นักเรียนสหราชอาณาจักร

RELATED STORIES

Profile-นักเรียนอังกฤษ

นักเรียนสหรัฐอเมริกา

 เรื่องราวจากนี้ คือภาพที่ความพยายามปะติดประต่อความเคลื่อนไหวในช่วงว่า100ปีของชนชั้นนำในสังคมไทย ว่าด้วยแนวคิด และแรงบันดาลใจ  ในการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อระดับมัธยมในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการเตรียมความพร้อมบุคลากรในการศึกษาในสถาบันขั้นอุดมศึกษาระดับโลกต่อไป

ผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า ความคิดทั้งหลายทั้งปวงของผู้คนในยุคต่างๆ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสถานการณ์แวดล้อมขณะนั้นเสมอๆ ขณะเดียวกัน การกล่าวถึงชนชั้นนำเช่นนั้น  มิได้หมายความว่า ผมหรือผู้อ่านจะถือเป็นต้นแบบในเดินทางตามอย่างเคร่งครัดแต่อย่างใด  หลักการข้อหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ

สถานการณ์ของเรา แนวความคิดของเรา และความสามารถของเรา เป็นฐานของความตั้งใจในความพยายามบรรลุแผนการและแสวงหาโอกาสของตนเอง

 เหตุการณ์ที่รัชกาลที่5เสด็จประพาสยุโรปในปี2440 เป็นเวลาใกล้เคียงกับพระราชโอรสหลายพระองค์ถูกส่งไปศึกษาในยุโรปนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นระบบ ของการศึกษาความรู้ในระบบของต่างประเทศของคนไทย โดยเริ่มต้นจาก ราชวงศ์  ข้าราชบริพาร    ต่อมาได้ขยายสู่ชนชั้นนำอื่นๆ   แวดวงธุรกิจ และสามัญชนที่มีโอกาสจากการสอบชิงทุน

แม้ว่าการส่งพระราชวงศ์ศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษจะเริ่มจากรัชกาลที่4  กษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงภาษาอังกฤษอย่างดี ในยุคของราชธานีไทยที่ความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกในยุคอาณานิคมที่ทรงอิทธิพลที่สุดในระดับโลก หลังจากสนธิสัญญาเบาริ่ง  แต่ในรัชกาลต่อมา ถือว่าเป็นกระบวนที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

ราชนิกูล

ความจริงรัชการที่5 ส่งพระราชโอรสชุดแรก 4พระองค์ ไปศึกษาที่Harrow School ในปี2428 ประกอบด้วย พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์(กรมพระจันทบุรีนฤนาท –ปู่ของสมเด็จพระราชินี)  พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์(กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม(กรมหลวงปราจีณกิติบดี)และ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช(กรมหลวงสครไชยศรีสุรเดช)

รัชการที่6ทรงเป็นกษัตริย์ไทย พระองค์แรกที่ผ่านการศึกษาจากอังกฤษจาก Oxford University จากนั้นได้ศึกษาจนจบจากRoyal Military Academy, Sanhurst (2440) ในหนังสือ”เจ้าชีวิต”ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ผ่านHarrow School ด้วย เขียนไว้ว่า”พระองค์ทรงเสียพระทัยที่มิได้โดยมีโอกาสเข้าโรงเรียนกินนอนของอังกฤษที่เขาเรียกว่าปับลิกสคูล(Public School) เช่นเดียวกับพระอนุชาทั้งหลาย เพราะพระจุลจอมเกล้าทรงเห็นว่า พระองค์อยู่ใกล้พระราชบัลลังก์เกินไป” ส่วนรัชกาลที่7 เป็นคนไทยคนแรกที่ผ่านโรงเรียนมัธยม Eton College ซึ่งถือเป็นโรงเรียนประจำแบบฉบับของ”ผู้ดีอังกฤษ” ทีมีประวัติศาสตร์และชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในทำเนียบศิษย์เก่าทีมีชื่อเสียง ในกลุ่มRoyal ปรากฎในWebsiteของโรงเรียน มีพระราชวงค์ไทย3พระองค์ อยู่ด้วย(อีกสองพระองค์ พระเจ้าพีระพงศ์ภานุเดชและ  พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ      ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับกษัตริย์ของราชวงค์เนปาลพระองค์ก่อน(Birendra of Nepal H.M .King)ที่ถูกปลงพระชมน์ไปเมื่อปี2544

ทุนเล่าเรียนหลวง เข้าใจว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในรัชการที่5 นับเป็นกระบวนการคัดเลือกสามัญชนจำนวนหนึ่งที่มีความรู้ ความสามารถในการเรียน เดินทางไป ศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ระดับต้นซึ่งในหนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญมากกว่าการเรียนระดับปริญญาโทขึ้นไป  พวกเขาเหล่านั้น คือทรัพยากรบุคคลสำคัญที่ต่อมา รับราชการสำคัญโดยเฉพาะในการพัฒนาประเทศร่วมทั้งบริหารความสัมพันธ์ระหว่างของราชสำนักไทยกับโลกภายนอก

จากจุดนี้เชื่อว่า  นี่จุดเริ่มต้นของกระบวนการส่งลูกหลานคนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับรากฐาน ก่อนที่เริ่มขยายวงไปมากขึ้นๆเป็นกระบวนการปรับตัวของสังคมไทยซึ่งจำกัดวง อยู่แค่สังคมในราชสำนัก และการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกำลังปรับตัวเข้ากับโลกภายนอก  ไม่เพียงแต่เรื่องว่าด้วยกิจ การของรัฐเท่านั้น  ขณะเดียวกันก็นับเป็นการสร้างชนชั้นนำใหม่ที่มีวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วย

ราชสกุลปราโมช

นวนิยายสี่แผ่นดินอันโด่งดังของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช  สร้างตัวละครสำคัญชื่ออ๊อด ตัวละครที่ผู้อ่านคิดกันว่ามีบุคลิกเหมือนผู้เขียนมากที่สุดนั้น เรื่องราวของเขาที่สำคัญตอนหนึ่งทำให้ผู้อ่านซึ่งไม่เคยรู้จักโรงเรียนประจำในอังกฤษมาก่อน ติดตามกันอย่างตื้นเต้นเร้าใจ  พร้อมๆกับได้รับความรู้ความเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่และความคิดของนักเรียนนอก ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยในยุคนั้น  เป็นที่เชื่อกันว่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชีวิตที่โรงเรียนประจำใน นวนิยายสี่แผ่นดิน  เป็นภาพสะท้อนประสพการณ์โดยตรง ของผู้เขียน ในฐานะนักเรียนประจำที่ Trent College ในเมืองNottingham 

 ความจริงแล้วหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช  พี่ชายของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เรียนที่นี่มาก่อน   ยุคนั้น สองพี่น้องราชสกุลปราโมช ประสพความสำเร็จอย่างสูง ทั้งในการศึกษา ในฐานะนักเรียนเก่าOxford Universityที่มีผลการเรียนดีมาก และต่อมา ประสพความสำเร็จในการทำงาน  ดังนั้นโรงเรียนประจำ  Trent College  ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนชื่อเสียงในอังกฤษจะตกไปมากทีเดียว  แต่สำหรับคนไทยแล้ว โรงเรียนนี้ยังมีผู้คนเดินผ่านเข้าออกอยู่เสมอ

หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช บุตรของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช  เติบโตขึ้นและเข้าเรียนระดับประถมในสหรัฐฯ ในช่วงหม่อมราชวงศ์เสนีย์   เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน และมีบทบาทในขบวนเสรีไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เข้าโรงเรียนประถมชั้นดี Sidwell Friend’s School ที่กรุงวอชิงตัน ในปี 2488  ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับลูกสาวคนเดียวของอดีตประธานาธิบดี คลินตัน จากนั้นหม่อมหลวงอัศนี ก็ข้ามมาเรียนที่อังกฤษ ในระดับมัธยมศึกษา  Trent College ที่ Nottingham              ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับบิดาของเขาเคยเรียนมาก่อนด้วย  ปัจจุบันTrent College เป็นIndependent School ในระดับชั้นนำของอังกฤษที่อยู่ในกลุ่ม300อับดับแรก  เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่คนไทยนิยมไปเรียน  นอกจาก ภูมิชาย  ล่ำซำแล้ว พวกตระกูลชลวิจารณ์(อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารธนาคารสหธนาคาร หรือไทยธนาคารปัจจุบัน) รุ่นหลังๆก็ไปเรียนที่โรงเรียนนี้หลายคน

 ตระกูล”ปันยารชุน”

ผมเคยศึกษาเรื่องโรงเรียนวชิราวุธวิยาลัย  ในฐานะบรรณาธิการ นิตยสารผู้จัดการ เราได้ทำเรื่องนี้เป็นเรื่องจากปกเมื่อเดือนมีนาคม2543 ได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นที่สำคัญ คือโมเดลการสร้างโรงเรียนประจำชายของไทย โดยพระราชดำริของรัชการที่6 ซึ่งเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงศึกษาจากต่างประเทศ นั้นเป็นโมเดลโรงเรียนประจำจากอังกฤษ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง ของในการสร้างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตามโมเดลที่ว่านั้น คือ เสริญ ปันยารชุน

เสริญ ปัญญารชุน สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่เข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารในรัชการที่4 บิดาของเขาคือพระยาเทพประชุน ซึ่งต่อมาเป็นองคมนตรีของรัชการที่5 (อ้างจากหนังสือ อานันท์ ปันยารชุน โดย ประสาร  มฤคพิทักษ์ และคณะ 2541) เสริญ ปันยารชุน  เรียนหนังสือเก่งสอบชิงทุนหลวงได้  ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ในระดับมัธยมศึกษาที่ Shrewsbury School ในปี2448 ยังไม่ทันจบศึกษาจากUniversity of Manchester เขาต้องกลับมารับราชการเป็นครู โดยต่อมามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บังคับการคนที่สองของวชิราวุธวิทยาลัย เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาโรงเรียนแห่งนี้ ตามโมเดลจากประสพการณ์ Shrewsbury School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำชาย  ต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ของอังกฤษได้กลายเป็นโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับวิชาราวุธวิทยาลัย  และสังคมไทยตังแต่นั้นเป็นต้นมา

ทุกๆปีโรงเรียนอังกฤษหลายแห่งมาแสดงนิทรรศการในเมืองไทย Shrewsbury School ก็มักจะมาด้วย เป็นประจำ โดยมีตัวแทนในเมืองไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  ในเอกสารของโรงเรียนซึ่งส่วนหนึ่งทำเป็นภาษาไทย  บรรยายถึงความสัมพันธ์เมื่อประมาณ100ปีกับวชิราวุธวิทยาลัยไว้ด้วย “เสริญ ปันยารชุน(2433-2517)เป็น ผู้สร้างความสัมพันธ์สำคัญ ซึ่งทางโรงเรียนได้บันทึกไว้ เป็นประวัติครั้งแรกระหว่างโรงเรียนชรูสส์เบอรี่กับประเทศไทย และสำนักพระราชวัง”

ในเอกสารชิ้นนี้ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ระหว่างโรงเรียนเครือข่ายตระกูลของเสริญ ในรุ่นต่อๆมาด้วย  หม่อมหลวงพีรพงศ์ เกษมศรี นักการทูตคนสำคัญของไทย ซึ่งเป็นหลานเสริญก็เข้าเรียนโรงเรียนแห่งนี้ เป็นคนที่2ในปี2492-2497  ต่อมาเป็น ราชเลขาธิการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หม่อมหลวงพีรพงษ์ เสียชีวิต เมื่อปี2543  จากนั้น ก็มี กฤช ปันยารชุน ก็เป็นรุ่นต่อมาที่เข้าศึกษาในโรงเรียนนี้ ในปี2508-2512

ขณะเดียวกัน ลูกชายคนสำคัญของเสริญ  คือ อานันท์ ปันยารชุน  ก็มาศึกษาระดับมัธยมที่อังกฤษ  โดยไปเรียนที่Dulwich Collegeในปี2491 ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอีกแห่งหนึ่งในชนชั้นนำของไทย  ตามคำแนะนำ ของพระยาศรีวิสารวาจา(เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)  ซึ่งเป็นศิษย์เก่าที่นี่ ในฐานะเป็นเพื่อนกับเสริญ

พระยาศรีวิสารวาจา เป็นอาว์สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นนักเรียนไทยที่มีชื่อเสียงมาก ในฐานะคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมคนแรกของไทยจา กOxford University  กลับมาเมืองไทย ในรัชการที่7มีบทบาทในกิจการต่างประเทศและการเมืองเป็นอันมาก ในหนังสืออนุสรณ์โกศล ฮุนตระกูล 2502 เล่าเรื่องชีวิตของพี่ชายพระยาศรีวิสาวาจา ที่เดิมชื่อ ฮุนกิมฮวด ในการสร้างกิจการ ตั้งแต่ผลิตน้ำมะเน็ดโซดา และขยายตัวไปสู่ร้านขายยา ดำเนินกิจการเรือสินค้า จนถึงธนาคาร ในช่วงกิจการเจริญเติบโตเขาได้ส่งน้องๆไปเรียนที่อังกฤษหลายคนในนี้รวมทั้งเทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล(พระยาศรีวิสารวาจา) ในปี2454

อานันท์ ปันยารชุน  หลังใช้เวลาศึกษาที Dulwich College4ปี ก็สามารถเข้าเรียนกฏหมายที่Cambridge University ได้เจริญรอยตามบิดา รับราชการกระทรวงต่างประเทศ ตั้งแต่จบการศึกษาจากอังกฤษตั้งแต่ปี2498 จนเติบโตสูงสุดในตำแหน่งปลัดกระทรวงต่างประเทศ โดยใช้เวลาเพียง22ปี  เขามีบทบาท ในภาคเอกชนอยู่พักหนึ่ง  ก่อนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมือง2 ครั้งในปี2534-2535 จานั้นก็มีบทบาททางการเมืองในวิกฤติการณ์สำคัญๆของสังคมไทยอีกหลายกรณี

สำหรับDulwich College มีความภาคภูมิใจในศิษย์เก่าคนนี้ โดยมีรายชื่อ ในทำเนียบศิษย์เก่าดีเด่น( Eminent Old Alleynians )เลขประจำตัว15391

เครือข่ายตระกูลปันยารชุน และเกษมศรี ล้วนรับราชการกระทรวงต่างประเทศต่อเนื่องมาการศึกษาพื้นฐานในต่างประเทศ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ทำให้พวกเขาปฎิบัติหน้าที่ได้ดี ในฐานะที่ต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชนในต่างประเทศมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตามเสริญ ปันยารชุน ไม่เพียงรับใช้ราชสำนักเท่านั้น เขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่เกิดใหม่ในยุคนั้น นักธุรกิจท่ร่ำรวย ก็พยายามส่งบุตรหลานไปเรียนอังกฤษด้วย เช่น ปกรณ์ ทวีสินไปเรียน ที่Dulwich College รุ่นหลังอานันท์ ปันยารชุนไม่กี่ปี โดยมีเป้าหมายเด่นชัดในการเรียนวิชาการธนาคาร เพื่อมาบริหารธนาคารไทยทนุที่บิดาของเขา ร่วมทุนสร้างขึ้น

ความต่อเนื่อง

 ปัจจุบันการศึกษาระดัมมัธยมหรือเตรียมตัวพื่อศึกษาระดับปริญญาในอังกฤษก็ยังคงมีความต่อเนื่องมา  แม้ว่าบางช่วงอังกฤษจะลดอิทธิพลลงไปบ้าง เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่1จนถึงครั้งที่สอง โดยสหรัฐอเมริกา มีอิทธิพลมากขึ้น  แต่ชนชั้นนำ โดยเฉพาะบุคคลในราชวงค์ ราชนิกูล  และข้าราชบริพาร ก็เป็นกลุ่มคนที่ยังรักษาความสัมพันธ์อย่างคงเส้นคงวา

แม้แต่ตระกูลสารสิน ซึ่งถือเป็นAmerican  Connection   ก็ยังส่งทายาทของเขา ไปเรียนที่อังกฤษผสมผสานกับสหรัฐเช่นกัน  โดยเฉพาะบัณฑิต บุณยะปานะ อดีตปลัดกระทรวงการคลังก็ผ่าน Dulwich College ก่อนจะไปศึกษาระดับปริญญาตรีในสหรัฐ  และอาสา สารสิน  อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ  ก็ผ่านการศึกษาระดับจากDulwich College เช่นเดียวกัน ก่อนจะไปศึกษาที่สหรัฐ

เช่นเดียวกันโรงเรียนในอังกฤษที่มีชื่อเสียงก็มีมากมาย ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าEton และHarrow อยู่ระดับบนสุด รองๆลงมา ระดับเดียวกับ Dulwich  มีมากมายหลายแห่ง ที่มีความสัมพันธ์กับแกนกลางสังคมไทย

โดยเฉพาะ Haileybury , Chelterham College  , Chelterham Ladies College , Malvern  College,  Marlborough College  และRugby School

ในหนังสือ”จากยมราชถึงสุขุมวิท” กล่าวไว้ว่า พระพิศาลสุขุมวิท(ประสบ สุขุม)ได้เข้าเรียนที่Haileybury ในปี2456  ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่1 ที่สถานการณ์ในอังกฤษยากลำบากมากทีเดียว  เมื่อเขาเดินทางกลับเมืองไทย เขาจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังรุ่งเรืองแทน  ก่อนหน้านั้นโรงเรียนแห่งนี้มีคนไทยเรียนที่โรงเรียนอยู่แล้ว3คน ได้แก่  พระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์  พระยาบูรณศิริพงศ์ และ หม่อมหลวงอุ่น อิศรเสนา เข้าใจกันว่าเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง

จากข้อมูล Perspectus ที่ผมขอไปแล้วถือเป็นข้อมูลที่ดีมากนั้น ระบุว่าประวัติโรงเรียนนี้เริ่มต้นด้วยการเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกอบรมพนักงานของEast India Company ตั้งแต่ปี1805 ในอีกประมาณ50ปี ราวปี1862(หรือ พ.ศ 2405) ก็เปิดเป็นโรงเรียนทั่วไป  นักเรียนไทยเข้าเรียนหลังจากนั้น

เท่าที่มีข้อมูล หม่อมราชวงศ์สฤษดิกุล กิติยากร เคยเข้าโรงเรียนนี้ ก่อนจะไปศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาที่ Cambridge University  จากนั้น ก็เริ่มทำงานใน บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี2504 ในยุคที่ผู้มีการศึกษาดีของไทยเริ่มเข้าทำงานภาคเอกชนในบริษัทต่างชาติที่มีจัดการดีและให้ผลตอบแทนสูง ที่เขาทำงานเป็นเวลาประมาณ30ปี จึงลาออกมาทำงานให้กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี

ประชา คุณะเกษม  อดีตข้าราชการและนักการทูต เป็นตัวอย่างของตระกูลนี้ ที่มีความสัมพันธ์กับกิจการด้านต่างประเทศ ผ่านการศึกษาระดับมัธยมปลายที่ Marlborough College

Chelterham College เป็นโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่สัมพันธ์กับสังคมชั้นสูงของไทยมานาน ที่น่าสนใจตั้งแต่พระองควิวัฒน์ไชย   ผู้ว่าการธนาคารชาติคนแรก  และรัฐมนตรีคลัง ซึ่งมีบทบาทในวงการธนาคารไทยก็ผ่านโรงเรียนแห่งนี้ มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หม่อมราชวงศ์จักรรถ  จิตรพงศ์  ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคนแรกที่เพิ่งเกษียณไปไม่นานมานี้   และขรรค์ ประจวบเหมาะ บุตรชายเฉลิม ประจวบเหมาะ อดีตผู้บริหารธนาคารไทยทนุ ( ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์)ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้เช่นกัน

ในรุ่นหลังสังคมโลกครั้งที่สอง  รุ่นๆเดียวกับหม่อมราชวงศ์จักรรถ และขรรค์  คนไทยได้ส่งบุตรหลานไปเรียนอังกฤษจำนวนไม่น้อย กระจายไปตามโรงเรียนต่างค่อนข้างหลากหลาย ชฎา วัฒนศิริธรรม ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านโรงเรียนประจำของผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ที่ชื่อChelterham Ladies College    ส่วนCollege และหม่อมราชวงศ์ ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์  เรียนที่ Rugby School

ทายาทธุรกิจ

แนวโน้มคนไทยในรุ่นหลังไปเรียนระดับมัธยมอังกฤษ เตช บุนนาค เอกอัครราชทูต และอดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ เรียนที่ Malvern นอย่างต่อเนื่อง จะยังคงเป็นสมาชิกราชงศ์ แต่กลุ่มนักธุรกิจดูจะมากขึ้นๆ โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวเติบโตมากับการร่วมทุนกับต่างชาติ หรือมีความสัมพันธ์กับธุรกิจต่างชาติเป็นพิเศษ  พวกเขามีแรงบันดาลใจในการสร้างทายาทสืบต่อกิจการ  แม้ว่าผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มหันเหไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามากขึ้น แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งยังมั่นคงกับอังกฤษ 

โดยเฉพาะโมเดลการผสมผสานในการเรียนระดับมัธยมที่อังกฤษและระดับอุดมศึกษาของอเมริกัน เริ่มเป็นโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างชัดเจน  ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อเนื่องมาในยุคที่สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น

 วงค์วุฒิ  วุฒินันท์ แห่งบริษัทไทยเยอรมัน เซรามิค ผู้ผลิตระเบื้องคัมพานา  มาเรียนโรงมัธยมที่ St.Paul Schoolในกรุงลอนดอน ในราวปี2497 ถือเป็นโรงเรียนทีดีมากอีกแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับโรงเรียนของกรณ์ จาติวกณิช  นักบริหารธุรกิจหลักทรัพย์ จากการเป็นเจ้าของ ได้กลายเป็นมืออาชีพ หลังวิกฤติการณ์ เคยเข้าเรียนโรงเรียนชั้นดีของอังกฤษ  Wesminster School อันเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ในกรุงลอนดอน

พรเสก กาญจนจารี ทายาทของซิว กาญจนจารี ผู้ร่วมทุนกับMatsushitaแห่งญี่ปุ่นในการบุกเบิกผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าNational หรือ Panasonic ในราวปี2505  ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนชั้นดี

ของอังกฤษในราวปี2507 ตั้งแต่ประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมของเขาชื่อมีความหมายเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์กีฬาชนิดหนึ่ง Rugby School ที่เมืองRugby  ปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่ดีแห่งหนึ่งของอังกฤษ รุ่นน้องที่สำคัญอีกคนหนึ่งก็คือหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริบัตร  (ปี2510)

  ชาญชัย จารุวัตร์ บุตรของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่(พลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ อดีตผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)  เริ่มต้นการศึกษา จากวชิราวุธวิทยาลัย แล้วจึงไปเรียนระดับมัธยมที่อังกฤษในราวปี2513 Denstone School โรงเรียนธรรมดาๆแห่งหนึ่ง ผลการเรียนในระดับกลาง ที่สำคัญค่าเล่าเรียนถูกกว่าโรงเรียนชั้นนำที่กล่าวมาแล้ว จากนั้นเขาเรียนระดับอุดมศึกษาทั้งจากอังกฤษและสหรัฐ ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตมืออาชีพในบริษัทอเมริกัน IBM ในฐานะลูกหม้อคนหนึ่ง จนไต่เต้าถึงกรรมการผู้จัดการ  เขาจึงกลายเป็นมืออาชีพที่สามารถมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆต่อมา

ภูมิชาย ลำซ่ำ  ทายาทคนหนึ่งของจุลินทร์ ล่ำซำ ซึ่งมีประสพการณ์ในการศึกษามาจากอังกฤษในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง   ภูมิชายเรียนระดับมัธยมที่Trent College  ก่อนจะข้ามไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา  เขาคือทายาทของล่ำซำคนหนึ่ง ที่มาดูแลกิจการประกันชีวิต และกิจการเงินทุนหลักทรัพย์  ด้วยสไตล์เรียบๆ

ชนินทร์ โทณวนิก  บุตรชายคนโตของชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของกลุ่มธุรกิจโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเริ่มรุ่งโรจน์ในช่วงปีก่อนหน้าที่ชนินทร์ จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนระดับมัธยมที่อังกฤษ ในราวปี2513 ที่ Chigwell School โรงเรียนชั้นดีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งก่อตั้งมาแล้ว เกือบ400ปี  เมื่อจบก็เข้าสู่ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอเมริกันต่อไป  เขามีบทบาทช่วยงานมารดามากทีเดียวในการบุกเบิกกิจการโรงแรมในบางช่วงเฟื่องฟูบางช่วงฟุบต่อเนื่องมา

ทั้งวงศ์วุฒิ พรเสก ชาญชัย ภูมิชายและชนินทร์ มาโมเดลเดียวกัน คืออิทธิพลความคิดในการเข้าโรงเรียนประจำของอังกฤษ เพื่อสร้างความเป็นผู้ดี  อันจะทำให้กลมกลืนกับชนชั้นนำของสังคมไทย ในฐานะครอบครัวพวกเขาเริ่มมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ จากยุคจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ โดยการเข้ามาของเงินทุนต่างชาติ ในโมเดลเศรษฐกิจผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า  ขณะเดียวกันพวกเขาเชื่อมั่นระบบการศึกษายุคใหม่ของอเมริกันที่เข้ามาอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคนี้   พวกเขาจึงข้ามไปเรียนระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา

โมเดลการศึกษาของอังกฤษฝังในความคิดของคนไทยต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย  โดยพัฒนาไปที่ความเชื่อในระบบการศึกษา มากกว่าชื่อเสียงของโรงเรียนเฉพาะแห่ง ตามคติคนไทยยุคก่อน

 อากร  ฮุนตระกูล  เชิดชู  โสภณพนิช และ ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ คือตัวอย่างของแนวความคิดนี้ 

อากร ฮุนตระกูล ซึ่งมีความผูกพันกับอังกฤษจนถึงลมหายใจสุดท้าย โดยมีกิจการร้านอาหารที่นั้น แม้กระทั้งการรักษาตัวให้หายจากโรคร้ายเขาก็ยังไปโรงพยาบาลอังกฤษ  เขาเข้าเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมที่ West Buckland School ในราวปี2500   ซึ่งเป็นIndependent School อันดับ400 แรก ก่อนจะจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ จาก Queen’s University of Belfast  ก่อนจะมารับช่วงบริหารกิจการโรงแรมอิมพีเรียล   ขากลายเป็นนักธุรกิจที่เป็นนักคิด ตั้งวงเสวนากับเพื่อนนักวิชาการในช่วงก่อนและหลังประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทยเมื่อเกือบๆ30ปีมาแล้ว  นอกจากนี้ยังเป็นนักธุรกิจที่ปรับตัวเร็ว เมื่อเผชิญวิกฤติจากตัวเขาเอง เขาตัดสินใจขายกิจการโรงแรมไปก่อนจะเกิดวิกฤติ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ดี

 เชิดชู  โสภณพนิช   บุตรชายคนสุดท้ายของชิน โสภณพนิช  เขาเรียนโรงเรียนมัธยมที่Mllfield School  ซึ่งเป็น โรงเรียนขนาดใหญ่ ของอังกฤษ  ก่อนจะจบปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษาชั้นดี London School of Economics(LSE)  เชิดชู  เริ่มฝึกงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  ในด้านงานต่างประเทศ ก่อนจะข้ามไปฝึกงานกิจการธนาคารของตระกูลที่ฮ่องกง จากนั้นก็เข้ามาบริหารกิจการของตนเอง ในช่วงมีการแบ่งงานแบ่งสมบัติของโสภนพนิช ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาธร ซึ่งเป็นกิจการไม่กี่แห่งที่ผ่านวิกฤติการณ์ปี2540มาได้

ข้าราชการ-นักการเมืองรุ่นใหม่

 ปิยะสวัสดิ์  อัมมระนันท์  ผ่านการศึกษาอย่างดีเยี่ยม จากอังกฤษในปี2523มานี้  ด้วยปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งทางคณิตศาสตร์ จากOxford University  ก่อนจะได้ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากLSE เขาผ่านIndependent School  ธรรมดาๆแห่งหนึ่ง Byanston School ที่ก่อตั้งไม่ถึง100ปี แต่ผลการเรียนการสอนอยู่ในเกณฑ์ดี

ปิยะสวัสดิ์ เป็นข้าราชการที่มีบทบาทอย่างสูงอย่างต่อเนื่องในจำนวนไม่กี่คน ในช่วง20ปีมานี้ โดยเฉพาะเป็นผู้รู้ในนโยบายและยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับพลังงานของสังคมไทย  แม้เขาจะสู่แวดวงธุรกิจ ก็ยังดูแลด้าน ยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจ ในฐานะประธานบริษัทจัดการกองทุนรวมกสิกรไทย

อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นักการเมืองรุ่นใหม่ที่โดดเด่นที่สุดในเวลานี้คนหนึ่ง เป็นผลผลิตมาจากการศึกษาระบบอังกฤษโดยแท้ เขาเกิดที่เมืองนิวคาสเซิล อังกฤษในช่วงที่บิดา มารดาไปทำงานที่นั่น เมื่อปี2507  เขาเดินทางไปเรียนอังกฤษ ตั้งแต่ปี2519 โดยจบการศึกษาจากเมืองไทยในระดับประถมศึกษาปีที่6 เริ่มต้นเข้าเรียนในระดับประถมหรือPreparatory School  อยู่ปีกว่า จากนั้นสามารถเข้าเรียนที่1Eton  College ได้  นับเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอังกฤษก็ว่าได้  การเรียนมัธยมของอังกฤษใช้เวลา5ปี  จึงเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยเป็นที่แน่นอนว่าคนที่มาจากโรงเรียนมัธยมที่ดี ย่อมเข้ามหาวิทยาลัยทีดีด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้าเรียนที่ Oxford Universityด้านปรัชญา การเมือง สาขาเดียวกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขาเป็นคนไทยที่ได้รับการยกย่องจากในฐานะที่ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในระดับคะแนนที่สูงที่สุด    คนที่สองของไทย(คนแรกเข้าใจว่าเทียนเลี้ยง  ฮุนตระกูล หรือ พระยาศรีวิสารวาจา)

ว่าด้วยการเตรียมตัวเข้าเรียนในระบบการศึกษาในอังกฤษ ที่มุ่งหวังในระดับดีเลิศ คงต้องเตรียมกันมากทีเดียว พึงศึกษาจากกรณีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ   หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร หรือ กรณ์ จาติวณิช  พวกเขาเหล่านี้ มักจะเริ่มต้นด้วยการศึกษาระดับต้นหรือPreparatory  School เลยทีเดียว เพื่อจะได้แน่ใจว่า สามารถเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมที่ดี  เพื่อเป้าหมายสุดท้ายที่ค่อนข้างการันตีว่าจะสามารถเข้าOxbridge ได้

ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมของอังกฤษยังให้การต้อนรับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยตัวแทนในประเทศไทย มีการแสดงนิทรรศการการศึกษาระดับมัธยมเป็นประจำทุกปี  นับเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อเนื่องยาวนานที่สุด

จาก”หาโรงเรียนให้ลูก“2548

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “นักเรียนสหราชอาณาจักร”

  1. ได้ความรู้ดีครับ ทำให้รู้ถึงที่มาที่ไปของท่านผู้นำทั้งหลาย แต่น่าจะมี brief ให้เลยว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย พวกนี้จริงๆ แล้วมันเหมาะกับเด็กแบบไหน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: