ปตท.ในยุคประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีเรื่องราวมากมาย ว่าด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ปตท.เข้ามาอยู่ในวงจรที่ซับซ้อนมากกว่าธุรกิจ
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เข้ามาอยู่ปตท. แม้ไม่ใช่ยุคก่อตั้งแต่อยู่ในช่วงสำคัญยุคต้นราวปี2525 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการขนส่ง (หรือLogistics ตามศัพท์ในปัจจุบัน) หลังจากผ่านงานมีประสบการณ์ค้าปลีกน้ำมันที่ ESSO ประมาณ 3-4ปี ถือว่าอยู่ในยุครุ่งโรจน์ของบริษัทน้ำมันต่างชาติในช่วงปลายสงครามเวียดนาม และมีประสบการณ์ด้านการตลาดสินค้าคอนซูเมอร์อีกเพียงเล็กน้อยที่เบอร์ลียุกเกอร์
ประสบการณ์ส่วนใหญ่ของเขาในปตท.อยู่กับธุรกิจหลัก–น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เขาดำรงตำแห่งผู้จัดการใหญ่ปตท.ในยุคใหม่ ยุคที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้น และอยู่ในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงลิ่ว ในฐานะผู้มีโปรไฟล์วิศวกรรมศาสศาสตร์บวกMBA ตามสูตรแห่งยุคการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ ประสบการณ์ว่าด้วยธุรกิจปิโตรเคมี จึงเป็นเรื่องใหม่ ท้าทาย ที่สำคัญประเสริฐ บุญสัมพันธ์ มีเวลาในตำแหน่งยาวนานถึง 8ปีเต็ม (2546-2554) เป็นเวลาที่มากพอที่จะทำงานใหญ่ให้ลุล่วง
สถานการณ์เวลานั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างสร้างโมเมนตัมมาถึงปตท. เป็นช่วงคาบเกี่ยวรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (17 กุมภาพันธ์ 2544-19 กันยายน 2549) ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก แสดงสัญลักษณ์แห่งอิทธิพลในจินตนาการใหม่ จากอำนาจ “นายทุน”สู่อำนาจทางการเมืองอย่างเปิดเผย จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นตัวแทนของ “ผู้มาใหม่”เผชิญหน้าท้าทายกับกลุ่มดั้งเดิม จากความสามารถสะสมความมั่งคั่งมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ (อ้างจากการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นให้กับเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ แห่งสิงคโปร์ มูลค่ากว่า7หมื่นล้านบาท–มกราคม 2549)
” ดร.ทักษิณ เป็นคนทำให้ดูคนแรกว่ามันมีวิธี คือ ทดเกียร์ของความมั่งคั่ง ไทคูนเกิดขึ้นได้เพราะเอาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่ไหนในโลกมันก็เป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น แล้วมันก็ทดเกียร์กัน 10 เท่าขึ้นไป…”บัณฑูร ลำซำ เคยวิจารณ์ไว้ ถือเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ หากเป็นภาพสะท้อนถึงฐานะตัวแทนตระกูลธุรกิจดั้งเดิมของไทย และในฐานะผู้บริหารธนาคารไทย ซึ่งเพิ่งผ่านประสบการณ์อันขมขื่นในช่วงวิกฤติ (อ้างจากนิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2543เรื่อง —เบื้องลึกความคิดบัณฑูร ล่ำซำ “ธนาคารเป็นเรื่องสากล” โดย วิรัตน์ แสงทองคำ)
ผมเองเคยนำเสนอเรื่องทำนองเดียวกัน เปรียบเทียบกรณีเอไอเอส(กิจการสื่อสารไร้สาย) กับเอสซีจี “เครือซิเมนต์ไทยมีบริษัทในเครือเป็นร้อยๆแห่ง แม้มียอดขายสูงถึงสองแสนลานบาท แต่กำไรมากกว่าเอไอเอส บริษัทเดียวเพียงนิดเดียว เครือซิเมนต์ไทยเปลี่ยนไปในแง่อิทธิพล…น่าจะลดลงไปพอสมควรในช่วง10 ปีมานี้” (อ้างจากเรื่อง เครือซิเทมนต์ไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เรียบเรียงจากการบรรยายของผม ณ สำนักงานใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย มิถุนายน 2548)
ผมขอนำเสนอบทสรุปที่สุ่มเสี่ยงประการหนึ่ง –ความอ่อนไหวของสังคมไทย กรณีทักษิณ ชินวัตร มีความเชื่อมโยงโดยตรงจากกรณีการสะสมความมั่งคั่งจากกลุ่มชินคอร์ป ขยายวงไปในหลายมิติ รวมถึงกรณีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์สำคัญของปตท.ด้วย โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในยุคทักษิณพอดี จากยุทธศาสตร์ในยุคแรก(รัฐกับเอกชนร่วมมือลงทุนUp Stream และเอกชนลงทุนในDawn Stream) สู่ยุทธศาสตร์ใหม่ (Integrated Value Chain) โปรดอ่าน “เหตุการณ์สำคัญ”ท้ายบทความประกอบด้วย
“ซิเมนต์ไทยเคมีภัณฑ์(หรือเอสซีจี เคมีคอลส์ในปัจจุบัน) มุ่งไปที่ผลิตโอเลฟินส์ โพลีโอเลฟินส์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพีวีซีเป็นหลัก ฝ่ายบริหารเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการเติบโตในระยะยาว การดำเนินงานแบบครบวงจรทำธุรกิจมีโอกาสขยายตัวอีกมาก” รายงานส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ของสมุดปกขาว(Information memorandum) เรื่อง The Siam cement Group December 1998 นำเสนอในช่วงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งสำคัญของเอสซีจี โดยการนำเสนอของบริษัทที่ปรึกษา– McKenzie & Company
โดยภาพรวมการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของเอสซีจีในช่วงนั้น กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ถือเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่แทบไม่ถูกแตะต้อง นอกจากนี้ยังเป็นการค้นพบสถานะสำคัญ ในเวลานั้นกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสจีถือว่าเป็นผู้นำตลาดในประเทศแล้ว
“ตำแหน่งทางการตลาด—ธุรกิจเคมีภัณฑ์มียอดขาย 850,000 ตัน สำหรับตลาดในประเทศหรือคิดเป็น42%ของตลาดในประเทศรวม โดยมีคู่แข่งรายสำคัญได้แก่ บางกอกโพลีเอททีลิน ทีพีไอ และ เอชเอ็มซี” รายงานอีกตอนระบุไว้ โดยไม่มีใครคาดคิดว่าในอีกเพียงทศวรรษต่อมา กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์คู่แข่งรายสำคัญของเอสซีจีได้หลอมรวมมาอยู่ในเครือข่ายปตท.ทั้งสิ้น (โปรดพิจารณา “เหตุการณ์สำคัญ” ท้ายบทความอีกครั้ง)
“เอสซีจีแม้จะอ่อนล้าไปบางช่วง แต่ก็กลับฟื้นตัว เริ่มขยายอาณาจักรและหลอมรวมกิจการอื่นๆเข้ามา (ที่สำคัญกับกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ ตระกูลเอื้อชูเกียรติ) ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญพีทีไอ เผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วงที่สุด ไม่ว่าประชัย เลียวไพรัตน์จะพยายามทุกวิถีทางแต่ดูแล้วไปไม่รอด บทเรียนครั้งนี้ไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนของความคิดการณ์ใหญ่อย่างมากท่ามกลางโมเมนตัมการแข่งขันเอาเป็นเอาตายเท่านั้น ยังหมายถึงสถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เสมอ รวมทั้งความเชื่อมั่นและ สายสัมพันธ์ดั้งเดิม
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยกำลังถูกสถานการณ์บีบบังคับให้หลอมละลายครั้งใหญ่ ด้วยแนวคิดที่ว่าประเทศไทยเล็กเกินไปที่จะมีกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ขนาดเล็กและกลาง หลายแห่ง อย่างหลากหลาย กระจัดกระจาย และไม่มีบูรณาการ
โจทก์ข้อนี้ดูเหมือนว่าแค่สองคำตอบเท่านั้น การหลอมรวมจะต้องเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง ไม่เอสซีจี ก้ปตท. ขณะนั้นวงในก็คงคาดเดากันไม่ยากว่า รัฐบาลทักษิณอยากจะเห็นความเป็นไปในรูปแบบใด” ผมเคยเสนอสถานการณ์ตอนนั้นไว้ เชื่อว่าสามารถเชื่อมต่อกับบทความในตอนนี้ได้ด้วย (อ้างจากเรื่อง ปตท.ที่น่าทึ่ง ตุลาคม 2553)
กรณีทีพีไอเป็นเรื่องใหญ่ สะท้อนภาพความขัดแย้งทางสังคมหลายมิติ จากเป็นคู่แข่งที่กล้าประกาศตัวสู้กับเอสซีจีอย่างโจ่งแจ้ง จนมาถึง ความขัดแย้งกับธนาคารเจ้าหนี้ และนักการเมือง ปตท.จึงระมัดระมัดอย่างมากในความเกี่ยวข้องกับพีทีไอ
“การเข้าลงทุนใน TPI ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนเชนเดียวกัน ไม่ได้มีความขดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจาก ปตท. ลงทุนใน TPI ร้อยละ 31.5 ของหุ้นทั้งหมดของทีพีไอ โดยมีผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่รายอื่น ได้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ธนาคารออมสิน กองทนรวมวายุภักษ์ 1 และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้เงินกู้ จะถือหุ้นใน TPI รวมกันร้อยละ 38.5 ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย นอกจากนี้การเข้าลงทุนใน TPI ของ ปตท. จะชวยเสริมความเข้มแข็งให้ TPI และกลมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่ันของ ปตท. เนื่องจากมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และครอบคลุมเกือบทุกประเภท ที่เป็นความต้องการของ ตลาดและสามารถเป็นก้าวกระโดดในการเป็นผู้นําในธุรกิจ”เหตุผลของปตท. (ฟังขั้นหรือไม่ ยังไม่ขอวิจารณ์)นำเสนอไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) 28 กันยายน 2549
ในเอกสารชุดเดียวกันนั้นได้อ้างการประชุมกรรมการในปี2549 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจปิโตรเคมี–Integrated Value Chain ซึ่งเชื่อว่าผู้ติดตาม ย่อมตีความได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากยุคดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เมื่อ 3ทศวรรษที่แล้ว
แรงเสียดทานของปตท.จึงมีมากขึ้นๆเป็นลำดับ
————————————————————————————————————–
เหตุการณ์สำคัญ
ยุคแรก–โครงสร้างร่วมมือรัฐกับเอกชนในการลงทุนผลิตภัณฑ์ขั้นต้น (Up Stream) และให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (DawnStream)
2528 ปตท.จัดตั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด เพื่อดำเนินการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม และร่วมจัดตั้ง บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัดเพื่อดำเนินการกิจการปิโตรเคมี
2532 จัดตั้งบริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) ดำเนินโครงการผลิตสารอะโรเมติกส์ (Aromatics) แห่งแรกของประเทศไทย ตามนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีระยะที่ 2 ของประเทศ โดยในระยะเริ่มต้นมีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยปตท. 25 % ไทยออยล์ (ขณะนั้นปตท.ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนี้แล้ว) 40% และ บริษัท เอ็กซอนเคมีคัล อีสเทอร์น 35%
2533 จัดตั้งบริษัทไทยโอเลฟินส์ ผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำ (Downstream petrochemical products)
ยุคใหม่ –Integrated Value Chain
2544- .ปตท. ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2546ไทยโอเลฟินส์ (ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้น 63%) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
2547 –ปตท.ร่วมทุนกับ ปิโตรเคมีแห่งชาติ ไทยเอโลฟินส์ และอะโรเมติกส์ ก่อตั้งบริษัทพีทีทีฟีนอล ผลิตฟีนอล ด้วยสัดส่วน 40/20/20/20 ถือเป็นวัตถุดิบชั้นกลางสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
— ปตท.ร่วมทุนกับปิโตรเคมีแห่งชาติ ตั้งบริษัทพีทีทีโพลีเอททีลีน ดำเนินโครงการอีเทแครกเกอร์และผลิตเม็ดพลาสติกLDPE และ ปตท.ร่วมกับไทยโอเลฟินนส์ เข้าซื้อกิจการบริษัทบางกอกโพลีเอททีลีนผลิตLDPEเพิ่มเติมอีก ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญการพัฒนาปิโตรเคมีขั้นปลาย
2548- ปิโตรเลียมแห่งชาติ และ ไทยโอเลฟินส์ ได้เข้าควบรวมกิจการ ไปเป็น ปตท.เคมิคอล
2549 – ปตท. ได้เข้าไปถือหุ้นประมาณ 30 %( ที่เหลือคือธนาคารออมสินและกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการฯลฯ) ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ไออาร์พีซี
— อะโรเมติกส์ไทย และ โรงกลั่นน้ำมันระยอง ได้เข้าควบรวมกิจการ ไปเป็น ปตท.อโรเมติกส์และการกลั่น
–ปตท. เข้าถือหุ้น41%ใน HMC Polymers
2551 ไทยโอเลฟินส์เข้าไปถือหุ้นในวีนิไทย 20%
2554 ก่อตั้งบริษัทบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล เกิดจากการควบบริษัท และรับโอนทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมดของ บริษัท ปตท. เคมิคอล และบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น