กรมชลประทาน

ระบบระบายน้ำฝั่งขวาเจ้าพระยา

ผมเคยกล่าวไว้ในFB ว่า “หากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ด้านภูมิศาสตร์มากขึ้นคงจะดี บทสรุปของความตื้นเขินคงไม่ปรากฏกลาดเกลื่อน” เป็นข้อความที่รุกเร้ามากทีเดียว จึงขอใช้พื้นที่ขยายความให้เห็นภาพภูมิศาสตร์และภาพใหญ่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

จากกรณีคลองหก-สามวาที่เป็นเรื่องราวที่ผู้คน(โดยเฉพาะสื่อมวลชน)เข้าใจภาพเฉพาะจุดและเชื่อมโยงภาพใหญ่อย่างสับสน  แม้จะย่อภาพมาโฟกัสกรุงเทพฯมากขึ้น ขณะเดียวกันพยายามศึกษาเครือข่ายคลองในกรุงเทพฯในภาพรวม(ข้อแนะนำ—ในบางตอนผู้อ่านควรใช้แผนที่ประกอบด้วย) ไปจนถึงการศึกษาบทเรียนจากหน่วยงานเก่าแก่ของรัฐไทย

คลองในกรุงเทพฯเป็นเครือข่ายสำคัญของเมืองหลวงในอดีต สำหรับผู้คนในยุคกรุงเทพฯสมัยใหม่แล้ว ถือว่าไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ และไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าด้วยบทบาทของคลองในอดีตเชื่อมโยงกับปัจจุบัน    แต่เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ คลองในกรุงเทพฯได้กลับเชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อชีวิตคนกรุงเทพฯอย่างมากอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อมองไปในอดีต  ย่อมเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯในอัตราเร่งอย่างไร้ทิศทาง เช่นเดียวกันย่อมเห็นภาพยุทธ์ศาสตร์ของกรุงเทพฯในเมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน กรุงเทพฯสถาปนาชึ้นในฐานะเมืองหลวงของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรม พัฒนาจากเพื่อการเลี้ยงชีพ สู่การค้าระดับโลก  โดยมีความพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างที่กล่าวมาบ้างในในตอนที่แล้ว

จากเมืองหลวงอาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางหลัก ทั้งสื่อสาร ขนส่งและเข้าถึง ของระบบบริหารทั้งการเมือง  การทหาร และเศรษฐกิจ  จากนั้นพยายามสร่างเครือข่ายเพิ่มเติม สร้างระบบพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มต้นอย่างจริงจังในยุคสมัยรัชการที่3และ4 ซึ่งเป็นช่วงต่อสำคัญของสังคมไทย มีความพยายามเรียนรู้โลกตะวันตกครั้งสำคัญครั้งแรกๆ ในยุคนั้น เส้นทางหลักแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนั้นมีความสำคัญประหนึ่งSuperhighwayในยุคใหม่

จากเฉพาะจุดหรือเป้าหมายเฉพาะ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเสมอ   โครงการที่น่าสนใจเมื่อเกือบ200 ปีที่ผ่านมา  เช่น —คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง เมื่อปี 2380(สมัยรัชกาลที่3) ว่ากันว่าในครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังญวน (เวียดนาม) ในสงครามไทย-ญวนซึ่งใช้เวลานานถึง 14 ปี แต่ต่อมาคลองแสนแสบเป็นเส้นทางสำคัญในเชิงยุทธ์ศาสตร์โดยรวมของเครือข่ายในด้านตะวันออก  —คลองมหาสวัสดิ์ หรือ คลองชัยพฤกษ์ เป็นคลองเริ่มขุดเริ่มตั้งแต่ปี 2402 ในสมัยรัชกาลที่4 เพื่อย่นระยะทางไปพระปฐมเจดีย เช่นเดียวกันต่อมาได้ขยายจินตนาการเพื่อสร้างเครือข่ายสำคัญเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มต้นโครงการใหญ่ของบริษัทขุดคลองแลนาสยาม (SiamCanals, Lands and Irrigation Company) ถือเป็นช่วงสำคัญพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ พร้อมๆกับการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมเพื่อการค้าในยุคอาณานิคม   และเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์กรมชลประทาน เชื่อกันว่าจากนี้ผู้คนสังคมกรุงเทพฯสมัยใหม่ จะให้ความสำคัญหน่วยงานนี้มากขึ้น และอาจจะทำให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจเกษตรกรรมในที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ไปสู่ภารกิจที่กว้างขวางมากขึ้นสำหรับเมืองหลวงในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์

ประวัติศาสตร์ก่อนการเกิดขึ้น และพัฒนาของกรมชลประทาน ในช่วงกว่าศตวรรษ ควรจะถือเป็นบทเรียนของการพัฒนาใหม่ของเมืองหลวงจากนี้ไปด้วย

 ขั้นที่หนึ่ง( 2433-2458) ระบบสัมปทานการสร้างเครือข่ายและระบบคลอง

“รัชการที่5พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้  บริษัทขุดคลองแลนาสยาม  ดำเนินการตามสัมปทาน 25 ปี โครงการประกอบด้วยการก่อสร้างระบบคลอง ในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดปทุมธานี ที่เรียกว่า ทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่–คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปยังแม่น้ำนครนายก และขุดคลองหกวาสายบนกับคลองหกวาสายล่างควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับการสร้างประตูระบายน้ำ(ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์  เสาวภาผ่องศรี  และประตูน้ำสมบูรณ์ ) สำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูก และสร้างประตู เรือสัญจรเพื่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำตลอดทั้งปี ” สรุปความมาจากข้อมูลของกรมชลประทานเอง

จากข้อมูลอื่น–โครงการระบบคลองรังสิต ถือเป็นระบบสัมปทานครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่รัฐไทยทำกับชาวต่างชาติในยุคอาณานิคม ยุคสังคมไทยกำลังถูกคุกคามจากอาณานิคมตะวันตก ในความพยายามเข้ามามีอิทธิพลทั้งทางทหารและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้  การปรับตัวของรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ยุทธ์ศาสตร์ที่4 ว่าจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ  หลายชาติ กระจายไปประจำและให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนต่างๆด้วย ถือว่าการว่าจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติจำนวนมากในประวัติศาสตร์ ของยุคสมบูรนาญาสิทธิราช การจ้างที่ปรึกษาที่มาจากหลายชาติเพิ่มมากขึ้นในรัชการที่5 ถือเป็นการศึกษาความรู้จากหลายแหล่งมากขึ้น ทั้งเป็นยุทธ์ศาสตร์ที่ไม่พึงพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และยุทธ์ศาสตร์ที่5การปรับระบบการบริหารรัฐไทยให้มีประสิทธิภาพ  ”ผมเองเคยเสนอแนวคิดนี้ไว้ในหลายครั้งหลายคราว ว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์การปรับตัวในยุคอาณานิคม(ยุทธ์ศาสตร์ที่1 เริ่มจากรัชการที่4 ให้ความสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษในราชสำนักเพื่อสื่อสารกับพวกอาณานิคม รวมทั้งส่งคณะทูตไปเจรจาถึงยุโรป ยุทธ์ศาสตร์ที่2 ในรัชสมัยรัชการที่5   เสด็จเยือนประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของอาณานิคม จนถึงเยือนเจ้าอาณานิยมในยุโรป เป็นการแสวงหาประสบการณ์ตรง  และยุทธ์ศาสตร์ที่3  ส่งพระโอรส ข้าราชบริพาร ขุนนางหรือสามัญชนไปเรียนรู้วิชาการจากยุโรป)

 ขั้นทีสอง( 2545-2470) การพัฒนา เรียนรู้ และการบริหารโดยฝรั่ง

จากนั้นจึงพัฒนาจากลักษณะโครงการ สู่ระบบการบริหาร  ไม่ว่าการดูแลระบบน้ำเดิมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ไปจนถึงการขยายเครือข่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น  ที่สำคัญคือเพิ่มคลองสายย่อยอีก 33 สาย ทั้งนี้ได้ชาวฮอลแลนด์ที่มีความชำนาญด้านนี้เข้ารับราชการบริหารหน่วยงานใหม่ –กรมคลอง(ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกรมชลประทาน) จากนั้นพยายามขยายเครือข่ายและเสริมประสิทธิภาพ จัดการระบบในแนวดิ่ง  “สร้างเขื่อนทดน้ำปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 (ปี2459 )ได้จัดตั้งกรมทดน้ำขึ้นแทนกรมคลองโดย รวมทั้งจัดสร้างโครงการชลประทาน ป่าสักใต้ โครงการสร้างเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ –เขื่อนพระราม 6  ขึ้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 680,000ไร่ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย”(อ้างจากข้อมูลกรมชลประทาน )

จนสมัยรัชกาลที่7 (ปี2470) บทบาทของกรมทดน้ำ มิได้จำกัดเฉพาะแต่การทดน้ำเพียงอย่างเดียว หากมีทั้งการขุดคลอง การทดน้ำ รวมทั้งการส่งน้ำตามคลองต่างๆ อีกทั้งการสูบน้ำเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรม จึง เปลี่ยนชื่อจาก กรมทดน้ำ เป็นกรมชลประทาน

นั่นคือบทบาทกรมชลประทานในช่วงเกือบสองศตวรรษที่ผ่านมา จากนั้นพยายามขยายบทบาทเดิมในเชิงพื้นที่สู่ทีราบลุ่มเจ้าพระยากว้างขึ้น  โดยมีความเชื่อมโยงกับตัวเมืองหลวงน้อยลงทุกขณะ  ขณะที่เมืองหลวงกำลังเดินหน้าอย่างเร่งรีบ ก้าวพ้นสังคมเกษตรกรรม ห่างไกลออกไปทุกทีๆ

จึงมิใช่เรื่องสมเหตุสมผลนัก หากคนกรุงเทพฯยุคใหม่ จะคาดหวังกับกรมชลประทานมากเกินไป  แม้แต่กรุงเทพมหานครซึ่งลงทุนอย่างมากมายสร้างระบบระบายน้ำท่วมขังดีที่สุดในประเทศ  ผู้ว่าฯยังยอมรับว่าระบบระบายน้ำกทม. เป็นเพียงระบบที่ใช้กับน้ำฝน มิได้คาดหวังว่าจะแก้ปัญหาน้ำทุ่ง

ประชาชาติธุรกิจ 14พฤศจิกายน 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: