ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ผันแปรอย่างมาก   ขณะที่มุมมองว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์จะเป็นเรื่องใหญ่และต้องถกเถียงกันอีกมากในระยะต่อไป   เบื้องต้นจากการศึกษา วิเคราะห์กันอย่างเข้มข้น เพื่อติดตามสถานการณ์  ได้ภาพภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจใหม่ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสน

ผมเคยเสนอว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์ระดับกว้างมาพอสมควร โดยอ้างอิงกับวิกฤติการณทำนองเดียวกันในปีที่แล้วที่รุนแรงน้อยกว่า    ในหัวข้อ ทิศทางปี2553/4(5) ระบบเศรษฐกิจระบบถนน-แม่น้ำลำคลอง” โดยประมวลและเชื่อมโยงรายละเอียดไปยังเรื่อง“ป่า เขื่อน ถนน แม่น้ำ ลำคลอง” และ น้ำท่วมหาดใหญ่”(ขออนุญาติอ้างบทความชุดนี้หลายครั้ง)

ภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ มีความเชื่อมโยงกับลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ในหลายมิติที่มีความซับซ้อนอย่างมาก   ตั้งแต่  เขื่อน ระบบชลประทาน แม่น้ำเจ้าพระยา   แม่น้ำสายหลักและลำคลอง กับชุมชนเกษตรกรรมเดิม  ชุมชนเมือง  นิคมอุตสาหกรรม  กับระบบถนน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความพันธ์ และความขัดแย้งในเวลาเดียวกัน  ทั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับเงื่อนเวลาของการวิวัฒนาการต่อเนือง  โดยเฉพาะในช่วง2-3ทศวรรษที่ผ่านมา

เขื่อน ระบบชลประทาน แม่น้ำ ลำคลองและเจ้าพระยา

เขื่อนสำคัญของไทยเกิดขึ้นด้วยมีภารกิจหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าซึ่งขยายตัวตลอดเวลา ตามความเติบโตทางเศรษฐกิจ  และการขยายตัวของสังคมเมือง    โดยเขื่อนขนาดใหญ่ ในบรรดาทั้งหมดเกือบ20 แห่ง อยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การสร้างเขื่อน เป็นยุทธ์ศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่า ไม่เพียงสร้างผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น หากได้มีจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงจำนวนมากด้วย  เขื่อนที่สำคัญมีเชื่อมโยงกับที่ราบลุ่มเจ้าพระยาโดยตรง  ได้แก้ เขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท(เปิดดำเนินการ2500)  เขื่อนภูมิพล –ตาก (2507) เขื่อนสิริกิติ์- อุตรดิตถ์ (2515) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์–ลพบุรี (2542)

ภาพนี้สะท้อนการพัฒนาชุมชนเมืองของสังคมใหม่ในอาณาบริเวณราบลุ่มเจ้าพระยา  ในพื้นที่ภูมิศาสตร์เดิมเป็นฐานระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมสำคัญที่สุดของประเทศ  เป็นภาพที่ซ้อนทับกันมากขึ้น มีความสัมพันธ์อย่างสลับซับซ่อนมากขึ้น   โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ในช่วงสงครามเวียดนามเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม  “แผนการสร้างเขื่อนในระยะต่อมา จึงมียุทธ์ศาสตร์พลิกแพลงมากขึ้น  โดยเฉพาะว่าด้วยการกักเก็บน้ำไว้ในในการเกษตรในยามฝนแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในกรณีฝนตกเกินขนาด  ว่าไปแล้วประเทศไทย มีเขื่อนหรือแหล่งเก็บน้ำตามแนวคิดข้างต้นมีขนาดต่างๆ ประมาณ 70 แห่งที่ดูแลโดยกรมชลประทาน เป็นระบบน้ำมีวัตถุประสงค์เฉพาะ    เป็นภาพสะท้อนสังคมไทย มีพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในการระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเกษตรกรรมอยู่มาก” (คัดส่วนหนึ่งมาจากเรื่อง “ป่า เขื่อน ถนน แม่น้ำ ลำคลอง” )  สะท้อนอีมิติหนึ่งของความสำคัญที่ยังคงอยู่ ของระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมพื้นฐาน บรรดาระบบกักเก็บน้ำที่กล่าวถึงข่างต้นกระจายตัวหนาแน่นเชื่อมโยงกับที่ราบลุ่มเจ้าพระยาด้วย

ระบบน้ำจากเขื่อน กลายเป็นระบบที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อที่ราบลุ่มเจ้าพระยา  ในมิติว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งคุณประโยชน์อย่างมากมาย และความเสี่ยงมากขึ้นสำหรับสังคมเมืองยุคใหม่  ทั้งนี้เขื่อนมีความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจกับสังคมเมืองอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันทางด้านภูมิศาสตร์มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับระบบน้ำอื่นๆ  ไม่ว่าแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำสายหลัก ที่สำคัญคือแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง  และระบบชลประทานในลักษณะเครือข่าย  ทว่าในหลายทศวรรษมานี้ไม่ได้พัฒนาและการจัดการอย่างสร้างสรรค์เท่าที่ควร  ทั้งๆที่ระบบน้ำเดิมออกแบบมานาน โดยมไม่อ้างอิงกับระบบเขื่อนที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้าซึ่งเกิดตามมาภายหลังนับศตวรรษ

ถนน สังคมเมืองและนิคมอุตสาหกรรม

เครือข่ายถนนมาพร้อมกับสงครามเวียดนามเช่นกัน   เริ่มต้นอย่างมีความสำคัญจากความช่วยเหลือทั้งเงินและเทคนิคจากสหรัฐฯ  แต่สิ่งตามมาด้วยอย่างมั่นคง คือความเชื่อที่ว่าด้วยชีวิตและสังคมที่อ้างอิงกับถนน และค่อยๆถอยห่างจากความเชื่อเดิมที่อ้างอิงกับแม่น้ำ ลำคลอง  ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมเมืองอย่างแท้จริง

โมเมนตัมนี้รุนแรงทีเดียว ดัชนีแสดงถึงการขยายตัวของสังคมเมือง สังคมที่อ้างอิงกับถนน รวมทั้งโรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจสมัยใหม่   โดยขยายตัวจากกรุงเทพ  สู่ชานเมือง และมีทิศทางขยายเข้าสู่ทีราบลุ่มเจาพระยามากขึ้นๆ

การขยายตัวของชุมชนและสังคมเมืองดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าการขยายตัวของโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลังปี2530 ซึ่งรัฐกระตุ้นด้วยมาตรการภาษีในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนนอกพื้นที่รอบๆและด้านใต้ของกรุงเทพฯไปสู่หัวเมืองมากขึ้น ปรากฏการณ์ขยายตัวอย่างกระจุกตัวของภาคการผลิตใหม่ ในอาณาบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา แถวปทุมธานีและอยุธยามากเป็นพิเศษจึงเกิดขึ้นจากนั้น

ทั้งนี้มาจาก หนึ่ง-เป็นอาณาบริเวณที่ใกล้กรุงเทพ–ศูนย์กลางทางธุรกิจ  และมีเครือข่ายเชื่อมโยงด้านLogisticsที่ดีทั้งการส่งออกทางอากาศและทางชายฝั่งทะเล สอง-ชุมชนเกษตรกรรมเดิมของที่ราบลุ่มเจ้าพระยามีแรงงานคุณภาพ มีการศึกษา มาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าชุมชนอื่น รวมทั้งมีแรงงานจำนวนมาก จากภาคเกษตรกรรมที่สามารถเคลื่อนย้ายอย่างยืดหยุ่นสู่ภาคการผลิตและบริการได้   สาม- ในบางมิติมองโอกาสทางธุรกิจด้านดีด้านเดียว ยังสามารถอาศัยแม่น้ำเจ้าพระยา ในฐานะเส้นทางการขนส่งสำรองได้   ทั้งนี้เท่าที่อ่านรายงานประจำของบริษัทนิคมอุตสาหกรรม ไม่ปรากฏรายงานความเสี่ยงทางธุรกิจว่าด้วยน้ำท่วมหรืออุทกภัยแม้แต่ครั้งเดียว

ในหลายกรณีการขยายสังคมเมือง(รวมทั้งภาคการผลิตและบริการ)อย่างไม่มีการวางแผน ได้ทำลายแหล่งน้ำ หรือลดพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติไปอย่างมากมายในเวลาเดียวกันด้วย

แผนทีทางเศรษฐกิจการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามทศวรรษนี้   ถือได้ว่าไม่สอดคล้องกับยุทธ์ศาสตร์เดิมของความเป็นเมืองหลวง–กรุงเทพฯอีกต่อไป

เมืองหลวงที่ตั้งขึ้นกว่าสองศตวรรษ และอีกศตวรรษต่อมาได้พัฒนาเมืองหลวงอย่างโดดเด่นในตำแหน่งของโลกมาจากระบบเศรษฐกิจเกษตรเพื่อการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ระบบภูมิศาสตร์ที่ดี ที่สนับสนุนอย่างเต็มที่

แต่เพียงประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง สภาพภูมิศาสตร์นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งเพิ่งเป็นภาพชัดเจนที่เพ่งมองเห็นในยามวิกฤติ 

หากนักวางแผนมองเห็นและเข้าใจภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของเมืองหลวงฉบับใหม่ ย่อมจะเป็นจุดตั้งต้นของการถกเถียงเพื่อแสวงหาทางออกที่ควรจะเป็นไป   ผมเชื่อเช่นนั้น

กรุงเทพในช่วงสำคัญ

2325    กรุงเทพก่อตั้งขึ้น

2380    ขุดคลองแสนแสบเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน

2433- 2448 สร้างระบบคลองรังสิต

2439 เปิดการเดินรถไฟระหว่าง กรุงเทพถึงอยุธยา ระยะทาง71 กิโลเมตร

2457 เปิดท่าอากาศยานดอนเมือง

2483 ขยายถนนพหลโยธินถึงลพบุรี

ประชาชาติธุรกิจ   31 ตุลาคม 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: