ในช่วงปีที่ผ่านมา พื้นที่ตรงนี้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวสำคัญๆธุรกิจใหญ่ของไทยอย่างต่อเนื่อง
คงไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนบทบาทหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าผู้อ่านอยู่ในเมืองใหญ่ และมีความสัมพันธ์กับธุรกิจใหญ่มากเป็นพิเศษ หากให้ภาพรวมและทิศทางความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจด้วย หากนำภาพแต่ละชิ้นส่วนสำคัญมาปะติดปะต่อ ย่อมให้ภาพการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ถือเป็นบทเรียนทั่วไปของสังคมธุรกิจไทย
ทีซีซี
จากBlogของผม ผู้อ่านให้ความสนใจกรณี Pepsi Co. กับเสริมสุขมากเป็นพิเศษ เป็นจุดเริ่มต้นไปถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี ต่อเนื่องไปสู่ความเข้าใจในความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ใหญ่ เข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีอัลกอร์ฮอลอย่างเป็นกระบวนและขยายจินตนาการออกสู่ระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง
เมื่อเดือนกรกฎาคม2555 ไทยเบฟฯ(บริษัทแกนของกลุ่มทีซีซีที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์)ได้เข้าซื้อหุ้นประมาณ 24% ของ Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์ ถือเป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ด้วยมูลค่าเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ต่อมา(ตุลาคม 2555)ไทยเบฟฯ และตัวแทน สามารถครองครองหุ้นได้เพิ่มเป็น 32% แม้ว่าการเข้าครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
Fraser and Neave หรือ F&N ธุรกิจเกาแก่ของสิงคโปร์ กิจการรายใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกับกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี และมีอีกบางสิ่งบางอย่างที่ไทยเบฟฯอยากจะเป็น F&N มีธุรกิจที่สำคัญอย่างน้อยสองประเภท เหมือนกลุ่มทีซีซี คือ เบียร์(ต่อมาขายให้Heineken) และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เข้มแข็งมากกว่าที่ไทยเบฟฯมี
F&N ในฐานะธุรกิจระดับภูมิภาค มากด้วยประสบการณ์และบทเรียน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้ขยายฐานธุรกิจในหลายประเทศ ขณะเดียวกันสร้างความสัมพันธ์ และมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจระดับโลกทีเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคด้วย
ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญถือเดิมพันครั้งใหญ่ของไทยเบฟฯ กลุ่มทีซีซี และเจริญ สิริวัฒนภักดี เชื่อว่ามีมติเกี่ยวข้องกับอนาคตธุรกิจไทยด้วย
—เป็นการตัดสินใจอย่างห้าวหาญของผู้ประกอบการไทย ก้าวพ้นจากธุรกิจสัมปทานในระบบอุปถัมภ์รายสุดท้าย จากธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยรายในธุรกิจเครื่องดื่มอัลกอรฮอล์ในสังคมไทย และแล้วก้าวไปอีกขั้นสู่ธุรกิจระดับภูมิภาค แม้ว่ายุทธ์ศาสตรใหม่มิได้จากแรงบันดาลใจอย่างเดียว หากมาจากแรงบีบคั้นของสถานการณ์ใหม่ด้วย
–ขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสู่กิจการที่มีความต่อเนื่องอย่างหลากหลาย เป็นการจัดการPortfolioอย่างสมดุล และกระจายความเสี่ยง
—แสวงหาโอกาสที่มากกว่าประเทศไทย หากเข้าครอบงำ F&N สำเร็จ ฐานธุรกิจของไทยเบฟฯในสิงคโปร์ จะกลายเป็นฐานธุรกิจใหม่ที่มีขนาดใหญ่เท่าๆ กับฐานในเมืองไทย ถือเป็นการวางยุทธศาสตร์คู่ขนานอย่างน่าสนใจ
–เป็นบทเรียนของเตรียมตัวเข้าสู่เกมและโอกาสใหม่ของภูมิภาคที่กำลังหลอมรวมทางเศรษฐกิจมากขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า ถือเป็นหัวกระบวนของความเคลื่อนไหว ซึ่งเชื่อว่าจะมีมากขึ้นของธุรกิจใหญ่ของไทย ในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและเล็กก็สามารถเรียนรู้เป็นบทเรียนอ้างอิงได้เช่นกัน
เอสซีจี
เครือซิเมนต์ไทยมีการลงทุนในระดับภูมิภาคมานานแล้ว แม้ว่ามีปัญหาในช่วงวิกฤติการณ์ครั้งล่าสุดมากพอสมควร แต่เมื่อผ่านพ้น ค่อยๆขยายการลงทุนใหม่ ขยายเครือข่ายธุรกิจอีกครั้ง ดำเนินไปอย่างเป็นจังหวะ ดูเหมือนมิได้เร่งรีบนัก
แต่ดีลครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยปีที่แล้ว ไม่ถือเป็นดีลใหญ่ หากควรให้สนใจเป็นพิเศษคือ กรณีเอสซีจีเข้าถือหุ้นในเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง—โกลบอลเฮาส์
“การลงทุนในกิจการ ศูนย์จำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจร ซึ่งมีไม่ถึง 20 สาขา ด้วยใช้เงินมากกว่า500 ล้านบาทต่อสาขา โดยเป็นเจ้าของเพียงเสี้ยวเดียว (ประมาณ30%)”
ปรากฏการณ์นี้มีความหมายมากทีเดียว
-เอสซีจีกำลังปรับเปลี่ยนยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจที่ว่าด้วยความสัมพันธ์กับลูกค้า หลังจากเชื่อมั่นระบบตัวแทนเดิม ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งในความเป็นผู้นำตลาดมามากกว่าสามทศวรรษ สู่โมเดลความหลากหลาย ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างเดิม ระบบตัวแทนจำหน่ายเดิมพอสมควร
—มองตลาดภูมิภาค มุมมองที่เชื่องโยงกับAECอย่างเป็นจริง โดยขยายฐานจากภาคอีสานของไทยออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นแผนที่มีรายละเอียดลงลึก จากมุมมองและข้อมูลที่ว่าด้วยการเติบโตและภูมิศาสตร์ของภาคอีสาน ที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโต — โกลบอลเฮาส์เกิดขึ้นที่ภาคอีสานและมีเครือข่ายภาคอีสานมากที่สุด
–เป็นความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจศตวรรษกับธุรกิจโนเนมที่เกิดขึ้นเพียงทศวรรษเดียว ถือเป็นความสัมพันธ์พิเศษครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะกับเอสซีจี นอกจากนั้นยังสะท้อนโอกาสใหม่ของผู้คนหน้าใหม่ๆ บทสรุปในข้อความท่อนเล็กๆนี้ ยังรวมถึงโอกาสใหม่ของนักลงทุนที่ซ่อนตัวอย่างเงียบๆในระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริง ขยายตัวไปขอบเขตจากกรุงเทพฯสู่หัวเมืองในภูธร และนักลงทุนในตลาดหุ้นอีกจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าจากปีนี้เป็นต้นไป โฉมหน้าของผู้คนเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นมากขึ้น สร้างความงุนงงกับผู้ร่ำรวยเดิมมากขึ้น
ซีพี
ดีลครั้งใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยเข้าถือหุ้นบางส่วนแทนHSBC ใน Ping An insurance เป็นกรณี ควรพิจารณาด้วย มุมมองเกี่ยวกับซีพี่แตกต่างออกไป
มุมมองเดิมซีพีเข้าสู่ธุรกิจพื้นฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไป สร้างเกษตรครบวงจร(เพื่อเป็นพื้นฐานส่าธุรกิจอาหาร)อย่างเป็นระบบตั้งแต่ 4 ทศวรรษแล้ว จากนั้นจึงเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารและมีเดียเพียงทศวรรษเศษๆมานี้ ถือเป็นเวลาใกล้เคียงกับธุรกิจค้าปลีก โดยภาพรวมพัฒนาการของซีพี มีจังหวะก้าวที่สอดคล้องกับความเป็นไปของสังคมไทย จากนี้ซีพีกำลังจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่อย่างไม่เคยทำมาก่อน และเป็นการก้าวเข้าสู่อย่างรวบรัด
ซีพีได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนต่างชาติรายแรกๆที่เข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ยุคใหม่ ซึ่งความจริงมีมากกว่านั้น ตำนานซีพีกับจีน มีมานานก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลก ว่าไปแล้วโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างมากมายของซีพีต่อจากนั้น ล้วนมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนเจือปนอยู่
ซีพีมีธุรกิจในจีนอย่างเป็นปึกแผ่นมากที่สุด สำหรับกิจการในต่างประเทศ พิจารณาอย่างคร่าวๆ โครงสร้างและกลุ่มธุรกิจดูคล้ายๆกับเมืองไทย ในบางช่วงบางเวลาที่มองโอกาสในเมืองไทยเป็นไปอย่างจำกัด ซีพีก็ทุ่มเทการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับเมื่อใดก็ตามที่โอกาสในเมืองไทยมีมากกว่าก็จะหันกลับมนทุ่มเทในเมืองไทย สถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปตามกระสวนนี้อีกแล้วหรือ
แต่จากข้อเท็จจริงที่ซีพีถือหุ้นข้างน้อยอย่างมีน้ำหนัก ซึ่งไม่มีอำนาจในการบริหาร มุทมองย่อมโน้มเอียงเพื่อการลงทุนที่มองโอกาสในจีนแผ่นดินใหญ่เช่นเดียวกับนักลงทุนระดับโลกทั่วไป โดยอ้างอิงเศรษฐกิจที่เติบโตในจีนอย่างต่อเนื่องมานับทศวรรษ ที่สำคัญโอกาสอื่นๆของซีพีอาจมีมากกว่าที่คาดไว้ ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในฐานะที่เป็นระบบเศรษฐกิจกำลังถูกคาดหมายว่ากำลังเป็นศูนย์กลางใหม่ของโลก
สายสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ของซีพี ได้ขยายจินตนาการไปมากกว่าเดิม จากธุรกิจเกษตรครบวงจรกับผู้บริโภคชาวจีนที่กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ จากธุรกิจค้าปลีกกับผู้บริโภคในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่จากนี้จะเป็นความสัมพันธ์กับผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นกลุ่มก้อนและลงลึกมากที่สุด อยู่ที่ว่าซีพีจะมีจินตนาการบรรเจิดเชื่อมโยงสายสัมพันธ์สู่ธุรกิจใหม่ ก็เท่านั้น
เบื้องต้นคิดง่ายๆ ในฐานะนักลงทุน ก็ถือว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่แล้ว
ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 4 มกราคม2556