ปตท.(5)ฐานความมั่งคั่งใหม่

โครงการปิโตรเคมีแห่งชาติเมื่อ2-3 ทศวรรษที่แล้วเป็นเรื่องใหญ่   เป็นภาพสะท้อนรากฐานและอิทธิพลกลุ่มธุรกิจสำคัญของไทย ปตท.เฝ้ามองปรากฏการณ์อันคึกโครมด้วยระยะห่าง โดยไม่คาดคิดว่าในเวลาต่อมา สถานการณ์จะพลิกผัน

 “หลังจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้พบและพัฒนาเเหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย   เมื่อปี 2523 ได้ตั้งโรงงานเเยกก๊าซเพื่อผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวและเป็นโอกาสให้ไทยเริ่มอุตสาหกรรมปลายทาง(Downstream) และนำไปใช้ในโรงงานโอเลฟินส์ได้   ต่อมาในปี 2529 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ตั้งบริษัทปิโตรเคมีเเห่งชาติ จำกัด (NPC) ซึ่งเป็นโรงงานโอเลฟินส์เเห่งเเรกของประเทศไทย ทั้งนี้เครือซิเมนต์ไทยได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นตั้งต้น และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจด้านปิโตรเคมี ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจหลักเเขนงหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน” อ้างจากหนังสือ The Siam Cement 1998 จัดทำเพื่อเสนอแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญต่อนักลงทุนต่างประเทศ ได้สรุปความเป็นมาอย่างได้ใจความ

ข้อมูลอ้างอิงถึงปตท.ข้างต้นมีที่มาน่าสนใจ จุดเริ่มต้นจากสัมปทานสำรวจหาปิโตรเลียมในทะเล กับบริษัทต่างชาติ(Chevron หรือ Unocal ในตอนนั้น) ตั้งแต่ปี 2511 อีก5 ปีต่อมาได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย “ประสบความสำเร็จค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณเชิงพาณิชย์แหล่งแรกของประเทศ ในแปลงหมายเลข 12 ซึ่งภายหลังตั้งชื่อว่าแหล่ง “เอราวัณ” (อ้างจาก http://www.chevronthailand.com/)

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ก่อตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย(อ.ก.ธ.)ขึ้น(9 มีนาคม 2520) แต่ระหว่างการประกวดราคาเพื่อก่อสร้างวางท่อส่งก๊าซ แผนการใหญ่กว่านั้นจึงเกิดขึ้น (ธันวาคม 2521) ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานใหม่– ปตท.   อ.ก.ธ.จึงถูกยุบ และโอนกิจการไปเป็นส่วนหนึ่งของ ปตท.  สิ่งที่ปตท.ดำเนินการในทันที –ทำสัญญาซื่อขายก๊าซธรรมชาติฉบับแรกกับ Unocal

แต่ดูเหมือนไม่ใช่เวลาแสดงความยินดี หรือฉลองความสำเร็จแต่อย่างใด เพราะกำลังอยู่ในช่วงเผชิญปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวในตอนต้นๆของบทความชุดนี้   เป็นช่วงที่ปตท.ต้องดำเนินภารกิจสำคัญเร่งด่วน   กว่าจะนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นฝั่งเพื่อป้อนโรงงานแยกของปตท.ที่จังหวัดระยอง ก็ล่วงเลยมาถึงปี 2524 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ   เข้าสู่ช่วงความมั่นคงทางการเมืองช่วงยาวช่วงหนึ่งของการเมืองไทย เชื่อกันว่าจะเป็นช่วงเวลาสามารถดำเนินยุทธศาสตร์สำคัญๆได้

นั่นคือยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์(3 มีนาคม  2523- 4 สิงหาคม 2531 ) แม้ช่วงแรกๆต้องเข้ามาแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมา แต่ไม่ช้าสถานการณ์ได้เข้ารูปเข้ารอย  แผนการใหญ่จึงเริ่มต้นอย่างมียุทธศาสตร์

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา  ถูกวางตัวเข้ามาดูแลยุทธศาสตร์ใหญ่ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการอุตสาหกรรม(11 มีนาคม 2524- 19 กันยายน 2528) รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม (19 กันยายน 2528- 11 สิงหาคม 2529) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (11 สิงหาคม 2529-27 กรกฎาคม 2530)

พิมพ์เขียวใหญ่ของชาติว่าด้วยโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ(Petrochemical Complex) ถูกร่างขึ้น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในขณะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นประธานคณะอนุกรรมการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเข้าสู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในฐานะรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม   ปัจจุบันดร.จิรายุ คือผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2530-ปัจจุบัน) และประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในช่วงสำคัญ (2541-2 และ2550- ปัจจุบัน)

เดือนมิถุนายนปี 2526 คณะอนุกรรมการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เสนอรายงานถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการดำเนินโครงการ และผลตอบแทนที่คุ้มค่าพร้อมเสนอรูปแบบการลงทุน  ภายใต้โครงสร้างร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการลงทุนผลิตภัณฑ์ขั้นต้น (Up Stream) และให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Dawn Stream)

คณะอนุกรรมการชุดเดียวกันได้คัดเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนขึ้นมา 4 ราย เพื่อร่วมถือหุ้นในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526 อย่างเป็นรูปเป็นร่าง    ด้วยการลงนามร่วมทุนฝ่ายรัฐและเอกชน โครงสร้างผู้ถือหุ้นน่าสนใจ  ปตท.ถือหุ้นใหญ่ที่สุด49% เอกชน 4 รายถือหุ้นรวมกัน 49% ที่สำคัญสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น 2% แม้ถือหุ้นจำนวนน้อยแต่ถือว่าอยู่ในฐานะทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน

บทสนทนาว่าด้วยบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินฯถูกยกขึ้นมาอ้างอิงเสมอในช่วงนั้น ว่าด้วยโครงสร้างการถือหุ้นกิจการที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศ

ที่น่าสนใจต่อจากนั้น บรรดาผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนล้วนเป็นธุรกิจทรงอิทธิพล  โดย 3 รายแรกคลุกคลีเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในฐานะผู้บุกเบิก  บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์(ทีพีซี )ของตระกูลเอื้อชูเกียรติ ผู้ผลิตพีวีซีรายแรกของไทย  กลุ่มศรีกรุงวัฒนา ในฐานะผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกโดยมีธนาคารกรุงเทพสนับสนุน และกลุ่มที่พีไอ ผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติก    มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เกิดใหม่ ในระยะเดียวกับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ คือกิจการในเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี

ที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก เอสซีจีในฐานะผู้ไม่มีประสบการณ์หรือเกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี –อุตสาหกรรมใหม่ของไทยมาก่อน ได้ถือหุ้นในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติด้วยสัดส่วนมากกว่าเอกชนรายอื่นๆ

สำหรับปตท. ภายใต้โครงสร้างใหม่ แม้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด   แต่มีความชัดเจนอยู่ประการหนึ่งที่สำคัญมาก  คือความเกี่ยวข้องกับPetrochemical Complex ของปตท.ตามยุทธศาสตร์—ในฐานะผู้ดูแลกำกับการผลิตวัตถุดิบพื้นฐานของสำคัญ (Up Stream) เพื่อป้อนให้กับเอกชนที่จะดำเนินอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่อไป

ว่าไปแล้ว  ปตท.ในฐานะกิจการพลังงานแห่งชาติ  ควรมีบทบาทอย่างที่ควรเป็นไป

ปตท.ในเวลานั้น มีกิจการด้านก๊าซธรรมชาติอย่างครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เป็นคู่สัญญาสัมปทานก๊าซธรรมชาติทุกฉบับของไทย( ทั้งมีบริษัทปตท.สผ.  เป็นกิจการร่วมทุนในธุรกิจสำรวจ ขุดเจาะ ก๊าซธรรมชาติ ด้วย)  ดูแลระบบขนส่งทางท่อในทั้งทะเลและบนบก   โรงแยกก๊าซธรรมชาติ  การค้าปลีกก๊าซหุงต้ม     จนมาถึงอุตสาหกรรมตั้งต้นของPetrochemical Complex

ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ผู้ว่าการปตท.คนแรก( 2522-2530) กล่าวถึงความสำเร็จที่เขาภาคภูมิใจมากเป็นพิเศษประการหนึ่ง นั่นคือบทบาทในฐานะแกนสำคัญของโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ ถือว่าเขาควรภาคภูมิใจเช่นนั้น

ปตท. คงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการอุตสาหกรรมตั้งต้นของปิโตรเคมีต่อไป  เมื่อPetrochemical Complex พัฒนาอย่างมั่นคงและดูมีอนาคตมากขึ้น เป็นการลงทุนในช่วงที่ปตท.มีฐานะทางการเงินที่ดี และมองว่าเป็นการลงทุนที่ได้ควรรับผลตอบแทนในระยะยาวทีดี

—25 ธันวาคม 2532  ก่อตั้งบริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย)  ดำเนินโครงการผลิตสารอะโรเมติกส์ (Aromatics) แห่งแรกของประเทศไทย ตามนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีระยะที่ 2 โดยปตท.แม้ไม่ใช่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยตรงแต่ก็มีสัดส่วนพอสมควร 25% โดยไทยออยล์ (ปตท.เข้ามาถือหุ้นในไทยออยล์ตั้งแต่ปี 2523มีสัดส่วน 49% โดยมีสำนักงานทรัพย์สินฯถือหุ้น 2%ด้วย) ถือหุ้นใหญ่ทีสุด 40% และ Exxon Chemical Eastern Inc 35%

–5 มกราคม 2533 ก่อตั้งบริษัท ไทยโอเลฟินส์ ผู้ผลิตโอเลฟินส์แห่งที่สอง (ต่อจ่ากบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ) โดยมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ 11 %( โดยปตท.ถือหุ้นในบริษัทนี้ 49%) และกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ ได้แก่ บริษัทบางกอกโพลีเอทิลีน (กิจการในเครือศรีกรุงวัฒนาและธนาคารกรุงเทพ) 11.7% บริษัทในเครือซิเมนต์ไทย 3.82 %( ปีต่อมาได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็น 8.59%) บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ) 6.86%   และบริษัท วินิไทย (กิจการร่วมทุนระหว่าง Solvay Vinyls Holding AG แห่งเบลเยี่ยม กับซีพี) 5.29%

สังคมธุรกิจไทยมอง Petrochemical Complex เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ ในมิติและความหมายที่กว้างขวางขึ้น

ภาพนั้น มองจากความเคลื่อนไหวอันคึกคักของบริษัทร่วมทุนในกิจการตั้งต้น  ทั้งในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ    บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย)  และ บริษัทไทยโอเลฟินส์(ที่กล่าวขึ้นข้างบน)    กิจการทั้งหลายเข้าสู่สนามการแข่งขันเพื่อเขาร่วมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก  เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ(International bidding) เป็นเหตุการณ์ใหญ่มากของสังคมธุรกิจในช่วงปลายรั ฐบาลเปรม (ปี 2529-2531) ผลที่ออกให้ภาพที่น่าสนใจ

หากไม่นับรวมผู้บุกเบิกธุรกิจนี้มาก่อนอย่างทีพีไอ และ ทีพีซีแล้ว  ได้ปรากฏโฉมหน้าของกลุ่มธุรกิจอิทธิพลดั้งเดิมของสังคมไทยร่วมวงด้วย

ธนาคารกรุงเทพ ภายใต้การนำของชาตรี โสภณพนิช มองอุตสาหกรรมใหม่เช่นเดียวกับคนอื่นๆ –นั่นคือโอกาสของการสะสมความมั่งคั่งใหม่ เป็นคลื่นธุรกิจลูกใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาวางบทบาทบุตรชายคนโต ไว้ที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี —   ชาติศิริ โสภณพนิช ก่อนมาเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เขามีบทบาทสำคัญดูแลและสร้างทีมใหม่ของธุรกิจปิโตรเคมี ผลพวงหนึ่งในนั้นคือ ผู้จัดการใหญ่ปตท.คนปัจจุบัน

เช่นเดียวกับซีพี เข้าร่วมวงด้วยในฐานะผู้ร่วมทุนกับต่างชาติ– Solvay AG แห่งเบลเยี่ยม ในช่วงเริ่มต้นการเรียนรู้ธุรกิจใหม่ บุตรชายคนสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย — ศุภชัย เจียรวนนท์ ก่อนจะมาดูแลกิจการสื่อสารอันยิ่งใหญ่ของซีพีในปัจจุบัน เขาเคยถูกส่งตัวแปฝึกงานกับ Solvay ในสหรัฐฯและเข้าร่วมงานในกิจการร่วมทุนในเมืองไทยก่อนด้วย

แต่ความชัดเจนทั้งมวล ควรเพ่งมองไปที่เอสซีจี

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีบทสรุปที่ชัดเจนมากสำหรับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี    ธุรกิจเคมีภัณฑ์ซึ่งมีโครงสร้างธุรกิจเฉพาะหลายรูปแบบ ทั้งเอสซีจีมีสัดส่วนถือหุ้น 100% และบริษัทร่วมทุนกับผู้นำในอุตสาหกรรมระดับโลก อาทิ  Mitsui Chemicals   Mitsubishi Rayon แห่งประเทศญี่ปุ่น Dow Chemical แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีได้กลายเป็นธุรกิจที่มียอดขายมากกว่าครึ่งของทั้งทั้งเครือ หลังจากก่อตั้งขึ้นมาเพียงไม่ถึง2 ทศวรรษ

ตรรกะอย่างหยาบๆอาจเป็นว่า  หากเอสซีจีไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี(หรือธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างที่เรียกในปัจจุบัน)  การดำรงอยู่ของกิจการอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย   คงอยู่สภาวะสั่นคลอนไปอย่างไม่น่าเชื่อ

 

 

 

 

 

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: