ธนาคารกรุงเทพ(1)

ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารอันดับหนึ่งของไทยได้แสดงบทบาทผู้นำอีกครั้งหนึ่ง ว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์ภูมิภาค สะท้อนความเข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง คงไม่เกี่ยวข้องความผันแปรของสังคมไทยในเวลานี้มากนัก หากเป็นสัญลักษณ์ความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของบรรดาธนาคารภูมิภาค 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด คือการวางรากฐานธุรกิจธนาคารในประเทศมาเลเซีย เป็นภาพจิกซอร์ที่น่าสนใจ

“Bangkok Bank Berhad ธนาคารท้องถิ่นในมาเลเซียที่ธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นเต็มจำนวน 100% ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ให้เปิดสาขาใหม่ 4 สาขา ในรัฐยะโฮร์ (Johor) 2 สาขา รัฐปีนัง (Penang) 1 สาขา และรัฐสลังงอ (Selangor) 1 สาขา โดยขณะนี้ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 1 สาขา คือ สาขา Jalan Bakri เมือง Muar และในวันที่ 22 เมษายน 2553 จะมีพิธีเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการสำหรับสาขา Taman Molek เมือง Johor Bahru โดยทั้ง 2 แห่งเป็นสาขาที่ตั้งอยู่ในรัฐยะโฮร์ ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นสาขาแรกเมื่อปี 2502 หรือกว่า 50 ปีแล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย จึงได้เปลี่ยนสถานะของสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นธนาคารท้องถิ่น จดทะเบียนในนาม Bangkok Bank Berhad เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์”สรุปความจากข่าวประชาสัมพันธ์ของธนาคาร (20 เมษายน 2553)

ว่าไปแล้วเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ดำเนินการเชิงรุกในเวลาใกล้เคียงกันในจีนแผ่นดินใหญ่

“การจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สำเร็จลงและดำเนินการในช่วงเวลาที่สอดคล้อง กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิภาค หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ”ทศวรรษแห่งเอเชีย” เมื่อข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตเสรีการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน และอีกหลายประเทศเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย

รายงานของประธานกรรมการบริหาร โดยโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัฐ ระบุไว้ในรายงานประจำปีฉบับล่าสุด(2552) นั้น นอกจากจะแสดงยุทธ์ศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพแล้ว ยังยอมรับสถานการณ์ใหม่ด้วย

ในความเคลื่อนไหวที่สำคัญและเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพในช่วงที่ผ่านมา มีอย่างน้อยสองเหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึง

ก่อนอื่น จะขอกล่าวการเริ่มต้นยุทธ์ศาสตร์ภูมิภาค กรณีธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) เปิดดำเนินธุรกิจเมื่อปลายปีที่แล้วเสียก่อน “ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารแห่งใหม่ที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้น 100% ได้เปิดดำเนินธุรกิจ โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในธนาคารต่างชาติไม่ถึง 30 แห่งที่ได้รับอนุญาต ธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์ยาวนานในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกในฮ่องกงเมื่อปี 2497 และเปิดสำนักงานตัวแทนแห่งแรกในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2529 การเปิดธนาคารแห่งใหม่ได้ใช้เวลาเตรียมการมาหลายปี ที่สำคัญธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สามารถเปิดสาขาได้เพิ่มขึ้นอีก สามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าทั่วไป และให้บริการชำระเงินในสกุลเงินหยวนได้อย่างครบวงจร สาขาของธนาคารกรุงเทพที่มีอยู่ก่อนแล้วในเขตเศรษฐกิจหลักๆ ของจีน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสิ่นเจิ้น และเซี่ยะเหมิน ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้”สรุปจากข่าวประชาสัมพันธ์ของธนาคาร รายงานว่าธนาคารแห่งนี้เริ่มดำเนินกิจการในวันที่เผยแพร่ข่าว (28 ธันวาคม2552)

 ในระหว่างการเตรียมการเปิดธนาคารกรุงเทพ(ประเทศจีน)ในปลายปี 2552 มีความเคลื่อนไหวบางอย่างในประเทศไทยที่สัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจด้วย ในปลายเดือนกันยายน 2552 Industrial and Commercial Bank of China Ltd. (ICBC) และธนาคารกรุงเทพ ได้ทำความตกลงซื้อขายหุ้นของธนาคารสินเอเซียขึ้น (ความเป็นมาและความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารสินเอเชียกับธนาคารกรุงเทพ อ่านได้ในเรื่อง สินเอเซีย )

“ธนาคารกรุงเทพตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในธนาคารสินเอเซียคิดเป็นร้อยละ 19.26 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่ไอซีบีซี ในราคา 11.5 บาทต่อหุ้น ในการนี้ ไอซีบีซีจะทำคำเสนอซื้อหุ้นของธนาคารสินเอเซียต่อผู้ถือหุ้นทุกรายในราคาเดียวกันโดยมีเงื่อนไข ซึ่งคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดโดยสมัครใจดังกล่าว จะมีผลก็ต่อเมื่อไอซีบีซีได้รับการตอบรับคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนตั้งแต่ร้อยละ 51 ขึ้นไปของหุ้นทั้งหมดของธนาคารสินเอเซีย โดยการทำคำเสนอซื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้ไอซีบีซีได้มาซึ่งหุ้นของธนาคารสินเอเซียถึงร้อยละ 100”รายงานข่าวของธนาคารกรุงเทพ 29 กันยายน 2552

เป็นเรื่องที่ประจวบเหมาะกับความเคลื่อนไหวของธนาคารกรุงเทพในปัจจุบันอย่างมาก หลังจากวันที่ธนาคารกรุงเทพรายงานการเปิดธนาคารในมาเลเซีย ในวันถัดมา (21เมษายน) ไอซีบีซี ก็ประกาศว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารสินเอเชียแล้ว

ไอซีบีซี ก็คือกิจการธนาคารขนาดใหญ่ในจีน ซึ่งมีพัฒนาการคล้ายๆกับวิสาหกิจอื่นๆในประเทศนั้น เมื่อเปลี่ยนเป็นธุรกิจ ก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีแรงบันดาลใจระดับโลก ไอซีบีซี ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Industrial and Commercial Bank of China Ltd เมื่อตุลาคม 2548 และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงพร้อมกันในวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ซึ่งถือเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ไอซีบีซีมีจุดให้บริการทั้งหมด 16,230 แห่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสำนักงานสาขาและบริษัทในเครือในต่างประเทศทั้งหมด 143 แห่ง และมีความสัมพันธ์กับธนาคารต่างๆ 1,378 แห่ง ทั่วโลก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ไอซีบีซีมีสินทรัพย์รวม จำนวน 11.4 ล้านล้านหยวน (1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ)

ไม่เพียงธนาคารกรุงเทพฯกับไอซีบีซี สะท้อนกระแสความเคลื่อนไหวธนาคารระดับภูมิภาค ธนาคารในมาเลเซียก็ดำเนินเชิงรุกเช่นนั้นเช่นกัน

ก่อนที่ธนาคารกรุงเทพกำลังเดินแผนยุทธ์ศาสตร์สำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไม่ลงตัวดีนั้น รวมทั้งความพยายามในมาเลเซียดำเนินต่อเนื่องอยู่นั้น เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ธนาคารไทยธนาคาร ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “CIMB Thai Bank Public Company Limited”

“ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคารมาโดยตลอด จากนั้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 กลุ่มซีไอเอ็มบี โดย CIMB Bank Berhad ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในไทยธนาคาร “(คำแนะนำธนาคารใหม่อย่างเป็นทางการใน www.cimbthai.com/)

กลุ่มซีไอเอ็มบี เป็นธนาคารผู้ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Universal Bank) โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย และอันดับ 5 ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อจัดอันดับตามขนาดสินทรัพย์ และมีเงินทุนหมุนเวียนในตลาดปะมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน มีเครือข่ายสำคัญทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย และอีก 9 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มซีไอเอ็มบี ถือหุ้นโดย Bumiputra – Commerce Holdings Bhd ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย ด้วยมูลค่าตลาด (Market Capitalization) เกือบ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปลายปีที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพเบอร์ฮาด(มาเลเซีย) และธนาคารกรุงเทพ(ประเทศจีน) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการของแต่ละธนาคารในกรุงเทพ และกรรมการของทั้ง 3 ธนาคารยังได้รับประทานอาหารค่ำร่วมกัน รายงานข่าวชิ้นนี้ อ้างคำกล่าวของผู้บริหารกิจการต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพฯ ว่าความสำเร็จในการก่อตั้งธนาคารในประเทศจีนมาจาก ชาตรี โสภณพนิช

แม้ว่าจะดูเป็นยกย่องตามธรรมเนียม แต่ผมกลับเชื่อเช่นนั้น และเชื่อด้วยว่าในฐานะประธานธนาคารอันดับหนึ่ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ผ่านประสบการณ์อย่างโชกโชนตลอดครึ่งศตวรรษ ชาตรี โสภณพนิช ย่อมเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าระบบธนาคารไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: