เขาทั้งสองก็คือเป็นคนไทยไม่กี่คนมีProfileการศึกษาที่ดีเยี่ยม และก็เป็นเพียงไม่กี่คนที่เริ่มต้นทำงานในกิจการต่างประเทศ สำหรับสังคมไทยแล้วถือเป็นการเริ่มต้นสร้างประสบการณ์ที่ดี
จากประสบการณ์นั้น เอื้อประโยชน์อย่างมาก ในการกลับมาทำงานในเมืองไทย กรณ์ จาติกวณิช ดูเหมือนจะโชคดีมากกว่า ในการทำงานที่โลดโผน ตื้นเต้น และ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ขณะที่ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ นั้น นับว่ามีประสบการณ์ ในการทำงานที่เชี่ยวกรำมากกว่ามาก อย่างไรก็ตาม โอกาสของเขาทั้งสองเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกันอย่างน่าสนใจ
ประสบการณ์และเครือข่ายความสัมพันธ์
ธารินทร์ เริ่มต้นทำงานในต่างประเทศก็จริง แต่เป็นการเริ่มต้นที่ประเทศฟิลิบปินส์ ในกิจการธนาคารสหรัฐ เป็นกิจการธนาคารใหญ่ของสหรัฐที่ลงหลักปักฐานในประเทศนี้อย่างมั่นคงมาแล้วเกือบร้อยปี ตั้งแต่ยุคสหรัฐเข้ายึดครองประเทศนี้
First National City Bank หรือ Citibank ในเวลานี้ ขณะนั้นกำลังมีแผนการขยายกิจการในเมืองไทย ในขณะเดียวกันกับกิจการการเงินสหรัฐเหลายแห่งเข้ามาลงในเมืองไทย เช่น Banker Trustใน TISCO (ปี 2512) Chase Manhattan ใน CMIC (ปี 2514) หลังจากทำงานที่ฟิลิบปินส์เพียงปีเดียว ธารินทร์ ถูกวางตัวเข้ามาบริหารก็มาร่วมก่อตั้ง First National City Development Finance (Bangkok) ในเมืองไทยในปี 2514
เขาเป็นหนึ่งในบรรดาผู้บริหารรุ่นใหม่มาแรง โอกาสของเขาจึงเปิดกว้างมากขึ้น ในเวลานั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเก่าแก่ที่สุดของสังคมไทย โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติย์ถือหุ้นใหญ่ กำลังอยู่ในระยะหัวเลียวหัวต่อ
“การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธนาคารนี้สมควรบันทึกในประวัติศาสตร์เริ่มต้น ณ ปี 2516 เป็นต้นมา
หนึ่ง – ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติต่อเศรษฐกิจอันต่อเนื่องมาจาก OIL SHOCK ตั้งแต่ปี 2514 ธุรกิจธนาคารนั้นผนึกแน่นกับสถานการณ์ สถานการณ์คราวนั้นผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ สอง – ธนาคารไทยพาณิชย์มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจต่ำเพราะทุนจดทะเบียนน้อยมาก ความขัดแย้งนี้รุนแรงมาก ปี 2516 จำเป็นต้องเพิ่มทุนทันทีจาก 3.5 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาท ที่สำคัญมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจิตร ยศสุนทร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากแบงก์ชาติ มาดำรงตำแหน่งแทนอาภรณ์ กฤษณามระ ประวัติศาสตร์หน้านั้นค่อย ๆ พลิกโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เข้ามาทำงานอยู่ฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่มีประสบการณ์จากธนาคารต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหัวขบวน และมีส่วนสำคัญในการชักนำนักบริหารรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาของธนาคารนี้เข้ามาเป็นระลอก ๆ ปี 2518 ชฎา วัฒนศิริธรรม เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากแบงก์ชาติเข้ามาอีกคน บุกเบิกงานด้านวิจัยและวางแผน ปี 2519 ประกิต ประทีปะเสน ผู้ชำนาญด้านตลาดทุนจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทรก็เข้ามาสมทบ คุมนโยบายด้านสินเชื่อและการตลาด”(จากหนังสืออำนาจธุรกิจใหม่ ปี2541ของวิรัตน์ แสงทองคำ)
เขาใช้เวลาเรียนรู้ แก้ปัญหา และจัดระบบธนาคารไทยพาณิชย์ จากธนาคารอนุรักษ์นิยม แบบราชการ ให้เป็นธนาคารที่ทันสมัยกระฉับกระเฉงขึ้นอย่างชัดเจน ถึง10 ปีเต็ม กว่าจะก้าวขึ้นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด สำหรับวงการธนาคารแล้ว ถือว่าเขาได้รับเครดิตในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ กับความสำเร็จในการนำพาธนาคารผ่านช่วงวิกฤติการณ์ต่างๆของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าในช่วงปี 2522 และ ปี 2527 มาได้อย่างดี การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ในปี 2527 เป็นจังหวะที่น่าทึ่งมาก นั่นคือความพยายามอย่างเต็มความสามารถ กับอำนาบริหารอย่างเต็มที่ สามารถแก้ปัญหาโดยเฉพาะด้านสินเชื่อที่มีปัญหาพอสมควรในช่วงวิกฤติ ผ่านไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย ในการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของระบบการเงินโลกที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามามากขึ้น
ในช่วงนั้น กรณ์ จาติกวณิช เพิ่มเริ่มต้นทำงาน หลังจากจบการศึกษา เขาเคยประเมินประสบการณ์ช่วง 3ปี ในการทำงาน ที่ศูนย์กลางการเงินของโลก ณ กรุงลอนดอนกับ S. G. Warburg & Co (วาณิชกรที่เริ่มต้นจากผู้มีเชื้อสายยิว สำนักงานใหญ่ อยู่ลอนดอน ต่อมาในปี2538 ถูก Swiss Bank Corporation ซื้อไป) ไว้สูงมาก
“เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงปลายปี 1985 ถึงปี 1986 เป็นช่วงของการปฏิรูปการเงินในประเทศอังกฤษที่เรียกว่า Big Bang พอดี ผมจึงมีโอกาสได้เรียนรู้เต็มที่ และการเข้าไปทำงานที่นี่ ก็ทำให้ผมได้สร้างเครือข่ายที่มีผลเต็มร้อยกับการทำงานตลอดช่วงยี่สิบปีหลังจากนั้น” (จากหนังสือประวัติ กรณ์ จาติกวณิช –ผู้ชาย ผู้ไม่แพ้ เรียบเรียงจากบอกเล่าของตนเอง ตีพิมพ์ในช่วงเดียวกับการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง 2551)
ความสำเร็จและความมั่งคั่ง
เขากลับมาเมืองไทยจะด้วยเหตุใด ก็แล้วแต่ มาพร้อมกับโอกาสที่เปิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสำหรับผู้รู้กลไกตลาดเงิน ตลาดทุน เช่นเดียวกับธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ในฐานะผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าขยายการลงทุนสู่ธุรกิจข้างเคียงอย่างเต็มที
ในช่วงนั้นตลาดหุ้นเติบโตอย่างมากมาย ถือว่ามากที่สุดตั้งแต่ตั้งตลาดหุ้นไทยขึ้นมาก็ว่าได้ พร้อมกับเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามา ด้วยมุมมองที่ว่า ภูมิภาคนี้กำลังเติบโต โดยเฉพาะ ธุรกิจการเงิน สื่อสาร และอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้บรรยากาศนี้ ปรากฏชื่อ ปิ่น จักกะพาก เป็นผู้เล่นสำคัญ ในฐานะนักบริหารที่มีประสบการณ์ด้านการเงินไม่แตกต่างจากกรณ์ กำลังเติบโตและขยายอาณาจักรอย่างครึกโครม
โอกาสของกรณ์ จาติกวณิช มาพร้อมกับการอ้างอิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ตลาดหุ้น และอาณาจักรของปิ่น จักกะพาก อย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งไปกว่านั้น เขาได้เรียนรู้กลยุทธ์สำคัญของปิ่น ซึ่งถือว่าเป็นโมเดล เดียวกันกับการสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา
“ผลงานของปิ่น จักกะพาก ในการชักนำธนาคารพาริบาส์ แห่งฝรั่งเศส เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินยิบอินซอย ได้นั้น นอกจากจะเป็น จุดเริ่มต้นในยุคใหม่ของธุรกิจการเงินดั้งเดิมแห่งนี้เท่านั้น ยังเป็นภาพสะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติมีความั่นใจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยในขณะนั้น ปี2530บริษัทเงินทุนยิบอินซอยก็เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จากนั้นก็เริ่มต้นของยุคใหม่ด้วยการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้มีกลุ่มธุรกิจคนไทย ปิ่น จักกะพาก มองว่าต้องเป็นกลุ่มที่มีอนาคต เช่น กลุ่มซีพี กลุ่มชุมพล พระประภา ธนาคารพาริบาส์แห่งฝรั่งเศสจึงลดสัดส่วนลง ขณะเดียวกันธนาคารกสิกรไทยก็ยังถือหุ้นอยู่จำนวนหนึ่ง โครงสร้างใหม่นี้ ถือเป็นองค์ประกอบเริ่มต้นที่ดีของกิจการ ที่สำคัญเมื่อนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายได้ผลตอบแทนกันค่อนข้างมาก สร้างความพึงพอใจในการบริหารงานของ ปิ่น จักกะพากอย่างมาก ถือเป็นผลงานด้านวาณิชกิจครั้งแรกของเขาด้วย”( จากหนังสือ “โรคโลกานุวัตร” วิรัตน์ แสงทองคำ 2541)
ว่าไปแล้วก็ต้องนับว่ากรณ์ จาติกวณิช อยู่ในแวดวง และเครือข่ายเดียวกันกับปิ่น ในฐานะตระกูลจาติกวณิช มีความสัมพันธ์กับล่ำซำ(เกษม จาติกวณิช เป็นสามีคุณหญิงชัชนี นามสุกลเดิม ลำซำ แห่งกลุ่มล็อกซ์เลย์) แล้วเครือข่ายล่ำซำ ก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมายาวนานกับ ยิบอินซอย จูตระกูล และจักกะพาก
เขาก็ยอมรับว่าปิ่น จักกะพากเป็นคนแนะนำ และสนับสนุน การเริ่มต้นทำธุรกิจ ดูไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากโมเดลการเริ่มต้นของเอกธนกิจนัก นั้นการแสวงหาผู้ร่วมทุนที่ดี จากฝ่ายไทย(แน่นอนก็เป็นเอกธนกิจ) และต่างประเทศ เจเฟธนาคมก็เริ่มต้นเช่นนั้น
สถานการณ์ เครือข่าย และ Profileของเขาดูลงตัว และเป็นใจ ทุกอย่างจึงดูเป็นไปอย่างไม่ยากลำบาก Jardine Fleming คือผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ ขณะที่กรณ์ ถือหุ้นส่วนน้อย แต่ก็นับว่าเป็นสัดส่วนที่พอสมควรทีเดียว
Jardine Fleming ผู้ถือหุ้นต่างชาติ เป็น investment banker ก่อตั้งขึ้นที่ฮ่องกง ตั้งแต่ ปี2510 โดยการร่วมทุนระหว่างโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง ซึ่งเป็น investment banker ที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ และจาร์ดีน แมทเธอร์สันของฮ่องกง การร่วมทุนครั้งนี้ ถูกมองกันว่า เป็นผลดีต่อการดำเนินการ ของกิจการหลักทรัพย์.เจ.เอฟ.ธนาคม ช่วยสร้างจุดแข็งให้กับบริษัทในการสร้างฐานลูกค้า และเครือข่ายทั่วโลก
ในเวลาเดียวกันนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคธารินทร์ก็ดำเนินแผนเชิงรุกสู่ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ เข้าลงทุนในธุรกิจที่ออกนอกธนาคารมากขึ้น เงินทุนหลักทรัพย์ สื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ฯ กิจการเหล่านี้ถูกอัดฉีดและปรับแต่ง จนสามารถเข้าจดทะเบียนและระดมทุนสาธารณะชน ผ่านตลาดหุ้นได้อย่างครึกโครม เป็นกระบวน
ตลาดการเงิน เวลานั้นเป็นเรื่องของโอกาสจริงๆ
สำหรับธารินทร์ และกรณ์นั้น ก่อนวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ ปี2540 ทั้งสองก็เป็นบุคคลกลุ่มหัวขบวนของไทย ในความสามารถสะสมความมั่งคั่งทั้งในระดับองค์กรธุรกิจ ในฐานะเป็นผู้บริหาร และระดับปัจเจกด้วย จากโอกาสรอบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสในอดีต ถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่และกว้างขวางมากกว่าครั้งใดๆของสังคมไทย
แต่โอกาสนั้นแตกต่างกัน ตรงที่กรณ์ จาติกวณิช ยังมีโอกาสเปิดกว้างขวางอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งใหญ่กว่า หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
เป็นที่รู้กันว่า ความมั่งคั่งรอบใหญ่ถูกลดทอนไปมากพอสมควรทีเดียว เมื่อเผิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ในฐานะสินทรัพย์ ส่วนใหญ่ สัมพันธ์กับตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งราคาลดลงอย่างมากมาย อาณาจักรเอกธนกิจอันยางใหญ่ ของปิ่น จักกะพาก ล่มสลาย ทั้งธารินทร์ และกรณ์ ในฐานะบุคคลได้รับผลกระทบด้วย แต่ไม่มากนัก
สำหรับกรณ์แล้ว หลังวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นช่วงสำคัญ ต้องอดทนรอคอยโอกาสที่ยาวนานที่สุดที่ผ่านมาก็ว่าได้ แต่เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า เวลา 4 ปีที่ผานไป ด้วยความประคับประคองกิจการหลักทรัพย์ ที่ผันแปรไปตามภาวะตลาดหุ้น เมื่อภาวะกลับฟื้นตัวขึ้นมาระดับหนึ่ง โอกาสก็เปิดขึ้นอีกครั้ง
ในฐานะวาณิชธนากรแล้ว ดูเหมือนเขาจะพอใจผลการดีลครั้งสุดท้ายในอาชีพมากกว่าครั้งแรก
“ตัวผมเอง ก็ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการมีอะไรจากพ่อแม่มากนัก นอกจากเรื่องของการศึกษา และเงินเชื้อ หรือ seed money เมื่อครั้งที่ผมลงทุนคราวแรก ในบล.เจ.เอฟ. ธนาคม ซึ่งคุณพ่อให้เงินต้นผมมาลงทุน ผมแฮปปี้ที่เป็นแบบนี้ สามารถที่จะมีพัฒนาการทางด้านการทำงานของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแรงผลักดันจากครอบครัว” (อีกตอนหนึ่ง จากหนังสือ ผู้ชาย ผู้ไม่แพ้)…
ความสำเร็จที่กรณ์ จาติกวณิช กล่าวไว้ข้างต้นนั้น มิใช่นามธรรม มื่อต้องแสดง ทรัพย์สินต่อสาธารณะชน ในฐานะรัฐมนตรีคลัง เขากลายเป็นรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากที่สุด มีมูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านบาท
ผมจะพยายามอรรถาธิบายเรื่องที่น่าสนใจนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีก ในตอนหน้า
ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์
2488 เกิด 28ตุลาคม
2495 ศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมต้นที่โรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย เชียงใหม่
2504 จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นWoodstock School, INDIA
2506 จบการศึกษามัธยมศึกษาปลาย The Choate School (ปัจจุบัน Choate Rosemary Hall) USA
2507 B.A. (Government, Honor) Harvard University USA
2511 MBA (Finance) Stanford University, USA.
2513 เริ่มงานครั้งแรกเป็นพนักงานธนาคารสหรัฐ สาขา ฟิลิปปินส์ First National City Bank
2514 ย้ายมาทำงานเมืองไทย First National City Development Finance (Bangkok)
2517 เข้าทำงานธนาคารไทยพาณิชย์
2517 ผู้จัดการฝ่ายการธนาคาร
2518 ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการธนาคาร
2522 รองผู้จัดการใหญ่
2523 กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่
2527 กรรมการผู้จัดการใหญ่
2535เป็นรัฐมนตรีคลังครั้งแรก(กันยายน 2535 –พฤษภาคม 2538)
2540 เป็นรัฐมนตรีคลังครั้งที่สอง( พฤศจิกายน2540- กุมภาพันธ์ 2544)
กรณ์ จาติกวณิช
2507 เกิด 19 กุมภาพันธ์ ที่ Princess Beatrice Hospital ประเทศอังกฤษ
2511 อนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ
2517 ประถมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปทุมวัน)
2518 เข้าศึกษาที่ The Old Malhouse Preparatory และศึกษาต่อที่ Winchester College, UK
2525 เข้าเรียนที่ Oxford University
2528 สำเร็จการศึกษา B.A (Hons.) Philosophy, Politics and Economics หรือ PPE Oxford University
2528 เริ่มงานที่ S.G. Warburg & Co. กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
2531 กลับประเทศไทย ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม
2535 กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด
2544 ขายหุ้น เจเอฟ ธนาคม ให้กับ JP Morgan Chase และเป็นประธาน บริษัทเจพี มอร์แกน ประเทศไทย
2548 ลาออกจาก JP Morgan เพื่อเข้าสู่วงการเมือง
2551 รัฐมนตรีคลัง