ธนาคารแห่งนี้คงบุคลิกที่น่าสนใจ แตกต่างจากธนาคารอื่นๆอย่างชัดเจน มีความพยายามผสมผสาน และสร้างความต่อเนื่องจากยุคที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว ผ่านผู้บริหารสามรุ่นถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ “สายสัมพันธ์”และ “คุณค่า”ของบุคคล ในโครงสร้างที่เชื่อว่าจะนำพาไปสู่ยุคใหม่ที่ท้าทายมากกว่าเดิม
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อิทธิพลของโมเดลนี้ มาจากชาตรี โสภณพนิช ( ปีเกิด 2477) ประธานกรรมการและถือว่าเป็นมีประสบการณ์ในระบบธนาคารไทยมากที่สุดที่ยังถือว่ายังทำงานอยู่ และจากประสบการณ์ที่เชื่อมต่อระหว่างยุคของธนาคารกรุงเทพนั่นเอง สะท้อนทั้งวิวัฒนาธนาคารไทยและโมเดลว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์ที่สำคัญ
ยุคชาตรี
เขาเรียนหนังสือไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับน้องๆ มีเพียงประกาศนียบัตรทางบัญชีจากฮ่องกง และศึกษาและฝึกงานการธนาคารที่อังกฤษในช่วงสั้นๆ เวลาที่เหลือคือการลงสู่ภาคสนามไต่เต้าจากพนักงานธรรมดาคนหนึ่งตั้งแต่ปี 2502ในช่วงธนาคารกรุงเทพพัฒนาสู่อันดับหนึ่งแล้ว
ชาตรี โสภณพนิช เริ่มต้นจากงานด้านบัญชี และบุคคลที่เขาใกล้ชิดเป็นพิเศษก็คือบุญชู โรจนเสถียร(2464) ในฐานะนักบัญชีและเป็นผู้วางรากฐานควบคุมและตรวจสอบภายใน และถือว่ามีความสำคัญต่อระบบธนาคารในยุคนั้น ถือว่ามีความสำคัญเคียงคู่กับชิน โสภณพนิช (2453-2531) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารตั้งแต่ยุคแรก
เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดี และได้รับการสนับสนุนในฐานะธนาคารกรุงเทพเป็นธุรกิจในเครือข่ายกลุ่มผิน-เผ่า และเมื่อกลุ่มนี้ถูกโค่นอำนาจ โดยกลุ่มใหม่ สี่เสาเทเวศร์( สฤษดิ์ –ถนอม-ประภาส) และประภาส จารุเสถียร เข่ามาเป็นประธานธนาคารกรุงเทพฯ ชินจำต้องไปอยู่ฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปีเต็ม (2501-2506) บุญชูคือผู้นำธนาคารกรุงเทพในช่วงเวลานั้น จะด้วยเหตุการณ์บีบบังคับ หรือความตั้งใจก็แล้วแต่ ผลของการจัดวางบทบาทระหว่างชินกับบุญชูดังกล่าวได้ก่อผลดีต่อธนาคาร
ในช่วงชินไม่อยู่เมืองไทย ทายาทของเขามีเพียงชาตรี โสภณพนิช เท่านั้น ที่ทำงาน เรียนรู้และ ได้รับการถ่ายทอดสายสัมพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย พร้อมๆกับการเรียนรู้ระบบธนาคาร
อีกด้านหนึ่ง นอกจากชาตรี ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับธุรกิจจากประสบการณ์กรณีบิดา และ เขาได้เรียนรู้ถึงสายสัมพันธ์ที่มีคุณค่าในการบริหารธนาคารด้วย เขาค้นพบว่าในเวลานั้นผู้ทรงอิทธิพลในธนาคารมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสร้างธนาคารในยุคต้น รุ่นเดี่ยวกับชิน โสภณพนิช นอกจากบุญชู โรจนเสถียร แล้ว ยังมีประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ (2458) ประยูร วิญญรัตน์ (2454) ดำรงค์ กฤษณมาระ เป็นต้น
ประสิทธิ์ เป็นนักกฎหมายที่มีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางสังคมธุรกิจเชื้อสายจีน เป็นนักเจรจา ประนีประนอมต่อมาเป็นนักการเมืองที่ความยืดหยุ่นสูง ส่วนประยูร มีความรู้ด้านบัญชีในฐานะอาจารย์คณะบัญชี ธรรมศาสตร์ยุคแรกๆ และเคยเป็นผู้บริหารธนาคารชาติในยุคก่อตั้ง เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกสาขาอย่างจริงจัง ถือเป็นธนาคารแรกที่ทำเช่นนี้
ส่วนดำรงค์ ถือเป็นลูกหม้อคนแรกๆ ตั้งแต่ปี 2496ในฐานะนักบัญชีเช่นเดียวกัน ทำงานด้วยความอุตสาหะไต่เต้า เป็นตัวอย่างของพนักงาน มีบทบาทในการบริหารยาวนาน ถือว่ามีบทบาททัดเทียมกับชาตรี โสภณพนิช ในช่วงหนึ่ง
ชาตรี โสภณพนิชใช้เวลาถึง 20 ปีเต็ม กว่าจะก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ อย่างไรก็ตามยังอาจมองตัวเขายังไม่ถึงพร้อม ด้วยบุคลิกและการยอมรับในวงกว้าง ในฐานะผู้บริหารธนาคารอันดับหนึ่ง การมาของดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นโมเดลใหม่และถือเป็นบทเรียนสืบทอดในยุคต่อมาด้วย
ปี 2526 ดร. อำนวย วีรวรรณ มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ถือเป็นการเริ่มต้น ยุคคนนอกเข้าในระบบธนาคาร เขาเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีสายสัมพันธ์กว้างและลึก เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ขณะเดียวการมาของเขาก็เผชิญแรงเสียดท่านจากภายในองค์กรด้วยเช่นกัน ดำรงค์ กฤษณมาระ ในฐานะสัญลักษณ์ตัวแทนคนในจึงถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้อำนวยการดูแลระบบงานสนับสนุนทั้งมวลของธนาคาร เป็นการสรางสมดุล และพัฒนาโครงสร้างการบริหารใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วย
ยุคชาติศิริ
ชาติศิริ โสภณพนิช (2502) บุตรชายคนโตของชาตรี มีเส้นทางที่แตกต่างออกไปจากบิดามากทีเดียว
สำหรับสังคมที่ยอมรับเรื่องการศึกษาในระบบอย่างมาก เช่นสังคมไทย ย่อมยอมรับว่า ชาติศิริ มีโปรไฟล์ที่ดี ผ่านการศึกษาที่ดีมากคนหนึ่ง( ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีจาก Worchester Polytechnic Institute ปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และMBAจาก Sloan School of Management, MIT) โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบิดาในยุคเข้าทำงานธนาคารครั้งแรกด้วย ขณะเดียวกันเขาก็มีเส้นทางทีส้นมากเมื่อเปรียบเทียบกัน ในการก้าวขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 8 ปีเท่านั้น (2529-2537)
แต่สิ่งที่เป็นโมเดลเฉพาะของธนาคารนั้นก็สืบทอดมาด้วยเช่นกัน ชาติศิริ ต้องมาอยู่ท่างกลางของผู้มีบทบาทในธนาคารที่รุ่นราวคราวเดียวกับบิดา บุคคลเหล่านี้ทำงานธนาคารมานาน มีบารมี อาทิ ปิติ สิทธิอำนวย (2477) และ เดชา ตุลานันท์ (2478) ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารกิจหลักๆสำคัญของธนาคารเกือบจะครอบคลุมทั้งหมด แม้ว่าเมื่อชาติศิริ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งสองตนก็ถูกยกขึ้นเป็นรองประธานกรรมการบริหารก็ตาม
โครงสร้างการบริหารธนาคารกรุงเทพ สะท้อนความเชื่อมั่นของระบบและวัฒนธรรมที่สะสมามายาวนาถึงสามรุ่น เช่นเดียวกับรุ่นชาติศิริ โสภณพนิช เขาย่อมต้องผ่านกระบวนการนั้นอย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวก็พัฒนาโมเดลที่ว่าขึ้นไปอีกด้วย ธนาคารกรุงเทพมีโครงสร้างการบริหารช่วงหนึ่ง(ประมาณปี2527-2535) มีประธานกรรมการ(ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์) ประธานกรรมการบริหาร(อำนวย วีรวรรณ) กรรมการผู้จัดการใหญ่(ชาตรี โสภณพนิช และกรรมการผู้อำนวยการ(ดำรง กฤษณมาระ) ถือว่าเป็นช่วงสำคัญมาก หนึ่ง–ชิน โสภณพนิช ได้ลาออกจากประธานกรรมการ ถือเป็นวางมือการบริหาร สอง—เป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวผ่านความยุ่งยากไปความรุ่งโรจน์ช่วงหนึ่ง ที่สำคัญถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคชิน สู่ชาตรีอย่างแท้จริง ยุคนั้นดำเนินอย่างเป็นกระบวน แต่ยุคนี้ดูค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในแต่ละยุค สะท้อนความเข้าใจ และการปรับตัวตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์( 2486) เข้ามาธนาคารกรุงเทพได้อย่างไรไม่ทราบชัด บ้างก็ว่าเพราะเปรม ติณสูลานนท์ ที่ปรึกษาคนสำคัญ บ้างก็ว่าอาสา สารสิน ซึ่งเคยเป็นทั้งกรรมการธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการบริหารของบริษัทผาแดงอินดัสตรีย์ ในฐานะที่ชักนำประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจครั้งแรก
จากประสบการณ์ในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการผาแดงฯ 2 ปี เป็นฐานสำคัญในฐานะทำงานในภาคธุรกิจ โฆสิต เริ่มต้นเข้ามาเป็นประธานคณะทำงานวางระบบของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ในปี 2533 ถือเป็นทำงานในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ด้วยประสบการณ์ในภาคราชการมาประมาณ 30 ปี ทำให้เขาเป็นคนที่ได้รับการยอมรับทั้ง ในแวดวงวิชาการ และเทคโนแครต
ประสบการณ์ ของโฆสิต บางคนมองว่าดูเหมือน ไม่ตรงกับแนวความคิดดั่งเดิมของชาตรี โสภณพนิชเสียทีเดียว แต่โครงสร้างความสัมพันธ์เดิมยังมีอยู่อย่างกลมกลืนต่อเนื่องมา กรณีที่ผู้เข้าใจกัน อาจจะมองผ่านวิระ รมยะรูป กรรมการธนาคารและที่ปรึกษามูลนิธิรัฐเปรม ติณลูลานนท์ ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างดีตั้งแต่ชิน ถึงชาตรี( บุตรชายวิระแต่งงานกับบุตรีชาตรีด้วย) ไปจนถึงพลเรือเอกประเจตน์ ศิริเดช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ปัจจุบันเป็นกรรมการธนาคารที่เอาการเอกงาน พร้อมๆตำแหน่งรองประธานมูลนิธิรัฐบุรุษเปรม ติณสูลานนท์
ประสบการณ์ในหน่วยงานวางแผนของรัฐ จากธนาคารโลกและงานพัฒนาชนบท โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์จึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองกว้างระดับมหภาค เข้าใจปัญหาระดับโครงสร้าง ดูเหมือนมิใช่คนที่มีสายสัมพันธ์ในมิติเก่า นี่อาจเป็นพัฒนาการสายสัมพันธ์ใหม่ ของชาตรี โสภณพนิช
โฆสิต มีความมั่นใจตนเอง ในตอนนั้นเขาเป็นเทคโนแครตคนล่าสุดก็ว่าได้ ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะประธานกรรมการบริหาร เมื่อปี2542 ถือว่ามีความหมายในประวัติศาสตร์ของธนาคารใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่น่าศึกษา
จากยุคนักเทคนิคทางบัญชีที่เข้มข้น ในยุคก่อตั้งและพัฒนาธนาคารครั้งแรกๆ ของชิน โสภณพนิช ด้วยการมาของทีมบุญชู โรจนเสถียร ในการพัฒนาระบบธนาคารไทยอย่างจริงจังครั้งแรกๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มาสู่ยุคของการเสริมสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ สร้างภาพจน์เปิดกว้าง ในช่วงของการขยายอาณาจักร ธนาคารอย่างกว้างขวาง ในช่วงตลาดการเงินและ ทุนเปิดกว้างขึ้นครั้งแรก ด้วยการมาของข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง นำโดย อำนวย วีรวรรณ แล้วก็มาสู่ยุคของการแสวงหาคนที่มีมองภาพกว้างของระบบเศรษฐกิจไทย ในยุคของการต่อสู้ของธนาคารไทยกับโลกภายนอกอย่างเข้มข้น โลกภายนอกที่มี ปัจจัยภายในที่ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ที่สับสนเอาการ
สิงห์ ตังคสวัสดิ์( 2486) เป็นอีกกรณีหนึ่ง มีความพยายามเทียบเคียงกับบทบาทดำรงค์ กฤษณมาระ แต่ก็ถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับยุคสมัยด้วยก็ได้
ดำรงค์เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ในช่วงชาตรีเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่นั่น เขาบริหารและรับผิดชอบในส่วนงานปฏิบัติการและสนับสนุนธุรกิจธนาคาร ถือเป็นโมเดลส่งต่อมายังสิงห์ ในยุคนี้
หากเทียบกันแล้ว ดำรงค์มีประสบการณ์ในระบบธนาคารยาวนานไม่มีใครเทียบได้ แต่สิงห์มีประสบการณ์ด้านการเงินในความหมายกว้างขึ้น มีประสบการณ์หลากหลาย ย่อมจะ มีความคาดหมายที่กว้างขึ้น ยืดหยุ่นขึ้นตามสมควร
สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ มีประสบการณ์ในแวดวงเศรษฐกิจการเงินการคลัง และธนาคารอย่างกว้างขวาง โดยหลังจากจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์(ธรรมศาสตร์) และMBA สาขาการเงินการธนาคาร จาก Wharton School of Finance and Commerce (University of Pennsylvania) แล้ว ได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง มีบทบาทบริหารเงินกูต่างประเทศ จากนั้นลาออกจากราชการเข้าร่วมงานกับเครือซีเมนต์ไทย ในช่วงการขยายตัวครั้งใหญ่( 2523-2539)ในบทบาทด้านการเงินและการปรับโครงสร้างกิจการโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจกระดาษ ต่อมามีประสบการณ์ในเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงตกต่ำช่วงหนึ่ง( 2539-2542) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย(2542-2544)
สิงห์เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงเทพปี 2548 ก่อนจะกลายเป็นคนนอกคนสำคัญล่าสุด ในทีมบริหารธนาคารกรุงเทพ ในช่วงธนาคารแห่งนี้ตั้งหลักจากวิกฤติการณ์ กำลังจะก้าวไปในบริบทใหม่ของธนาคารไทย
พัฒนาการของธนาคารกรุงเทพมองผ่านโครงสร้างการบริหาในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าอิทธิพลของรุ่นชาตรี โสภณพนิช ยังมีมากเป็นพิเศษ ในบรรดาคณะกรรมการจำนวน18 คน มีบุคคลที่มีอายุมากว่า 70ปี (ชาตรี มีอายุถึง 76ปี) มากถึง 11 คน ที่เหลือมีอายุมากว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวนนั้นอยู่ในคณะกรรมการบริหาร 9 คน โดยมีอายุมากว่า65 ปีถึง 6 คน ขณะที่ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นเพียงคนเดียวเพ่งอายุ 50 ปีเท่านั้น
ภาพความเคลื่อนไหวแต่ละชิ้นกำลังประกอบเป็นภาพใหญ่ภาพใหม่อย่างน่าตื้นเต้น เร้าใจ
ทิศทางที่น่าสนใจของธนาคารอันดับหนึ่งจากนี้ไป กำลังเดินหน้าวางรากฐานสำคัญสู่ “ทศวรรษแห่งเอเชีย” ดูเหมือนโครงสร้างปัจจุบันยังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นไม่นานก็คงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ชาติศิริ โสภณพนิช ผู้ผ่านบททดสอบในโมเดลที่น่าทึ่ง และมีประสบการณ์ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารอันดับหนึ่งของไทยมาแล้ว 15 ปี ก็คงพร้อม
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
2535
ชาตรี โสภณพนิช ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แทนดร.อำนวย วีรวรรณ ที่ลาออกไป
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นกรรมการและกรรมการบริหาร แทน ประยูร วิญญรัตน์ ที่ลาออกไป
2537
ชาติศิริ โสภณพนิช ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรับฏ์ เป็นกรรมการบริหาร
2542 ชาตรี โสภณพนิช เป็นประธานกรรมการ แทน ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรับฏ์ เป็นประธานกรรมการบริหาร
2548
ดำรง กฤษณามระ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการบริหาร หลังจากทำงานกับธนาคารกรุงเทพยาวนาน 52 ปี
2549
แต่งตั้ง สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ เป็น กรรมการผู้อำนวยการ
ปิติ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการบริหาร จะรับหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารเพียงชั่วคราว ในระหว่างที่ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ไปรับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลคมช. เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น จึงกลับมาเป็น ประธานกรรมการบริหารตามเดิม