
กรณ์ จาติกวณิช เป็นนักการเมืองไทยคนหนึ่ง เชื่อว่าจะมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้นในฐานะผู้มีบุคลิกที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันมีบทบาทสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจไทย จากความคาดหวังไม่มาก สู่ความคาดหวังมากขึ้น หลังจากกลายเป็น “จุดขาย” รัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อนิตยสารการเงินของอังกฤษ (The Banker Magazine) ยกเป็น Finance Minister of the Year 2010 – Global and Asia-Pacific
บางคนได้เคยเปรียบเทียบเขากับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะช่วยต้นๆของชีวิตมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายคลึงกัน ดูน่าสนใจไม่น้อยไปแล้ว ผมจะพยายามนำมาเปรียบเทียบกับ ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์บ้าง ในฐานะรัฐมนตรีคลังคนหนุ่ม มองผ่านบุคคลทั้งสองในภาพกว้าง มิติประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและประสบการณ์การทำงานด้านธุรกิจการเงินที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ในบริบทความสัมพันธ์ในบทบาทนักการเมืองและรัฐมนตรีคลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื่อว่า กรณ์ จาติกวณิช จะได้ศึกษาบทเรียนสำคัญๆ ของธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ในฐานะผู้เดินผ่านเส้นทางนี้มาก่อน แม้ว่าในช่วงนี้นดูขรุขระบ้างก็ตาม
รากเหง้าตระกูลชนชั้นนำ
เขาทั้งสองถือว่ามาจากตระกูลที่มีความสำคัญ ถือเป็นรากเหง้าของสังคมชนชั้นนำ ในฐานะมีความใกล้ชิดกับราชสำนักมายาวนาน ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนการปกครอง จากนั้นบุคคลสำคัญในตระกูล มีบทบาทในการทำงานราชการเกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจในบางช่วงที่สำคัญด้วย
ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์—“เขาเป็นบุตรชายคหบดีเชียงใหม่ที่เติบโตมากับความเป็นเมืองศูนย์กลางภาคเหนือที่มีบุคลิกเฉพาะทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นอย่างสำคัญตั้งแต่รัชการที่5 คนตระกูลนิมมานเหมินทร์มักจะยกย่องหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) เป็นบรรพบุรุษสำคัญในการสร้างรากฐานตระกูลชุติมา และนิมมานเหมินทร์ควบคู่กันไป
หลวงอนุสารฯเป็นกรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ในรัชการที่5รากฐานของตระกูลนี้เติบโตมาจากการค้าขายส่งสินค้าท้องถิ่นภาคเหนือมากรุงเทพขณะเดียวกันนำสินค้าสมัยใหม่จากร้านฝรั่งในกรุงเทพไปขายให้ชนชั้นนำทางเหนือ ธุรกิจสำคัญแขนงหนึ่งก็คือปล่อยเงินกู้ จากนั้นขยายกิจการสร้างตลาด และอื่นๆต่อเนื่องจากจากที่ดินที่ยึดมาจากการจำนอง
สังคมภาคเหนือที่แวดล้อมด้วยการค้า ป่าไม้ ซึ่งมีชาวตะวันตกเป็นตัวละครสำคัญในยุคอานานิคม หลวงอนุสารฯ จึงเป็นคนหนึ่งที่สนใจความก้าวหน้าของตะวันตก และส่งเสริมลูกหลานมีการศึกษาที่ดี โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษ
ปู่ของธารินทร์(กี นิมมานเหมินทร์) เข้าใจว่าเป็นบุตรชายพี่สาวของหลวงอนุสรณ์ฯ เลี้ยงเอาไว้ มีหน้าที่ค้าขาย ติดต่อกับห้างต่างประเทศเพื่อนำสินค้ามาขายภาคเหนือ เขาจึงถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียน อัสสัมชัญ กรุงเทพ เพื่อให้ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อชาวต่างชาติได้ดี จากนั้นเขาแต่งงานกับบุตรสาวคนโตของหลวงอนุสรฯ
คนรุ่นต่อมาของนิมมานเหมินทร์ ไม่ว่า ไกรศรี(บิดาของธารินทร์) พิสุทธิ์ อัน บุตรชายของ กี นิมมานเหมินทร์ ล้วนผ่านการศึกษาในต่างประเทศทั้งสิ้น ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ บุตรชายคนโตของ จบการศึกษาMBA จากHarvard Universityคนแรกของไทย ทำงานราชการอยู่ช่วงสั้นๆ(ในฐานะอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ต่อมาทำงานเป็นตัวแทนธนาคารบางแห่งในภาคเหนือ ก่อนจะรับช่วงกิจการบิดาที่เชียงใหม่ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ จบจากLSE (London School of Economics and Political Science)จากอังกฤษ เติบโตในราชการจนเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ส่วนอันจบการศึกษาสถาปัตยกรรมจากHarvard Universityคนแรกของไทย เป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมเชี่ยวชาญเรื่องสถาปัตยกรรมไทย” (อ้างจากหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” ในบทที่ว่าด้วยการศึกษาในสหรัฐอเมริกา)
กรณ์ จาติกวณิช— ต้นตระกูลทางฝ่ายบิดาของเขา เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากในประเทศสยามตั้งแต่รัชการที่5เช่นเดียวกัน
นามสกุล “จาติกวณิช” หรือ “Chatikavanij” เป็นนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 พระราชทานแก่ พระอธิกรณประกาศ (หลุย) เจ้ากรมกองตระเวนในขณะนั้น พระอธิกรณประกาศ เกิดที่กรุงเทพฯ เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เช่นเดียวกัน เริ่มทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอร์เนียว 4 ปี ก่อน จะมารับราชการตำรวจอย่างยาวนาน (2441-2475) จากตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ จนดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมตำรวจภูธร (ถือว่าเทียบเคียงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบัน) คนที่ 2 ของไทย (2472-5) และ เป็นองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 7(2466) ด้วย
พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีภรรยา 2 คน ภรรยาคนแรก มีบุตรชายที่เป็นที่รูจักกัน คือ นายแพทย์ก้ษาน จาติกวณิช ภรรยาคนที่สอง มีบุตรชายคนสำคัญ 2 คน คือ เกษม จาติกวณิช (ผู้มีบทบาทในการพัฒนาพลังงานของไทย ในฐานะผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตคนแรกและทรงอิทธิพลที่สุด) และ ไกรสีห์ จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นบิดาของกรณ์
พื้นฐานการศึกษาจากตะวันตก
แม้ทั้งสองมีวัยที่แตกต่างกันเกือบ 20 ปี แต่ในช่วงต้น อิทธิพลแวดล้อมชักนำให้เข้าได้รับการศึกษาจากต่างประเทศตั้งแต่ระดับต้น ทั้งนี้มิได้พิจารณาในฐานะครอบครัวที่อันจะกิน แม้ว่าทั้งสองผ่านการศึกษาคนละทวีป แต่มีร่องรอยในการเตรียมตัวเป็นชนชั้นนำยุคใหม่ของสังคมไว้
ธารินทร์(เกิดปี2488) เติบโตขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่ามกลางบทบาทและอิทธิพลสหรัฐฯในภูมิภาคนี้เริ่มต้นขึ้น แต่นั้นคงไม่สำคัญเท่าเส้นทางการศึกษาของบิดาของเขา ถือว่าเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จมากคนหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ ธารินทร์เริ่มต้นการศึกษาสำคัญ จากโรงเรียนมงฟอร์ด เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนต่างจังหวัดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของคริสตจักร โรงเรียนจึงเติบโตมากับบุคลิกของเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะสากลมากกว่าหัวเมืองอื่นๆ มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นสนธิสัญญาเบาริ่ง
จากนั้นธารินทร์ได้รับการแนะนำจากครูสอนศาสนาเข้าเรียนระดับมัธยมเพื่อวางรากฐานภาษาอังกฤษทีWoodstock School โรงเรียนประจำชั้นนำที่อินเดีย แล้วก็ข้ามไปเรียนที่สหรัฐที่โรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในสหรัฐ The Choate (ปัจจุบันชื่อ Choate Rosemary Hall) ในช่วงก่อนปี 2510 ฐานการศึกษาระดับพื้นฐานเช่นนี้ทำให้ ธารินทร์ ผ่านศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ โดยจบปริญญาตรีจาก B.A. (Government, Honor) Harvard University และ MBA (Finance) Stanford University
กรณ์ เกิด(ปี 2507 ) ที่อังกฤษ ตอนที่บิดาของเขา เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน แต่ก็มาผ่านการศึกษาขั้นต้นในโรงเรียนไทย( อนุบาล-ประถมศึกษาตอนต้น) เขาเคยบอกว่าคนที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาของเขามากคนหนึ่งคือ ลุง(เกษม จาติกวณิช) ในฐานะที่คอยส่งเสริม สนับสนุน เกษมเองมีประสบการณ์ในการเรียนระดับมัธยมในต่างประเทศ ที่ฮ่องกง( St.Stephen’s College คนไทยยุคหนึ่งนิยมส่งบุตรหลายไปเรียนกันมาก) ในช่วงเวลาเดียวกั่นที่ก่อนจะเข้าไปเรียนมัธยมที่อังกฤษ บุตรชานคนโต(ของเกษม(วสันต์ จาติกวณิช) ก็กำลังจะจบการศึกษาระดับมัธยมที่สหรัฐฯ
กรณ์ ต้องใช้เวลาเรียนมัธยมที่อังกฤษนานพอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะ Winchester College ถือเป็นโรงเรียนแบบฉบับอังกฤษที่ดีมากอีกโรงเรียนหนึ่ง เป็นบันไดที่ดี จากนั้นก็สามารถเข้า Oxford University เรียนระดับปริญญาตรีในสาขา Philosophy, Politics and Economics หรือ PPE
ว่าไปแล้วทั้ง B.A. (Government) Harvard University และ B.A. (PPE) Oxford University มีความคล้ายคลึงกันมากทีเดียว ในฐานะผู้เรียนสามารถเรียนวิชาการหลากหลายที่สัมพันธ์กัน (ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง และเศรษฐศาสตร์) ในฐานะเตรียมตัวในฐานะผู้บริหาร ที่มีความรอบรู้ และมีความยืดหยุ่น สามารถทำงานได้ทั้งภาครัฐและเอกชน
แม้ว่าวิชาการที่เรียนในระดับปริญญาตรีของธารินทร์(Harvard) ดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เท่ากับที่ Oxford (เท่าที่พิจารณาดูรายละเอียดของหลักสูตรทั้งสองในwebsite ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) แต่เขาก็เรียนเพิ่มเติมในระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ สาขาการเงินเป็นการเฉพาะ
ว่าไปแล้วขณะนั้น MBA เป็นวิชาการที่สำคัญ และกำลังเริ่มต้นมีอิทธิพลต่อวงการธุรกิจระดับโลก สำหรับเมืองไทยแล้ว นับว่าสอดคล้องกับอิทธิพลของธุรกิจระหว่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ในช่วงนั้น (2512-4) คนไทยกลุ่มหนึ่งผ่านการศึกษาMBA กลับมา และเริ่มต้นยุคพวกเขาที่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจไทย (เช่น ชุมพล ณ ลำเลียง ศิวะพร ทรรทรานนท์ ปรีดิยาธร เทวกุล เอกกมล คีรีวัฒน์)
เขาทั้งสองก็คือเป็นคนไทยไม่กี่คนมีProfileการศึกษาที่ดีเยี่ยม และก็เป็นเพียงไม่กี่คนที่เริ่มต้นทำงานในกิจการต่างประเทศ สำหรับสังคมไทยแล้วถือเป็นการเริ่มต้นสร้างประสบการณ์ที่ดี
จากประสบการณ์นั้น เอื้อประโยชน์อย่างมาก ในการกลับมาทำงานในเมืองไทย กรณ์ ดูเหมือนจะโชคดีมากกว่า ในการทำงานที่โลดโผน ตื้นเต้น และ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ขณะที่ธารินทร์นั้น นับว่ามีประสบการณ์ ในการทำงานที่เชี่ยวกรำมากกว่ามาก
หากเปรียบเทียบกันแล้ว ตอนก้าวขึ้นตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้น ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ มีความมั่นใจมากกว่ากรณ์ จาติกวณิช มากนัก
เชิงอรรถ
Woodstock School
ประเทศอินเดีย เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คนอินเดียจึงสามารถพูดภาษอังกฤษได้ดีกว่าหลายชาติในเอเชีย จึงมีโอกาสมากมายในโลก ปัจจุบัน ระบบโรงเรียนที่สอนภาษอังกฤษในอินเดีย มีจำนวนไม่น้อย มีคนไทย จำนวนหนึ่งผ่านโรงเรียนที่นี่มาแล้ว โดยเฉพาะ Woodstock School ที่เชิงเขาหิมาลัย ในรัฐอุตรประเทศ ธารินทร์ และ ศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ (น้องชาย) ล้วนผ่านโรงเรียนมาแล้ว ก่อนจะข้ามไปเรียนมัธยมตอนปลายที่สหรัฐ นิพัทธ์ พุกนะสุต เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าโรงเรียนรุ่นหลัง ธารินทร์ แต่ รุ่นพี่ ศิรินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่ ธารินทร์-นิพัทธ์ รุ่นพี่รุ่นน้องโรงเรียนเดียวกัน แต่ต้องต่อสู้กันในทางการงานและการเมืองอย่างดุเดือด เป็นคู่ปรับแห่งทศวรรษเลยทีเดียว
ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ยังต้อนรับคนไทยยอยู่ จากเคยเข้มงวดรับคนไทยเพียงละปีละ1 คน ปัจจุบัน มีมาก กว่า 5 คน ที่น่าแปลกที่Woodstock School เป็นโรงเรียนระบบอเมริกันที่สำคัญในอินเดีย ที่สำคัญค่าเล่าเรียนแพงกว่าโรงเรียนอื่นๆทั้งหมดก็ว่าได้(เพราะครูส่วนใหญ่ เป็นชาวตะวันตก ในขณะที่โรงเรียนอื่น ครูส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย)ส่วนที่เหลือเป็นโรงเรียนระบบอังกฤษ หรือระบบอินเดีย ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ โรงเรียนเหล่านี้ มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ปัจจุบันคนไทยกลุ่มหนึ่งสนใจไปเรียนกันที่นี่มากขึ้น อาจจะเนื่องมาจากกระแสโรงเรียนนานาชาติบ้านเราแรงขึ้น ในขณะที่ทางเลือกการศึกษาในอินเดีย มีค่าเล่าเรียนต่ำกว่าทีอื่น ๆ
Choate Rosemary Hall
โรงเรียนสหศึกษา เกรด 9-12 มีทั้งประจำและไปกลับ 75%เป็นนักเรียนประจำ
นักเรียนต่างชาติ ประมาณ14%
จำนวนนักเรียน ประมาณ830คน
โรงเรียนนี้เกิดขึ้นจากควบกิจการของโรงเรียนสองแห่ง ในยุคที่เผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและคนอเมริกันให้ความสำคัญระบบการศึกษาแบบสหศึกษามากขึ้น Rosemary Hallโรงเรียนสำหรับผู้หญิง ก่อตั้งขึ้นในปี1890 ขณะที่ The Choate โรงเรียนชายก่อตั้งขึ้นในปี1896 ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ต่อมาในปี1971 มีนโยบาย ร่วมมือกัน จากนี้อีก6ปี จึงตัดสินใจรวมตัวกันเป็นโรงเรียนเดียว โดยเปลี่ยนชื่อเป็น Choate Rosemary Hall
ตอนที่ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เข้าเรียนนั้น ยังชื่อ The Choate
โรงเรียนนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่400เอเคอร์ อยู่ทางเหนือของเมืองNew Heaven ซึ่งถือว่าเป็นเขต เมืองขนาดเล็ก ประมาณ12ไมล์ และอยู่ทางใต้ของเมืองHartford ประมาณ20ไมล์ ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณสองชั่วโมง จากBoston และ New York City
Winchester College
โรงเรียนชายล้วน เกือบทั้งหมดอยู่ประจำ (อายุ 13-18 ปี)
จำนวนนักเรียน ประมาณ700 คน
เป็นโรงเรียนชายประจำเก่าแก่และมีชื่อเสียงตั้งอยู่ใน Winchester , Hampshire
ที่ตั้งโรงเรียนและตัวอาคารสำคัญปัจจุบัน มีอายุมากกว่าหกร้อยปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถือเป็นอาคารโรงเรียนเก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ เป็นโรงเรียนที่ถือเป็นต้นแบบ English public schools แห่งแรกด้วย
เป็นโรงเรียนที่มีผลการเรียนเป็นเลิศอันดับต้นๆ สามารถสอบเข้าเรียน Oxbridge (Oxford และ Cambridge) ได้มากกว่า 50คน ต่อปี
Philosophy, Politics and Economics หรือ PPE
หลักสูตรการเรียนปริญญาตรีที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของ Oxford University มีการเรียนวิชาด้านสามด้านพร้อมๆกัน ทั้ง ปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ บางคนบอกว่า เป็นหลักสูตร สร้างนักปกครอง สำหรับประเทศเมืองขึ้นในยุคอาณานิคม กรณ์ จาติกวณิช เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่า “Oxford ถือการเมืองเป็นเรื่องใหญ่” สำหรับเมืองไทยแล้ว ผู้ผ่านหลักสูตรนี้ มีแรงบันดาลใจมากเป็นพิเศษในการเป็นนักการเมือง บุคคลที่รู้จัก พอจะยกตัวอย่างก็มีดังนี้
2476 (ปีที่จบ) หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
2514 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร
2528 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ กรณ์ จาติกวณิช
รออ่านเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานในต่่างประเทศของคุณกรณ์และคุณธารินทร์ ประวัติการศึกษานั้นเป็นข้อมูลสาธารณะ หาอ่านได้จากที่เว็บไซต์ทั่วไป ดิฉันคิดว่าประวัติการณ์ทำงานของคุณกรณ์โดยเฉพาะที่ต่างประเทศน่าจะเป็นจุดที่ทำให้คุณกรณ์เด่นกว่าคุณอภิสิืทธิ์มาก คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยได้รับการยกย่องจากนักธุรกิจต่างชาติเลยไม่ใช่หรือ