สินเอเซีย มีความสัมพันธ์กับยุทธ์ศาสตร์การปรับตัวครั้งสำคัญๆ ของธนาคารกรุงเทพและ ชาตรี โสภณพนิชเสมอในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
ชิน โสภณพนิช ต้องไปปักหลักที่ฮ่องกงในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี (2501-2507) โดยฝากธนาคารกรุงเทพไว้กับบุญชู โรจนเสถียร นั้นลูกๆ ของเขาส่วนใหญ่ (ยกเว้นชาตรี) กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ
เมื่อเขากลับมาเมืองไทยอีกครั้งในปี 2508 บรรดาลูกๆ ของเขาก็เริ่มจบการศึกษาจากต่างประเทศทยอยกลับเมืองไทย ช่วงนั้นชิน โสภณพนิช ก็เลยต้องขยายอาณาจักรเพื่อลูกๆ มีกิจการการเงิน 3 แห่งที่สำคัญ ถือว่าเกิดขึ้นในปี 2512 โดยอาศัยเครือข่ายและสายสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ
บริษัทกรุงเทพธนาทร ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ของธนาคารกรุงเทพที่เรียกว่า “ส่วนธนาทร” ได้แยกตั้งบริษัทขึ้นโดยร่วมทุนครั้งแรก กับซิตี้แบงก์ มีเชิดชู โสภณพนิช ลูกชายคนหนึ่ง ที่ไม่เข้าไปบริหารธนาคารกรุงเทพ ดูแลตั้งแต่ต้น ซึ่งต่อมาก็คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร
บริษัทร่วมเสริมกิจ ดำเนินธุรกิจเงินทุน ตั้งแต่ไม่กฎหมายรอบรับ ดูแลโดยลูกสาวคนสุดท้อง ที่ไม่มีส่วนในการบริหารธนาคารกรุงเทพอีกคนหนึ่ง-ชดช้อย โสภณพนิช ซึ่งปรากฏว่าเธอไม่มีความสนใจในการดำเนินธุรกิจเท่าที่ควร จึงขายกิจการให้ชาตรี โสภณพนิช พี่ชายต่างมารดาไปในปี 2522
บริษัทสินเอเชียพาณิชย์ ให้ชาตรี โสภณพนิช มาเป็นผู้อำนวยการคนแรก เป็นกิจการรับซื้อลดเซ็คในช่วงแรก โดยเขาเรียนรู้และเริ่มต้นของการสร้างอาณาจักรธุรกิจส่วนตัว
โอกาสเปิดขึ้นอย่างมากในปี 2515-6 เมื่อทางการ เปิดช่องใหม่สำหรับกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ สินเอเชียเป็นรายแรกๆ ที่ได้รับใบอนุญาตนั้น และมีบทบาทสำคัญเป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจครั้งใหญ่ของชาตรี โดยมีกิจการตั้งขึ้นใหม่ของเขาเอง-เอเชียเสริมกิจ โฮลดิ้งคัมปะนีในการลงทุนในกิจการต่างๆ และหลักทรัพย์เอเชียเพื่อทำธุรกิจด้านหลักทรัพย์โดยตรงประสานอย่างครึกโครม
ภารกิจของสินเอเชีย ดังกล่าวดังเนินไปในช่วง 10 ปีเต็ม (2515-2526) พร้อมกับการเกิดตำนานพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ ของชาตรี โสภณพนิช ไม่ว่าในการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับกลุ่มศรีกรุงวัฒนาของสว่าง เลาหทัย หรือสุกรี โพธิรัตนังกูร รวมไปจนถึงการลงทุนในต่างตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับผลตอบแทนอย่างมาก
โดยเฉพาะการกว้านซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพ ในช่วงที่กำลังจะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ปี 2523) ในฐานะที่สินเอเชีย เป็นโบรกเกอร์ในปี 2517 เป็นต้นมา บริษัทเงินทุนสินเอเชีย เพิ่มทุนอย่างรวดเร็วในปี 2515 ถึง 2 ครั้งจากทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาทเป็น 35 และ50 ล้านบาทตามลำดับ ภายหลังได้เก้าอี้โบรกเกอร์ในตลาดหุ้น อีก 2 ปีต่อมา (2519) ก็เพิ่มทุนเป็น 150 ล้านบาท
จากนั้นก็เพิ่มทุนเพื่อขยายเงินกองทุน เพื่อขยายธุรกิจ เตรียมตัวเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดต่อกันในปี 2521 อีก 2 ครั้งจาก 150 ล้านบาทเป็น 250 และ 400 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งถือกิจการบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดก็ว่าไดในช่วงนั้น พร้อมกันนั้น ก็อยู่ในกระบวนการเข้าซื้อกิจการบริษัทร่วมเสริมกิจของชาตรี โสภณพนิช ในปี 2522 ด้วย
ปี 2526 เป็นหัวเลี้ยวสำคัญของชาตรี โสภณพนิชครั้งแรก ที่มีผลต่อเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ตลาดหุ้น และสถาบันการเงินต่อเนื่องมาหลายปี ครั้งนั้นเขาได้ปรับยุทธ์ศาสตร์การลงทุนใหม่ ในภาวะที่มีความผันแปรค่อนข้างสูง
หนึ่ง-ขายหุ้นประมาณ 20% ของสินเอเชีย ซึ่งเป็นกิจการที่ดีให้กับ SOCIETE GENARALE ธนาคารแห่งฝรั่งเศส ประมาณ 20% ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องมาจากการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ของกลุ่มธุรกิจจากฝรั่งเศส กับธนาคารธนาคารกรุงเทพในบริษัทไทยแมล่อนโพลีเอสเตอร์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การลงทุนครั้งนั้นมีปัญหาความขัดแย้ง จนต้องแยกทางกันในที่สุด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างแบงก์กรุงเทพกับแบงก์ฝรั่งรายนี้ มีมากขึ้นในสินเอเชีย
สอง-ส่งเสริมบทบาททางยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจให้บริษัทเงินทุนร่วมเสริมกิจ ขึ้นมาแทนในฐานะกิจการส่วนตัวที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกับสินเอเชีย และเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 2527 เพื่อไม่ต้องแบกภาระที่หนักจนเกินไป จากนั้นมา สินเอเชีย ก็พัฒนาตนเองในฐานกิจการมั่นคง รักษาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่หวือหวา เมื่อเปรียบเทียบธุรกิจเดียวกันโดยที่มีงานมืออาชีพ โดยที่ลูกๆ ของชาตรี โสภณพนิชไม่เกี่ยวข้องโดยตรงในกิจการนี้ต่อเนื่องมา
บทบาทของผู้ร่วมทุนฝรั่งเศส มีอย่างคงเส้นคงวา และให้การสนับสนุนกิจการสินเอเชียอย่างดี นับเป็นตัวอย่าง การร่วมทุนที่ยาวนานแห่งหนึ่งของกิจการประเทศไทย การเพิ่มทุนอีกครั้งในปี 2541พร้อมการเปลี่ยนชื่อเป็นเอสจี สินเอเชีย โดยยอมให้ SOCEITE GENERALE ถือหุ้น 51% และแบงก์กรุงเทพถือหุ้น 39% โดยมีกรรมการผู้จัดการคนใหม่จะมาจากฝรั่งเศสนั้นถือเป็นความต่อเนื่องที่น่าศึกษาเป็นบทเรียน
เมื่อเข่าสู่ช่วงวิกฤติการณ์สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้แต่กิจการร่วมเสริมกิจที่ลูกสาวคนโปรดของชาตรี โสภณพนิชดูแลก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้
ปี2543แยกกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ออกจากกัน อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ SOCEITE GENERALE จะถอนตัวออกจากกิจการเงินทุนไป ในช่วงรัฐบาลเข้าแทรกแซงและแก้ปัญหาบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาต่อเนื่องมาจากช่วงวิกฤติก่อนหน้านั้น ผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วง ปี2547 ก็คือกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงเทพ
ปี2547 เป็นช่วงธนาคารกรุงเทพตั้งตัวอย่างมั่นคงอีกครั้ง แผนการสร้างเครือข่ายการเงินใหม่เริ่มต้นอีกครั้ง ไม่ว่าการสร้างกิจการหลักทรัพย์ และ รวมกิจการเงินทุน (สินเอเชียและบัวหลวง) สร้างธนาคารแห่งใหม่ ตามแผนพัฒนาระบบการเงินของรัฐ โดยสินเอเชียกลายเป็นธนาคารแห่งใหม่
เป็นเพียงธนาคารเดียวที่เกิดใหม่เคียงคู่ธนาคารพาณิชย์เดิมซึ่งเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของไทย