JAPAN CONNECTION (1)

ธนาคารญี่ปุ่น ทุ่มทุนเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างจริงจัง  ไม่เพียงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในแวดวงธนาคาร  หากมีความหมายว่าด้วย “มหากาพย์ใหม่”ความสัมพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นกับสังคมไทย

“ดีลใหญ่ล่าสุดที่กลุ่มทุนญี่ปุ่นรุกคืบเข้ามาในธุรกิจการเงินของไทยคือ”มิตซูบิชิ ไฟแนนเชียล ยูเอฟเจ กรุ๊ป” (MFUG) แบงก์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น ที่ประกาศพร้อมควักเงินร่วม 1.77 แสนล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ 75% ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ซึ่งจะกลายเป็นแบงก์จากญี่ปุ่นรายแรกที่คว้าดีลใหญ่ในกลุ่มธนาคารไทย และแผนหลังจากนั้นจะนำ “ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ สาขากรุงเทพฯ” ซึ่งมีสินทรัพย์อีกกว่า 5 แสนล้านบาท เข้ามาควบรวมเป็นแบงก์เดียวกันด้วยมูลค่าสินทรัพย์กว่า 1.5 ล้านล้านบาท และเงินสินเชื่อรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์(11 กรกฎาคม 2556 )  หนึ่งในสื่อไทยเสนอข่าวความเคลื่อนไหวธุรกิจญี่ปุ่นไว้อย่างน่าสนใจ

สำหรับแวดวงธุรกิจธนาคาร ความเคลื่อนไหวของธนาคารญี่ปุ่น น่าสนใจเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (ในเครือ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. หรือ”MUFG”) มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมานานตั้งแต่ปี 2479ในนาม Yokohama Specie Bank มีฐานะเป็นเพียงสำนักงานตัวแทน จนถึงปี 2505 จึงกลายเป็นสาขาธนาคาร (ตอนนั้นชื่อ Bank of Tokyo) แล้วก็คงฐานะเช่นนั้นไว้นานถึง 5 ทศวรรษ

แม้ว่าปัจจุบันธนาคารญี่ปุ่นมีฐานะเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศถึง 3 แห่ง (The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ , Sumitomo Mitsui Banking Corporation และMizuho Bank) ทว่าในช่วงเวลาการเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยหลังวิกฤติการณ์ปี 2540 ด้วยความพยายามทะลายกำแพงอันมั่งคงของธนาคารพาณิชย์ไทย จากการเข้ามาของธนาคารหลายชาติ ไม่ว่าธนาคารจากอังกฤษ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงจีน ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของธนาคารต่างชาติ  แต่ธนาคารญี่ปุ่นซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจมากมายในประเทศไทย กลับไม่มีความเคลื่อนไหวสำคัญใดๆ

ไม่สามารถจะตีความเป็นอย่างอื่นได้  นอกจากเครือข่ายธนาคารญี่ปุ่นที่วางรากฐานเป็นเพียงสาขาธนาคาร สามารถรองรับและสนับสนุนความเคลื่อนไหวอันคึก ของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย อย่างต่อเนือง หลายระลอกได้

ความเคลื่อนไหวของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ถือได้ว่าได้พัฒนามาถึง 3 ยุคแล้วก็ว่าได้

จากSogoshosha สู่การร่วมทุนกับหน้าใหม่

ญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทยในช่วงยุคต่อเนื่อง จากสงครามเกาหลีสู่ สงครามเวียดนาม  ด้านหนึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เครือข่ายบริษัทใหญ่ที่เรียกว่าTrading company  หรือ Sogoshosha ขยายตัว  แต่อีกด้านหนึ่งมาจากความขัดแย้งจีน ทำให้ญี่ปุ่นต้องเข้าสู่ประเทศอื่นๆในเอเชีย   โดยเฉพาะ  Marubeni เข้ามาเปิดสำนักงานในเมืองไทยเป็นรายแรกๆในปี2500  ตามมาด้วย  Mitsui  , Mitsubishi  ,Nissho-Iwai ,Nomura trading  ในปี2502และ Sumitomo ในปี 2503  ในความพยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และผู้ร่วมทุน    นั่นคือที่มาจุดเริ่มต้นผู้ประกอบการไทยใหม่ๆ หลายราย โดยเฉพาะกิจการอุตสาหกรรมพื้นฐาน ไม่ว่าสิ่งทอ  น้ำตาลและเคมีภัณฑ์  ตั้งแต่การเริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ของสุกรี โพธิรัตนางกูร ในอุตสาหกรรมสิ่งทอในปี2508-2512  แต่ตำนานนั้นจบลงในอีก 3ทศวรรษต่อมา เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวพ้นวงจรอุตสาหกรรมตะวันตกดิน     หรือกลุ่มตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ยังคงความสัมพันธ์ไว้อย่างเงียบๆในอุตสาหกรรมกระจกและผลิตภัณฑ์เคมี  ซึ่งพอสามารถปรับตัวได้ มาตั้งแต่ปี2509

นอกจากนั้นมีการบุกเบิกสินค้าที่มีลักษณะคอนซูเมอร์มากขึ้น ตั้งแต่รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปสู่สินค้าไลฟ์สไตล์

“สยามกลการ ก่อตั้งขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าควบคุมประเทศไทย ในช่วงจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี  ถาวร พรประภา เป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสพความสำเร็จในธุรกิจค้าเครื่องเหล็ก  มีโอกาสได้รู้จักกับผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญชักนำให้ได้เป็นผู้แทนขายรถยนต์NISSANในประเทศไทย สยามกลการเป็นผู้แทนขายรถยนต์NISSANนอกประเทศญี่ปุ่นรายแรกของโลก ประวัติการบุกเบิก ด้วยความยากลำบากของถาวร พรประภา เป็นสิ่งที่ผู้บริหารNISSANแห่งญี่ปุ่นหลายเยนเนอเรชั่น เกรงอกเกรงใจ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยมากขึ้น การขายรถยนต์ญี่ปุ่น จึงเป็นสิ่งที่ยากลำบาก สยามกลการประสพการขาดทุนเกือบๆ10ปี  จนNISSANแห่งญี่ปุ่นต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการรวมทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ครั้งแรกในเมืองไทยในปี2505 การรวมทุนครั้งนั้นดำเนินไปสักระยะก็ถอนตัวออกไป”จากงานเขียนของผมเองเมื่อกันยายน 2540 สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ ว่าด้วยการเริ่มต้นอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นในประเทศไทย   โดยไม่มีใครคาดคิดว่าในที่สุด   Nissan ก็เข้ามาครอบงำกิจการทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าของญี่ปุ่นเข้ายึดครองตลาดไทยอย่างรวดเร็ว ผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย   และเริ่มต้นผลิตในประเทศ  โดยเฉพาะกรณี  Panasonic ก่อตั้งกิจการขึ้นในประเทศไทยปี2504 ภายใต้ชื่อเดิมว่า บริษัท เนชั่นแนล ไทยถือเป็นโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศ      Toshiba ร่วมทุนตั้งโรงงานกับ กร-นิรมล สุริสัตย์ในราวปี2510    ขณะที่กลุ่มสหพัฒน์บุกเบิกจากสินค้าคอนซูเมอร์ร่วมทุนกับ Lion ผลิตผงซักฟอกในปี 2510 และ สินค้าไลฟืสไตล์ด้วยการ่วมทุนกับ Wacoal ผลิตชุดชั้นในสตรีในปี 2513

สู่เครือข่ายอันมั่นคง

ความสำเร็จจากโมเดลการลงทุนในช่วงแรกๆที่มีลักษณะกระจัดกระจาย ในอีกราว 3ทศวรรษต่อมา มีการผนึกกำลังและโฟกัส ไปสู่กระบวนการหลอมรวม ควบคุมการบริหารจัดการมากขึ้น ทั้งนี้มาจากแรงกดันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเอง ในเรื่องค่าเงินเยนแข็งค่ามากเกินไป จำเป็นต้องย้ายการลงทุนที่มีเทคโนโลยีสูงมากขึ้นสู่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤติการณ์การเงินครั้งแรกๆ ในยุคสมหมาย ฮุนตระกุล รัฐมนตรีคลังที่เป็น JAPAN CONNECTION คนสำคัญ

กิจการร่วมทุนบางรายมีปัญหา ธุรกิจญี่ปุ่นจึงถือโอกาสเข้าครอบงำการบริหารกิจการ อาทิSony ในปี 2531   และมีการลงทุนขนาดใหญ่มากขึ้น มีความพยายามแสวงหาพันธมิตรรายใหญ่และทรงอิทธิพลมากขึ้น กรณีร่วมทุนอย่างขนานใหญ่กับปูนซิเมนต์ไทย 

อุตสาหกรรมยายยนต์

แม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นจะมาเมืองไทยนานแล้ว  Nisan และ Toyotaในปี 2505  และ Hondaในปี 2507   แต่กว่าจะลงตัวและเข้าสู่ภาวการณ์ควบคุมตลาดได้ ก็ใช้เวลานานพอสมควร

“ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์   ตลอดสองทศวรรษ มีความพยายามให้ธุรกิจไทยมีบทบาทในอุตสาหกรรมที่มีอนาคตมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้   มาจากฐานความเชื่อในเรื่องการถือหุ้นและถ่ายทอดเทคโนโลยี่  ตั้งแต่การกำหนดชินสิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ จนถึงความพยายามให้มีการผลิตเครื่องยนต์ดีเชลเอง( 2525-2530) จากนั้นเข้าสู่ยุคผ่อนคลายกฎเกณฑ์ มองระดับภูมิภาคมากขึ้น (2533-2540) ทั้งสองช่วงถือเป็นยุคการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก สุดท้ายจำเป็นต้องเปิดเสรี ในฐานะฐานการผลิตของธุรกิจระดับโลก (ตั้งแต่ปี2543) ในความพยายามทำลายกำแพงระบบเศรษฐกิจเดิม ให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น ” พัฒนาการของอุตสาหกรรมรถยนต์ ภายใต้อิทธิพลญี่ปุ่น(อ้างจาก “เรื่องอิทธิพลญี่ปุ่น”ของผมเอง  ตุลาคม 2554 )  และในบทความชิ้นนั้นเองให้ภาพ supply chain อันยิ่งใหญ่ไว้ด้วย

“ภาพสำคัญภาพหนึ่งเกิดขึ้น ในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยา (เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด) คือการปรากฏขึ้นของ โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นมีจำนวน 300 กว่าโรง (จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นตามรายงานข่าวสำนักงานข่าวเอพี)”

โครงสร้างธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย กำลังพลิกโฉมหน้าไปจากพัฒนาการ5 ทศวรรษข้างต้นอย่างเหลือเชื่อ 

ประชาชาติธุรกิจ   11 ตุลาคม 2556

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: