ปตท.(7) เข้าตลาดหุ้น

ปรากฏการณ์แรงต้านอย่างเข้มขน กรณีปตท.แปรรูปเป็นบริษัทจำกัด มีขึ้นหลังจากเข้าตลาดหุ้นถึง 5 ปีเต็ม   คำถามสำคัญข้อหนึ่งก่อนการพิเคราะห์แรงจูงใจ ควรเป็นคำถามพื้นๆว่า ทำไมแรงต้านจึงมาช้ากว่าควรจะเป็น

 

ปี 2544(1 ตุลาคม)   ปตท.แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 โดยรับโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบ พนักงาน ลูกจ้าง และส่วนธุรกิจทั้งหมด เป็นทีทราบกันดีว่าเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนเข้าตลาดหุ้น

พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี2542 ตราขึ้นในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี (9 พฤศจิกายน 2540    -17 กุมภาพันธ์ 2544) โดยมีธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

“เป็นเครื่องมือของรัฐเมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ … โดยการกระจายหุ้นที่รัฐถือไว้ให้แก่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริหารจัดการในกิจการที่รัฐวิสาหกิจเดิมดำเนินการอยู่ได้ต่อไปในอนาคต” บางตอนของหมายเหตุ ท้าย พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 ว่าไว้

เป็นทีรู้กันดีว่าพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นหนึ่งในกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund หรือ IMF)   ต่อเนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจไทยครั้งร้ายแรงที่ปะทุขึ้น ตั้งแต่ในช่วงรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ์ (25 พฤศจิกายน 2539-9 พฤศจิกายน 2540)   ถึงขั้นจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือหรือเรียกกันให้ดูดีขึ้นว่าเข้าร่วมโครงการของ IMF (เดือนสิงหาคม 2540)

ชุดนโยบายที่ IMF กำหนดให้รัฐบาลไทยทำตามเงื่อนไข เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยมีธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นรัฐมนตรีคลัง เท่าที่จำกันได้  อาทิ แยกบริษัทเงินทุนที่มีฐานการเงินดี กับบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาออกจากกันตั้งสถาบันทางการเงินใหม่ สถาบันการเงินต้องกันเงินสำรองและเพิ่มทุน     ดูแลงบประมาณรายจ่ายให้สมดุล   ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว รวมทั้งการแปรรูปจากองค์กรรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรเอกชน (Privatization)

ปลายปี 2544ปตท. ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   พอดีกับช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร(17 กุมภาพันธ์ 2544-19 กันยายน 2549) ในช่วงแรกๆดำเนินไปอย่างไม่มีใครคาดหวังนัก แม้ว่าในรายงานประจำปี 2544ที่ออกมาในช่วงต้นปี 2545 จะประเมินบางสิ่งบางอย่างดีเกินไป

“ในปี 2544    นอกจากจะได้รับการบันทึกเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของการพัฒนาขององค์กรแล้ว   ยังเป็นปีแห่งความสำเร็จระดับชาติ เมื่อปตท.สามารถระดมทุนจากตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศได้ตามเป้าหมาย กว่า 30,000 ล้านบาท และไดรับการประกาศให้ได้รับรางวัลการกระจายหุ้นยอดเยี่ยมแห่งปี หรือ The Best IPO of the Year โดยกี่สำรวจของนิตยสารไฟแนนซ์เอเชีย” สารจากประธานกรรมการปตท. ( มนู เลียวไพโรจน์ ) จาก รายงานประจำปี 2544

ความจริงสภาพตลาดหุ้นไทยเวลานั้น(2542-2546) ถือว่าอยู่ภาวะตกต่ำ ผมเคยให้คำจำกัดความไว้ว่าอยู่ในแดนสนธยา (อ่านรายละเอียดจากเรื่อง  บทที่ 1 ดัชนีที่ตลาดหุ้นไทย สี่ปีในแดนสนธยา บทความชุดโฉมหน้าใหม่ธุรกิจไทย กรกฎาคม 2554) แต่ก็มีบทเรียนบางประการ ว่าด้วยการนำกิจการรัฐวิสาหกิจใหญ่เข้าตลาดหุ้นก่อนหน้านั้น

ด้านหนึ่ง—การบินไทย สายการบินแห่งชาติเคยได้รางวัลบริการดีเลิศระดับโลกมามากมาย  เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง ขนาดใหญ่คล้ายๆปตท. เข้าตลาดหุ้นในกลางปี  2534 ราคาหุ้นกลับไม่เป็นไปตามที่คาดกัน ทังๆที่เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะขาขึ้น    อีกด้านหนึ่ง–มีบทเรียนในเชิงบวก กรณี ปตท.สผ.บริษัทลูกของปตท. เข้าตลาดหุ้นในปี 2536 และสามารถเพิ่มทุนช่วงก่อนวิกฤติการณ์ (ปี2539)  ส่วนบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งบริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฝผ.)ที่เจริญรอยตามโมเดลของปตท.สผ. เข้าตลาดหุ้นก่อนปตท. ประมาณหนึ่งปี( พฤศจิกายน 2443)  ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณในเชิงลบ

ตลาดหุ้นไทย เริ่มต้นจากยุครุ่งโรจน์( 2529-2537)  จากดัชนีราคาหุ้นเกือบ 400จุดในปลายปี 2529 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดที 1,753 จุด (4 มกราคม 2537)ในอีก 8ปีต่อมา  จากนั้นดัชนีตลาดหุ้นส่งสัญญาณความเปราะบางและผันผวน ตั้งแต่กลางปี 2537 จนถึงกลางปี 2539   โดยเคลื่อนไหวขึ้นลงในช่วง 12,00-1,500 จุด   มาชัดเจนในครั้งหลังของปี 2539  ดัชนีลดลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2540  -2541

ความตกต่ำของดัชนีราคาหุ้นเป็นเหตุและผลโดยตรงกับเหตุการณ์ปี2540 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องลดค่าเงินบาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย มีอิทธิพลลุกลามไปในระดับภูมิภาค   ดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะซบเซาอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้นปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545 ดัชนีคงอยู่ในระดับต่ำมากๆเฉลี่ยประมาณ 400 จุด ต่อเนื่องติดต่อมา 4 ปีเต็ม ถือเป็นช่วงตกต่ำของตลาดหุ้นไทยครั้งใหญ่ เป็นเวลายาวนานพอสมควร

ผมเคยอรรถาธิบายผลพวงของวิกฤตการณ์ตลาดหุ้น  ประหนึ่งคลื่นที่ซัดกระหน่ำสังคมธุรกิจไทย  แบ่งเป็น 3 ละลอกคลื่น   คลื่นลูกแรก– กระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมากในปลายปี 2540

คลื่นต่อมา—เป็นครั้งแรกธนาคารหลายแห่งมีอันเป็นไป   ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธนาคารครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์   และคลื่นลูกหลัง—การลมละลายกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่พัฒนามาจากกิจการอื่นๆ และกลุ่มการค้าเก่าแก่ของไทย ได้แก่ วิทยาคม อี๊สต์เอเซียติ๊ก และเคี่ยนหงวน

ในปี 2544 (ปีที่ปตท.เข้าตลาดหุ้น) ยังมีสถานการณ์ระดับโลกที่ไม่เอื้ออีกด้วย“ปี 2544   นับเป้นครั้งที่ 4ในรอบ 30 ปี ที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่า 2.5% ต่อปี    …..หลังจากการก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ  เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544   ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อยู่ระดับที่ต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป้นครังแรกในรอบ26 เดือน “รายงานสถานการณ์ปิโตรเลี่ยม ในรายงานประจำปี2544 ของปตท.

 

และแล้วสถานการณ์โลกพลิกผันอย่างรวดเร็งในอีก 3 ปีต่อมา “ในปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ปตท.ขยายตัวจากสินทรัพย์ระดับ 3แสนล้านบาทในปี2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000   ล้านบาทในปี 2548-9     ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545เพิ่มขึ้นทะลุ400 บาทในปี 2547 “(จากเรื่อง  ปตท.ที่น่าทึ่ง  ตุลาคม 2553)

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์และรายงานของปตท.เอง“การใช้นำมันในขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 2521  ที่ระดับ 82.8  ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5   ล้านบาร์เรลต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  3  เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ(ดูไบ) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในรอบ 20 กว่าปี  จาก  26.8เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  มาอยู่ที่  33.7   เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ  25.7หรือ 6.9 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  กล่าวกันว่าปี 2547   เป็นปีที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 3“ สถานการณ์ปิโตรเลียม  รายงานระจำปี2547 

แม้ว่าปี 2547 ตลาดหุ้นไทยมีท่าที่ดีขึ้นบ้าง แต่สถานการณ์สังคมธุรกิจไทยโดยรวม ยังอยู่ในภาวะต้องแก้ปัญหากันต่อไป อ้างอิงเฉพาะกิจการเกี่ยวข้องกับปตท.

เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี  ขณะที่มองเห็นโอกาสและคุณค่าใหม่ของการลงทุนและขยายเครือข่ายธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างชัดเจน  จากจุดเริ่มต้นร่วมทุนก่อตั้งบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติร่วมกับปตท.  แต่ในยุคท้ายๆของชุมพล  ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่เอสซีจี 2536-2548) ต้องสาละวนกับการแก้ปัญหา ปรับยุทธศาสตร์   รวมทั้งการหาผู้จัดการใหญ่คนใหม่ การแตกแต่งตำน่านให้จบลงอย่างสวยหรู จึงอาจไม่สนใจหรือยังไม่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะการช่วงชิงโอกาสก่อนใครๆ

ส่วนทีพีไอ   ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อย่างแท้จริง  ถือว่าเป็นผู้นำเครือข่ายธุรกิจที่มีกำลังพอฝัดพอเหวี่ยงกับเอสซีจี ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญรายหนึ่งในอุตสาหกรรมตั้งต้นร่วมมือกับปตท.ด้วย   ในเวลานั้นกลุ่มทีพีไอกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด ที่มีหนี้สินมากทีสุด“นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2543 เป็นต้นไป การบริหารกิจการขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์รวมเกือบ 2 แสนล้านบาท ที่เคยอยู่ภายใต้การบริหารอย่างเบ็ดเสร็จของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะผู้นำตระกูลและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทีพีไอ ต้องตกไปอยู่กับบริษัทฝรั่งที่เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ” (อ่านรายละเอียด สถานการณ์ช่วงนั้น จากเรื่อง ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ LOCAL HERO )

จากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานเป็นประวัติการณ์   ไม่เพียงเป็นแรงต้านการปรับตัวฟื้นตัว สำหรับธุรกิจอื่นๆเท่านั้น หากส่งผลให้ผลประกอบการขอปตท.ปี 2547 ออกมาดีเกินคาดอย่างสวนกระแส (โปรดกลับไปพิจารณาตารางผลประกอบการปตท.ในช่วง 12   ปี (2542-2554) จาก เรื่อง ปตท.(1) ภาพกว้าง ตุลาคม 2555)    ปตท. ในช่วงนั้นจึงมีความพร้อมมากกว่าใครๆในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

“เศรษฐกิจโลกในปี 2548 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับกำลังการผลิตดึงราคาน้ำมันโลกให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์…    ปี 2548 เป็นปี่ปตท. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างดียิ่ง  อันเป็นผลจากการที่ปตท.เข้าไปลงทุน  ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างบริหาร  ทั้งใน ปตท.และบริษัทในกลุ่มปตท.  ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา” สารจากคณะกรรมการ (ลงนามโดย เชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานกรรมการ และประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการและเลขานุการ) รายงานประจำปี2548

ในช่วง( 31สิงหาคม 2549) มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอน พระราชกฤษฎีกา การแปลงสภาพปตท. เป็นบริษัทจำกัด ตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542นั้น ถือเป็นช่วงปตท.กำลังก้าวสู่ยุคการขยายธุรกิจออกไปจากต้นน้ำ กลางน้ำ ไปสู่ปลายน้ำอย่างน่าเกรงขามแล้ว

แม้ว่าเป็นช่วงรัฐบาล(พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์1 ตุลาคม 2549-29 มกราคม 2551) มาจากรัฐประหาร มีความโน้มเอียงและเข้าใจแนวคิดมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่สามารถหยุดยั้งโมเมนตัมของปตท.ได้

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: