ปตท.(9) ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

ต้องยอมรับว่า พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของปตท. มาจากความสามารถในการปรับตัวเข้าสถานการณ์  ปัจจัยที่สำคัญมาก   คือความเป็นองค์กรใหญ่ที่สามารถคัดเลือกผู้นำได้สอดคล้องกับยุคต่างๆ 

 

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร  นับเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับยุทธศาสตร์ของปตท.ในช่วงจากนี้ไป   โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น   เนื่องจากมีบุคคลสำคัญสองคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ใกล้เคียงกันมาก

คนแรก( เทวินทร์ วงศ์วานิช )เป็นวิศวกร  มีประสบการณ์จากอุตสาหกรรมต้นน้ำ(Up Stream) ด้วยการทำงานกับบริษัทต่างชาติ (Chevron ตั้งแต่ยังใช้ชื่อ Union Oil) บุกเบิกการสำรวจและพัฒนาก๊าซธรรมชาติครั้งแรกในอ่าวไทย เขาตัดสินใจลาออกจากกิจการใหญ่มาอยู่ในช่วงบุกเบิกปตท.สผ. ซึ่งต่อมาบริษัทลูกแห่งแรกได้เป็น Benchmark ความสำเร็จของปตท.ในหลายเรื่อง จากนั้นจึงเข้ามีบทบาทการบริหารในภาพกว้างของปตท.  โดยเฉพาะสามารถข้ามไลน์มาทำงานด้านการเงินในตำแหน่ง CFO   เชื่อว่าเขามีบทบาทสำคัญในช่วงปตท.ดำเนินยุทธศาสตร์ขยายกิจการสู่ปลายน้ำ (Down Stream) อย่างครึกโครม ด้วยกลยุทธ์ซื้อและควบรวมกิจการ (Merger &Acquisition)

การตัดสินใจเลือก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร   ถือเป็นการพลิกความคาดหมายของผู้ในวงการอยู่บัาง   อาจเป็นไปได้ว่าผู้คนในวงการบางส่วน ยังไม่รู้จักภูมิหลังของผู้จัดการใหญ่ปตท.คนใหม่ดีพอ

หากว่ากันตามยุทธศาสตร์ของปตท. ให้ความสำคัญภาพใหญ่ต่อเนื่อง จากต้นน้ำ กลางน้ำ  จนถึงปลายน้ำ โดยเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ธุรกิจปลายน้ำเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยโครงสร้างทางธุรกิจที่มีความซับซ้อ ขณะเดียวกันเชื่อกันว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ   ผมค่อนข้างเชื่อว่า  ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร   เข้ามาอยู่ในตำแหน่งอย่างถูกที่ ถูกจังหวะเวลา

ทีแท้เขาเป็นผลผลิตจากปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ของไทยในช่วง 3ทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่ามีประสบการณ์กว้างและลึกมากคนหนึ่ง จากยุคร่างพิมพ์เขียว มาถึงยุคหลอมรวมครั้งใหญ่ในประเทศ และกำลังขยายตัวก้าวสู่ระดับภูมิภาค

ปิโตรเคมีแห่งชาติ

ตอนที่ดร.ไพรินทร์เข้าทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติในปี2528 ยุทธศาสตร์สำคัญถูกวางไปเรียบร้อย ตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้การกำกับของดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา    ความคึกคักจึงอยู่ทีเอกชน กำลังสาละวน เตรียมตัวเพื่อช่วงชิงโอกาสสู่ความหวังใหม่ โดยเฉพาะแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Down stream)   การตัดสินใจอยู่ที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติในช่วงสั้นๆ แล้วก้าวสู่วงจรอันคึกคักที่สุด จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง

ธนาคารกรุงเทพ

ความสนใจอย่างมุ่งมั่นของชาตรี โสภณพนิช  แห่งธนาคารกรุงเทพต่อปิโตรเคมีคอมเพล้กซ์    เป็นฐานความคิดรวบยอดว่าด้วย “หนทางสู่ความมั่งคั่งใหม่” เป็นภาพสะท้อนมาจากความสัมพันธ์หลายชั้น

หนึ่ง-  ในฐานะสายสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องระหว่าง ชาตรีและธนาคารกรุงเทพ  กับ เปรม ติณสูลานนท์   จากยุครัฐบาลที่มั่นคง8 ปีเต็ม ต่อเนื่องมาถึงยุคพลเอกเปรม เป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพ ย่อมเข้าใจแนวคิด “โชติช่วงชัชวาล”อย่างดี ในฐานะคนที่อยู่วงในคนหนึ่ง

สอง- ในฐานะสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสังคมธุรกิจไทย  ในยุคของเขากำลังอยู่ในช่วงความผันแปร จากยุคค้าข่าว  สู่ธุรกิจสิ่งทอและอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น    สัญญาณความตกต่ำ ผันแปรของวงจรธุรกิจข้างต้น  เป็นตัวเร่งให้แสวงหาโอกาสใหม่  กลุ่มธุรกิจเก่าของสังคมไทยภายในเครือข่ายชาตรีและธนาคารกรุงเทพ ล้วนมองปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำเป็นอนาคต พวกเขาเตรียมตัวกันอย่างขมีขมันพยายามเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่   ธนาคารกรุงเทพ มีบทบาททั้งในฐานะผู้สนับสนุนและลงทุนด้วยตนเอง

สาม –บุตรคนโตของชาตรี—ชาติศิริ จะด้วยว่าวงแผนไว้หรือไม่ก็ตาม เขาเรียนด้านวิศวกรรมเคมีทั้งปริญญาตรี (Worcester Polytechnic Institute) และปริญญาโท (Massachusetts Institute of Technology) ในสถาบันมีชื่อระดับโลก ประหนึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคใหม่ที่เขามุ่งมอง

ชาติศิริ  โสภณพนิช เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพในปี 2529   ดูแลงานหลายด้าน รวมทั้งวาณิชธนกิจ เขาระดมทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีไว้มากที่สุดในเวลานั้นถึง 20 คน    ด้วยการซื้อตัวมาจากที่ต่างๆ  รวมทั้งทีมงานที่มีดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร จากปิโตรเคมีแห่งชาติด้วย    ว่าไปแล้วธนาคารกรุงเทพเกี่ยวข้องกับบรรดาธุรกิจหลายสิบราย ซึ่งพยายามเสนอตัวเข้าร่วมชิงโครงการปิโตรเคมีระยะสอง  ที่สำคัญ 5ใน6โครงการที่บรรลุเป้าหมาย ล้วนผ่านมือของทีมงานวิเคราะห์กลุ่มวาณิชธนกิจของธนาคารกรุงเทพทั้งสิ้น  รวมทั้งโครงการที่ธนาคารกรุงเทพลงทุนด้วยตนเอง( หนึ่งในนั้น คือโครงการผลิต เม็ดพลาสติก ของบริษัทบางกอกโพลีเอททีลีน)

ประสบการณ์ช่วงยาวนานช่วงหนึ่งที่ธนาคารกรุงเทพ  ตั้งแต่ศึกษา วิจัย ให้คำปรึกษา จนถึงมีบทบาทการก่อตั้งบริษัทบากกอกโพลีเอททีลีน ซึ่ง ดร.ไพรินทร์เองเข้ามาบริหารตั้งแต่ต้น ในตำแหน่งรองงกรรมการผูจัดการ รักษาการกรรมการผู้จัดการ   จนถึงดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการรวมกันแล้วมากกว่า 10 ปี ถือเป็นประสบการณ์บริหารธุรกิจปลายน้ำที่คุ่มค่า

สถานการณ์ที่ธนาคารกรุงเทพเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  แนวคิดว่าด้วยปิโตรเคมีก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย  เมื่อชาติศิริ มีความจำเป็นต้องเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ(ปี2537)  ซึ่งถือว่าเร็วกว่าแผนการเดิม ทำให้เขาต้องดูภาพใหญ่ ภาพปิโตรเคมีจึงเล็กลง และเมื่อธนาคารไทยต้องเผชิญวิกฤตการณ์ในปี 2540 แม้ธนาคารกรุงเทพจะเป็นธนาคารใหญ่ที่สุด ก็ต้องเผชิญพายุลมแรง จำเป็นต้องตัดขายกิจการสำคัญยออกไปหลายแห่ง

จนมาถึงในปี 2547   ธนาคารกรุงเทพได้ตัดสินใจขายบางกอกโพลีเอททีลีนให้ปตท.   เป็นภาพสะท้อนมุมมองต่อปิโตรเคมีทีเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง 

ปตท.เข้าซื้อกิจการบางกอกโพลีเอททีลีน เป็นจังหวะก้าวสำคัญมาก  ในการลงสู่ธุรกิจปลายน้ำอย่างจริงจัง ถือเป็นก้าวใหม่ทีท้าทายอย่างยิ่ง   ด้วยมีทีมงานที่มีประสบการณ์อย่างดี  โดยเฉพาะ   ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

ปตท.

เขาเข้ามาปตท.ในช่วงการขยายตัวเขาสู่ธุรกิจปลายน้ำอย่างคึกคัก(โปรดอ่านตอนที่แล้วเรื่อง ปตท.(8) ความอ่อนไหว  ธันวาคม 2555)   ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในวงในว่าดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร   มีบทบาทอย่างสำคัญในแผนการทางยุทธศาสตร์ใหม่

ธุรกิจขั้นปลายน้ำเป็นเรื่องใหม่สำหรับปตท. ขณะเดียวกันถือเป็นธุรกิจระดับโลก 

ธุรกิจต้นน้ำ พึงพิงแหล่งวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ บวกกับเทคโนโลยี่ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศเป้นครั้งคราว ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำ มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากต้องอาศัยความรู้ การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การซื้อเทคโนโลยี่ต่างประเทศเปิ่นครั้งคราว  ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ การร่วมทุนกับผู้เชี่ยวชาญ หรือเจ้าของเทคโนโลยี่เป็นแนวทางหนึ่งที่จำเป็น โมเดลนี้เชื่อว่าปตท.ศึกษาบทเรียนจากเอสซีจี ขณะที่เอสซีจีผูกพันกับ Dow Chemical มากเป็นพิเศษ ปตท.เลือกจับคู่กับ Asahi Chemical ซึ่งบังเอิญเป็นธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร มีสายสัมพันธ์

กรณีที่พีไอเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง  ทีพีไอเป็นกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร ตั้งแต่ต้นนำ ถึงปลายน้ำ เช่นเดียวที่เอสซีจี และ ปตท.   การเข้าไปมีบทบาทบริหารกลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งมีคนเก่าอยู่แล้วจำนวนมาก  ปตท.จำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้และประสบการณ์  แม้ว่าปตท.อ้างว่าถือหุ้นข้างน้อย แต่ความจริงในเชิงบริหารปตท.ส่งคนของตนเองเข้าไปกำกับอย่างเต็มที่  จึงต้องการคนที่เหมาะสม สามารถเข้าใจธุรกิจและเชื่อมโยงกับภาพใหญ่  โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

เรื่องราวของผู้นำคนใหม่ของปตท.คงต้องต่ออีกตอน

———————————————————————————————————————————-

ข้อมูลจำเพาะ

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

เกิด 8 กรกฎาคม 2499

 การศึกษา

2522 ปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากจุฬาลงลงกรรมหาวิทยาลัย

2525 ปริญญาโทวิศวกรรมเคมี จาก Tokyo Institute of Technology (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น–Monbusho)

2528ปริญญาเอกวิศวกรรมเคมี จาก Tokyo Institute of Technology (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น–Monbusho)

การทำงาน

2528 เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯช่วงสั้นๆ จึงเข้าทำงานที่ บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ

2529 ธนาคารกรุงเทพฯ –กลุ่มวาณิชธนกิจ (ตำแหน่งระดับ Assistant Vice President)

2541 กรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกโพลีเอททีลิน

2549   ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท.และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล

2551 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท.  และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง   และบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล

2552 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี

2554 (1 มิ.ย.)ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

2554 (10 ก.ย.) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: