณ ชินวัตร ) เป็นผู้มีบทบาทอย่างมาก ในกระบวนการผลิตนโยบายเชิงสร้างสรรค์ครั้งแรกๆของระบบการเมืองไทย    เป็นความคิดเชิงยุทธ์ศาสตร์ที่ชัดเจน  และจับต้องได้มากขึ้น   ด้วยการเพิ่งมอง อ้างอิง  และมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ระดับโลก

โดยเฉพาะมีประเด็นหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือความพยายามสร้างกระบวนการหรือแนวทางการสร้างความสามารถของสังคมไทย จากที่เคยมุ่งสนับสนุนธุรกิจใหญ่ให้ทำหน้าที่สำคัญนี้เป็นหลัก  ไปสู่ทางเลือกที่เปิดกว้างขึ้น

เขาเป็นคนแรกๆที่กล่าวถึงบทบาท SME ตั้งแต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เช่นเดียวกับเป็นคนแรกที่เปิดแนวคิด “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” อย่างเป็นระบบ ซึ่งว่าไปแล้วเป็นความคิดที่ต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์กัน ความคิดหรือแนวทาง “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” นับวันจะมีอิทธิพลมากขึ้นๆเป็นลำดับ กลายเป็นภาพสะท้อนข้ามจากธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สู่ธุรกิจขนาดใหญ่ไปแล้วในปัจจุบัน

แม้ว่าภาพและบทบาท TCDC ในปัจจุบัน มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบ (Design) เชิงเทคนิคมากกว่าในอดีต กับมีความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษามากเป็นพิเศษในฐานะอาจมาจาก ผู้อำนวยการคนปัจจุบันเคยเป็นอาจารย์มาก่อน    แต่อย่างไรก็ตาม แก่นและคุณค่าหลักของ TCDC ยังเชื่อมโยงไปสู่โอกาสใหม่ และกระบวนการใหม่ของสังคมธุรกิจในความหมายกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กอย่างเหนียวแน่นเช่นเดิม

เจาะตลาดย่อย

แม้ว่าภาพความเคลื่อนไหวของธุรกิจขนาดกลางและเล็กในฐานะผู้ประกอบการอิสระ ยังไม่ปรากฏเป็นภาพใหญ่อย่างชัดเจน หากปรากฏแต่ความเคลื่อนไหวของธุรกิจใหญ่ ในการมุ่งสู่ตลาดเล็กๆ ขยายเครือข่ายลงพื้นที่อย่างครอบคลุม อย่างละเอียดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไมว่ากรณี เจริญโภคภัณฑ์อาหารและบริษัทซิงเกอร์พยายามทำตลาด ขยายเครือข่ายสู่ระดับหมู่บ้านกันแล้ว

ผมเชื่อว่าเป็นอีกด้านหนึ่ง –ภาพสะท้อนของการเรียนรู้ทางธุรกิจ เรียนรู้การประกอบการที่กำลังส่งต่ออย่างจริงจังสู่ระดับหมู่บ้านด้วยเช่นกัน

 

โอกาสของรายใหญ่  เป็นทีมาของโอกาสของรายเล็กด้วยเช่นกัน   ผมมองโลกในแง่ดีเช่นนั้น

ข้อมูลประกอบบทความ

สถานะของนิติบุคคล ณ 31 ธันวาคม 2554

ไม่ดำเนินกิจการ   101,631 ราย

ดำเนินกิจการอยู่  507,375 ราย

–บริษัทมหาชนจำกัด  0.2%

–บริษัทจำกัด   67.7%

–ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างสามัญนิติบุคคล 32.1%

สิ้นสภาพ 436, 940 ราย

นิติบุคคลจดทะเบียนรวมทังสิน  1, 045,946 ราย

ทิศทางการจดทะเบียนธุรกิจ100 ปีที่ผ่านมา

ระยะเวลา                                  จำนวนบริษัท

     ช่วงปี                จำนวนปี           รวม          เฉลี่ยต่อปี

2455 – 2500               46              13,040              283

2501 – 2520              20              66,978            3,349

2521 – 2545               25            546,933          21,877

2546 – 2554                9             418,995           46,555

จาก   รายงานประจำปี 2554                กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กระทรวงพาณิชย์

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: