คงไม่มีดีลไหนสำคัญและถูกกล่าวถึง มากเท่า กรณี 7-Eleven กับ Makro
“ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศความพร้อมเตรียมรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือเออีซีซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท ซื้อกิจการบริษัท สยามแม็คโคร ผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองในประเทศไทยด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นช่องทางนำสินค้าจากประเทศไทยโดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SMEs และสินค้าผลิตผลทางการเกษตรของไทย รวมถึงสินค้าประเภทอาหารแช่แข็งและอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ฯลฯ ไปจำหน่ายในประเทศกลุ่มอาเซียน” นี่คือคำอธิบายอย่างกะทัดรัดของ ซีพี ออลล์ (http://www.cpall.co.th 23 เมษายน 2556)
แม้ว่าผมได้นำเสนอเรื่องนี้มาแล้วถึง 3 ตอน แต่ยังมีบางประเด็นทีควรเน้นเป็นพิเศษ เป็นการเพิ่มเติม พร้อมๆกับติดตามความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วง7-8 เดือนที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหว
มีหลายเหตุการณ์เกี่ยวกับซีพีออลล์ ควรบันทึกไว้เพื่ออ้างอิงและติดตาม
—สิงหาคม กระบวนการซื้อหุ้นบริษัทสยามแมคโครเสร็จสิ้นสุด ซีพีออลล์สามารถเข้าถือหุ้นได้มากถึง 97.88% โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น186,157 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขไกล้เคียงกับที่ซีพีออลล์คาดการณ์ไว้แต่แรก
–ตุลาคม ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของซีพีออลล์ ลงมติ “อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินรวมไม่เกิน 90,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับชำระคืนหนี้ เงินกู้และ/หรือใช้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ” โดยเสนอขายครั้งแรก จำนวน 40,000ล้านบาท ในปลายเดือนเดียวกัน ส่วนที่เหลือจะมีการเสนอขายในปีหน้า
แผนการข้างต้น สะท้อนถึงแนวทางหนึ่ง ในการชำระคืนเงินกู้ที่ใช้ในการซื้อกิจการ ในเวลาใกล้เคียงกันได้เปิดเผยแผนการอื่นๆอีก ซีพีออลล์ประกาศจะรักษาสัดส่วนหุ้นในสยามแมคโครไว้เพียงประมาณ 60% ที่เหลือกว่า 30% จะขายออกไป เชื่อว่าคงรอเวลาให้ราคาหุ้นดีกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตามแผนการทั้งสองคงไม่เพียงพอจะแสวงหาเงินใช้หนี้ก้อนใหญ่ได้ทั้งหมด นักลงทุนในตลาดหุ้นคงติดตามกันต่อไป แท้จริงประเด็นคงสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ไว้ในจำนวนที่เหมาะสม มีความเชื่อมโยงภาพที่ใหญ่กว่า
บริษัทในตลาดหุ้นสองบริษัทที่มีเกี่ยวโยงด้วยการถือหุ้นระหว่างกัน มักได้รับคำแนะนำ ให้คงสัดส่วนถือหุ้นระหว่างกันอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นฐานะกิจการในตลาดหุ้นของทั้งสองกิจการ จะมีข้อจำกัด ในการแสวงหาโอกาสธุรกิจและระดมทุนจากตลาดการเงิน
—พฤศจิกายน ซีพีออลล์ นำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (3Q13: Presentation Results) มีสาระบางส่วนที่ผมสนใจ –การจัดแบ่งประเภทธุรกิจของกิจการ(portfolios)ของซีพีออลล์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มธุรกิจใหม่ที่เรียกว่าCash and carry ซึงหมายถึงธุรกิจของMakro โดยได้นำผลประกอบการของสยามแมคโครมารวมกับซีพีออลล์ ตามกฎเกณฑ์ทางบัญชี สรุปข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า ธุรกิจ Cash and carry มีรายได้ในสัดส่วน 36% ของรายได้ของซีพีออลล์ทั้งหมด และมีกำไรเป็นสัดส่วนถึง 38% สัดส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจเดิมของซีพีออลล์ที่เรียกว่าConvenience store ( CVS ) ซึ่งยังคงมีน้ำหนักมากกว่า
คุณค่าของ Makro
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นของซีพีออลล์ คือการเพ่งมองยุทธศาสตร์ใหม่ของซีพีออล์ล์ให้ชัดเจนขึ้น โดยมีจุดโฟกัสมาที่ Makro
ขอเริ่มต้นด้วยการกลับไปพิจารณาบทสนทนาของผู้บริหารซีพีออลล์เมื่อครั้งซื้อกิจการ Makro อีกครั้ง จากข่าวที่อ้างมาในย่อหน้าแรกๆ โดยเฉพาะส่วนที่ขีดเส้นไต้ไว้ เป็นประเด็นที่ผมไม่ได้เพ่งมองอย่างละเอียด และไม้ได้กล่าวถึงอย่างเจาะจงในบทความชุดก่อนหน้า (7-Eleven กับ Makro 3 ตอน )
“บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 โดยบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้เป็นบริษัทของคนไทยที่ประกอบธุรกิจหลักด้านค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” โดยบริษัทได้รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจาก 7-Eleven, Inc. สหรัฐอเมริกา” ข้อมูลของซีพีออล์เอง( http://www.cpall.co.th )ได้แสดงถึงจำกัดทางธุรกิจในประเด็นสำคัญว่าด้วยภูมิศาสตร์ธุรกิจ ซึงขัดแย้งอย่างมากกับยุคใหม่ของระบบเศรษฐกิจภูมิภาค(การเกิดขึ้นของAEC ) จึงไม่แปลกใจ ในวันแถลงข่าวใหญ่ ซีพีออลล์ซื้อกิจการMakro ผู้บริหารซีพีออลล์จึงประกาศยุทธศาสตร์ภูมิภาคในทันที
ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อจำจัดธุรกิจลักษณะ Franchise ต้องใช้แบรนด์และระบบของของคู่สัญญา ว่าไปแล้ว กรณีซีพีออลล์กับ 7-Eleven เป็นบุคลิกพิเศษของธุรกิจเครือซีพี เป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ทีต้องอาศัยแบรนด์และเทคโนโลยี่ของคนอื่นมากเป็นพิเศษ ขณะที่บทเรียนทั่วไปของซีพี คือการร่วมมือกับเจ้าของแบรนด์และเทคโนโลยีระดับโลกเพียงระยะหนึ่ง จากนั้นสามารถพัฒนามาเป็นของตนเอง เช่น กรณี Verizon USA เป็น True และOrange UK เป็น True move
ที่สำคัญถือเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวง แม้เป็นค้าปลีกที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แต่ไม่สามารถขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้นอีก แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ซีพีออลล์เจรจากับ7-Eleven เพื่อทำสัญญาใหม่ในการขยายเครือข่ายออกสู่อาเซียน แต่คงไม่ดีเท่ากับการซื้อ Makro
ทั้งนี้ สยามแมคโคร เป็นเจ้าของแบรนด์ Makro (รวมถึงระบบ) ที่สามารถใช้ไม่เพียงในประเทศ หากรวมกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค
“บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจจากการจัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปี 2558 ทั้งนี้เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายฐานการตลาดและธุรกิจโดยรวมของบริษัทฯ ในภูมิภาคอาเซียน” รายงานประจำปี 2554 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้อย่างชัดเจน แต่ข้อความทำนองเดียวกัน ไม่เคยปรากฏในเอกสารใดๆของซีพีออลล์ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดสำคัญอื่นๆอีก “ซีพีออลล์ก็คือ 7-Eleven เท่านั้น และ7-Eleven ก็คือธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่มีลักษณะธุรกิจ (รวมทั้งระบบและKnow-how) ที่จำกัดมากๆ ข้อจำกัดนี้มีปัญหามากขึ้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป สถานการณ์ที่มีแข่งขันกันอย่างเข้มข้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากในธุรกิจประเภทเดียวกันอย่างเจาะจงแล้ว ยังมาจากปรากฏการณ์หลอมรวมเข้าหากันจากทุกทิศทางของเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ ขณะที่ 7-Eleven มีสถานะทางธุรกิจที่มีข้อจำกัด จึงย่อมไม่มีพลังหลอมรวมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น” ผมเคยกล่าวมาบ้างแล้ว( 7-Eleven กับ Makro (2)) เช่นกันควรขยายภาพให้ชัดขึ้นอีกว่า Makro ได้ทำลายข้อจำกัดข้างต้น
“ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 แม็คโครได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยใช้โครงสร้างองค์กรใหม่ที่ยึดถือเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมุ่งเน้นความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลักมากกว่าตัวสินค้า หรือรูปแบบสาขา”รายงานประจำปีของสยามแมคโครได้กล่าวถึงพัฒนาการรูปแบบเครือข่ายหรือสาขาสำคัญอีกตอนหนึ่ง
รูปแบบสาขาใหม่ของ Makro มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น —คลาสสิค: แบบดั้งเดิมพื้นที่ขายขนาดใหญ่ 5,500-12,000 ตารางเมตร อีโค่: เป็นรูปแบบสาขาจังหวัดท่องเที่ยว อีโค่พลัส: เป็นรูปแบบสาขาสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหาร สยามโฟรเซ่น: เป็นรูปแบบร้านมีพื้นที่ขายขนาดเล้ก 100-150 ตารางเมตร ร้านแห่งแรกได้เปิดเมื่อพฤศจิกายน 2553 ที่เชียงใหม่ และล่าสุด แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส รูปแบบสาขาที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ มีพื้นที่ขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง เน้น สินค้าอาหารแบบครบวงจร เพิ่งเปิดสาขานำร่องเมื่อมกราคม 2555 ที่หัวหิน
อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ด้วยกัน ทั้ง 7-Eleven กับ Makro ในซีพีออลล์ ถือเป็นยุทธศาสตร์ทีสมดุล