ในฐานะปัจเจก การดำเนินชีวิตในเมืองหลวง อย่างกรุงเทพฯในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น
ความหมาย และความสำคัญ ควรเริ่มต้นที่”บ้าน” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความหมาย บ้านในกรุงเทพฯ คือส่วนที่แยกออกอย่างชัดเจนจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ ก็คือการทำงาน ความแยกตัวออกจากกัน ระหว่างการทำงาน กับการอยู่บ้าน เริ่มต้นกลายเป็นความแปลกแยกในการดำเนินชีวิต แต่นานๆไปเป็นความเคยชิน
สังคมเมืองที่ว่านี้ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก เกิดขึ้นจากระบบราชการ และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่เติบโตและมั่นคงขึ้น ในยุคการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และการบริการ ขยายตัวอย่างขาดความสมดุล อันเกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีการวางแผนที่ดี
ขณะที่ในสังคมชนบทดั้งเดิม หรือสังคมการเกษตร บ้านเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ความกลมกลืน ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เรือก สวน ไร่นา กิจกรรมหรือวิถีในบ้านดำเนินอย่างปกติ บ้านถูกใช้ประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ บ้านเป็น ทั้งแหล่งผลิต และบริโภคที่กลมกลืนกัน
ความสวยงาม ศิลปะ เป็นเรื่องที่สัมผัสได้ มิใช่รสนิยม หรือความชมชอบ ที่ผันแปรตามกระแส การสร้างบ้าน เป็นศาสตร์ของการจัดการให้เหมาะสมกับธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศ ที่ถูกถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาของชุมชน กับวิถีชีวิต และมีศิลปะที่มีเอกลักษณ์ เช่น สวนในบ้าน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของบ้าน กลมกลืนกับธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เช่นแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย บ่อปลา หรือพืชน้ำ สวนครัว สวนผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ (แนวความคิดนี้สามารถประยุกต์เข้ากับชีวิตบ้านจัดสรรได้เช่นเดียวกัน อ่าน “ชมรมบ้านจัดสรร (ใหม่)“)
เพราะการแบ่งแยก ช่องว่างที่มากขึ้นๆ ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน กลายเป็น ปัญหาสังคม ระยะทางหรือเวลาที่ต้องเดินทางไปมา ระหว่างบ้านกับทีทำงานนี่เอง คือที่มาของการใช้ชีวิตอย่างไม่สมดุล อาจจะถือเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาการพัฒนาการเมืองใหญ่ในหลายด้าน
โดยก่อรูปบุคลิกสังคมอย่างหนึ่ง ที่อาจเรียกว่า เป็นการเกิดขึ้นของสังคมรถ
รถยนต์ พาหะที่ผู้คนในเมืองใหญ่ใช้อำนวยความสะดวก ให้เดินทางจากบ้านไปที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบายมากขึ้น ในที่สุดก็พบว่า คนอยู่ในรถมากกว่าทั้งที่ทำงาน และบ้าน ที่ทำงานนั้นกำหนดระยะเวลาทำงานค่อนข้างแน่นอน ดังนั้นเวลาที่ลดลงอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ทศวรรษของสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมกรุงเทพ คือเวลาอยู่บ้าน
การจราจรติดขัด เป็นเหตุขยายเวลาให้อยู่ในรถมากขึ้น เริ่มต้นเพราะมีรถกันมากเกินกว่าถนนจะรับได้ แต่สาเหตุสำคัญมากกว่านั้นในความเห็นของผม ก็คือ ผู้คนถูกชักจูงให้ออกนอกบ้านมากขึ้น โดยปกติเวลาเดินทางไปทำงานโดยเฉลี่ยของคนกรุงเทพ ก็ประมาณ1-2ชั่วโมง แต่เอาเข้าจริง เวลาที่อยู่นอกบ้านมีมากกว่านั้นมากนัก
กิจกรรมนอกบ้านของเราส่วนใหญ่ เป็นกิจกรรมฟุ่มเฟือย กรุงเทพฯมีสถานบริการเปิด24ชั่วโมงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ห้างสรรพสินค้าปิดบริการดึกมาก มีร้านสินค้า อาหารมากมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นจูงใจคนกรุงเทพฯ อยู่นอกบ้าน มาทุกวันนี้คนกรุงเทพอยู่นอกบ้านมากขึ้น เพราะมีสิ่งฟูมเฟือยมากขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง มีรถยนต์ใช้ สังคมเมืองเป็นสังคมที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น เป็นสังคมบริโภคอย่างไม่มีการจัดการ หรือวางแผนที่ดี
ปัญหามิใช่มีเฉพาะผู้บริโภคเท่านั้น ธุรกิจบริการล้วนต้องลงทุนมากกว่าปกติ ดูเผินๆธุรกิจเหล่านั้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทว่าอยู่ภายใต้ต้นทุนต่อหน่วยที่สูงขึ้น หากห้างสรรพสินค้าทั้งกรุงเทพหยุดวันเสาร์-อาทิตย์พร้อมกันหมด ยอดขายสินค้าต่อเดือนก็คงลดลงบ้าง แต่ที่ลดลงมากกว่าก็คือค้าใช้จ่ายของห้าง โดยเฉพาะการบริการต่อหน่วยจะลดลง เพราะผู้บริโภคจะวางแผนการซ้อมากขึ้น ที่สำคัญค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ และเป็นที่แน่นอนว่า ภาระนี้ไม่เป็นเพียงเฉพาะของภาคเอกชนเท่านั้น รัฐต้องจัดสรรทรัพยากรของสังคม มากกว่าที่ควรกระจายอย่างทั่วถึงทั้งสังคม ให้กับคนกลุ่มหนึ่งในเมืองหลวงที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน อาทิ งานด้านพลังงาน การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
วิถีชีวิตในสังคมเมืองในยุคเศรษฐกิจเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆมาหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ควรบีบบังคับให้ผู้คน ต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิต แต่ดูเหมือนจะปรับตัวจะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า
แนวทางใหม่ที่ควรจะเกิด จะเป็นโมเดลผสมผสานมากขึ้น บ้านควรกลมกลืนกับการทำงานมากขึ้น ถือเป็นแนวโน้มระดับโลกมาระยะหนึ่ง และเชื่อกันว่ากระแสเร่งจะมีมีมากขึ้น จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
ระบบราชการ และธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งครอบงำความเป็นไปของสังคมเมืองนั้น กำลังถูกแรงบีบคั้นให้ลดขนาดลง และบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี่สารสนเทศ และระบบสื่อสาร สมัียใหม่มากขึ้น จากนี้ไม่นาน ข้าราชการ และลูกจ้างในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนหนึ่งซึ่งจะเพิ่มขึ้นๆในอนาคต จะย้ายสถานที่ทำงานจากเดิมไปอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือ การศึกษาอดีตมาใช้ในปัจจุบันนั้นเอง
ซึ่งถือเป็นก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมและบริการยุคใหม่ ขณะเดียวกันธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ซึ่งกำลังค่อยเกิดขึ้นและเติบโตมากขึ้น มีการจัดการที่ดีขึ้น กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ มีความสามารถจะย้ายออกจากธุรกิจขนาดใหญ่ จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งสำคัญๆ มาประกอบการอาชีพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเกิดขึ้น ถือเป็นการถ่ายเทพลังของสังคมที่สำคัญ จากนี้ธุรกิจขนาดย่อยจะมีพลัง เป็นฐานของสังคมเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นการปรับตัวทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจที่เคยอิงกับธุรกิจขนาดใหญ่มากเกินไป สังคมมีความเสี่ยงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา มาปรับน้ำหนักให้ธุรกิจขนาดย่อยมีมากขึ้น ในจำนวนนี้ซึ่งมากพอควร จะใช้บ้าน เป็นฐานสำคัญของธุรกิจขนาดย่อย
บ้านควรจะกลับมีชีวิตชีวามากขึ้น บ้านจะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น การมีบ้านจะมีความหมายที่เป็นสาระมากขึ้น และบ้านจะเป็นส่วนสำคัญ ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น
นี่คือ แนวโน้มที่ควรเป็นไปดำเนินไปอย่างเงียบๆ และค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบัน ผู้คนต้องรอคอยอย่างอดทนกับโอกาสการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วย
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนเดิม “วิถีชีวิตชนชั้นกลาง”ของผมเอง ซึ่งเขียนในช่วงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี2540 ในช่วงนั้นยังไม่มีการพูดถึง ปัญหาโลกร้อน กระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยังไม่พุ่งแรงเช่นทุกวันนี้ ผมพยายามปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อสะท้อนแนวคิด ในฐานะชิ้นส่วนเล็กๆ สอดคล้องกับแนวคิดและความเชื่อหลักของผม ว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์การดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆจากนี้ไป ด้วยมุ่งมองระยะยาว (Long term strategy ) ภายใต้ระบบสังคมไทยปัจจุบัน อยู่ในช่วงการปรับตัวให้กลไกต่างๆทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายของระบบเอง และระบบใหญ่ที่ส่งผลกระทบเข้ามา เชื่อว่าต้องใช้เวลาพอสมควร
ผมได้เขียนบทความทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว อย่างน้อยสามตอน ก่อนหน้านี้ (Soft power(1) (2) และ เกษตรกรรมสองกระแส) แม้ว่าเนื้อหาตอนนี้จะกล่าวถึง คนกรุงเทพฯ แต่เชื่อว่าเป็นบทเรียน ใช้ได้โดยทั่วไป
ชอบค่ะ บทความดีมากค่ะ ^^