คำนำครั้งแรก-หาโรงเรียนให้ลูก

ผมมีความเชื่อว่า การศึกษาของลูก ระดับประถมศึกษาในระบบโรงเรียน  จะเป็นเพียงส่วนขยายจากฐานการเรียนรู้ที่สำคัญจากระบบครอบครัวที่เข้มแข็ง  จากนั้นความสำคัญจะเริ่มต้นจากการศึกษาในระบบโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาเป็นต้นไป  เพื่อการเรียนรู้สังคมกว้างขึ้น เตรียมพร้อมเผชิญโลกกว้างอย่างแท้จริง”

ผมไม่เคยเรียนมัธยมในต่างประเทศ  ดังนั้นเรื่องที่เขียนและเสนอจากนี้ไป เป็นการเรียนรู้ใหม่ของคนๆหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า ผู้อ่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ ก็คงสามารถเริ่มต้นได้เช่นเดียวกัน

ในขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ บุตรชายคนโตของผมอายุประมาณ10ขวบ บุตรชายคนเล็ก อายุ7ขวบ เรียนหนังสือในระบบโรงเรียนไทย ในชั้นประถมปีที่1และ4 ตามลำดับ  เรียนอยู่ ในโรงเรียนธรรมดา แห่งหนึ่งในเมืองหลวง

ผมและครอบครัวของผม เป็นตัวแทนคนรุ่นหนึ่งที่พยายามสร้างฐานะจากการเป็นลูกจ้าง ในยุคการทำมาหากินของไทยเจริญเติบโต โดยมีประสบการณ์ที่ไม่มีใครคิดว่าเศรษฐกิจจะล้มฟุบลงมา เผอิญเราเป็นที่ดำเนินชีวิตอย่างสมดุลพอประมาณ ไม่กระโดดไปตามดัชนีของความทันสมัย หรือกระแสที่ถูกปลุกอย่างเกินจริงอยู่ตลอดเวลา ด้วยกลยุทธ์การตลาดของโลกตะวันตก

ภรรยาของผมทำงานในบริษัทต่างชาติ โดยที่เธอก็ไม่จบการศึกษาจากเมืองนอก ประสบการณ์ของเธอทำให้ภาพบางมิติในเรื่องนี้ของผมสมบูรณ์ขึ้น  ขณะที่ผมทำงานเป็นนักข่าว นักเขียน และนักจัดการข้อมูล ผมเป็นคอลัมนิสต์ที่พยายามเสนอภาพต่างๆของความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจ

ที่สำคัญ ผมมีประสบการณ์ในการเดินทางไปดูงานทั่วโลก ในช่วง15ปี ประมาณ20ครั้ง   ได้เห็นพัฒนาการของเมืองใหญ่ๆทั่วโลกมากกว่า30 แห่ง

ผมให้ความสำคัญและเชื่อในของพลังของการจัดการบุคลากร และเทคโนโลยี บางคนบอกว่า ผมเป็น Social forecaster คนหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งจะจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับ การทำงานต้องศึกษามากพอสมควร แล้วก็พบว่า การศึกษาเพื่อเสนอเรื่องราวในมิติต่างๆ มิอาจมีเพียงบทสนทนากับผู้คนในสังคมไทย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ มีความคิดเข้มข้นในสังคมไทย ในทัศนะที่แยกออกมาตามลำพัง มากกว่าจะเปิดประตู หรือหน้าต่างออกไปมองข้างนอก เรามีความสัมพันธ์ด้านกายภาพกับสังคมโลกอย่างมาก แต่วิธีหรือกระบวนความคิด วางแผน ภาพข้างนอกจะเชื่อมโยงเข้ามาอย่างกว้างๆเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญจากนั้น ที่ใครๆก็พูดกันได้ คือการศึกษาข้อมูลใหม่ๆ ความรู้ใหม่ทั้งกว้างและลึก โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะสังคมไทย โชคดีมาก ในโลกยุคใหม่สิ่งแรกที่มีลักษณะGlobalization มากที่สุด ก็คือข้อมูลและความรู้

เมื่อผมมีลูก  เพื่อฝูงถามผมหลายครั้งจะตั้งใจอยากจะรู้ หรือว่าจะตรวจสอบความคิดก็ไม่ทราบ ว่าผม จะจัดการศึกษาของลูกๆอย่างไร

ผมเองยอมรับว่าคาดการณ์ผิดไปเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก

ผมมักจะตอบจะโดยไตร่ตรองหรือไม่ก็ตาม และคำตอบนั้นก็เป็นฐานความคิดเสมอ  ว่า ระบบการศึกษาไทยกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้า เพราะพายุของโลกรุนแรงเหลือเกิน มาตราฐานตะวันตกกำลังมีอิทธิพลควบคู่กับการเติบโตของตะวันออก อย่างหลากหลายรูป หรือที่เราเรียกกัน   Globalizationนั้น มีรายละเอียด มากพอสมควร  ผมคิดเสมอมา คำแปลในภาษไทยไม่ได้สื่อความหมายดีพอกับคำๆนี้  ผมมักจะไม่ใช้   เมื่อถึงเวลานั้นผมค่อยคิดก็ได้จะจัดศึกษาของลูกๆอย่างไร  ปุจฉาวิสัชนานี้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เวลาไม่คอยใครก็คงจะจริง ในที่สุดลูกๆก็โตขึ้น จนผมตั้งตัวไม่ทัน ไม่สามารถคิดและหาโรงเรียนที่ชนชั้นกลางทั่วไปแสวงหากันได้  ผมถูกภรรยาต่อว่าพอประมาณ  ความคิดขณะนั้น ดูเหมือนจำเป็นต้องมองข้ามระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน แต่แล้วในที่สุด ผมก็ไม่สามารถแสวงหาสิ่งใหม่ได้จากระบบเดิม

ผมมีความเชื่อว่า การศึกษาในระดับต้น โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาในระบบโรงเรียน  จะเป็นเพียงส่วนขยายจากฐานการเรียนรู้ที่สำคัญจากระบบครอบครัวที่เข้มแข็ง  จากนั้นความสำคัญจะเริ่มต้นจากการศึกษาในระบบโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาเป็นต้นไป  เพื่อการเรียนรู้สังคมกว้างขึ้น

ผมจึงให้บุตรเข้าโรงเรียนธรรมดาๆ โรงเรียนหนึ่งที่คิดว่ามีผู้คนหลากหลายอาชีพ หลายระดับในสังคม นิยมส่งลูกๆมาเรียน  โดยหวังว่าเขาจะได้เรียนรู้ความหลากหลายของสังคมได้  ซึ่งถือเป็นบุคลิกหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก

ในเมืองไทย การศึกษาไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรเด่นชัด   เป็นความเข้าใจที่ย้ำแล้วย้ำเล่าอีกครั้งว่า การเดินแผนยุทธศาสตร์ใดๆในสังคมนี้  เป็นเรื่องที่เดินไปข้างหน้ายากยิ่ง  

ผมก็เริ่มค่อยๆมองไปข้างนอกอย่างเจียมตัวและระมัดระวัง ด้วยความไม่แน่ใจ สิ่งอะไรก็ตามที่ไม่รู้และมองไปที่สูง มักน่าหวาดกลัวเสมอ เมื่อ2ปีที่แล้ว ผมใช้เวลามากทีเดียวในการหาข้อมูลโรงเรียนมัธยม เริ่มจากใกล้บ้านที่สุด มาเลเซีย จากเคยเขียนงานในหนังสือตนเองหลายครั้งพบว่า คนไทยมีประสบการณ์ในเชิงสร้างสรรค์ในการส่งบุตรหลานไปเรียนที่มาเลเซีย โดยเฉพาะ ปีนัง ผมคิดว่ามันใกล้ และไม่แพง จากนั้นค่อยขยับไปมองอินเดีย

จากจุดนี้ผมจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลโรงเรียนทั่วโลก จึงเข้าใจภาพรวมของโรงเรียนมัธยมได้

1ปีถัดมา ผมก็กลายเป็นที่มีความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมที่สอนเป็นภาษาอังกฤษดีในโลกพอสมควร เวลาสนทนากับผู้คน คู่สนทนามักจะตื้นเต้น ขณะเดียวกันเวลาไปสนทนากับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผมก็มักถามถึงภูมิหลังของเขาในการเรียนมัธยมในต่างประเทศ หากคนนั้นเคยเรียนมา ข้อมูลต่างๆที่ผมศึกษาจากแหล่งต่างๆพรั่งพรูอย่างไม่ขาดสาย เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ยิ่งนัก  ในที่สุดภาพทางความคิดของผมในเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น  กว้างขึ้น มิใช่ภาพการหาโรงเรียนให้ลูกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาพที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยด้วย

ในฐานะผมเป็นนักเขียน หาเงินด้วยการเขียนหนังสือ ผู้คนใกล้ชิด จะยุยงเสมอให้ผมหนังสือเล่มนี้ออกมา พวกเขาบอกว่ามันจะเป็นงานค้นคว้าที่ประสมประสานระหว่างความรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และธุรกิจที่ผมมี กับศาสตร์ แห่งการจัดการที่บางคนเรียกผมว่าเป็น Management Columnist เข้ากับแรงบันดาลใจส่วนตัว

ผมยอมรับแรงบันดาลใจการค้นคว้าเรื่องมีสูงมาก เพราะว่าเป็นเรื่องอนาคตของลูกเรา ซึ่งเชื่อว่าเพราะมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีสัญชาติญานในการต่อสู้เพื่อให้เผ่าพันธุ์ตนเองเข้มแข็ง และคงอยู่ต่อไป ผมมีความสุขที่จะรู้ จะเข้าใจ  และไม่เหน็ดเหนื่อยในการหาข้อมูล

และนี่ก็คือสิ่งที่ผมพยายามเรียบเรียงมาเป็นหนังสือเล่มนี้

ผมมีแรงบันดาลใจในการทำหนังสือเล่มนี้ต่อผู้อ่าน หรือสังคมในวงกว้างหลายประการเหมือนกัน

หนึ่ง–ผู้คนที่มีความปรารถนาจะส่งบุตรหลานไปศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมในต่างประเทศนั้น พวกเขาควรจะเชื่อมโยง เป้าหมายของเราจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เข้ากับการปรับยุทธศาสตร์ในเรื่องการศึกษาของชาติ ที่จำเป็นต้อง ปรับตัวครั้งใหญ่  ผมหวังว่า ผู้คนเหล่านี้ จะเชื่อมโยงเป้าหมายของตนเอง เข้ากับยุทธศาสตร์ในการสร้างคน มิใช่เพียงเป็นบุคลากรที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆในสังคมไทยเท่านั้น หากจะเป็นสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติในการทำให้ชาติไทยสามารถ ทั้งแข่งขันในระดับโลก หรือดำรงอยู่ในโลกในฐานะที่สำคัญและบุคลิกของชาติไทยอยู่

สอง—ตัวอย่าง หรือกรณีศึกษาของผู้คนหรือตระกูลสำคัญของไทย กับโรงเรียนชั้นนำที่พวกเขาเล่าเรียนมาเป็นเพียงการสะท้อนภาพในเชิงความเชื่อ และบุคลิกของสังคมในช่วงต่างๆ ซึ่งแน่นอน ย่อมไม่ใช่เป็นแนวทางที่หนังสือจะเสนอใหผู้อ่านเดินตามอย่างเคร่งครัด หากเป็นเพียงโมเดลหนึ่งของการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบกับ เป้าหมาย แรงบันดาลใจและความสามารถเฉพาะของท่านผู้อ่านเอง ซึ่งควรจะเริ่มจากเป้าหมายของเราเองอย่างแน่ชัดเสียก่อน จากนั้นที่สำคัญ ควรจะเข้าใจด้วยว่าบุตรหลานของท่าน มีบุคลิกที่อาจจะเหมาะสมกับโรงเรียนที่ไหน อย่างไร ทั้งๆนี้ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของท่านเองเป็นสำคัญ

หากถามผม ผมจะเริ่มจากสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับตนเอง  ในความคิดของผม ชื่อเสียงโรงเรียนในระดับโลก มิได้มีความหมายเท่ากับระบบการศึกษาที่เราเชื่อมั่นในการนำพาไปสู่เป้าหมายได้

สาม—ในหนังสือเล่มนี้ แม้จะเสนอโมเดลที่แน่ชัดว่า การศึกษาชนิดเต็มรูปแบบในระดับมัธยมในต่างประเทศก็ตาม แต่ทั้งหมดก็คือโมเดลหนึ่ง ทางความคิด  ผมเชื่อว่า ผู้อ่านที่อ่านเรื่องนี้แล้ว อาจจะค้นคว้าโมเดลเฉพาะขึ้นมา ที่เหมาะสมกับตนเองได้   ผมให้ความสำคัญในเชิงความคิดระดับโครงสร้างมากกว่า

ในที่นี้บางท่านก็อาจจะจัดการการศึกษาของบุตรหลานตนเอง ให้กลมกลืนระหว่างระบบโรงเรียนไทยเดิมกับโรงเรียนในต่างประเทศได้  สังคมโลกปัจจุบัน มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ผมเคยเสนอแนะบางคนว่า หากพวกเขามีข้อจำกัดในเรื่องการส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ ก็อาจะใช้โมเดลที่ว่านี้  ด้วยการส่งไปเรียนระยะสั้นอย่างน้อยสามเดือนถึงหนึ่งปี ในบางช่วงหรือหลายช่วงในการศึกษาปกติของระดับมัธยมในประเทศไทย ซึ่งใช้เวลาถึง 6ปีเต็ม ซึ่งเท่าที่ทราบโรงเรียนในประเทศไทยหลายแห่ง ปรับตัวเข้ากับสิ่งนี้ได้แล้ว

ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมสนทนากับนักเรียนนอกจำนวนมาก พบข้อมูลมุมหนึ่งที่น่าตื่นเต้น  นั่นคือ นักเรียนแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะAFSในระดับมัธยมศึกษา ในเวลา1ปีของพวกเขาและเธอมีคุณค่ามาก ส่วนใหญ่จะกลับมาพร้อม กับการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดี และมีความเข้าใจความเป็นอยู่ของชนต่างเผ่า มีเพื่อนฝูงเป็นชาวต่างชาติ มากกว่า นักเรียนปริญญาโท-เอกของไทยที่ชีวิตในเวลาประมาณ2ปีของพวกเขาและเธอ คลุกแต่ห้องสมุดและห้องเรียนกับมีสังคมเฉพาะกลุ่มนักเรียนไทย

ผมเสนอแนะต่ออีกว่า โรงเรียนมัธยมต่างชาติส่วนใหญ่จะมีSummer Course และหลักสูตรการเรียนเพียง1ปีสำหรับนักเรียนต่างชาติเสมอ โดยผู้อ่านสามารถติดต่อโดยตรง หรือผ่ายตัวแทนของเขาในประเทศไทย  กิจการเหล่านี้มีมากขึ้นในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ ที่สำคัญการเรียนเช่นว่านี้  มิใช่เป็นการไปเที่ยวผสมการเรียนกับกลุ่มนักเรียนไทย ที่กลายเป็นโปรแกรมทัวร์ยอดฮิตในปัจจุบัน

 หนังสือเล่มนี้ มีองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน  ส่วนที่สำคัญ ว่าด้วยโครงสร้างทางความคิดที่สัมพันธ์กับสังคมไทยในช่วง100ปีมานี้ในแผนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งคนไทยไปศึกษาในระดับต้นในต่างประเทศ     เพิ่มเติมด้วยการเสนอภาพที่ชัดเจนถึงกลุ่มบุคคลที่ผมใช้คำว่า”ชนชั้นนำ” หรือผู้คนที่เป็นตัวละครสำคัญในภาพความเคลื่อนไหวลักษณะยุทธศาสตร์ของสังคมไทย เพื่อให้สีสันของเรื่องมีมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่ง เป็นข้อมูลแนะนำโรงเรียนหรือแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป  โดยข้อมูลเสนอเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจ และค้นคว้าต่อไป  หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มุ่งเสนอเทกนิดในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมในต่างประเทศ หากเสนอแนวความคิดที่เป็นไปได้  และแนวทางการวางแผนในเรื่องนี้ที่ดีและรัดกุมต่อไป  ผมอ่านหนังสือต่างประเทศหลายเล่มที่เป็นHow-toในการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนชั้นนำของโลก หนังสือเหล่านี้เสนอขั้นตอนพื้นที่ควรรู้มากมาย แต่สุดท้ายบทสรุปในการเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด จะไม่ได้จากการอ่านหนังสือเหล่านั้น หนังสือเหล่านั้นมักสรุปว่าการไปเยี่ยมโรงเรียนและท่านรู้สึกว่าพอใจโรงเรียนนี้ที่สุด จะด้วยการอ่านเรื่องราวข้อมูลโรงเรียนมาอย่างมากหรือไม่ก็ตาม สัญชาติญาณแห่งความพอใจ นั้นคือการตัดสินใจที่ที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งผมใคร่จะเรียนผู้อ่านก็คือ เรื่องราวหรือข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ มีเพียงข้อมูลที่ยังไม่ได้ทำให้การตัดสินใจเลือกโรงเรียนเกิดขึ้นได้  หรือยังไม่เพียงพอที่จะเลือกโรงเรียน จนกว่าขั้นตอนสำคัญ อีกขั้นตอนหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นเสียก่อน นั่นคือการไปเยี่ยมโรงเรียนเป้าหมายด้วยตัวท่านเอง

ส่วนตัวผมมีแผนไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมในประเทศหนึ่ง โดยเลือกมาประมาณ 5 แห่ง ถือโอกาสนี้ไปพักผ่อน ประจำปี โดยพาลูกๆไปด้วย

สุดท้ายนี้   เรื่องราวของผมเอง ความพยายามจะส่งลูกๆไปเรียนต่างประเทศ อย่างไร ที่ไหนหรือไม่นั้น  ขอเรียนให้ทราบว่า การติดตามเรื่องนี้ ไม่มีความสำคัญเลยสำหรับท่านผู้อ่าน   ความสำคัญน่าจะอยู่ที่ สาระของหนังสือเล่ม อันเกิดจากความพยายามของผม สำเร็จลงด้วยความภูมิใจ  และท่านได้อ่านกัน ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อภาพความคิดของท่านผู้อ่านในเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

 จาก ” หาโรงเรียนให้ลูก”เมษายน 2545

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: