หลายคนถามถึงภาพลักษณ์กลุ่มสหพัฒน์ ผมขอยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการอรรถาธิบาย
“เครือสหพัฒน์ เริ่มต้นมาจากการนำสินค้าต่างประเทศ มาจำหน่าย ต่อมาได้พัฒนา เป็นผู้ผลิตสินค้าและเป็นตัวแทนจำหน่าย อีกทั้งยังได้ร่วมทุนกับต่างประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ ปัจจุบันเครือสหพัฒน์เติบใหญ่จนเป็นเครือบริษัทของคนไทย ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง มีบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัท และมีสินค้าและบริการเป็นที่รู้จัก หลากหลายกว่า 30,000 รายการ จากกว่า 1,000 แบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก สินค้าส่วนใหญ่ผลิตโดยตรงจากโรงงานในสวนอุตสาหกรรมของเครือทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สวนอุตสาหกรรม ศรีราชา( ชลบุรี) กบินทร์บุรี (ปราจีนบุรี) และ ลำพูน รวมพื้นที่ถึง 6,000 ไร่ โดยมีพนักงานทั่วประเทศ รวมกันกว่า 100,000 คน” นี่คือภาพกว้างๆที่มองโดยสหพัฒน์เอง(รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านใน www.sahapat.co.th)
หากต้องการภาพที่ชัดขึ้น ควรมองสหพัฒน์ ผ่านกระบวนการพัฒนาธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค และสังคมวงกว้าง
โดยคาดว่าในบรรดาบริษัทจำนวนมาก ที่ก่อตั้งขึ้น “ง่ายกว่าตั้งร้านกาแฟ”ตามแนวคิดของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำคนปัจจุบันนั้น จะมีบางบริษัททีมีลักษณะเป็น“ตัวแทน”และสะท้อน “โมเดลธุรกิจ” ภายใต้เกณฑ์ 3 ข้อสำคัญ
–บริษัทแกนกลางในการผลิตสินค้าสำคัญ ต่อมาขยายการลงทุนบริษัทต่างๆ ในวงจรธุรกิจ สร้างเป็นโมเดลทางธุรกิจเฉพาะขึ้นมา
– บริษัทนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับแบรนด์สำคัญๆ ที่ผู้บริโภคเข้าถึง และรู้จักอย่างดี
–บริษัทขนาดใหญ่ พิจารณาจากยอดขายอันดับต้นๆของกลุ่ม และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ในความพยายามนั้น ได้ค้นพบเพียง 9 บริษัท แต่พัฒนาการบริษัทเหล่านี้ ได้กลายเป็น “จิกซอ”แม้จะหลากหลาย แต่เมื่อรวมกัน กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโมเดลของตัวเอง พร้อมๆกับ การก่อตัวของกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตสมัยใหม่
รากฐานธุรกิจคอนซูเมอร์
บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 โดยร่วมทุนกับ Lion Fat and Oil Co., Ltd ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตผงซักฟอก และแชมพูในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
บริษัทนี้เป็นผู้นำเสนอสินค้าคอนซูเมอร์พื้นฐาน( Household products) สู่ตลาดwww.lion.co.thอย่างครบวงจร ที่สำคัญได้พัฒนาแบรนด์ท้องถิ่นหรือ Local brand (เป็นคำนิยามของ Lion เอง อ้างจาก http://www.lion.co.th) อาทิ ผงซักฟอก “เปาบุ้นจิ้น” หรือ “เปา” ในปัจจุบัน ให้สามารถแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้ และ ยังเป็นฐานการผลิตสินค้าแบรนด์ระดับโลกหรือ Global brand (ประธาน Lion แห้งญี่ปุ่นนิยามไว้ อ้างจากwww.lion.co.jp ) เช่น Systema, Shokubutsu-Monogatari
มองจาก Lion ญี่ปุ่น สำหรับบริษัทก่อตั้งมากกว่าร้อยปี ดูเหมือนให้ความสำคัญ การร่วมทุนในประเทศไทยพอสมควร เพราะถือเป็นการลงทุนต่างประเทศครั้งแรก สหพัฒน์ มีบทบาทสำคัญในการชักนำ Lion มาเป็นพลังการสร้างฐานธุรกิจคอนซูเมอร์ เป็นยุทธ์ศาสตร์สำคัญมาก แต่15 ปีต่อมา Lion ยึดโมเดลนี้ ขยายเครือข่ายในภูมิภาคเอเชีย และดูเหมือนวางตำแหน่งLion ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธ์ศาสตร์
บุกเบิกสินค้าไลฟสไตล์
บริษัท ไทยวาโก้ จำกัดเกิดขึ้นจากการร่วมทุนกับ Wacoal Corp. ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี2513 ถือเป็นการเริ่มต้นในฐานะผู้ผลิตสินค้าชุดชั้นในสตรีในระบบอุตสาหกรรม เป็นแห่งแรกของไทย
Wacoal เป็นสินค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วในสังคมญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นอย่างจริงจังในช่วงญี่ปุ่นเป็นอิสระความพ่ายแพ้สงครามโลก จากนั้นเพียง 20 ปี ก็ขยายตัวออกต่างประเทศ สหพัฒน์ใช้ความพยายามอยู่นานในการเจรจาร่วมทุน หากในมองของ Wacoal การร่วมทุนในเมืองไทยเกิดขึ้นพร้อมๆกับที่ไต้หวันและ เกาหลีใต้ ถือเป็นการขยายตัวออกนอกประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก
Wacoal เป็นธุรกิจที่แรงบันดาลใจสูง ขยายกิจการจากเอเชียไปสู่โลกตะวันตก รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ขณะเดียวกันก็พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับสหพัฒน์ Wacoal นับเป็นกลุ่มแบรนด์สำคัญ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ กลุ่มใหม่ สอดคล้อ้ง กับกระแสโลกอย่างมหัศจรรย์
รับจ้างผลิตแบรนด์ระดับโลก
จากหน่วยงานเล็ก ๆ ในบริษัทไลอ้อน เริ่มจากทำรองเท้าผ้าใบในปี 2507 ภายใต้แบรนด์ โอลิมปิค ต่อมาจึงได้แยกตัวเป็น บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด เมื่อปี 2517 ผลิตรองเท้านักเรียน รองเท้ากีฬา และ ชุดกีฬาของขึ้นมาภายใต้
แบรนด์ไทย — แพน ด้วยเหตุนี้ชื่อ เแพน จึงเป็นทั้งชื่อสินค้า และ เป็นชื่อรวมของกลุ่ม ขณะนี้บริษัท บางกอกรับเบอร์ เป็นแกนของกลุ่ม
ในเวลาต่อมา กลุ่มแพน ขยายตัวอย่างรวดเร็ว (เริ่มต้นด้วยการตั้ง บริษัทแพนเอเชียฟุตแวร์ ในปี2522) เข้าสู่ธุรกิจรับจ้างผลิตรองเท้าแบรนด์ระดับโลก (เช่น Nike, Head, Diadora, Heel care เป็นต้น) สำหรับกลุ่มแพน ถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ตามแนวทางของธุรกิจโลก ด้วยความท้าทาย
ผู้ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์
บริษัทธนูลักษณ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เพื่อผลิตเสื้อเชิ้ตแบรนด์ Arrow โดยได้รับลิขสิทธิ์จาก Cluett, Peabody & Co. Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายผู้ชาย ในระยะแรก( 2518-2527) ถือเป็นช่วงแห่งการขยายตัว ภายใต้ แบรนด์ที่มีอยู่ เพียง Arrow และ Guy Laroche (ได้ลิขสิทธิ์จากฝรั่งเศส ปี 2527) จากเสื้อเชิ้ตแล้ว สู่กางเกง (Slacks) เสื้อนิต (knit) ชุดนอน และเครื่องหนัง เช่น กระเป๋าเล็กและเข็มขัด แต่หลังจากนั้นเป็นช่วงการสร้างความหลากหลายโดยได้ลิขสิทธิ์แบรนด์ต่างๆ มากขึ้น (เช่น ZAZCH, DAKS, ELLE, HOMME)
แนวทางใหม่นี้นอกจากจะเข้าสู่ธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับไลฟืสไตล์กลุ่มเป้าหมายใหม่แล้ว ยังเป็นสร้างฐานพันธมิตรทางธุรกิจกว้างขวางขึ้น แนวทางใหม่นี้ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว ตามกระแสรสนิยมของผู้บริโภค
สู่อาหารสำเร็จรูป
บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด ก่อตั้งในปี 2515 โดยเป็นการรวมทุนกับ บริษัทไต้หวัน(ต่อมาไม่นานถอนตัวไป) ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสซุปไก่ ภายใต้แบรนด์ของตนเอง “มาม่า” เป็นครั้งแรกในปี 2516
น้อยคนที่ทราบว่า ผู้ค้นคิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นชาวไต้หวัน ที่อพยพไปญี่ปุ่น วางตลาดในญี่ปุ่นครั้งแรก ก่อน “มาม่า”เพียง15 ปี และจากนั้นอีกประมาณ 25 ปี ชาวญี่ปุ่นก็โหวตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นนวัตกรรมแห่งศตวรรษ ผู้ค้นคิดบะหมี่คนนี้ได้ก่อตั้งNissin foods ในญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันถือหุ้น ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ประมาณ20% คาดว่าเข้ามาถือหุ้นในช่วงปี2537 พร้อมๆกับการตั้งบริษัทในประเทศไทย และเข้าใจว่าเป็นผู้ว่าจ้างรายสำคัญให้ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก
กลุ่มธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเติบโตอย่างต่อเนื่อง ลงรากลึกในสังคมไทย พร้อมๆกับคุณค่าแบรนด์ท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น
เครือข่ายจัดจำหน่ายที่ทรงพลัง
บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด กับไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทั้งสองบริษัทถือเป็นกิจการหลักของกลุ่ม บริษัทแรกตั้งโดยบิดา(เทียม โชควัฒนา) อีกแห่งตั้งโดยบุตรชายและผู้นำยุคต่อมา(บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา) ที่สำคัญสะท้อนขั้นพัฒนาของกลุ่มสหพัฒน์ชัดเจนด้วย บริษัทแรกจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์พื้นฐาน วางรากฐานธุรกิจ อีกบริษัท ยกระดับอีกขั้น จำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวพันกับไลฟ์สไตล์ และยุคหลังๆมีแรงบันดาลใจในความพยายามส่งออกมากขึ้น
บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด เป็นโฮลดิ้งคัมปะนีสำคัญ ความจริงแล้ว บริษัทสหพัฒนพิบูล กับไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ก็เป็นโฮลดิ้งด้วย โดยถือหุ้นกิจการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยุทธ์ศาสตร์สำคัญของสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ต่อมา คือการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในภูมิภาคสำคัญของประเทศ มิเพียงเสริมรายได้จากเงินปันผล หากพยายามเชื่อมโยงยุทธ์ศาสตร์กิจการในกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะสิ่งทีเรียกว่า Logistics system ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจค้าปลีก
ผมคิดว่า ควรจะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางจากนี้ไปของกลุ่มสหพัฒน์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับ 2ประเด็นสำคัญ
–ยุทธ์ศาสตร์หลัก ว่าด้วยการร่วมมือรูปแบบต่างๆกับธุรกิจระดับโลก ในการบุกเบิกสร้างฐานธุรกิจ โดยพึ่งพิงคุณค่าของแบรนด์ระดับโลก
–บทเรียนความพยายามสร้างแบรนด์ท้องถิ่น ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ทางไลฟ์สไตล์ กับ ความพยายามยกระดับแบรนด์ท้องถิ่น เป็นแบรนด์ระดับโลก
ผมเชื่อว่า บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา อาจมีคำตอบไว้แล้ว
สินค้าคอนซูเมอร์ในประเทศไทย
(การลงทุน หรือร่วมทุนผลิตสินค้า)
2475 Unilever (UK/ Netherlands)
2499 Pepsi (US)
2500 Coca-Cola (US)
2501 Colgate-Palmolive (US)
2503 Ajinomoto (Japan)
2506 Kao (Japan)
2510 Nestlé (Switzerland)
Lion (Japan)
2511 McDonald, Kodak, Avon (US)
2512 American Standard (US)
2513 Johnson &Johnson (US)
Wacoal (Japan)
2515 Levi Strauss (US)
ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ 14-21สิงหาคม 2522
เรื่องต่อเนื่อง