เรื่องราวระหว่าง “เสริมสุข” กับ Pepsi Co. มีมติมากกว่าเรื่อง franchise หรือ “ความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น” ที่สำคัญเป็นกรณีหนึ่ง ที่ผมมองยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจไทยในเชิงบวก
จากการติดตามข่าวจากสื่อไทย ซึ่งให้ความสนใจพอสมควร กับการอ่านเอกสารอย่างละเอียด โดยเฉพาะรายงานประจำปี 2553 เอกสารคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทเสริมสุข (มหาชน) จำกัดโดยบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด เมื่อ28 ตุลาคม 2553 และรายประชุมผู้ถือหุ้นในระยะใกล้ๆนี้ที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ ภาพความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของเสริมสุขจึงเป็นภาพที่ตื่นเต้น และมีเรื่องราวของตนเองขึ้นมาก
การศึกษาเรื่องราวนี้ ควรเริ่มจากพิจารณาความเป็นไปของสถานการณ์สำคัญในช่วงเกือบ 2 ปีมานี้อย่างถี่ถ้วนเสียก่อน ก่อนจะนำไปสู่การวิเคราะห์ ตีความและหาบทสรุประดับใดระดับระดับหนึ่งต่อไป
“ในระหว่างปี 2553 คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการพิจารณาทบทวน (1.) Exclusive Bottling Appointment Agreementระหว่างบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) กับ Pepsi Co., Inc. และ Seven-Up International ซึ่งได้มีการลงนามในปี 2541 โดยตามสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ ได้ตกลงซื้อหัวน้ำเชื้อจาก PepsiCo.,Inc. เพื่อนำมาใช้ในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมภายใต้ตราสินค้า Pepsi, Pepsi Max, Pepsi Twist, Mirinda,Seven-Up, Mountain Dew และ Club และ (2.) Agreement for Cooperative Advertising and Marketing Principlesระหว่างบริษัทฯ กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งได้มีการลงนามในปี 2540 เนื่องจากสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับเป๊ปซี่ ได้จัดทำขึ้นบนปัจจัยและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในอดีต ปัจจัยและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานั้นได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2540-2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คู่สัญญาทุกฝ่ายมีการตกลงร่วมกันตามสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับเป๊ปซี่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวงจรธุรกิจก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงโดยเป็นผลกระทบของลำดับเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ดี ปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นมีความแตกต่างอย่างมีสาระสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและคาดว่าจะดำเนินต่อไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจและสภาพการแข่งขันในช่วงเวลาที่เป็นปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อวันที่” (อ่างจากตอนหนึ่งของรายงานประจำปี2553ของเสริมสุข) ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ของความขัดแย้งและ กรณีศึกษาที่น่าสนใจ
19 กุมภาพันธ์ 2553 กรรมการอิสระและคณะกรรมการตรวจสอบ(เท่าที่ตรวจสอบประกอบด้วยร.ต.อ.ประสิทธิ์ ตัณฑเศรษฐี กรรมการอิสระและประธานกรรมการ ประสงค์ สุขุม กรรมการอิสระ และ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ โพธิพงษ์ ล่ำซำ กรรมการอิสระ รองประธานกรรมการ และกรรมการตรวจสอบ และ สุชาดา กีระนันทน์ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ) “จึงมีมติเห็นควรให้ทบทวนข้อเท็จจริง หรือปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดราคาหรือเงื่อนไขของสัญญา ในเวลานั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยนำข้อมูลที่ได้เป็นพื้นฐานในการเสนอแนะต่อคณะกรรมการและฝ่ายบริหาร ของเสริมสุข ว่าควรดำเนินการอย่างใดที่เหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต่อไป”
27 เมษายน 2553 บริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ทราบดีว่าเป็น”ตัวแทน”ของเปปซีในประเทศไทย ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของเสริมสุขโดยสมัครใจ เพื่อให้ได้สัดส่วนอันมีนัยสำคัญในการถือหุ้นกิจารหรือเรียกว่าเป็นการเสนอเข้าครอบครองกิจการอย่างไม่เป็นมิตร “มีความประสงค์ที่จะซื้อหุ้นของบริษัทฯอย่างน้อย25,147,287 หุ้น ราคาหุ้นละ 29.00 บาท โดยเมื่อรวมกับจำนวนหุ้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง(เข้าใจได้ว่าเป็นหุ้นของกลุ่มเปปซีในเสริมสุข)จะทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯเท่ากับร้อยละ51 บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการของบริษัทฯเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ประเมินความสมเหตุสมผลของราคาเสนอซื้อแล้ว ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ว่าช่วงราคาที่เหมาะสมของหลักทรัพย์บริษัทฯ อยู่ระหว่าง 39.3 – 41.9 บาทต่อหุ้น ราคาเสนอซื้อที่ระดับราคา 29 บาทต่อหุ้น จึงต่ำกว่าราคายุติธรรมร้อยละ26.2 – 30.8เมื่อสิ้นสุดวันเสนอซื้อ จำนวนหุ้นที่นำมาเสนอขายน้อยกว่าที่ทำคำเสนอซื้อ บริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัดจึงได้ยกเลิกการเสนอซื้อในครั้งนี้(ข้อมูลจากฝ่ายเสริมสุข
4 ตุลาคม 2553 เสริมสุขได้เปิดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2553มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการหรือบุคคลที่คณะกรรมการมอบหมายทำการเจรจาแก้ไขสัญญาระหว่างเสริมสุข กับเปปซี่เพื่อให้ได้ราคาและเงื่อนไขที่ดีขึ้น และจัดทำแผนธุรกิจในอนาคต (Future Business Plan)
28 ตุลาคม 2553 บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของเสริมสุขโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ถือหุ้นของเสริมสุขในสัดส่วนอันมีนัยสำคัญ คือไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของ จึงมีความประสงค์ที่จะซื้อหุ้นของบริษัทฯอย่างน้อย 66,475,121 หุ้น ราคาหุ้นละ 42.00 บาท “ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการของบริษัทฯเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ได้ประเมินความสมเหตุสมผลของราคาเสนอซื้อแล้ว ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 ว่าช่วงราคาที่เหมาะสมของหลักทรัพย์บริษัทฯ อยู่ระหว่าง 40.1 – 42.4 บาทต่อหุ้น ราคาเสนอซื้อที่ระดับราคา 42 บาทต่อหุ้นจึงเป็นราคาที่เหมาะสมนอกจากข้อพิจารณาด้านราคา ผู้ถือหุ้นควรพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้ไขสัญญา Exclusive Bottling Appointment Agreement และ สัญญา Cooperative Advertising and Marketing Agreementเมื่อสิ้นสุดวันเสนอซื้อ จำนวนหุ้นที่นำมาเสนอขายคือ 86,732,207 หุ้น ซึ่งมากกว่าที่ทำคำเสนอซื้อ บริษัท เอสเอส เนชั่นแนลโลจิสติกส์ จำกัด จึงได้รับซื้อหุ้นที่นำมาเสนอขายในครั้งนี้”(อีกตอนหนึ่งในรายงานประจำปี ) เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ มิใช่กลุ่มเดียวกับเปปซีในครั้งก่อน
3 พฤศจิกายน 2553 บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้งจำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของเสริมสุขได้ยื่นต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4128/2553 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของเสริมสุข ครั้ง 1/2553 และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 มกราคม2554
13 มกราคม 2554 บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้งจำกัด ได้ยื่นต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 112/2554 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของเสริมสุข ครั้ง 2/2553 โดยในคำร้องระบุว่าผู้ร้องถูกตัดสิทธิจากมิให้ลงมติออกเสียงในวาระที่ให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาให้สัตยาบันการเลื่อนการดำเนินการต่างๆ ศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 28มีนาคม 2554
14 ธันวาคม 2553 เสริมสุขจัดการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2553 วาระที่สำคัญเพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นรับทราบรายงานความคืบหน้าการเจรจาแก้ไขสัญญาและการจัดทำแผนธุรกิจในอนาคต และพิจารณาให้สัตยาบันการเลื่อนดำเนินการซึ่งกำหนดเดิมคือ ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ออกไปและให้คณะกรรมการจัดการประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2554 ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554
14 ธันวาคม 2553 บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัดทำหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัทมีสาระสำคัญ หนึ่ง-สนับสนุนผู้บริหารชุดปัจจุบันให้บริหารต่อไป สอง-เสดงความสนใจในธุรกิจโลจิสติกส์ และเชื่อมั่นระบบนี้ของเสริมสุข สาม-สนับสนุนให้ทำธุรกิจกับPepsi Co ต่อไปโดยไม่ผูกขาด
17 มกราคม พ.ศ. 2554 เสริมสุขได้ยื่นคำคัดค้านต่อศาล ต่อกรณีบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้งจำกัดขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของเสริมสุข ครั้ง 1/2553 โดยศาลเห็นว่า เมื่อคดีนี้มีการคัดค้านคำร้อง ศาลจึงได้กำหนดให้มีการนัดสืบพยานอย่างต่อเนื่อง ในกลางปี2554
15 กุมภาพันธ์ 2554 เสริมสุขจัดประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2554 มีวาระที่สำคัญเพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นรับทราบผลการเจรจาแก้ไขสัญญา ความเห็นต่อผลการเจรจาและแผนธุรกิจในอนาคต “บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเสนอาว่าข้อเสนอของเป๊ปซี่ มิได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับบริษัทฯอย่างมีนัยสำคัญ และเงื่อนไขสัญญายังจำกัดการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของบริษัทฯ คณะกรรมการมีความเห็นว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติให้บริษัทฯทำการแก้ไขสัญญาระหว่างบริษัทฯและเป๊ปซี่ตามราคาและเงื่อนไขอันเป็นผลมาจากการเจรจา”โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติว่าให้เสริมสุขต้องได้รับการยืนยันจากเป๊ปซี่ตกลงยอมรับเข้าทำสัญญาใหม่ที่มีสาระตามที่คณะกรรมการเสนอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติ หรือครบกำหนดวันที่ 2 มีนาคม 2554 และเข้าทำสัญญาฉบับใหม่ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 “ในกรณีบริษัทฯไม่ได้รับการยืนยันจากเป๊ปซี่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ผู้ถือหุ้นมีมติให้บริษัทฯบอกเลิกสัญญาระหว่างบริษัทฯกับเป๊ปซี่โดยทันทีโดยให้มีผลตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ไม่ช้ากว่า 12 เดือน”
1 มีนาคม 2554 เสริมสุขได้รับข้อเสนอใหม่ที่ดีกว่าเดิมบ้างจากเป๊ปซี่ มีสาระสำคัญ ซึ่งได้แก่
(1) กำหนดสูตรการคิดราคาค่าหัวน้ำเชื้อ ซึ่งเป็นผลให้ค่าหัวน้ำเชื้อลดลงประมาณร้อยละ 9 ต่อปี จากราคาภายใต้สัญญาปัจจุบัน (2) เป๊ปซี่ ยืนยันที่จะสงวนสิทธิเลิกสัญญาได้กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุม (Change of Control) ในเสริมสุขจะต้องไม่มีข้อกำหนดค่าปรับหรือค่าเสียหายจากบริษัทฯ และต้องมีคำจำกัดความของคำว่า “ควบคุม (Control)” ที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป (3) เสริมสุข จะต้องไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้สัญญากับเป๊ปซี่ ยกเว้นกรณีที่เป็นเครื่องดื่มชนิดและประเภทเดียวกัน และมีลักษณะเป็นการแข่งขันกัน เช่น ประเภทโคล่า (น้ำดำ) ด้วยกัน
31 มีนาคม 2554 เสริมสุขได้มีการประชุมคณะกรรมการวาระพิเศษ ครั้งที่ 5/2554โดยมีวาระสำคัญอนุมัติการเลือกตั้งคณะกรรมการ การบอกเลิกสัญญาระหว่างกับเป๊ปซี่ โดยเพิ่มเติมเข้าเป็นวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554
29 เมษายน 2554 ในที่สุดบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2554 โดยบรรลุจุดประสงค์ของคณะการใน ประเด็นสำคัญ หนึ่ง-การยกเลิกสัญญากับเปปซีโดยแก้ไขเพิ่มเติมแผนธุรกิจในอนาคต (Future Business Plan) “การขยายตลาดเครื่องดื่มที่มิใช่น้ำอัดลม โดยการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ หรือการเข้าซื้อกิจการที่มีผลิตภัณฑ์หรือเครื่องหมายการค้าที่ประสบความสำเร็จในตลาดอยู่แล้ว หรือโดยการเข้าทำสัญญารับจ้าง หรือรับอนุญาตหรือได้รับสิทธิในการผลิตและจำหน่ายหรือเข้าทำสัญญาในรูปแบบอื่นใดสำหรับเครื่องดื่มที่มิใช่น้ำอัดลมภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นบริษัทฯ อาจดำเนินธุรกิจอย่างอื่นได้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับแผนธุรกิจในอนาคต เช่น การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของบริษัทฯ การดำเนินธุรกิจอื่น โดยอาศัยศักยภาพของบริษัทฯตามที่คณะกรรมการจะพิจารณาเห็นสมควร”
สอง-เปลี่ยนแปลงกรรมการ โดยเฉพาะการเปลี่ยนกรรมการใหม่ 4 คนที่มาจากตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายใหม่ (บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์) โดยมีนักกฎหมายคนสำคัญของประเทศ ได้แก่ วิษณุ เครืองาม และ เรวัต ฉ่ำเฉลิม เข้ามาเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ ในบรรดาคณะกรรมการทั้งหมด17 คน ยังมีตัวแทนของเปปซีอยู่ในคณะกรรมการด้วย 4 คน
พิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบัน มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สำคัญ 2 ราย คือ บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด 32.62% และกลุ่มเปปซี ประกอบด้วย บริษัท เป๊ปซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัดและ SEVEN-UPNEDERLAND, B.V 41.55% แล้ว แสดงเห็นว่าว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นๆและเอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ รวมกันยืนอยู่ฝ่ายคณะกรรมการและผู้บริหารส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่าสัดส่วนยังก่ำกึ่งกับฝ่ายเปปซีอย่างมาก
การต่อสู้แย่งชิงการบริหารเสริมสุขยังคงดำเนินต่อไป
(โปรดติตามตอนหน้า เสริมสุข กับ Pepsi Co ตอนที่ 2 บทวิเคราะห์)
very good article krub.