ลมหายใจค้าปลีก(10) คอมมูนิตี้มอลล์

ธุรกิจค้าปลีก พัฒนาและปรับเปลี่ยนโมเดลครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤติการณ์ปี2540 ด้วยการปรากฏผู้เล่น“หน้าใหม่”

 (1)

“ภาพรวมตลาดค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร  ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครยังคงเติบโตต่อเนือง…ถึงแม้ภาพรวมตลาดค้าปลีก ค้าส่งในระดับมหภาคจะชะลอตัว  โดยเฉพาะค้าปลีกในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ มีการขยายตัวเร็วที่สุดและต่อเนื่องของกรุงเทพมหานครในด้านของจำนวนโครงการ” ทั้งได้แสดงแผนภูมิสัดส่วนรูปแบบค้าปลีกให้เห็นภาพใหญ่ ด้วยว่า Shopping mall ครองสัดส่วนมากที่สุด 61% ส่วนSuperstore 20% และ Department store 19%  ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะรูปแบบ Shopping mall  สามารถแยกแยะได้ออกเป็น รูปแบบปิด (Enclose mall) แบบเดิมยังครองส่วนแบ่งข้างมาก 41% ขณะเดียวกัน Community mall เติบโตอย่างรวดเร็วมีสัดส่วนถึง12%

ข้อมูลข้างต้นอ้างมาจากรายงานประจำปี2556บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ภาพที่ตื่นเต้นไว้ ว่าด้วยการเกิดขึ้นและเติบโตค้าปลีกรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Community mall

บริษัท สยามฟิวเจอรดีเวลอปเมนท์  ก่อตั้งขึ้นอย่างเงียบๆในช่วงปี2537   เริ่มดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าแบบเปิด (Open-air shopping center) ในชานกรุงเทพฯ ภายใต้การบริหารของคนหนุ่มที่ไม่มีใครรู้จัก เขามีความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บวกกับประสบการณ์ดั้งเดิมของครอบครัวในการบริหารตลาดแบบเก่า กับอีกช่วงหนึ่งกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ทีทันสมัย (เอสซีจี) สยามฟิวเจอร์ฯใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่

 ภาพ Community mall ขยายจินตนาการ เชื่อมโยงกับความเป็นไปของสังคมกรุงเทพ ด้วยข้อมูลพื้นๆ ที่ควรขยายความในโอกาสต่อไป

“ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจพัฒนาและให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกศูนย์การค้าประเภทคอมมิวนิตี้มอลล์ในเขตกรุงเทพมหานครมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกและกำลังซื้อ ของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่แถบชานเมืองกรุงเทพมหานคร โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ทำให้นิยมซื้อ สินค้าใกล้บ้าน อีกทั้งทำเลของร้านค้าปลีกหรือศูนย์การค้าคอมมิวนิตี้มอลล์ขนาดเล็กไม่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายผังเมือง ทำให้สามารถหาพื้นที่เหมาะสมได้ง่ายกว่าและอาศัยเงินลงทุนไม่มากนัก (อ้างอิงจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เรื่อง อะไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีก)

 จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น อุปทานของพื้นที่เช่าของโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ในกรุงเทพมหานครจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 235,730 ตารางเมตร ในปี พ.ศ. 2551 เป็น น 547,966 ตารางเมตร ใน ปีพ.ศ. 2555 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate) เท่ากับร้อยละ23.50 (ข้อมูลบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด)

ข้อมูลข้างต้น คัดมาจาก หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนข่อมูลโครงการ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์คริสตัล รีเทล โกรท จัดทำโดย บลจ.ไทยพาณิชย์ มิถุนายน/2556

กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์คริสตัล รีเทล โกรท เป็นเครื่องมือทางการเงิน เพื่อระดมทุนสนับโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ของกลุ่ม เค.อี.แลนด์  ผู้นำธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์อีกรายหนึ่ง

ชื่อ เค.อี.  เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับชื่อย่อของคนสองคน  คนแรก เป็นหุ้นส่วนในธุรกิจค้าสุรายุคเก่า ยุคแม่โขง-หงส์ทอง เมื่อวางมือจากวงการความมั่งคั่งที่สะสมไว้   สร้างโอกาส ค่อยๆสะสมที่ดินย่านประดิษฐ์มนูธรรมได้หลายร้อยไร่  คนที่สอง  เป็นบุตรชาย ใช้ชีวิตศึกษาเล่าเรียนในสหรัฐฯมาประมาณ 10 ปี   มีประสบการณ์ทำงานในอาชีพใหม่ที่รุ่งโรจน์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เกี่ยวข้องกับดีลใหญ่ในช่วงวิกฤติการณ์ เมื่อเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินครอบครัว เขาจึงมึมุมมองกว้างกว่าคนรุ่นเดิม

ทั้งสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์   และเค.อี.แลนด์  ยืนอยู่ในตำแหน่งที่ดี ท่ามกลางสถานการณ์และแนวโน้มค้าปลีกในรูปแบบใหม่ เชื่อว่ายังพัฒนาไปอีกไกล  ภาพดังกล่าวควรนำเสนอต่อเนื่อง เพิ่มเติม

“ทั้งนี้บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประมาณการว่า ณ สิ้น ปี พ.ศ. 2555 มีโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างประมาณ 15 โครงการ (เฉพาะโครงการที่มีการประกาศเปิดตัวแล้ว) โดยจะมีพื้นที่ให้เช่ารวมประมาณ 135,116 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นอุปทานที่เข้าสู่ตลาดภายในปี พ.ศ. 2556 และจะทำให้พื้นที่เช่าคอมมิวนิตี้มอลล์รวมของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น เป็น น 683,082 ตารางเมตร หนังสือชี้ชวนฯ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์คริสตัล รีเทล โกรท  นำเสนอข้อมูลอีกบางตอนให้เห็นภาพพัฒนาการคอมมูนิตี้มอลล์อย่างคึกคักในช่วงปี 2555

ส่วนในรายงานประจำปี2556 ( เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่จำทำขึ้นในช่วงก่อนสิ้นไตรมาศแรกของปี 2557 )บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลปเมนท์ เสนอข้อมูลในทำนองเดียวกันเช่นกัน โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม เป็นภาพที่ต่อเนื่อง  คาดการณ์โครงการคอมมูนิตี้ที่เกิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงปี  2556-2558 ไว้อย่างน่าตื่นเต้นและเป็นรูปธรรม  โดยให้ข้อมูลอย่างละเอียดว่า มีทั้งหมดถึง33 โครงการ   โดยระบุว่าเป็นโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 6โครงการ กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกจำนวนมากถึง 25 โครงการ และมีแผนการแน่ชัดแล้วอีก 2 โครงการ จากการคำนวณคร่าวๆ จากตัวเลขที่นำเสนอ(โดยผู้เขียนเอง) คาดว่าจะมีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า สามแสนตารางเมตร

ที่น่าสนใจต่อไป เมื่อพิจารณาเจ้าของโครงการ พบว่า บรรดาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบเดิม ได้เข้าสู่การแข่งขันในเกมใหม่อย่างคึกคัก โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   อาทิ อารียา พรอพเพอร์ตี้(A)  ณุศาศิริ (NUSA) แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) และ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF)

ส่วนผู้นำทั้งสองรายที่กล่าวถึงข้างต้น มีโครงการคอมมูนิตี้มอลล์  ซึ่งดำเนินไปก่อนหน้าไปไกลอย่างเป็นหลักเป็นฐานแล้ว

ความจริงแล้ว สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์  ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในหลายรูปแบบในช่วง2 ทศวรรษที่ผ่านมา มากถึง29 แห่ง โดยมีรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์จำนวนมากที่สุดถึง 14 แห่ง   ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถแบ่งย่อยเป็นชื่อเรียกอย่างที่เขาต้องการ เป็น2 ประเภท—ศูนย์การค้าชุมชน (neighborhood shopping center) จำนวน 7 แห่งและศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Center) 7 แห่ง (โปรดพิจารณารายละเอียดจาก http://sf-th.listedcompany.com/)

ส่วน เค.อี.แลนด์เข้ามาสู่ธุรกิจ โดยเริ่มต้นพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในปี 2544 เป็นโครงการแรก จึงตามมาด้วย The Crystal ถือเป็นไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งมอลล์แห่งแรก บนถนนประดิษฐ์มนูธรรมในปี 2550 เป็นโครงการที่โดดเด่น สร้างกระแสคอมมูนิตี้มอลล์ ให้แรงขึ้นอย่างชัดเจน จากนั้นมีโครงการใหญ่ขึ้นอีก Crystal Design Center (CDC) ฝั่งตรงข้ามโครงการแรก เปิดตัวในปี 2552 ก้าวกระโดดไปอีกขั้น เมื่อร่วมทุนกับปตท. เปิดThe Crystal PTT ในปี 2557 รวมทั้งข้ามพรมแดนเดิมสู่พื้นที่ใหม่ที่กำลังเติบโต The Crystal ราชพฤกษ์

(2)

สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ แสดงบทบาท ผู้บุกเบิกพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบใหม่ๆ โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว

เมื่อพิจารณาข้อมูลจำเพาะบริษัทสยามฟิวเจอร์ฯ เปรียบเทียบกับกิจการลักษณะใกล้เคียงกัน คือเซ็นทรัลพัฒนา(ซีพีเอ็น) ของกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว ให้ข้อมูลที่แตกต่าง   ซีพีเอ็นมีผลประกอบการ(2556) ที่ดีกว่ามาก ทั้งมีรายได้มากถึงระดับ 20,000 ล้านบาท มีกำไร ถึง5-6000 ล้านบาท เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่ พบว่า ซีพีเอ็น เป็นผู้สร้างพื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบดั้งเดิมให้กับเครือเซ็นทรัล ในฐานะผู้เช่าหลักเพียงรายเดียว มากถึงประมาณ 1.4   ล้านตารางเมตรในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะที่สยามฟิวเจอร์ ฯ ใช้เวลาไม่ถึง2 ทศวรรษสร้างพื้นที่เช่าเพียงระดับ 4 แสนตารางเมตร แต่ได้นำเสนอรูปแบบธุรกิจค้าปลีกใหม่ๆ สะท้อนแนวโน้ม และกระแสสังคมได้อย่างน่าทึ่ง

“บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2537 โดยนายพงศ์กิจ สุทธิพงศ์ และนายนพพร วิฑูรชาติ ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าประเภทศูนย์การค้าแบบเปิด  ในปี 2538 บริษัทได้เปิดดำเนินการโครงการมาร์เก็ตเพลส บางบอน ซึ่งเป็นศูนย์การค้าชุมชน (Neighborhood Shopping Center) แห่งแรกของบริษัท โดยมี จัสโก้ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นผู้เช่าหลัก (Anchor)  ในปี 2539 บริษัทได้เปิดดำเนินการศูนย์การค้าชุมชนแห่งที่ 2 และ 3 ได้แก่ โครงการมาร์เก็ตเพลส ประชาอุทิศและมาร์เก็ตเพลส สุขาภิบาล 3 โดยปัจจุบันมี จัสโก้ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ท็อปส์ มาร์เก็ต เป็นผู้เช่าหลัก ตามลำดับ” ข้อมูลที่นำเสนอแนะนำบริษัทอย่างเป็นทางการ (จาก http://www.siamfuture.com/) มี Key words(คำเน้น) ที่น่าสนใจ

ผู้ก่อตั้ง และทีมบริหาร

นพพร วิฑูรชาติ(ขณะก่อตั้งสยามฟิวเจอร์ฯ อายุประมาณ 30 ปี) และพงศ์กิจ สุทธิพงศ์ (อายุขณะนั้น ประมาณ 34 ปี) เป็นคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ในฐานะวิศวกรยุคใหม่ มองโอกาสใหม่ๆในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเช่นเดียวกันคนอื่นๆในช่วงเวลาก่อนวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่

ทั้งสองทำงานอยู่ในบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอนยิเนียริ่ง(ไออีซี)  กิจการค้าเทคโนโลยีและสื่อสารเก่าแก่ อยู่ในเครือซิเมนต์ไทย(เอสซีจีในปัจจุบัน)ช่วงหนึ่ง ( 2527-2533)   นพพร วิฑูรชาติ   ทำงานเป็นวิศวกรในช่วงสั้นๆ (2530-2533)     จากนั้นเข้าสู่ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว มีฐานธุรกิจในฐานะเจ้าของตลาดเก่ามีนบุรี ถือเป็นการสร้างประสบการณ์สำคัญ ในการเรียนรู้ระบบเช่าอสังหาริมทรัพย์แบบคลาสสิก ประสบการณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่    นพพร วิฑูรชาติ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหาร (ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ) สยามฟิวเจอร์ฯ มาตั้งแต่ต้น

ส่วน พงศ์กิจ สุทธิพงศ์ ทำงานที่ไออีซีอย่างต่อเนื่อง(2529-2537) ในฐานะผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการสื่อสารไร้สายยุคแรกๆ และเป็นผู้บริหารกิจการสมัยใหม่ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการสื่อสาร เขามีส่วนสำคัญในความเป็นไปของสยามฟิวเจอร์ฯ ในยุคก่อตั้งในฐานะผู้มีประสบการณ์ที่กว้างขวาง โดยเฉพาะ ว่าด้วย ดีล (deal) ตลาด และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นในการสร้างธุรกิจใหม่ๆในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

เมื่อกิจการก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง   สยามฟิวเจอร์ฯได้เสริมทีมบริหาร นั่นคือ อรณพ  จันทรประภา  มาเป็นประธานกรรมการ  และสมนึก พจน์เกษมสิน เป็นกรรมการผู้จัดการ  ทั้งสองมีประสบการณ์ร่วมกับผู้ก่อตั้งที่ไออีซี   อรณพ จันทรประภา  มีประสบการณ์อย่างเข้มข้นที่เอสซีจี( 2523-2533) ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจการค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี่ จากนั้นเป็นผู้บริหารไออีซียุคใหม่ (2533-2536) สามารถนำกิจการเข้าตลาดหุ้นในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง   ส่วนสมนึก พจน์เกษมสิน มีประสบการณ์ด้านบริหารการเงิน กับไออีซีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (2534-2542) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประสบการณ์ท่ามกลางวิกฤติด้วย

สยามฟิวเจอร์ฯ ก้าวกระโดดครั้งสำคัญ ในช่วงเข้าตลาดหุ้น MAI ในปลายปี 2545 และสามารถสู่ตลาดหลักได้ในต้นปี2547

เรื่องราวการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆอย่างน่าทึ่ง เป็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ค้าปลีกรูปแบบใหม่

การดำเนินธุรกิจ  “พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าประเภทศูนย์การค้าแบบเปิด” (Open-air shopping center)  เป็นการพัฒนาจากกรณีจุดเริ่มต้นที่กล่าวกันว่า Jusco  แห่งญี่ปุ่น ติดต่อเช่าที่ดินในรูปแบบดั้งเดิมของครอบครัว วิฑูรชาติ   เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า   นพพร วิฑูรชาติ  มองเห็นโอกาสธุรกิจทีกว้างขึ้น เสนอแผนการพัฒนาพื้นที่ให้ Jusco เช่าในระยะยาว     กลายเป็นโมเดลเริ่มต้นกิจการในรูปแบบใหม่   ในเวลาต่อมา สยามฟิวเจอร์ฯได้เข้าเป็นสมาชิก International Council of Shopping Centers (ICSC)  นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ควรอ้างอิงICSCแห่ง New York  เป็นฐานข้อมูล ความรู้ ข่าวสารว่าด้วยธุรกิจค้าปลีกในกระแสโลก(โปรดพิจารณา http://www.icsc.org/ ) เชื่อว่า มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการธุรกิจสยามฟิวเจอร์ฯ ทั้งรูปแบบโดยให้ความสำคัญการออกแบบ( Design )   และ ยึดทำเล จากโอกาสที่เริ่มจากชานเมือง สู่ใจกลางเมือง ฯลฯ

ผู้เช่าหลัก (Anchor)

สยามฟิวเจอร์ฯ  มีโมเดลเหมือนกับซีพีเอ็นตรงที่มีผู้เช่าหลัก เป็นแม่เหล็ก  แต่ก็มีความแตกต่างกัน  ขณะที่ซีพีเอ็นมีเพียงกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้เช่าหลักเท่านั้น   สยามฟิวเจอร์ฯ กลับมีผู้เช่าหลักหลากหลาย  รวมทั้งกิจการในกลุ่มเซ็นทรัลเอง(Tops Market) และมาจากรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งจากโมเดล Super market   กรณี Jusco, Max Valu, Villa Market, Tesco, Lotus Expressไปจนถึงเครือข่ายศูนย์บริการรถยนต์ B-Quick   ที่สำคัญ สยามฟิวเจอร์ฯ ได้พัฒนาสายสัมพันธ์ จากผู้เช่าหลัก มาเป็นผู้ร่วมทุนด้วย

—ปี 2546 กลุ่มเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เข้าถือหุ้นในสยามฟิวเจอร์ฯโดยตรง ในสัดส่วน 25%   บริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีเครือข่ายโรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจหลัก ถึง 76 สาขา 479 โรง นอกจากนี้ยังมี ธุรกิจลานโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ลานสเก็ตน้ำแข็ง อสังหาริมทรัพย์ และศูนย์สุขภาพ

—2552 ลงทุนในโครงการ Mega bangna ร่วมทุนกับ IKEA เครือข่ายธุรกิจระดับโลกแห่งสวีเดน ถือเป็นดีลสำคัญ   หนึ่ง–การร่วมทุน นำกิจการระดับโลกเข้ามาเมืองไทย สอง-พัฒนารูปแบบค้าปลีกใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สร้างกระแสค้าปลีกรูปแบบใหม่

สยามฟิวเจอร์ฯกับพันธมิตรธุรกิจ เป็นโมเดลธุรกิจเฉพาะ จะสร้างโมเมนตัมพัฒนาการในขั้นต่อๆไป

(3)

เค.อี.แลนด์ กับคอมมูนิตี้มอลล์    เริ่มต้นยังไม่ถึงสองทศวรรษ   สามารถสร้างกระแสพุ่งแรงทีเดียว

ชื่อ เค.อี. แลนด์  เกี่ยวข้องทั้งชื่อย่อ  และเส้นทางชีวิตธุรกิจของคนสองคน

คนแรก  เกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์  นักธุรกิจอิทธิพลในธุรกิจค้าสุรา ยุคแม่โขง-หงส์ทอง  ชื่อของเขาปรากฏโดดเด่นครั้งสุดท้าย เข้าร่วมชิงสัญญาสัมปทานของโรงงานสุราบางยี่ขันในปี 2522 ในฐานะ 1ใน 3ราย แต่ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นวงการสุราได้เข้าสู่เกมการต่อสู้ที่ดุเดือด ระหว่างแม่โขง-หงส์ทอง เป็นเวลานานพอสมควร ก่อนที่ เจริญ สิริวัฒนภักดี จะผงาดขึ้น

ในช่วงเดียวกันนั้น  ชื่อเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญในการก่อตั้งบริษัทยูนิคอรด์  โดยเปิดโรงงาน ผลิตสับปะรดกระป๋องเพื่อการส่งออกที่มหาชัย(2521)  เชื่อมต่อกับโรงงานในบ้านบึง ชลบุรี แต่กิจการไปได้ไม่ดี เขาตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจ (2530) จากนั้น ตำนานยูนิคอร์ดอันโลดโผนพลิกผันได้เกิดขึ้น ภายใต้การนำของ ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ โดยเฉพาะจากกรณีซื้อกิจการปลาทูกระป๋องระดับโลกในสหรัฐ (2537)

อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งที่เกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ สะสมไว้   ได้สร้างโอกาสอยู่เสมอ รวมทั้งการสะสมที่ดินย่านประดิษฐ์มนูธรรมได้หลายร้อยไร่ 

คนที่สอง กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ เป็นบุตรชายของเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ มีเส้นทางเฉกเช่นโมเดลของคนรุ่นที่สองจากครอบครัวธุรกิจ  เขาจึงใช้ชีวิตศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศนานประมาณ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย( Kent School ที่ Connecticut  )จนจบปริญญาตรี-โท ด้านวิศวกรรมศาสตร์( Lehigh University ที่ Pennsylvania )  ถือว่าเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างแดนอยู่ในย่านตะวันออกของสหรัฐฯไม่ไกลจาก New York  แต่ดูเหมือนเขามีความผูกพันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและสไตล์ของภาคตะวันตกของสหรัฐฯ(California )ในเวลาดำเนินธุรกิจเค.อี.แลนด์

ประสบการณ์

ว่าไปแล้วเป็นความโชคดี เขากลับมาเมืองไทยในช่วงก่อนวิกฤติการณ์ปี2540 โดยไม่มีงานธุรกิจครอบครัวให้ทำเป็นเรื่องเป็นราว   เขาเริ่มหาประสบการณ์ สัมพันธ์กับตลาดการเงินที่กำลังเติบโต  จาก Anderson Consulting ( ต่อมาในปี2544เปลี่ยนชื่อเป็น Accenture) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก  ไปสู่งาน Investment banking ในเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือข่ายธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ–บงล.ภัทรธนกิจ  ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญเสียด้วย  ทั้งจากประสบการณ์ทั้งการระดมทุน ร่วมทุน และ ควบรวมกิจการฯลฯ กับลูกค้าที่เป็นกิจการชั้นนำของเมืองไทย ไปจนถึงอยู่ในเหตุการณ์ความผันแปรของ บงล.ภัทรธนกิจ เอง

ในช่วงปี 2540-2541  บงล.ภัทรธนกิจ เผชิญวิกฤติการณ์เช่นเดียวกับธุรกิจการเงินโดยรวม  ธนาคารกสิกรไทยแม้เอาตัวรอดได้ แต่ไม่โอบอุ้มภัทรธนกิจอย่างเต็มที่     ภัทรธนกิจต้องแยกกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ออกจากกัน(2540)   Merrill Lynch แห่งสหรัฐฯ(ต่อมาในปี2552 ถูกซื้อกิจการ กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Bank of America )เข้ามาถือหุ้น(51%)ในกิจการหลักทรัพย์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมอริลลินช์ ภัทร อยู่ช่วงหนึ่ง( 2541-2546 )  กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์  ตามไปอยู่ เมอริลลินช์ ภัทร ระยะหนึ่ง  ก่อนจะมาเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ประสบการณ์ทั้งในช่วงรุ่งโรจน์และตกต่ำในช่วงนั้น มีคุณค่าสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่

เค.อี.แลนด์เข้ามาสู่ธุรกิจอย่างจริงจัง  หลังจากวิกฤติการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง โดยภาพรวมสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นนัก  เมื่อพิจารณาดัชนีที่เกี่ยวข้อง

–ดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะซบเซา  ตั้งแต่ต้นปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545 ดัชนีคงอยู่ในระดับต่ำมากๆเฉลี่ยประมาณ 400 จุด อย่างต่อเนื่องติดต่อถึง 4 ปีเต็ม

“ปี 2544   นับเป้นครั้งที่ 4ในรอบ 30 ปี ที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่า 2.5% ต่อปี    …..หลังจากการก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ  เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อยู่ระดับที่ต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป้นครังแรกในรอบ26 เดือน “รายงานสถานการณ์ปิโตรเลี่ยม ในรายงานประจำปี2544 ของปตท.

แต่ในภาพย่อยมีมิติที่น่าสนใจ

–ปี 2542 แลนด์แอนด์เฮาส์   ผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้ และเริ่มขยายกิจการ ไปสู่ธุรกิจข้างเคียง— Home pro และPCM (พื้นสำเร็จรูป)

–ปี 2544 ปตท. เข้าตลาดหุ้น และประสบความสำเร็จอย่างดี

เริ่มต้นธุรกิจ

เค.อี.แลนด์เริ่มต้นพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในปี2544 เป็นโครงการแรก–Grand Crystal เป็นจุดตั้งต้น ด้วยยุทธศาสตร์ทั้งระระแวดระวัง และพยายามเสนอ “สิ่งใหม่ๆ”    หนึ่ง-ยึดทำเลที่เป็นที่ดินของครอบครัว ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง สอง-เสนอประสบการณ์ใหม่ผ่านการออกแบบ– Californian Style ตอบสนองลูกค้าระดับบน ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนแนวโน้ม ว่าด้วยความเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ของผู้คนในเมืองหลวง กับอิทธิพลระดับโลก

เค.อี.แลนด์ และกวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์   ได้สร้างสายสัมพันธ์ธุรกิจระดับโลกในมิติใหม่   อ้างอิงเครือข่าย ประสบการณ์ และความรู้ใหม่ๆ กับ California Building Industry Association (CBIA) ซึ่งก่อตั้งมาเมื่อประมาณ 70ปีที่แล้ว ในงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับบ้านที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯในปี 2549 ที่เรียกว่า PCBC 2004 ของ CBIA โครงการGrand Crystal ได้รับรางวัล Gold Nugget Awards

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น“ในปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ” ผมเคยอ้างอิงไว้ เกี่ยวกับจุดพลิกผันครั้งสำคัญของสถานการณ์ทำให้ปตท.ก้าวขึ้นเป็นธุรกิจพลังงานระดับโลก ว่าไปแล้วมีผลกระทบเชิงบวกโดยทั่วไป

กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์   อ้างอิงกับสถานการณ์ข้างต้น ขยายจินตนาการทางธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยอาศัยทำเล และพื้นที่ในครอบครองของครอบครัว

—สร้างไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งมอลล์แห่งแรก บนถนนประดิษฐ์มนูธรรมในปี 2550   — The Crystal   ว่าไปแล้วในเวลานั้น ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอย่างคึกคัก โดยเฉพาะโครงการ J avenue Thonglor (ปี 2547) ของสยามฟิวเจอร์ฯ ถือเป็นโครงการที่สร้างกระแส    ต่อมาในปี2549 J avenue Thonglor ได้รับรางวัล The Innovative Design and Development of a New Project จาก International Council of Shopping Centers (ICSC) นับเป็นเส้นทางที่ไปในทิศทางเดียวกัน

The Crystal ยังยึดมั่นกับโมเดลเดิม “ศูนย์การค้าสถาปัตยกรรมสไตล์ Californian Design ซึ่งเป็น Trend ใหม่ของโลกและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ” (อ้างจาก http://www.thecrystal.co.th/)

Crystal Design Center (CDC) โครงการใหญ่ขึ้น ฝั่งตรงข้ามโครงการแรก เปิดตัวในปี 2552  ในบทสนทนากับสื่อ   กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์   มักอ้างอิง CDC กับ Pacific Design Center(PDC ) อยู่ที่หัวถนนระว่าง  Melrose Avenue กับ San Vicente Boulevard ในเขตWest Hollywood, California  ถือเป็นโมเดลต้นแบบของCDC ก็ว่าได้  PDCเปิดบริการตั้งแต่ปี 2531 ในช่วงที่ กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ยังใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ

สู่ธุรกิจเต็มตัว

ในที่สุด  เค.อี.แลนด์ และกวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ได้ก้าวเข้าสู่อีกขั้นทางธุรกิจ

–2556 จัดตั้ง กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์คริสตัล รีเทล โกรท เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่ง ระดมทุนจากสาธารณชน ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการเตรียมตัวอย่างมีจังหวะก้าว เข้าสู่การแข่งขันที่เข้มข้นและมีเดิมพันมากขึ้น

–จากอาศัยLand bank ของครอบครัว ไปสู่กับร่วมทุนกับพันธมิตร หนึ่ง-ร่วมทุนกับปตท.ในโครงการ The Crystal PTT ซึ่งเปิดตัวไปแล้วในปลายในปี 2557 สองรวมทุนกับ เอส.บี.เฟอร์นิเจอร์ เดอะมอลล์กรุ๊ป และ เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ในโครงการ The Crystal SB Ratchapruek เป็นการก้าวเข้าสู่พื้นที่ใหม่ ชุมชนสมัยใหม่ที่กำลังเติบโต

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: