แรงกดกันที่เพิ่มมากขึ้นทั้งทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ปตท.จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีประสบการณ์กว้างขวาง โดยเฉพาะการบริหารท่ามกลางวิกฤติ และมีมุมมองว่าด้วยความเชื่อมโยงภาพกว้างมากกว่าสังคมไทย
ที่ผ่านมาผู้นำปตท.ในยุคต่างๆดำเนินตามยุทธศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีพื้นฐานที่ดี มีกระบวนการคัดเลือกผู้นำ เหมาะสมกับสถานการณ์ มีเพียงยุคเดียวเท่านั้นที่ดูไม่สมดุลไปบ้าง—ยุคอาณัติ อาภาภิรม
อาณัติ อาภาภิรม(2530 -2533) เข้ามาในช่วงที่ปตท.มีความสับสนและขัดแย้งพอสมควร อาจมาจากความไม่ต่อเนื่องจากยุคบุกเบิกของทองฉัตร หงส์ลดารมย์ (2522-2530) 8ปีของเขาสามารถสร้างปตท.ให้เป็นปึกแผ่น ด้วยทีมงานที่มีความสามารถที่มาด้วยกันตั้งแต่ยุคต้นๆ ขณะนั้นปตท.เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง เป็นภาพพจน์ใหม่ของรัฐวิสาหกิจแล้ว การมาของอาณัติ จึงกลายเป็น “คนนอก” อย่างช่วยไม่ได้
เป็นที่รู้กันว่า อาณัติ อาภาภิรม เข้ามาในฐานะ”ตัวแทน” รัฐบาลเปรม (อาณัติ เคยเป็นรัฐมนตรีในช่วงรัฐบาลเปรมหนึ่ง—รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 มี.ค. 2523 – 19 ธันวาคม. 2524) มีความพยายามกำกับแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยพลังงานและปิโตรเคมีให้มีความต่อเนื่องจากยุคเริ่มต้น เป็นจังหวะเดียวกันที่ปตท.กำลังวางแผนปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อตอบสนองความซับซ้อนของภารกิจใหม่ๆมี่กำลังขยายตัวซึ่งมีความสับสนเกิดขึ้นพอสมควร
เขาค่อนข้างโชคไม่ดีที่สิ้นสุดยุครัฐบาลเปรม (สิงหาคม 2531)ไปเสียก่อน พร้อมๆกับการหมดวาระของคณะกรรมการปตท.ซึ่งเป็นชุดที่มีบทบาทสำคัญตามยุทธศาสตร์พลังงานและปิโตรเคมีของชาติ และถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการมาของ อาณัติ อาภาภิรม
ปลายเดือนมีนาคม 2532 มีกรรมการครบวาระ 6 คน รวมทั้ง ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการปตท.ต่อเนื่องมาครบสองวาระ (6 ปี) ไม่สามารถเป็นต่อได้อีก กรรมการอีก 5 คน คือ ดร.เสนาะ อูนากูล ม.ล.เชิงชาญ กำพู วีระ สุสังกรกาญจน์ เกษม จาติกวณิช และศิววงศ์ จังคศิริ (เป็นทีทราบกันดีว่า 3คนในชุดนี้ได้เป็น กรรมการของปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ต่อจากนั้นต่อเนื่องนับสิบปี บางคนยังดำรงตำแหน่งถึงปัจจุบัน)
ปตท.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อยุคอาณัติ อาภาภิรม ดำเนินไปอย่างไม่ค่อยราบรื่นนัก เขาจึงเป็นผู้ว่าการปตท.คนเดียวที่อยู่ไม่ครบเทอม จากนั้นเข้าจึงกลับไปมีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลอานันท์ ปัณยารชุน)
หลังยุคอาณัติ อาภาภิรมเป็นต้นมา ถือเป็นยุคที่มีความต่อเนื่อง ผู้นำปตท.ต่อจากนั้นมา ล้วนมาจากทีมงานในยุคบุกเบิกปตท. (เลื่อน กฤษณกรี พละ สุขเวช วิเศษ จูภิบาล และประเสริฐ บุญสัมพันธ์) แม้ว่าดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ผู้นำคนล่าสุดทีมาดำรงตำแหน่งได้เพียง 3เดือน ถือเป็นอีกคนที่ไม่มาจากยุคบุกเบิก แต่ก็ไม่อาจเรียกเขาเป็น”คนนอก”ได้อย่างเต็มปาก เพราะเขาเข้ามาอยู่ปตท.ในช่วงเวลาที่สำคัญมาก่อนหน้านี้ ถึง 5 ปี
แม้ว่าดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร มีประสบการณ์จากที่อื่นก่อนมาอยู่ปตท.ถึงสองทศวรรษ แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มี่ความเชื่อมโยงกับปตท. โดยเฉพาะภาพใหญ่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ
ด้านหนึ่ง- เขาทำงานกับธนาคารกรุงเทพฯในช่วงธนาคารอันดับหนึ่งของไทย มีบทบาทนำของสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยการวางแผน วิเคราะห์ สนับสนุนพันธมิตรอย่างกว้างขวาง ร่วมทั้งเข้าร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติระยะต่างๆ(ผมอรรถาธิบายมาพอสมควรในตอนที่แล้ว)
อีกด้านหนึ่ง-ประสบการณ์โดยตรงและต่อเนื่องในบริหารธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ ดูคร่าวๆเป็นเพียงกิจการเดียว เป็นเวลามากกว่า15 ปี ถือเป็นกระบวนการการเรียนรู้ตั้งแต่ต้น ในขั้นตอนต่างๆอย่างครบวงจร จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ประสบการณ์ตรงของดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประเมินอย่างลงลึก มีความสัมพันธ์กับโอกาสและความเป็นไปต่อจากนี้ มิติที่หนึ่ง– เป็นธุรกิจที่เชื่อมต้อกับภาพใหญ่ปิโตรเคมีแห่งชาติ และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับธุรกิจต้นน้ำ–บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ นอกจากเป็นบริษัทหนึ่งที่ร่วมถือหุ้นในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ยังถือเป็นกิจการร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลกด้วย(โปรดอ่านข้อมูลประกอบท้ายบทความ) ในความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ ถือเป็นบริษัทต้นธารการผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับบริษัทบางกอกโพลีเอททีลีนที่ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร บริหารอยู่
มิติที่สอง– เขามีประสบการณ์กับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพฯกับเครือข่ายพันธมิตร โดยเฉพาะ กลุ่มศรีกรุงวัฒนาผู้บุกเบิกการค้าและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มฮั่วกี่เปเปอร์ ผู้บุกเบิกจากธุรกิจกระดาษ สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและเคมีภัณฑ์ เครือข่ายธุรกิจเหลานี้ถือเป็นต้นแบบธุรกิจครอบครัวของไทย สร้างรากฐานอย่างเป็นปึกแผ่น ซึ่งกำลังก้าวไปสู่พรมแดนใหม่ พันธมิตรกลุ่มนี้นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยในบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์แล้ว ยังถือว่าเป็นถือหุ้นใหญ่ของบางกอกโพลีเอททีลีนด้วย
ว่าไปแล้วดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นผู้นำปตท.คนเดียวที่ผ่านประสบการณ์จากสภาพแวดล้อมจากยุคก่อน สู่ยุคใหม่ จากธุรกิจครอบครัวรากฐานเก่าของสังคมธุรกิจไทย จากความหวังของธุรกิจครอบครัวในรุ่นก่อน ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของภาพยุทธศาสตร์เก่าของปิโตรเคมีแห่งชาติ ก้าวสู่ยุคใหม่ โดยดีลครั้งใหญ่ของเขาทำให้ธุรกิจครอบครัวเก่ายังรักษาตำแหน่งทางธุรกิจอย่างเหมาะสม
แต่ประสบการณ์น่าตื่นเต้นที่สุด คงเป็นช่วง 5 ปีหลัง ที่มาอยู่ปตท.นี่เอง
เริ่มต้นในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการสร้างจิ๊กซอร์ธุรกิจปิโตรเคมี จากกระบวนการการหลอมรวมกิจการเดิม โดยเฉพาะกิจการที่มาจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพฯที่ตนเองเคยทำงานอยู่ นำกิจการปลายน้ำ—บางกอกโพลีเอททีลีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งปตท. ส่วนบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ ปตท.เข้าถือหุ้นส่วนหนึ่ง กลุ่มผู้ถือเดิมทั้งต่างประเทศและกลุ่มธนาคารกรุงเทพกับพันธมิตร คงมีสัดส่วนอยู่อย่างเหมาะสม ถือว่ากระบวนการหลอมรวมยังเปิดช่องทางธุรกิจให้กับพันธมิตรเดิมไว้อย่างดีพอสมควร
งานหนักที่สุดและถือเป็นบททดสอบสำคัญ คือเข้าไปบริหารกิจการเก่าของกลุ่มทีพีไอในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อจัดระบบ ในฐานะตัวแทนปตท.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก ด้วยมีบทบาทบริหารและกำกับยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะถือว่าไม่ได้อยู่ในเครือข่ายโดยตรงของกลุ่มปิโตรเคมีของปตท.ก็ตาม
“บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ “ไออาร์พีซี” (“บริษัทฯ”) เดิมชื่อ บริษัท อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทีพีไอ” จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี พ.ศ. 2521 จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทฯ มหาชน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2538บริษัทฯ เริ่มผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อจำหน่ายในปี 2525 และได้ขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นรวมทั้งขยายโรงงาน และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร
ต่อมาบริษัทฯ ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน หลังจากการลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 บริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2543 และประสบความสำเร็จ ในการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549”เรื่องราว ของกลุ่มธุรกิจไออาร์พีซี ที่สรุปอย่างเห็นภาพ (http://www.irpc.co.th ทังนี้ยังไม่ลืม ย้ำบางสิ่งบางอย่าง “ไออาร์พีซี เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ในหนังสือ PRASERT FACTOR –ยิ่งใหญ่ ยิ่งยาก ยิ่งท้าทาย เขียนโดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (2554) ซึ่งเชื่อว่าได้รับการสนับสนุนข้อมูลอย่างดีจากปตท. มีบทสรุปบางตอนที่สอดคล้องกัน
ยุคสมัยของประเสริฐ บุญสัมพันธ์( 2546-2554) ในฐานะผู้นำคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง คือยุคที่ปตท.สามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ หนึ่งของแผนการ คือ “การเข้าซื้อหุ้นกิจการทีพีไอแล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นไออาร์พีซี มีการซื้อหรือจับเอากิจการด้านปิโตรเคมี เข้ามาควบรวมกัน เป็นกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ”
นี่คือจุดเชื่อมของสายสัมพันธ์อันแนบแน่น ระหว่างประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กับดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
—————————————————————-
ข้อมูลจำเพาะ
กลุ่มปิโตรเคมี—กิจการร่วมทุนกับธุรกิจระดับโลกในประเทศไทย
ปี2549 –ปตท. เข้าถือหุ้นบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด
โครงสร้างถือหุ้นปัจจุบัน
กลุ่มปตท. 44.44%
LyondellBasell (Rotterdam, Netherlands) 29%
นักลงทุนไทย 30% (ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มฮั้วกี่ และกลุ่มศรีกรุงวัฒนา)
ปี2549 ก่อตั้ง บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด
โครงสร้างถือหุ้นปัจจุบัน
กลุ่มปตท. 48.50%
Asahi Kasei Corporation 51%
ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรแห่งญี่ปุ่น สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว โดยมีฐานการผลบิตทั่วโลก ในจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงโปร์และไทย โดยในประเทศไทยก่อนจะมาร่วมทุนกับปตท.ได้เข้ามาตั้งแต่ปี 2542โดยบริษัทถึง 4 แห่ง เพื่อผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับสีพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ปี 2551 กลุ่มปตท. ถือหุ้น บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทวินิไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2432ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติทั้งระยะที่ 1 และ2 ด้วยร่วมทุนกับกลุ่มซีพี
โครงสร้างถือหุ้นปัจจุบัน
กลุ่มปตท. 25%
SOLVAY VINYLS HOLDING AG (Brussels, Belgium.) 59%
โดยกลุ่มซีพียังคงมีหุ้นอยู่เพียงเล็กน้อยประมาณ2-3%