ในขณะที่โอกาสทางธุรกิจในสังคมไทยช่วงสังคมเวียดนามเปิดกว้างอย่างไม่เคยมีก่อน แต่ดูเหมือนไม่มีกลุ่มธุรกิจใหม่ สามารถสร้างอาณาจักรขึ้นท้าทายกับกลุ่มเดิมได้โดยตรง จะมีบ้าง ก็ต้องแสวงหาแนวทางใหม่
ทั้งๆที่มีความพยายามครั้งสำคัญ อย่างน้อยสองครั้ง แต่ประสบความล้มเหลว ความพยายามนั้นอยู่ในสมมติฐานว่ายึดโมเดลการสร้างความมั่งของกลุ่มเดิม ที่เรียกว่า โมเดลธนาคารครอบครัว
โมเดลธนาคารครอบครัว
ธนาคารพาณิชย์ไทยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลคลาสสิก สนับสนุนธุรกิจของเจ้าของกิจการโดยเฉพาะการค้าระหว่างญาติพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล ไทย-ฮ่องกง-สิงคโปร์ ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารพาณิชย์ของคนไทยเกิดขึ้นรวดเดียวหลายแห่ง แสดงพลังเข้าแทนที่ธนาคารอาณานิคม
โครงสร้างธนาคารเกิดใหม่ ประกอบด้วยขุนนางจำนวนหนึ่งกับพ่อค้าชาวจีน ซึ่งมีทุนและความรู้บ้างกับ “ผู้รู้” ที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวะทางเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงปรับตัว(ปี 2493-2503) ธนาคารพาณิชย์ไทยมีบัญชีเงินฝากประมาณ 21% ของตลาด ในขณะที่ธนาคารต่างชาติครองอยู่ประมาณ 30%
ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตรา พรบ.ธนาคารพาณิชย์ปี 2505 อันมีผลต่อการบริหารธนาคาร โดยกำหนดเงินกองทุนให้มากขึ้น ขณะเดียวกับประกาศหยุดอนุญาตตั้งธนาคารใหม่ และห้ามธนาคารต่างชาติเปิดสาขา
ในภาพรวมช่วง 10 ปี (2500-2510) ของยุคสฤษดิ์ต่อเนื่องถึงถนอม-ประภาส ธนาคารขยายตัวอย่างมากถึงเกือบ 8 เท่า ขณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มมาร็เก็ตแชร์เงินฝากเป็น 68%
ประวัติศาสตร์ชี้ว่าธนาคารที่เชื่อมโยงกับการค้าหรือธุรกิจหลักของประเทศก็จะเติบโตไปไม่หยุดยั้ง เช่นธนาคารกรุงเทพครอบครองบริการธุรกิจค้าส่งออกพืชไร่อันเป็นธุรกิจหลักและเติบโตมาก ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ปี 2515 ธนาคาร 3 แห่ง (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย) มีสินทรัพย์ประมาณ 57% ของทั้งระบบ (ธนาคาร 16 แห่ง) พอมาปี 2516 เพิ่มขึ้นเป็น 88.4%
ธนาคารกรุงเทพพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะสามารถเข้าสู่วงจรการค้าสินค้าพืชไร่ และเป็นธนาคารแรกได้รับการยอมรับจากตลาดเงินโลก นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเปิดสาขา ระดมเงินจากประชาชนอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่ในระยะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยทั่วไป ดำเนินธุรกิจอาศัยกิจการเครือญาติ และกลุ่มธุรกิจในเครือข่าย
เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งล้มลุกคลุกคลานในช่วง 15 ปีแรก เพิ่มทุนครั้งแรกจาก 5 ล้านบาท (ปี 2488) เป็น 14 ล้านบาทในปี 2504 ในช่วงบัญชา ล่ำซำ มาเป็นกรรมการผู้จัดการ การเติบโตของธนาคารดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มของสาขาจนถึงปี 2516 กว่า 100 สาขา
ธนาคารไทยพาณิชย์มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นจำนวนมาก ก้าวกระโดดครั้งสำคัญในปี 2516 เพิ่มทุนจาก 3.5 ล้านบาท (ตั้งแต่เป็นธนาคารสยามกัมมาจล) เป็น 40 ล้านบาท ในยุคประจิตร ยศสุนทร ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเพิ่มทุนครั้งนั้นเกิดขึ้นระหว่างภาวะเศรษฐกิจกำลังปันป่วน ทั้งระบบการเงินระหว่างประเทศ ไทยเริ่มยอมรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัว หลังจาก “ผูกติด” กับดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเวลานาน ประจวบกับเริ่มวิกฤติการณ์น้ำมันธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยทีมงานใหม่ที่มีความสามารถ
ปรากฏการณ์ผู้ถือหุ้นใหญ่และกุมอำนาจบริหารธนาคารพาณิชย์ ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวางเป็นภาพที่ตรึงตาตึงใจ จึงกลายเป็นความใฝ่ฝันของผู้คนในสังคมธุรกิจไทย มุ่งหวังจะเข้าสู่ธุรกิจธนาคารกันมากมาตั้งแต่ทศวรรษ2520 (อ่านเรื่องประกอบ “โมเดลระบบธนาคารครอบครัว”)
แรงบันดาลใจเหล่านี้ ผนวกกับธุรกิจที่มีความต้องการใช้บริการด้านการเงินจำนวนมาก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก ๆ ราวปี 2510 บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ค่อย ๆ กำเนิดขึ้น
ช่องว่างตรงนั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆกับการเกิดใหม่ของนักธุรกิจผู้อยู่นอกวงการธุรกิจการเงิน จากปี 2522 เป็นต้นมา ได้ปรากฏโฉม “ผู้มาใหม่” ในวงการธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ พร สิทธิอำนวย และชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นหลังๆ
กรณี พร สิทธิอำนวย
พร สิทธิอำนวย คนหนุ่มรุ่นใหม่ผู้จบMBA มีความรู้ ความเชื่อมั่นตนเองและมีประสบการณ์พอสมควร พวกเขามุ่งสร้างอาณาจักรธุรกิจเครือข่ายใหม่ ตามสูตรความสำเร็จ ความใหญ่โตและมั่นคง ทว่าแนวคิดนี้ ไม่มีทางสำเร็จ หากไม่เงินทุนเพียงพอ และก็เป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารที่มีอยู่ เขาจะต้องสร้างสถาบันการเงินขึ้นมาเอง
ตามยุทธ์ศาสตร์การอาศัยเงินจากสาธารณะชนสร้างธุรกิจของตนเอง พรเริ่มต้นเข้าสู่วงการในปี 2516 และในปี 2522 ที่กลุ่มพีเอสเอ.สถาปนาขึ้น ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง ในช่วงเดียวกันนั้น ก็มีบางคนพยายามสร้างฐานะ จากธุรกิจเล็กๆเข้าเป็นสมาชิกสังคมธุรกิจชั้นสูง โดยเฉพาะแวดวงการเงิน สุพจน์ เดชสกุลธรเป็นคนหนึ่งมีแนวความคิดไม่ต่างจากพร เพียงแต่ที่มาต่างกัน แล้วสุดท้ายจุดจบก็ไม่แตกต่างกัน
ปิ่น จักกะพาก
ปิ่น จักกะพาก เกิดที่สหรัฐ ตอนที่บิดาของเขา–ประพาส จักกะพาก อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ที่มลรัฐ อิลลินอยส์ ส่วนมารดาของเขาเป็นทายาทของจูตระกูล ซึ่งเป็นตระกูลธุรกิจเก่าแก่ ก่อนสงครามโลกครั้งสอง มีเครือญาติมีอิทธิพลอยู่ในสังคมธุรกิจไทย
หลังเรียบจบปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจากสหรัฐฯ ทำงานในสถาบันต่างชาติพักหนึ่ง ปิ่นก็เข้าบริหารเอกธนกิจตั้งแต่ปี2523 (เดิมชื่อบริษัทยิบอินซอยการลงทุน) เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างตระกูลล่ำซ่ำกับยิบอินซอย ถือเป็นเครือญาติกัน เป็นกิจการเล็กๆที่ไม่โตมาเป็นเวลานาน ปลุกปั้นให้ใหญ่ขึ้นด้วยกลวิธีของนักการเงินยุคใหม่
แม้ว่ากลวิธีเช่นนี้มีผู้มาใหม่เคยดำเนินมาแล้ว เช่น พร สิทธิอำนวย ซึ่งก็ล้มเหลวไปต่อหน้าเขา ในช่วงปิ่น จักกะพากมาเมืองไทยใหม่ๆ วิธีใหม่ของเขา ควรจะมีอนุภาพเหนือกว่าเพราะ หนึ่ง- เขามีฐานของสายสัมพันธ์ที่ดี สอง-เขามีบทเรียนความล้มเหลวของคนรุ่นก่อน
ปี2527 เศรษฐกิจไทยเผชิญการทดสอบอีกครั้ง พร้อมกับปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ถือเป็นโอกาสใหม่ของผู้มาใหม่ ผลงานของปิ่น จักกะพาก ในการชักนำธนาคารพาริบาส์ แห่งฝรั่งเศส เข้าถือหุ้นใหญ่ในเอกธนกิจ ถือเป็น จุดเริ่มต้นในความพยายามอันห้าวหาญ
ในปี2531 เมื่อเอกธนกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิ่น ก็กลายเป็นคนที่ประสพความสำเร็จอย่างมาก จากการเปิดตลาดการเงินครั้งใหม่ที่พัฒนาก้าวกระโดด และได้สร้างโมเดลใหม่ ว่าด้วยการสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วและรุนแรง รวมทั้งการขยายตัวทางลัดด้วยการเทคโอเวอร์กิจการต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี2529-2539 สินทรัพย์ของกลุ่มเอกธนกิจได้ขยายตัวอย่างมหัศจรรย์เกือบ50เท่า จากระดับสองพันล้านบาท ทะลุหนึ่งแสนล้านบาท
ในขณะที่ปิ่น จักกะพาก สร้างอาณาจักรการเงินอย่างยิ่งใหญ่ มีธุรกิจการเงิน กิจการหลักทรัพย์ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาดการเงินไทยมากที่สุดในเวลานั้น ความพยายามทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจการเงินสมัยใหม่ ให้มีอิทธิพลทัดเทียมกับธนาคารไทยดั่งเดิม ซึ่งอยู่ใจกลางสังคมธุรกิจไทยอย่างมั่นคง ยาวนาน
จากนั้นไม่นาน เขาเข้าใจว่า เขาทำเช่นนั้นไม่ได้ นอกเสียจากต้องมีธนาคารเองเท่านั้น ในช่วง5ปีสุดท้ายของปิ่น จักกะพาก เขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อจะได้มาซึ่งธนาคาร ความพยายามเข้าซื้อหุ้นในธนาคารเอเชีย ไทยทนุ รวมทั้งของการขออนุญาตมีธนาคารแห่งใหม่ กลายเป็นภาระอันใหญ่หลวงของเขา ในช่วงธุรกิจการเงินของเขา กำลังเริ่มเติบโตมาจนถึงจุดอิ่มตัว และเปราะบาง
แนวทางใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในวงจรหรือยึดมั่นในโมเดลธนาคารครอบครัว ทั้งเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือช่วงสงครามเวียดนาม แม้จะเผชิญปัญหาบ้างแต่ก็สามารถเติบโตได้ และโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของผู้มาใหม่ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีฐานธุรกิจสำคัญสำคัญจากลูกค้ารายย่อย ซึ่งกำลังขยายฐานกว้างขึ้น จากเมือง สู่หัว เมืองและชนบท
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมๆฐานผู้บริโภคสินค้าสมัยใหม่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะเกิดวิกฤติการณ์ของตลาดหุ้น อันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ตลาดหุ้นในฮ่องกงก่อนหน้านั้น ก็เกิดในวงแคบ และจำกัดวงอยู่ในภาคการเงินเป็นหลัก ขณะที่ผู้มาใหม่ในภาคการเงินล้มไป แต่ผู้มาใหม่ในภาคการผลิตและบริการแม้จะต้องปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่พวกเขายังคงอยู่
อีกมิติหนึ่งของวิกฤติการณ์โครงสร้าง เศรษฐกิจได้เปลี่ยนโครงสร้างสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น โอกาสของผู้มาใหม่ก็คือคนที่มองโอกาสนี้อย่างเจาะลึก มากกว่าการแสวงหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ เช่นในยุคก่อนหน้านั้น
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวและพัฒนาการเทคโนโลยีใหม่ของโลก มุ่งอำนวยความสะดวกสบายสำหรับปัจเจก พัฒนาต่อเนื่องเข้ากับไลฟ์สไตล์ รสนิยม ของผู้บริโภคยุคใหม่ จากเครือข่ายการสื่อสาร คมนาคมที่พัฒนาไปมากขึ้น สินค้าสมัยใหม่เหล่านี้ในประเทศไทยจึงเติบโตอย่างมาก ขยายจากเมือง สู่หัวเมือง และชนบท
กลุ่มธุรกิจเดิมที่ขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ เจริญ สิริวัฒนภักดี ค้าขายสุรา เบียร์ กับหัวเมืองและชนบท ซีพี พัฒนาฟาร์มสมัยใหม่ เซ็นทรัลขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ สหพัฒน์ฯขยายโรงงานและเครือข่ายสินค้าสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนกลุ่มใหม่ในช่วงหลังสงครามเวียดนาม อาทิ แลนด์แอนด์เฮาส์ แกรมมี และ กลุ่มชิน(วัตร)
การตื่นตัวกลุ่มนักศึกษา กับเศรษฐกิจเปิดในช่วงสงครามเวียดนาม พลังของชนชั้นกลางในเมือง กับตลาดการเงินคึกคัก ความตื่นตัวของผู้ประกอบการSME ชุมชนหัวเมืองและนอกเมืองใหญ่ กับการเครือข่ายธุรกิจขยายตัวทั่วประเทศ
มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรปุจฉา วิสัชนาต่อไป