กรุงเทพฯไม่เหมือนเดิม

ผมมีความจำเป็นต้องเขียนถึงวิกฤติการณ์น้ำท่วมที่ราบลุ่มเจ้าพระยาครั้งใหญ่  ทั้งๆที่ดูเหมือนแยกออกซีรีย์ชุดที่กำลังนำเสนอต่อเนืองมา ในฐานะผู้เกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากจะเป็นคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยกำเนิดแล้ว  เมื่อปีที่แล้วในช่วงเดียวกันนี้ ผมได้เสนอเรื่องราวชุดหนึ่ง ว่าด้วยวิกฤติการณ์น้ำท่วมมาแล้วด้วย

บทความชุดนั้นได้สะท้อนแนวคิดที่อ้างอิงและพัฒนาจากวิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งก่อนหน้าที่รุนแรงน้อยกว่าครั้งนี้มาก ขณะเดียวกันจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญครั้งใหม่ได้ไปไกลจากแนวคิดของบทความที่กล่าวถึงไปมากพอสมควร  ถือโอกาสนี้สร้างภาพใหม่ที่ต่อเนื่อง  ที่สำคัญผลพวงจากวิกฤติการณ์  กระทบอย่างกว้างขวาง  จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางระดับของธุรกิจไทยด้วย  ว่าไปแล้วถือว่ามีความสัมพันธ์กับบทความชุดใหญ่(สังคมธุรกิจไทยหลังปี2540) ที่ผมกำลังเขียนอยู่

แนวคิดพื้นฐาน

แนวความคิดของบทความเมื่อปีที่แล้ว  (ว่าด้วยอุทกภัย(1)ป่าไม้ เขื่อน ถนน แม่น้ำ ว่าด้วยอุทกภัย(2) น้ำท่วมหาดใหญ่และ  ทิศทางปี2553/4(5)ระบบเศรษฐกิจถนน-แม่น้ำลำคลอง) มีสมมติฐานว่าวิกฤติการณ์นำท่วม มาจากผลพวงของการพัฒนาตั้งแต่มี(การเขียน)แผนพัฒนาฉบับแรกของไทย  ความเจริญทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้รับแรงกระตุ้นจากแนวคิดและการลงทุนจากตะวันตกและญี่ปุ่น ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังสงครามเวียดนาม ก่อให้เกิดกระบวนการใช้ประโยชน์ ดัดแปลง   ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีการวางแผนและไม่มียุทธ์ศาสตร์  ดังผมได้เสนอแนวคิดแบบ “แยกส่วน”ว่าด้วยป่าไม้ เขื่อน ถนน และแม่น้ำ ลำคลอง

 –ป่าไม้ “ข้อสรุป เป็นสูตรสำเร็จที่ว่าด้วย “นำท่วมใหญ่มาจากการตัดไม้ ทำลายป่า” นั่นอาจเป็นข้อสรุปที่ไม่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง แม้ว่าสัมปทานป่าไม้ยังคงมีอยู่บ้าง การลักลอบตัดไม้ยังมีอยู่   แต่สภาพป่าไม้ธรรมชาติของประเทศไทย ได้ถูกทำลายอย่างขนานใหญ่และรุนแรง ถึงขั้นเสียความสมดุลของธรรมชาติและระบบนิเวศน์มาแล้วเกือบสามทศวรรษ ที่สำคัญจากนั้น เป็นดัชนีถึงสาเหตุและกระบวนการ ของพัฒนาการในภาพรวมที่ขาดความสมดุล”

 -เขื่อน“ปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือปริมาณน้ำจำนวนมากไปรวมกันในที่เดียว เกินความจุของเขื่อน   เมื่อถูกปล่อยออกมาจำนวนมากในเวลาอันสั้น มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ใต้เขื่อนที่ไม่มีระบบรองรับน้ำทิ้งจากเขื่อนปริมาณมากๆอย่างที่เห็นและเป็นอยู่   แนวคิดการกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณเขื่อน เชื่อว่าสามารถควบคุมและจัดการได้ดีกว่าการปล่อยไปตามธรรมชาติ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ   โดยอยู่ภายใต้สมมตฐานว่ามีนักบริหารจัดการที่มีความสามารถ” 

–ถนน “ในเชิงภูมิศาสตร์ ยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจถนน การตัดถนนใหม่และปริมาณเส้นทางที่มีมากขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการการขยายพื้นที่ของชุมชนเมือง   ย่อมทำให้พื้นที่ราบลุ่มเดิม สำหรับเกษตรกรรมและการรับน้ำลดลงอย่างมากในเวลาเดียวกัน      นอกจากนี้โครงข่ายถนนคือ ระบบการตัดแบ่งพื้นที่ เป็นขนาดเล็กๆ จำนวนมากมายทั่วประเทศ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก” 

–แม่น้ำ ลำคลอง“ไม่เพียงไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ตามแนวเศรษฐกิจทุนนิยมสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์จะถูกละเลย และขาดการพัฒนา แม้น้ำสายเก่ายังมีอยู่เท่าเดิม มิหนำซ้ำไม่ได้ดูแล รักษา ขุดลอกร่องน้ำ มีสภาพเสื่อมโทรมลงทุกขณะ นักวางแผนยุทธ์ศาสตร์ของสังคมไทยไม่อาจจะมองเห็นคุณค่าของแม่น้ำ ลำคลองเชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่”

บทสรุปข้างต้นยังถือเป้นความเข้าใจพื้นฐานของปรากฏการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นๆอยู่   โดยสามารถขยายความเจาะจง ถึงความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับการเติบโตของสังคมเมืองที่อ้างอิงกับการขยายเครือข่ายถนน  สังคมเมืองมิใช่มีเพียงบ้านจัดสรรตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่มีสมมุติฐานตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและไม่เผชิญปัญหาน้ำท่วม หากมีภาคการผลิตและบริการเป็นเครือข่ายที่สัมพันธ์กันไม่ว่าจะเป็นโรงงาน นิคมโรงงานการผลิต เครือข่ายการค้าเดิมและสมัยใหม่ รวมทั้งภาคบริการอื่นๆ ซึ่งมาจากแนวคิดชุดเดียวกันกับการสร้างชุมชนใหม่ด้วยบ้านจัดสรรที่อ้างอิงกับถนน

ปัญหาของระบบ

ผมเคยเสนอว่าวิกฤติการณ์น้ำท่วมเมื่อปีทีแล้ว   ให้ภาพผลกระทบหลายมิติ  แม้ว่าจะให้ภาพกว้างๆ แต่ครั้งนี้ได้ยืนยันภาพนั้นอย่างเปิ่นจริงและเป็นปัญหาของระบบอย่างรุนแรงมากขึ้น

“มิติแรก อาณาบริเวณที่ได้รับผลบกระทบกว้างขวางมากขึ้น มิได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ในชุมชนเกษตรกรรมที่ราบลุ่มเท่านั้น ขยายเข้าสู่หัวเมือง จนกระทั่งเมืองใหญ่ที่สุดในต่างจังหวัด ทั้งโคราช เชียงใหม่และ หาดใหญ่ก็เผชิญปัญหามาแล้วอย่างงถ้วนทั่ว

มิติที่สอง ผลกระทบในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะที่หาดใหญ่เป็นภาพจำลองความเสี่ยหายทางเศรษฐกิจของเมืองที่มีระบบซับซ้อนมากขึ้น (ข้อความบางส่วนจากนี้อ้างมาจากบทความเรื่อง

“ปรากฏการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ มีลักษณะแตกต่างจากที่อื่นๆพอสมควร แม้ว่าจะอุบัติขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพียงประมาณ 3วันเท่านั้น แต่ก็ส่งผลกระทบเฉียบพลันในเชิงเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภคสำหรับเมืองการค่าสมัยใหม่ เมืองที่มีสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะศูนย์การค้ามากที่สุดในภูมิภาค และมีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในภูมิภาค ถูกขัดขาดค่อนข้างสิ้นเชิง ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา สื่อสาร และการคมนาคม ธุรกิจของเมืองใหญ่หยุดชะงัก”

ภาพปัจจุบันต่อเนื่องและรุนแรงมากกว่าที่ผู้คนคาดคิดไว้มาก จากชุมชนเมืองขนาดใหญ่และกลางตลอดที่ราบล่มเจ้าพระยาจากนครสวรรค์ถึงเมืองหลวง     จนถึงภาพสั่นสะเทือนวงการธุรกิจระดับโลกจากโรงงานและนิคมโรงงานหลายร้อยแห่งที่ความสัมพันธ์กับธุรกิจระดับโลกและตลาดโลก จมน้ำอย่างไม่ทันตั้งตัว

มิติที่สาม เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่มีระบบชัดเจนขึ้น การเกิดขึ้นมีอยู่เสมอ กลายเป็นปัญหาร่วมกันทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงทั้งชุมชนเกษตร ชนบท หัวเมืองและเมืองเข้าด้วยทั้งในแง่ความเสียหาย ความขัดแย้ง และความร่วมมือ

“วิกฤติการณ์น้ำท่วม กลายเป็นปัญหาระดับชาติไปอย่างแท้จริงแล้ว อาณาบริเวณของประเทศต้องเผชิญหน้าเกือบทุกปี มีระดับที่รุนแรงแตกต่างกัน ฯลฯ   เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องมีการศึกษา วางแผน มียุทธ์ศาสตร์ และกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในระดับประเทศ อย่างมีเชื่อมโยงกันแล้ว”

ดูเหมือนว่าความขัดแย้งที่อ้างถึงโดยไม่ได้ขยายความจากครั้งที่แล้ว   เป็นเรื่องใหญ่มาก กลายเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่มองเห็นอย่างชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น ไม่เพียงแนวความคิดในการแก้วิกฤติการณ์ที่อ้างอิงเชิงประโยชน์ขอกลุ่มผู้นำระดับต่างๆของระบบการบริหารและการปกครองจากตั้งแต่ท้องถิ่น ถึงระดับชาติเท่านั้น หากกระจายตัวออกไปอย่างน่าตกใจสู่ชุมชนและกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้เคียงมากขึ้นๆ เป็นปัญหาที่เพิ่มเติมจากความพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ต่อสู่กับธรรมชาติ  และถือเป้นความขัดแย้งทางสังคมที่เป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหาที่รุนแรงอย่างตั้งรับแล้วมากทีเดียว

เชื่อว่าจากนี้ในกระบวนการศึกษา วางแผนยุทธ์ศาสตร์กันครั้งใหญ่จะมีปัญหายุ่งยากอีกมากมาย ท่ามกลางแรงกดันที่ต้องพยายามแก้ปัญหาเพื่อป้องกันวิกฤติการณ์ในครั้งต่อๆไปที่มีเวลาไม่มากด้วย

แนวโน้มและแรงกดดัน

ในบทความชุดก่อนที่อ้างถึงนั้น ผมเสนอว่ากระแสหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้น

“สำหรับประเทศในป่าฝนเขตร้อน ซึ่งฝนยังตกต้องตามฤดูที่ควรจะเป็นโดยเฉลี่ย      กับแนวโน้มกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมุมมองที่กว้างขึ้น      ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและส่งแวดล้อม สัมพันธ์ อย่างสมดุล กับยุทธ์ศาสตร์—แหล่งผลิตอาหารของโลกสมัยใหม่

 ระบบเศรษฐกิจที่ว่านี้   มีความสัมพันธ์กับถนน-แม่น้ำลำคลองอย่างสมดุล

 การพัฒนาแม่น้ำลำคลองเดิม    การสร้างแม่น้ำ ลำคลองใหม่ ทั่วประเทศ  เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ด้วยแนวคิดเข่นเดียวกันถนน  โดยเชื่อมโยงไปยังเขื่อน แหล่งน้ำ หรือระบบน้ำสำคัญอื่นๆ(เช่น ระบบชลประทาน)ที่มีอยู่ในขอบเขตทั่วประเทศ

ที่สำคัญการเชื่อมโยงกับระบบการระบายน้ำท้ายเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหลาย ด้วยการขยายขนาดของแม่น้ำ -ลำคลองให้กว้างและลึกขึ้น ทั้งเชื่อมโยงกับเครือข่ายแม่น้ำลำคลองทั้งแนวขวางตะวันออก-ตะวันตก และเหนือลงใต้ เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำในกรณีอุทกภัย  กระจายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร แม้กระทั่งการกระจายน้ำเพื่อสร้างความสมดุลกับระบบนิเวศน์บริเวณแม่น้ำ-ลำคลอง

 “เครือข่ายแม่น้ำ ลำคลองใหม่ด้วยการการจัดการเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแดล้อม กับระบบเศรษฐกิจริมน้ำใหม่ เป็นทางเลือกและสร้างสมดุลโดยรวมมากขึ้น   ชุมชนใหม่นี้จะเป็นโมเดลและบทเรียนสำหรับการพัฒนา และปรับเปลี่ยน ชุมชนริมน้ำดั่งเดิมให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น (Regeneration)”

จากสถานการณ์ใหม่   แรงกดกันใหม่ ระบบเศรษฐกิจถนน-แม่น้ำ ลำคลอง  ที่ผมอ้างและเชื่อ คงดำเนินไป  ภายใต้กระบวนการต้องใช้เวลาพอสมควร   แต่โดยธรรมชาติของระบบทุนนิยม มีแรงบีบคั้นจากโอกาส จะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจะดำเนินไปเป็นทางแยกของจากสายหลักที่ผมเชื่อและว่าแล้ว ไปสุดขั้วข้างใดข้างหนึ่ง

ด้านหนึ่ง-การสร้างระบบสาธารณูปโภคใหม่ ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ท่วมครั้งใหญ่ครั้งต่อไป  แต่ทั้งนี้ดูเหมือนจะมุ่งไปที่ลดความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจมากว่าปัญหาสังคมทั่วไป  การวางแผนและการดำเนินการอย่างเร่งรีบ อาจจะกลายเป็นปัญหาภาพรวมที่ซับซ้อนมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง-ภาคการผลิต บริการของระบบเศรษฐกิจมีการเคลื่อนย้ายของจากพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา  ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจที่มากขึ้น ผมค่อนข่างแปลกใจมากทีเดียว กิจการตลาดหุ้นหลายแห่งที่ตั้งในนิคมโรงงานหรือตัวนิคมโรงงานไม่เคยรายงานความเสี่ยงที่เพิ่งเกิดขึ้นไว้ในแผนการที่อยู่เลยแม้แต่น้อย แต่จากนี้ความเสี่ยงใหม่ไม่เพียงจะต้องรายงาน อาจะต้องการลงทุนเพทื่อป้องกันรวมทั้งเคลื่อนย้ายสู่พื้นที่มีความเสี่ยงน้อยลง   ภาพสั่นสะเทือนนี้ จะขยายวงสู่การค้นคิด ปรับตัวในเชิงธุรกิจระดับต่างๆอีกมากมาย

เช่นเดียวผู้คนที่มีทางเลือกทั้งหลายคงต้องประเมินและปรับตัวเพื่อเตรียมลดความเสี่ยงในหลายรูปแบบ  รวมทั้งการเคลื่อนย้ายสู่พื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งอาจเป้นครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์ใหม่

กรุงเทพฯ—เมืองหลวงที่มีผู้คนจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนที่มากขึ้นและเพิ่มขึ้นทุกขณะ มาจากการอพยพของผู้คนต่างถิ่น ทั้งที่มาอยู่อย่างถาวรและชั่วคราว ทั้งคนท้องถิ่นและชาวงต่างชาติในประเทศเพื่อนบ้าน แต่จากนี้คนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมีบ้านหลังที่สองในสถานทีท่องเที่ยวและผักผ่อนวันหยุด  จะกลายเป็นโมเดลที่จริงจังมากขึ้น และเป็นไปได้ว่ากระจายตัวสู่ผู้คนอย่างกว้างขวางขึ้น ในความพยายามเคลื่อนย้ายออกจากกรุงเทพฯทั้งถาวรและบางช่วงบางเวลา

จากปรากฏการณ์ครั้งนี้ ว่าด้วยเฉพาะเมืองหลวงแล้ว คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

มติชนสุดสัปดาห์  4 พฤศจิกายน 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: