JAPAN CONNECTION (2)

MUFGธนาคารญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย  ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ของธุรกิจญี่ปุ่นโดยรวม  การเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็คงไม่ได้มองเพียงว่าเป็นธนาคารไทยโดยทั่วไป 


Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc (MUFG) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีกิจการครอบคลุมธุรกิจบริการการเงินทุกประเภทอย่างครบวงจร     ธนาคารแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ผ่านกระบวนการ Merger and acquisition หลายต่อหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงปี 2549 เมื่อมีการควบรวบกิจการครั้งใหญ่ระหว่าง Bank of Tokyo-Mitsubishi กับ UFJ Bank จึงกลายเป็นบุคลิกธนาคารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

MUFG นับเป็นธนาคารที่มีเครือข่ายธุรกิจโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก มากกว่า 70 สาขา โดยมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษในพยายามวางรากฐานธุรกิจฝึกลึกในระบบเศรษฐกิจในสหรัฐฯ แต่ไหนแต่ไร   ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ MUFG ยังได้เข้าซื้อกิจการ (ถือหุ้น100%) UnionBancal Corporation ในปี2551 และร่วมเป็นพันธมิตร(ถือหุ้นประมาณ 20%) กับ Morgan Stanley แห่งสหรัฐฯ เพื่อสร้างกิจการค้าหลักทรัพย์ระดับโลกในปี2553

ส่วนเครือข่ายในเอเชีย นับว่ามีอยู่พอสมควรในประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะในอินโดนิเชียมีสาขาและจุดบริการมากกว่า 10 แห่งและในจีนแผ่นใหญ่มีเพียง 6 สาขา ซึ่งถือว่าไม่มาก ส่วนในประเทศไทยที่มีอยู่เดิม พอจะถือว่ามีความสำคัญพอสมควร การเข้าถือหุ้นใหญ่ในกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างเต็มรูปแบบครั้งล่าสุด  เป็นความเคลื่อนไหวครึกโครม ถือเป็นก้าวใหญ่ของธนาคารญี่ปุ่น  สื่อระดับโลกก็มองอย่างนั้น ” The purchase of Bank of Ayudhya will give Mitsubishi UFJ a bigger foothold to expand retail and corporate banking in Southeast Asia’s second-biggest economy.”(http://www.bloomberg.comJul 24, 2013)

จึงขอบันทึกจังหวะก้าวสำคัญของกรณีนี้ไว้ด้วย

กรกฎาคม 2556 BTMU GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) และ the Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (BTMU) ได้ลงนามในข้อตกลงเสนอซื้อหุ้นที่ GECIH ถืออยู่ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดย BTMU จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารเป็นการทั่วไป โดยคาดว่าจะเริ่มในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 และสิ้นสุดการดำเนินการในเดือนธันวาคม 2556

ตุลาคม  2556 ธนาคารแห่งประเทศไทย อนุญาตให้ดำเนินการตามแผนการรับโอนกิจการ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ สาขากรุงเทพให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือว่าเป็นแผนที่ราบรื่น เนื่องจากทางการไทยใช้เวลาพิจารณาไม่นานนัก

สิ้นเดือนตุลาคม2556 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาประกาศกำหนดการ เปิดวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติแผนการใหญ่ข้างต้น เป็นขั้นตอนสำคัญทางฝ่ายไทย โดยเชื่อว่าต่อจากนั้น ก็คงดำเนินต่อเกี่ยวข้องกับทางการญี่ปุ่นต่อไป

เช่นเดียวกัน ในช่วง 5-6 ปีมานี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย

“GE Capital International Holdings Corporation เครือธุรกิจระดับโลกจากสหรัฐฯเข้ามาถือหุ้นในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในปี2550 โดยมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มผู้ถือรายใหญ่เดิม (ตระกูลรัตนรักษ์)    โดยมีการเปลี่ยนอำนาจบริหารครั้งใหญ่จากกลุ่มเดิมสู่กลุ่มใหม่   ประธานกรรมการบริหารและกรรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งสำคัญทั้งมวลอยู่ในมือของตัวแทนของ GE Capital ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ   ว่าไปแล้ว อาจเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียว ที่โครงสร้างการบริหารอยู่ในมืออาชีพชาวต่างชาติอย่างครอบคลุม

จากนั้นจึงเริ่มต้นกระบวนการสร้างเครือข่ายธนาคารเพื่อรายย่อย(Retail banking) อย่างขนานใหญ่ ถือว่าเป็นจินตนาการใหม่ที่ควรเรียนรู้สำหรับวงการธนาคารไทย โดยเฉพาะกระบวนการเข้าซื้อกิจการและเครือข่ายสินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิต จากเครือข่ายเดิมของ GE Capital และAIG ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายการเงินระดับโลกของสหรัฐทีอยู่ในประเทศไทยมาระยะหนึ่ง และเข้าชื้อธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยของHSBCประเทศไทยทั้งธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก” ผมเคยเขียนถึงธนาคารกรุงศรอยุธยาครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา )

จากข้อมูลของธนาคารกรุงศรีอยุธยาล่าสุด(Presentation ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2556 –18 ตุลาคม 2556) ระบุว่า โครงสร้างสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 51% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อยสัดส่วน 24% ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่มีเพียง 25% จากข้อมูลนี้ ถือว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้นำธุรกิจธนาคารรายย่อยในประเทศไทยอย่างแท้จริง

ข้อมูลชุดเดียวกันอ้างต่อไปอีกว่า สินเชื่อบุคคล มีตำแหน่งทางการตลาดอยู่อันดับ1 ครองส่วนแบ่ง27% เช่นเดียวกับบัตรเครดิตอยู่ในตำแหน่งอันดับ1 เช่นกันครองส่วนแบ่ง18% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในอันดับ2 มีส่วนแบ่งการตลาดทั้งระบบ 18% ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ อยู่อันดับที่5 มีส่วนแบ่งการตลบาด 8%   และ 7%ตามลำดับ (โปรดอ่านลำดับเหตุการณ์ เส้นทางสู่ผู้นำธนาคารรายย่อย ตอนท้ายบทความประกอบด้วย)

ทั้งนี้มีเครือข่ายและจุดบริการทั่วประเทศประมาณ20,000 แห่ง อาทิ สาขาในประเทศ 600 แห่ง    เอทีเอ็ม 4600 เครื่อง   เฟิรสซ้อยส์ 41สาขาและตัวแทนจำหน่าย 10,000กว่า ราย กรุงศรีออโต้ 43 สาขา ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์กว่า 6300 ราย  รวมทั้งบริการผ่านไปรษณีย์ไทยกว่า 1000 แห่ง

เชื่อแน่ว่าแรงจูงใจในการเข้ามาของ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ มาจากมุมมองที่เข้าใจบุคลิกเฉพาะของธนาคารกรุงศรีอยุธยา   ด้วยความเชื่อมั่นและมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จากเครือข่าย และความเป็นผู้นำธนาคารเพื่อรายย่อยอย่างไม่ต้องสงสัย

โดยภาพรวมธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย  กำลังพัฒนาไปอีกขั้น  จากการค้า การลงทุน อุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ สู่ธุรกิจทีมีความจำเป็นเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

—————————————————————————————————————

เส้นทางสู่ผู้นำธนาคารรายย่อย

มกราคม 2550

GE Capital สถาบันการเงินเพื่อรายย่อยชั้นนำของสหรัฐฯได้บรรลุข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้าถือหุ้นประมาณ 33% (ขณะที่ตระกุลรัตนรักษ์ ยังถือหุ้นอยู่ประมาณ25%) รวมทั้งส่งทีมเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งสำคัญ

กุมภาพันธ์ 2551

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้าซื้อกิจการบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส  ซึ่งมีสินทรัพย์ 78,000 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อ 75,000 ล้านบาท

เมษายน 2552

เข้าซื้อหุ้นธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย  และ บริษัท เอไอจี คาร์ด (ประเทศไทย)  ซึ่ง มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 32,800 ล้านบาท มีฐานสินเชื่อ 21,900 ล้านบาท เงินฝาก18, 600 ล้านบาท และมีจำนวนบัตรเครดิตประมาณ 222,000 บัตร

กันยายน 2552

เข้าซื้อกิจการบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิสเซส –บริษัทในเครือของ บริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์   เป็นผู้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์โดยเฉพาะสินเชื่อที่ใช้ทะเบียนรถเป็นหลักประกัน มีเครือข่ายสาขากว่า 160 แห่งทั่วประเทศ

พฤศจิกายน 2552

เข้าซื้อธุรกิจการเงินเพื่อผู้บริโภคของจีอี แคปปิตอล ในประเทศไทย  จากนั้นธนาคารกรุงศรีอยุธยากลายเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนบัตรหมุนเวียนในระบบมากกว่า 3 ล้านใบ และให้บริการลูกค้ากว่า 8 ล้านราย

มกราคม 2555

ลงนามสัญญาเข้าซื้อธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยของธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทยทั้งธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก โดยมีมูลค่าการซื้อขายจำนวน 3, 557 ล้านบาท

ตีพิมพ์ครั้งแรก–ประชาชาติธุรกิจ  25 ตุลาคม 2556

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: