กระแสลมสู่ภูธรแรงขึ้นอีก

มีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆสองกระแสกำลังพุ่งเป้าไปยังหัวเมืองของไทย

หนึ่ง –การลงนามสัญญาของธนาคาร6 แห่งที่มีเครือข่ายในหัวเมืองต่างจังหวัด ใช้บริการหน้าเคาน์เตอร์จากเครือข่ายไปรษณีย์ไทย สอง-ห้างสรรพสินค้า (มิใช่เครือข่ายปลีก) กำลังเดินแผนรุกขยายเครือข่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ไปยังหัวเมืองอย่างเข้มข้นมากขึ้น

หนึ่ง

“ความร่วมมือการเปิดให้บริการตัวแทนสถาบันการเงิน (BANK@POST) ระหว่างไปรษณีย์ไทย กับธนาคาร 6 แห่ง และบริษัท ศูนย์ประมวลผล จำกัด ว่าบริการใหม่ดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าธนาคารทั้งหกแห่งสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน “ฝาก ถอน โอน” แบบเรียลไทม์ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ 1,400 แห่งทั่วประเทศในระยะแรก จะให้บริการเฉพาะฝากเงิน โดยเริ่มจากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ใช้บริการได้ตั้งแต่ 26 เมษายนนี้เป็นต้นไป ตามด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)เริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เดือนมิถุนายน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ในเดือนกรกฎาคม ส่วนบริการถอนและโอนจะเริ่มได้ภายในปีนี้เช่นกัน” (www.thailandpost.co.th)

 เรื่องนี้มีความหมายสำคัญ สามารถตีความได้หลายมิติ 

บรรดาธนาคารทั้งหลายในชุดนี้ พยายามสร้างครือข่ายบริการต่างจังหวัด แบบก้าวกระโดดอย่างเร็ว มองรวมๆเป็นธนาคารทีมีเครือข่ายสาขาในต่างจังหวัดไม่มาก โดยเฉพาะธนาคารเกิดใหม่ เช่น ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และธนาคารทิสโก้   แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไป บางธนาคารมีสาขาในต่างจังหวัดมากพอสมควร อย่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  และธนาคารทหารไทย แต่ละธนาคารมีสาขาประมาณ 250-300 แห่ง ซึ่งนับว่าไม่น้อย ประเด็นจึงน่าสนใจขึ้นอีกว่า ความพยายามขยายครือข่ายต่างหวัด เป็นเรื่องจริงจังของธนาคารเหล่านี้อย่างไร

เรื่องที่น่าสนใจและตื่นเต้นเป็นพิเศษ ธนาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นทั้งเครือธนาคารธนาคารต่างประเทศโดยตรง และเครือข่ายธนาคารต่างประเทศเข้าถือหุ้นและมีส่วนในการบริหาร

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แม้ดูมีโครงสร้างเป็นธนาคารไทยที่มิได้เผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลงมากมายนักในช่วงวิกฤติการณ์เช่นธนาคารอื่น  แต่เนื้อแท้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจช่วง3-4   ปีมานี้    โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ GE CAPITAL INTERNATIONAL HOLDING CORPORATION   โดยถือหุ้นธนาคารมากกว่า 30% ที่สำคัญผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญ( ประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการใหญ่ )เป็นชาวต่างชาติ มีประสบการณ์จากGE CAPITAL  เป็นทีทราบกันว่าเป็นหนึ่งกิจการของ GE Group USA  เครือข่ายธุรกิจระดับโลก ขายสินค้าและบริการทางเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย รวมทั้งบริการทางการเงินด้วย โดยเฉพาะ GE CAPITAL ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญการเงินสำหรับรายย่อยอย่างมาก  ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงหลังการเข้ามาของ GE CAPITAL (ปี 2551-2 )ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เข้าซื้อกิจการหรือเพิ่มการลงทุนถือหุ้นในกิจการเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อรายย่อยของ GE CAPITALเดิมที่มีอยู่ในเมืองไทย  นอกจากนี้ยังซื้อธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย และกิจการไม่โครไฟแนนช์ในกลุ่ม AIG ในประเทศไทยด้วย     ว่าไปแล้วธนาคารกรุงศรีอยุธยาเวลานี้ เครือข่ายการเงินเพื่อรายย่อยทีครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ที่สำคัญแนวทางและเทคโนโลยี่ในการบริหารกำหนดโดยเครือข่ายการเงินระดับโลก

อีกธนาคารหนึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน ธนาคารธนาคารทหารไทย( ING Bank N Vธนาคารจากเนเธอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นประมาณ 25% โดยมีทีมงานเข้ามาอยู่ในการบริหารธนาคารตั้งแต่ระดับกรรมการ กรรมการบริหาร และทีมจัดการ) อยู่ในช่วงการปรับตัวเชิงรุกเช่นเดียวกัน  ING Bank เป็นธนาคารรายย่อย( retail banking )ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดเนเธอร์แลนด์มากที่สุด  ในภูมิภาคเอเชียมุ่งตลาดที่จีน อินเดียและไทย แสดงว่าให้ความสำคัญตลาดบ้านเรามากเป็นพิเศษ ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำรับรายย่อยอย่างหลากหลาย  ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ บัตรต่างๆ ประกันชีวิต/ภัย ฯลฯ ถือว่ามีสินค้ามากมายมากกว่าธนาคารใหญ่ของไทยหลายแห่งเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ในกลุ่มนี้มีธนาคารอีกบางแห่งที่ควรกล่าวถึง  ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย แต่เป็นเครือข่ายธนาคารต่างชาติอย่างสมบูรณ์  ธนาคารกลุ่มนี้มีแรงบันดาลใจการขยายเครือข่ายในภูมิภาค เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของภูมิภาค เมื่อระบบเศรษฐกิจอาเซียนเชื่อมกันเป็นระบบเดียวกันในไม่กี่ปีข้างหน้า   นั่นคือธนาคารซีไอเอ็มบีไทยอยู่ภายใต้เครือข่ายของ CIMB แห่งมาเลเซีย ซึ่งมีเครือข่ายลูกค้ารายย่อยในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเชีย กัมพูชาและไทย มากกว่า 11ล้านราย และธนาคารยูโอบี ในเครือข่าย United Overseas Bank หรือ UOB เป็นธนาคารอันดับสองของสิงคโปร์ มีเครือข่ายในภูมิภาคนี้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ อินเดีย พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง ใต้หวั่น จีนและไทย ธนาคารทั้งสองพัฒนามาจากธนาคารไทยที่เป็นธนาคารครอบครัว มีสาขาในต่างจังหวัดค่อนข่างน้อยเมื่อผนวกกับยุทธ์ศาสตร์ธนาคารระดับภูมิภาค ความพยายามครั้งใหม่  จึงกลายเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจขึ้นอีก

บริการสำหรับลูกรายย่อยหรือผู้ประกอบขนาดกลางและเล็กในต่างจังหวัด   ถือเป็นพื้นที่ใหม่ของระบบธนาคารไทยหลังวิกฤติการณ์และหลังภาพใหญ่ของระบบธนาคารไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (ตามทีผมนำเสนอมาแล้วในบทความชิ้นก่อนๆ)

เนื่องจากระบบธนาคารไทยก่อนหน้านั้น ให้ความสำคัญรายใหญ่  เมื่อปรับยุทธ์ศาสตร์สู่รายย่อยมากขึ้น หลังจากนั้นมาภาพการแข่งขันเพื่อรายย่อยในเมืองหลวงดูเข้มข้นมาก แต่อย่างไรก็ตามระบบและประสบการณ์ของธนาคารต่างชาติว่าด้วยการบริหารรายย่อยน่าสนใจและถือเป็นคู่แข่งที่น้ากลัวของระบบธนาคารไทยดั้งเดิม

บรรดาธนาคารที่กล่าวมาข้างต้นมีเป้าหมายอย่างแน่ชัดในพื้นที่ใหม่  สามารถอรรถาธิบายได้ว่า ธนาคารเหล่านี้ประเมินศักยภาพของชุมชนหัวเมืองของไทย เป็นภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก

ธุรกรรมทางการเงิน “ฝาก ถอน โอน” แบบเรียลไทม์ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ 1,400 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นบริการพื้นฐานของระบบธนาคารหน้าเคาน์เตอร์ ไม่ว่าธนาคารเหล่านั้นจะมีบริการพลิกแพลงอย่างไร ดูเผินๆเหมือนเป็นบริการชนิดเดียวกันที่ไม่แตกต่างกัน แต่ความจริงเป็นเพียงธุรกรรมพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ธนาคารต่างๆ ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้นๆจะมีระบบ ผลิตภัณฑ์และบริหารอย่างสร้างสรรค์อย่างไร ในมุมนี้จึงเป็นเรื่องประเด็นขึ้นมา ดังที่นายธนาคารไทยบางคนเคยมองว่าธนาคารไทยมีความได้เปรียบกว่าธนาคารต่างประเทศในประเทศไทยในประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียว ตรงที่มีความสัมพันธ์กับลูกค้าคนไทยมากกว่าเท่านั้น   ปรากฏการณ์ใหม่อาจจะส่งผลให้ข้อได้เปรียบนั้นกำลังจะหมดไป

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ธนาคารไทยดั้งเดิม เขาถึงตลาดหัวเมือง หรือผู้ใช้บริการรายย่อยในต่างจังหวัดอย่างจริงจังหรือไม่  ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ ว่าไปแล้วธนาคารไทยเพิ่งสนใจลูกค้ารายย่อย เพียงทศวรรษมานี้เอง การเปิดสาขาในศูนย์การค้าสมัยใหม่อย่างครึกโครม  เชื่อว่าจะตอบสนองเพียงคนเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ เพราะเครือข่ายเหล่านั้นในต่างจังหวัดถือเติบโตอย่างจำกัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ปรากฏการณ์ใหม่เชื่อว่าธนาคารไทยจะมองเห็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายเพิ่มเติม แต่ดูเหมือนธนาคารไทยดั้งเดิมยังประเมินสถานการณ์อย่างเฉื่อยชาพอสมควร  ทั้งนี้ยังไม่รวมความเชี่ยวชาญว่าด้วยลูกค้ารายย่อย ซึ่งถือเป็นธนาคารในประทศที่มีประสบการณ์เรื่องนี้ไม่มากเลย

 สอง

เครือข่ายค้าปลีกโดยเฉพาะ Tesco Lotus และ 11-Eleven แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ระดับตำบล อำเภอไปเรียบร้อยแล้ว    เครือข่ายเหล่านี้จำหน่ายสินค้าพื้นฐาน แม้ว่าจะมีสินค้าเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น แต่สังคมธุรกิจไทยถือเป็นการเผชิญหน้าและคุกคามโดยตรงต่อเครือข่ายโชว์ห่วยดั้งเดิมของไทย ซึ่งแป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่กระจัดกระจาย และไม่อำนาจต่อรอง ช่องว่างนี้ยังมีเข้ามาตลอดเวลา ล่าสุด BigC หลังจากซื้อเครือข่าย Carrefour ก็ประกาศจะเปิดสาขาย่อยในต่างจังหวัดมากขึ้น

ขณะที่ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า เป็นเรื่องที่แตกต่าง  แม้ว่ามีความพยายามตัวสู่หัวเมืองมานาน แต่แผนดำเนินไปอย่างช้าๆในช่วง2-3ทศวรรษมานี้ เนื่องจากเผชิญแรงต้านพอสมควร  แรงต้านมาจากเครือข่ายห้างสรรพสินค้าขนาดกลางในหัวเมือง ซึงเป็นของนักธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ในท้องถิ่นนั้นๆ นักธุรกิจภูธรเหล่านี้ มีเครือข่ายธุรกิจและพลังพอสมควร ในโมเดลเดิมทางเศรษฐกิจของสังคมไทย  ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ในภูธรล้วนเป็นเครือข่ายของธุรกิจในส่วนกลาง  หรือเรียกว่า”นายหน้า”หรือ”ตัวแทนการค้า” โดยเฉพาะในธุรกิจนี้ ถือว่าเป็นลูกค้าของเครือข่ายห้างสรรพสินค้าจากกรุงเทพฯด้วย การรุกของห้างสรรพสินค้าสู่หัวเมือง ถือความขัดแย้งทางประโยชน์ และทำลายเครือข่ายหรือความสัมพันธ์เดิม ความพยายามประนีประนอมจึงเกิดขึ้นบางระดับ บางช่วงเสมอมา

แต่จากนี้ ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว  อาจเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุจากสองด้าน

ด้านห้างสรรพสินค้าค้าภูธร ซึ่งมีการเติบโตอย่างจำกัด ภายใต้เครือข่ายสินค้าที่ต้องพึงพิงจากกรุงเทพฯ   ห้างสรรพสินค้าภูธรจึงไม่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนหัวเมืองที่พยายามวิ่งตามกระแสแฟชั่น รสนิยมของคนกรุงเทพฯอย่างกระชั้นชิดมากขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามห้างภูธรยังมีความพยายามนั้นอย่างไม่ลดละ   ด้านเครือข่ายห้างสรรสินค้าเมืองหลวง ได้ผ่านการต่อสู้แข่งขันกันอย่างเต็มทีในเมืองหลวงมาแล้ว ประกอบกับมองเห็นโอกาสในหัวเมือง ความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น  ถือเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่กว้างขวางขึ้นด้วย

ที่สำคัญเครือข่ายสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากเมืองหลวง ประเมินและจับความภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหัวเมืองใหม่ได้   โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าหัวเมืองมีกำลังซื้อมากขึ้นอย่างน่าสนใจด้วย

ความเคลื่อนไหวเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัลที่ผ่านมาและจากนี้ไป  ถือเป็นสัญลักษณ์และดัชนีของความพยายามสู่ทิศทางใหม่อย่างจำต้องได้

ความพยายามของห้างเซ็นทรัลในการเปิดสาขาในต่างจังหวัด ดำเนินไปด้วยความยากลำบากด้วยแรงต้นของห้างภูธรเมื่อ 2-3 ทศวรรษเป็นเรื่องที่น่าจดจำ อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาความพยายามนั้น บรรลุครั้งแรกที่เชียงใหม่   ตามแผนการขยายเครือข่ายเซ็นทรัลในหัวเมืองในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวเริ่มต้นจากนั้น จากเชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ล้วนอยู่ภายใต้ความคิดในเรื่องการเติบโตของการท่องเที่ยว ลูกค้ารายหลักของทองเที่ยวล้วนเป็นนักท่องเที่ยวมาจากเมืองหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของเซ็นทรัลอยู่แล้ว

ความพยายามอีกด้านของห้างเซ็นทรัลเกิดขึ้นเมื่อเข้าซื้อกิจห้างโรบินสัน   ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าอิสระที่มีสาขาอยู่ในจังหวัดใหญ่อยู่บ้างในก่อนราวปี 2522-2538 แผนการรุกต่างจังหวัดครังใหญ่มาพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี ตามแผนการเชิงรุกของธุรกิจสมัยใหม่ในปี 2538ด้วยการเข้าซื้อหรือร่วมมือกับเครือข่ายห้างภูธร   แผนการนั้นดำเนินได้เพียงสั้นๆก็เผชิญปัญหาวิกฤติการณ์ในปี 2540 แผนจึงสะดุดและชะงักงันอย่างยาวนานทีเดียว

เครือเซ็นทรัลเริ่มแผนการบุกต่างจังหวัดอีกครั้งเมื่อ2-3 ปีมานี่เอง ที่น่าสนใจมากขึ้น เครือเซ็นทรัลขยายเครือข่ายสูต่างจังหวัดขนาดใหญ่ที่มิใช่เมืองท่องเที่ยวเท่านั้น และที่สำคัญเป็นการขยายเครือข่ายใหม่ไม่เพียงเปิดห้างเซ็นทรัลหรือโรบินสันอย่างอิสระเหมือนเดิมเท่านั้น หากเป็นการยกระดับเป็นศูนย์การค้านาดใหญ่ สร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง

นี่คือภาพสะท้อนการการเปลี่ยนแปลงของหัวเมืองและชนบทไทยในเชิงเศรษฐกิจในความหมายที่ลึกมากกว่าที่เคยเข้าใจกัน

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: