เรื่องราวของธุรกิจสิงคโปร์ในเมืองไทย มีอีกบางมิติที่ควรเสนอ โดยเฉพาะในแวดวงการเงิน อาจถือได้ว่ามีความเจาะจงมีบทบาทในตลาดหุ้นเป็นพิเศษ ที่สำคัญการข้ามพรมแดนและการเข้าถึงวิถีปัจเจกชนแกนกลางสังคมธุรกิจไทย เป็นเพียงจิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญชินหนึ่ง ในเการสร้างครือข่ายระดับภูมิภาค ตามยุทธ์ศาสตร์เชิงรุกของสิงคโปร์
ธนาคาร
“ในบรรดาธนาคารสี่แห่งของไทยที่ถูกธนาคารต่างชาติเทกโอเวอร์ มีธนาคารสิงคโปร์ถึง 2 แห่ง โดย DBS Bank ธนาคารใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่บุกเบิกเข้าซื้อกิจการธนาคารไทยทนุอย่างเร่งรีบ ก่อนรายอื่นๆ หลังวิกฤติการณ์เพียงเล็กน้อยในปี 2541จากนั้นในปีถัดมา ธนาคารอันดับสองของสิงคโปร์ ก็เข้าซื้อกิจการธนาคารรัตนสิน (จากธนาคารแหลมทองอีกทอดหนึ่ง) นั่นคือ United Overseas Bank ปัจจุบันธนาคารสิงคโปร์มีเครือข่ายสาขาในประเทศไทย ในกรุงเทพฯ รวมกันประมาณ 80 แห่ง และสาขาในต่าง จังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศอีกประมาณ 50 แห่ง ทำให้เครือข่ายของธนาคารสิงคโปร์ทั้งสองในประเทศไทยมีมากที่สุด ในทุกประเทศที่ทั้งสองธนาคารขยายกิจการเข้าไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งในสิงคโปร์เอง ที่สำคัญได้กลายเป็นธนาคาร ต่างชาติในประเทศไทย ที่มีเครือข่ายมากที่สุด และมีส่วนแบ่ง ทางธุรกิจมากที่สุดในทันที”
ผมเคยวิเคราะห์ไว้เมื่อ 10ปีที่แล้ว (The Wind of Change (2) Singapore Financial Network นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2544)
แม้ว่าเนื้อหาของเรื่องราวมีสีสันและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากทีเดียว แต่บางประเด็นที่สำคัญก็ยังเป็นเช่นนั้น
DBS Bank ในฐานะธนาคารอันดับหนึ่งของสิงคโปร์ และถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holding ดำเนินธุรกิจเชิงรุกอย่างมากในช่วงนั้น ได้เข้าถือหุ้นธนาคารไทยทนุ ในช่วงก่อนวิกฤติการณ์จะมาถึง นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารต่างชาติเข้าถือหุ้นข้างมากในธนาคารพาณิชย์ไทย
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอีกช่วงหนึ่ง แรงกดดันต่อธนาคารขนาดกลางและเล็กในเรื่องของความอยู่รอดเกิดขึ้นอีกรอบในประเทศไทย ในช่วงปี 2547 พร้อมๆแรงกดันที่ซ่อนอยู่อีกประการหนึ่งว่าด้วยสร้างสมดุลอิทธิพลธนาคารต่างชาติในประเทศไทย
ในที่สุดธนาคารดีเอสบีไทยทะนุ และไอเอฟซีทีต้องรวมกับธนาคารทหารไทย ภายใต้ชื่อธนาคารทหารไทยซึ่งมีสินทรัพย์ค่อนข้างใหญ่ DBS Bankแห่งสิงคโปร์ถือหุ้นลดลงจากประมาณ57% เหลือเพียง 18% ในขณะที UOB ธนาคารอันดับสองของสิงคโปร์ ก้าวไปอีกขึ้นใหญ่เข้าซื้อกิจการธนาคารเอเชียจาก ABN AMRO (รวมทั้งกิจการธุรกิจรายย่อยจากกิจการหลักทรัพย์ด้วย) และจากนั้นในปี 2550 ธนาคารทีเอ็มบี(มีการ rebrand เปลี่ยนชื่อจากธนาคารทหารไทย ในช่วงที่กองทัพไทยถือหุ้นลดลงเหลือเพียงประมาณ 1.5% )ก็ขายหุ้นจำนวน30%ให้ INGBANKแห่งเนเธอรแลนด์ DBS Bank จึงเหลือหุ้นเพียง6.8 %
ดูเหมือนธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งถือหุ้นใหญ่และบริหารโดยเครือข่ายธนาคารสิงคโปร์เหลือเพียงแห่งเดียว ขณะที่ธนาคารดัตช์ที่ถอนตัวออกไปในช่วงหนึ่งก็กลับมามีบทบาทอีกครั้ง
เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างธุรกิจแล้วพบว่า เครือข่ายธนาคารสิงคโปร์แม้จะมีเพียงแห่งเดียว แต่ก็ยังคงบทมากกว่าธนาคารชาติใดในประเทศไทยเช่นเดิม หรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
สำหรับDBS แล้ว การถือหุ้นจำนวนพอสมควรในธนาคารอันดับ5 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยและมีสำนักงานผู้แทนธนาคารต่างประเทศ อยู่ที่ตึกเดียวธนาคารทีเอ็มบีแล้ว ก็คือว่าไม่เลวเลย
ความสำคัญของเครือข่ายธนาคารสิงคโปร์ในประเทศจึงอยู่ที่ UOB
“ธนาคารยูโอบี จำกัด ( มหาชน ) หรือ ธนาคารยูโอบี เกิดจากการรวมกิจการที่ประสบความสำเร็จระหว่างธนาคารเอเชีย จำกัด ( มหาชน ) และธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำกัด ( มหาชน ) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 9 ในประเทศไทย ด้วยสินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 216 พันล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 การผนึกกำลังร่วมกันนี้ส่งผลให้ ธนาคารยูโอบี มีเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางทั่วประเทศถึง 145 สาขาทั่วประเทศ และเอทีเอ็ม 318 เครื่องเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า รวมทั้งเสริมสร้างฐานธุรกิจในภูมิภาค เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการธนาคารของลูกค้าในระดับภูมิภาค ด้วยความเป็นสมาชิกของเครือยูโอบี ที่มีเครือข่ายสำนักงาน 572 แห่งใน 18 ประเทศและเขตการปกครอง”จากข้อมูลของธนาคารเอง (www.uob.co.th)
สาขาธนาคารส่วนใหญ่ของ UOB อยู่ในเอาเซียน อินโดนิเชียมากที่สุดมากกว่า200 แห่ง รองลงได้แก่ไทย จากนั้นเป็นสิงคโปร์ และมาเลเซีย นอกจากนั้นกระจายไปในจีน เมียนมาร์์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และแคนาดา
ตลาดหุ้น
เครือข่ายค้าหลักทรัพย์ของสิงคโปร์รุกเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างชนิดเฉียบพลันก็ว่าได้ เพียงปีเดียวในช่วงวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญเมื่อทศวรรษที่แล้ว เครือข่ายเหล่านี้มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญแทบจะทันที
ทั้งDBS และUOB เข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทยด้วยความตั้งใจ ถือว่าเป็นเครือข่ายที่จำเป็นเชื่อมโยงกัน ในยุคที่ธนาคารไทยยังสาละวนแก้ปัญหาธุรกิจหลักของตนเอง ก่อนจะมาเริ่มมองภาพรวมสู่กิจการข้างเคียง เป็นบริการการเงินครบวงจร
DBS เข้าซื้อหุ้นข้างมากในบริษัทหลักทรัพย์ศรีธนาของตระกูลศรีวิกรม์ กลางปี2541 ก่อนหน้าที่เข้าซื้อกิจการธนาคารไทยทนุในปลายปีเดียวกัน ยังไม่ทันทำอะไรก็ต้องถูกสั่งปิดกิจการไปรวมกับไฟแนนซ์ 56 แห่ง แต่ต่อมาได้ประมูลสินทรัพย์ DBSเข้าซื้อกิจการ แม้จะเป็นเพียงซับโบรกเกอร์เท่านั้น แรงบันดาลใจไม่ได้หยุดแค่นั้น DBS ได้ซื้อกิจการนายหน้าค้าหุ้นรายใหญ่ในสิงคโปร์- Vickers Ballas (VB) ซึ่งมีกิจการในเมืองไทยด้วย จากVB เข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์ของนวธนกิจมาในช่วง 2541-2542 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นนววิคเคอร์บัลลาส
“บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นบริษัทในกลุ่มของ DBS Group ประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับอนุญาตอย่างเต็มรูปแบบ ในการดำเนินงานธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมีสำนักงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย เซินเจิ้น นิวยอร์ค และลอนดอน สำหรับเครือข่ายในประเทศไทยประกอบด้วย สำนักงานใหญ่และสาขา รวม 8 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด”นี่คือข้อมูลปัจจุบันของเครือข่ายค้าหลักทรัพย์ของ DBS ซึ่งผนึกกันเป็นกิจการเดียวกันตั้งแต่ปี2544 (www.dbsvitrade.com )
ส่วน UOB ได้เข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์มหาสมุทรในปี2543 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี (ประเทศไทย) และต่อมามีการรวมตัวกันทางธุรกิจระหว่างUOB Securities และKay Hian Holdings Ltd ในสิงคโปร์ เพื่อดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์เชิงรุกในระดับภูมิภาค ปีถัดมาUOB Kay Hianเข้าถือหุ้นเกือบ100%ในกิจการในประเทศไทยพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และในปีเดียวกันนี้ ได้ซื้อธุรกิจรายย่อยจากบริษัทหลักทรัพย์บีเอ็นพี พาริบาส์ พีรีกรีน (ประเทศไทย) ด้วย
จากนั้นเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์หรือนายหน้าค้าหุ้นของ UOB ครอบคลุมระดับภูมิภาคทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย
ไม่เพียงเท่านี้เครือข่ายทีทรงอิทธิพลของสิงคโปร์ยังมีอีก โดยเฉพาะผู้ค้าหลักทรัพย์ที่เอาการเอางานที่สุดในตลาดหุ้นไทย —บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง ใช้เวลาเพียง 4-5ปีก็ก้าวขึ้นผู้ค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย ชนิดที่ทิ้งรายที่2แทบไม่เห็นฝุ่น
ในปี 2541 Kimeng Holdingsในสิงคโปร์ก็ประมูลซื้อกิจการหลักทรัพย์นิธิภัทธ(ก่อตั้งปี2533 ต่อมาปี 2537 ได้เป็นสมาชิกตลาดหุ้นหรือโบรกเกอร์หมายเลข42) จากองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน(ป.ร.ส) ในช่วงเวลาที่สถาบันการเงินไทยเผชิญวิกฤติการณ์อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการสั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน 56แห่ง หลายแห่งที่มีกิจหารหลักทรัพย์อยู่ด้วย กิจการเหล่านี้ยังถือว่าสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือหลักทรัพย์นิธิภัทร ซึ่งถือว่ายังมีราคาที่พอขายได้
Kimeng Holdings Limited ก่อตั้งที่สิงคโปร์เมื่อปี2532 ในปีเดียวกันนั้นได้เริ่มต้นกิจการค้าหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ในนามKimeng Securities Pte. Ltd. (KES) ซึ่งเปิดสาขาในฮ่องกงทันที และในปีต่อมาก็เปิดสำนักงานขายในลอนดอน
การขยายกิจการสู่เมืองไทย—บริษัทหลักทรัพย์กิมเองในปี2541 ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการขยายตัวสู่ภูมิภาคอย่างจริงจัง สอดคล้องกับแนวทางรัฐบาลสิงคโปร์กระตุ่นเอกชนขยายกิจการในทิศทางนี้ สู่อินโดนิเชีย มาเลเซียในปี 2543 สำนักงานที่นิวยอร์ก สหรัฐฯในปี 2544 และ ฟิลิปปินส์ในปี 2546
สำหรับเมืองไทยกิมเองก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เกิดการเข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์หยวนต้าของไต้หวันในประเทศไทยในปี 2544 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมครั้งใหญ่ระหว่าง Kimeng Holdings และYuanta Financial Holdings แห่งไต้หวัน ในแผนยุทธ์ศาสตร์ขยายธุรกิจให้กว้างขึ้นทั่วเอเชีย ภายในเวลาอันรวดเร็ว
Yuanta Financial Holdingsก่อตั้งในปี 2501 เป็นกิจการหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีเครือข่ายในตลาดภาษาอย่างดี ทั้งในไต้หวัน อ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือและแบ่งเขตอิทธิพลระหว่าง กันของ Kimeng และ Yuanta
สำหรับตลาดหุ้นไทย แล้วเมื่อกิมเองซื้อกิจการหยวนต้าแล้ว ในทันทีก็ก้าวขึ้นเป็นโปรกเกอร์อันดับหนึ่งในทันทีตั้งแต่นั้นมา
ยังมีอีกหนึ่งโปรกเกอร์ที่ประกาศชัดว่าเป็นกิจการในเครือข่ายสิงคโปร์ที่ควรกล่าวถึง ซึ่งมีที่มาที่ไปคล้ายๆกันอย่างที่ว่ามาแล้ว
Phillip Brokerage กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์(ต่อมาขายเครือข่ายบริการการเงินกว้างขวางขึ้นนาม Phillip Capital) เริ่มก่อตั้งที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี2518 โดยแรกเริ่มเป็นเพียงบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดเล็กภายในประเทศสิงคโปร์ ต่อมาขยายเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์ โดยมีสำนักงาน 30แห่งใน 11ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกงอินโดนีเซีย ศรีลังกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จีน และไทย
เริ่มขยายเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย โดยเข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์ในเครือข่ายกลุ่มเอกธนกิจที่มีปัญหา –หลักทรัพย์เอกเอเชีย ซึ่งในปลาย ปี 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหม่ปี2541 Phillip Brokerageได้ดำเนินการซื้อหุ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป(ประเทศไทย) ต่อมาได้มีการขยายกิจการ มีสำนักงานใหญ่ ที่สีลมและสำนักงานบริการในกรุงเทพฯ 7 แห่ง รวมถึงต่างจังหวัดในเมืองใหญ่ๆอีก 5 แห่งที่ ขอนแก่น พิษณุโลก หาดใหญ่ ชุมพร และชลบุรี
ทุกวันนี้ผู้ค้าหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นไทยที่ประกาศตนเองอย่างเปิดเผยว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจจากสิงคโปร์ มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญในฐานะมียอดการซื้อขายหุ้นรวมกัน มีน้ำหนักมากกว่า20% ของการซื้อขายแต่ละวัน
ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้น สถาบันการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น Temasek holding และ Government of Singapore Investment Corp: GIC อาจกล่าวได้ว่าถือหุ้นหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยอย่างมีน้ำหนัก มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้น ทั้งที่ถือหุ้นจำนวนหนึ่งและถือหุ้นใหญ่ที่เรียกว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ไม่รวมกับการลงทุนอื่นๆนอกตลาดหุ้น แม้จะดูไม่มาก แต่กว้างขวางครอบคลุมธุรกิจสำคัญ ตั้งแต่โรงงานเบียร์ ในการนำ Tiger beer เข้าสู่ตลาดไทยสำเร็จ หลังจากเบียร์สิงห์เกิดและราชสำนักไทยห้ามเบียร์สิงคโปร์เข้าตลาดไทยมาเกือบร้อยปี กิจการท่าเรือ การเดินเรือ ไปจนถึงกิจการใหญ่อย่างอสังหาริมทรัพย์ และสื่อสาร
ภาพนี้แสดงความสัมพันธ์ในมิติข้ามพรมแดนความเป็นชาติและประเทศ ไม่อาจอรรถาธิบายด้วยความคิดของผู้มีอำนาจแบบเดิมได้อีกต่อไป กรณีธุรกิจสิงคโปร์ถือ เป็นการข้ามพรมแดนที่มีความสัมพันธ์ล้ำลึก สามารถเข้าถึงข้อมูลการเงิน การบริโภค และการใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าเครือข่ายทางสังคม(Social network) ในโลกออนไลน์ บริการทางการเงิน การค้าในตลาดหุ้น เป้นกระบวนการเข้าถึงข้อมูลสำคัญของปัจเจก โดยเฉพาะปัจเจกผู้มีอำนาจทางการเงิน ถือเป็นสังคมวงในในโลกทุนนิยม
จินตนาการของพรมแดนได้เปลี่ยนไปแล้ว และมิใช่เพิ่งเปลี่ยน ที่สำคัญกำลังเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ดังเรื่องที่ยกมาเป็นกรณีที่แตกต่างกันติดต่อกันมา 4 ตอนแล้ว