ผู้เล่นสำคัญ(1)

ตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนและหลังวิกฤติการณ์สะท้อนทางแยก จากภาพการเปลี่ยนตัวผู้เล่นสำคัญในตลาด ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ผู้เล่นสำคัญที่จะกล่าวถึงนี้ ชื่อเป็นทางการว่าบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์( Member)  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่านายหน้าค้าหุ้น (broker) หากกล่าวในระดับธุรกิจ คือ ธุรกิจหลักทรัพย์ (กิจการมีชื่อว่า บริษัทหลักทรัพย์…) ซึ่งมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะบทบาทในฐานะผู้ทำหน้าที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แทนนักลงทุนต่างๆไม่ว่าในฐานะบุคคลหรือสถาบัน โดยนักลงทุนไม่สามารถทำเองได้ นอกจากนี้ผู้เล่นสำคัญยังมีบทบาทในระบวนการนำบริษัท หรือหลักทรัพย์เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ตั้งแต่กระบวนให้ตำปรึกษา จัดระบบข้อมูล จัดทำคำเสนอซื้อขายหุ้นแก่นักลงทุน ก่อนเข้าตลาดหุ้น

กิจการของผู้เล่นได้รับผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียม  ในยุคตลาดหุ้นบูม มีปริมาณการซื้อขายในแต่ละวันจำนวนมาก  รายได้ของกิจการเหล่านี้ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว   ในอีกทางหนึ่ง กิจการเหล่านี้จึงมักมีความพยายามสร้างเครือข่ายนักลงทุนของตนเอง เพื่อให้มีปริมาณการซื้อขายหุ้นขยายตัวมากขึ้นๆ

ข้างต้นคือความพยายามอรรถาธิบายในเชิงเทคนิค แต่บทบาทที่สำคัญของผู้เล่นเหล่านี้ มีความสำคัญในกระบวนการสร้างโอกาสใหม่ๆในสร้างมั่งคั่งใหม่กับผู้คนอย่างเปิดกว้าง ทั้งผู้มีอำนาจเดิมหรือหน้าใหม่   การพิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจไปยังข้างในของกิจการ ย่อมจะมองเห็นภาพกว้างของสังคมธุรกิจไทยที่มีพลวัตร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงผันแปรจากวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วได้อย่างกระจ่าง

ก่อน

ในช่วงตลาดหุ้นไทยขยายตัวอย่างมาก่อนปี2540   มีบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากทีเดียวถึง 44 ราย ตามแนวคิดของบทความนี้สามารถแบ่งอออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มที่หนึ่ง– กิจการในเครือหรือมีความสัมพันธ์กับธนาคารใหญ่ของไทย กลุ่มที่สอง–กลุ่มเอกธนกิจ ภายใต้การบริหารของปิ่น จักกะพาก

กลุ่มธนาคารสำคัญที่ว่านี้หมายถึงธนาคารขนาดใหญ่ มีบทบาทสำคัญของระบบเศรษฐกิจและสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะ ธนาคารกรุงเทพ  ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์  ทั้งสามธนาคารถือว่ามีกิจการในเครือข่ายอยู่ในธุรกิจการเงินอย่างครอบถ้วน   รวมทั้งกิจการหลักทรัพย์ หรือนายหน้าค้าหุ้น แต่ละธนาคารมีกิจการเหล่านี้เป็นกลุ่มก้อนมากกว่าธนาคารอื่น หรือกิจการอื่นๆ

เท่าที่สำรวจในช่วงปี 2538-9 ธนาคารกรุงเทพ มีเครือข่ายถึง 4 กิจการ (เอเชีย สินเอเชีย ร่วมเสริมกิจ และกรุงเทพธนาธร)   เช่นเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ 4กิจการ (บุคคลัภย์ สินอุตสาหกรรม ธนชาติ และธนสยาม) และธนาคารกสิกรไทยมี 3 กิจการ (ภัทรธนกิจ ศรีมิตรและยูไนเต้ด)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับเครือข่ายเหล่านี้ มักจะมองผ่านการถือหุ้น หรือความสัมพันธ์ที่ทมองไปยังคณะผู้บริหาร แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินธุรกิจมีความอิสระจากกันพอสมควร  ทั้งนี้มาจากกติกาของธนาคารชาติ ที่ยังไม่อนุญาตธนาคารดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์โดยตรง รวมทั้งประเด็นสำคัญ ธนาคารเหล่านี้ดำเนินธุรกิจหลักของตนไปได้อย่างดี มิได้มีแรงบันดาลใจในธุรกิจหลักทรัพย์อย่างจริงจังและเข้มข้น   เช่น ปิ่น  จักกะพาก

“ปี2527 ปิ่น จักกะพาก ในการชักนำ BNP Paribas ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งฝรั่งเศส เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินยิบอินซอย(ชื่อเดิมของเอกธนกิจ)ได้นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นในยุคใหม่ของธุรกิจการเงินดั้งเดิมแห่งนี้ ในปี2531 เอกธนกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในจังหวะทีดีมากจากการเปิดตลาดการเงินครั้งใหม่ ถือเป็นพัฒนาก้าวกระโดดรอบใหม่ของสังคมไทย   ด้วยโมเดลธุรกิจที่น่าทึ่ง สะสมทุนอย่างรวดเร็วจากตลาดทุน ตามแผนการนำกิจการเข้าตลาดหุ้น จากฐานธุรกิจเงินทุน สู่อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมเป็นขั้นๆ ขณะเดียวสร้างฐานกิจการค้าหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย(เป็นกลุ่มเดียวที่มีกิจการค้าหลักทรัพย์ถึง5-6 แห่ง) รวมทั้งการขยายตัวทางลัดด้วยการเทคโอเวอร์กิจการต่างๆอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโมเดล  ส่งอิทธิพลต่อทั้งคนรุ่นใหม่แลกลุ่มธุรกิจดังเดิมให้เดินตามอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่ปี2529-2539 สินทรัพย์ของกลุ่มเอกธนกิจได้ขยายตัวอย่างมหัศจรรย์เกือบ50เท่า จากระดับสองพันล้านบาท ทะลุหนึ่งแสนล้านบาท ในปี2539”(จากบางตอน

 โฉมหน้าผู้บุกรุก(1))

มองระดับลึกลงไปอีกขั้น  ยุทธ์ศาสตร์การขยายตัวอย่างมหัศจรรย์ของเอกธนกิจเพื่อให้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมธนาคารไทย ผ่านกลไกตลาดหุ้น    แม้ว่ามีเครือข่ายมาถึง6ราย (เอกธำรง เอกธนา เอกเอเชีย เอกชาติ เอกสิน และเจเอฟธนาคม) ซึ่งมากกว่าเครือข่ายธนาคารสำคัญเพียงเล็กน้อย แต่บทบาทและความตั้งใจภายใต้การบริหารที่มีแนวทางแน่ชัด   ไม่ว่าการขยายเครือข่ายในเชิงภูมิศาสตร์ด้วยการสร้างสำนักงานค้าหุนกระจายไปทั้งกรุงเทพ ปริมณฑลและจังหวัดใหญ่อย่างกว้างขวาง หากมองในแง่นี้ถือว่ามีเครือข่ายมากกว่ากลุ่มธนาคารอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ยังไม่รวมกับกิจการ่วมทุนกับเครือข่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศ( Jardine Fleming) ในเจเอฟ ธนาคม ที่บริหารงานโดยกรณ์  จาติกวณิช ในความพยายามการสร้างเครือข่ายค้าลูกค้าที่มาจากต่างปีระเทศด้วย   นอกจากนี้ยังถือเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของบทบาทการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุนไทย

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญแสดงออกจากการครอบครองส่วนแบ่งการค้าหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ บางช่วงบางเวลาครองส่วนมากกว่า30% ของการซื้อขายในตลาดหุ้นโดยรวมแต่ละวัน   ทั้งนี้ยังไม่รวมกับการมีกิจการที่เป็นหลักทรัพย์หรือสินค้าในตลาดหุ้นจำนวนมากที่สุดด้วย

หลัง

เมื่อเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ ตลาดหุ้นถดถอยอย่างรุนแรง กิจการหลักทรัพย์ของเครือข่ายเอกธนกิจล่มสลายไปตามกิจการหลัก ใบอนุญาตทีอยู่ถูกเปลี่ยนมืออย่างสับสน  เช่นเดียวกับเครือข่ายธนาคารที่พยายามเอาตัวรอดในกิจการหลัก โดยปล่อยให้เครือข่ายหลักทรัพย์ของตนเองต้องมีอันเป็นไป ส่วนใหญ่เปลี่ยนมือไปอยู่ในเครือข่ายต่างประเทศ   ดูเหมือนตอนนั้นในช่วงตลาดหุ้นซบเซาอย่างยิ่ง จึงไม่ค่อยมีใครสนใจปรากฏการณ์

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็พบว่าโครงสร่างผู้เล่นในตลาดหุ้นไทยได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

เครือข่ายค้าหลักทรัพย์ของสิงคโปร์รุกเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างชนิดเฉียบพลันก็ว่าได้ เพียงปีเดียวในช่วงวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญเมื่อทศวรรษที่แล้ว เครือข่ายเหล่านี้มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญแทบจะทันที่” ผมเคยสรุปภาพใหม่เอาไว้ครั้งหนึ่ง ในบทความที่ให้ความสำคัญเฉพาะเครือข่ายธุรกิจสิงคโปร์ในประเทศไทย (จากเรื่อง เครือข่ายการเงินสิงคโปร์)

ทั้ง DBS และ UOB ธนาคารใหญ่ของสิงคโปร์เข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทย ในยุคที่ธนาคารไทยยังสาละวนแก้ปัญหาธุรกิจหลักของตนเอง

DBS ข้าซื้อหุ้นข้างมากในบริษัทหลักทรัพย์ศรีธนาของตระกูลศรีวิกรม์ กลางปี2541   ก่อนหน้าที่เข้าซื้อกิจการธนาคารในปลายปีเดียวกัน แต่ต้องถูกสั่งปิดกิจการไปรวมกับไฟแนนซ์ 56 แห่ง แต่ต่อมาได้ประมูลสินทรัพย์ DBS เข้าซื้อกิจการ แม้จะเป็นเพียงซับโบรกเกอร์เท่านั้น   DBS จึงได้ซื้อกิจการนายหน้าค้าหุ้นรายใหญ่ในสิงคโปร์ – Vickers Ballas (VB) ซึ่งมีกิจการในเมืองไทยด้วย จาก VB เข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์ของนวธนกิจมาในช่วง 2541-2542 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นนววิคเคอร์บัลลาส

ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด คือเครือข่ายค้าหลักทรัพย์ของ DBS   ซึ่งผนึกกันเป็นกิจการเดียวกันตั้งแต่ปี2544

ส่วน UOB ได้เข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์มหาสมุทรในปี 2543 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท หลักทรัพย์ ยูโอบี (ประเทศไทย)  และต่อมามีการรวมตัวกันทางธุรกิจระหว่าง UOB Securities และKay Hian Holdings Ltd  ในสิงคโปร์ เพื่อดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ระดับภูมิภาค ปีถัดมา UOB Kay Hian เข้าถือหุ้นเกือบ 100% ในกิจการในประเทศไทยพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และในปีเดียวกันนี้ ได้ซื้อธุรกิจรายย่อยจาก บริษัทหลักทรัพย์บีเอ็นพี พาริบาส์ พีรีกรีน (ประเทศไทย)  จำกัด ด้วย

จากนั้นเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์หรือนายหน้าค้าหุ้นของUOB ครอบคลุมระดับภูมิภาคทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย

เครือข่ายทรงอิทธิพลของสิงคโปร์ในตลาดหุ้นไทยยังมีอีก โดยเฉพาะผู้ค้าหลักทรัพย์ที่เอาการเอางานที่สุดในตลาดหุ้นไทยบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง   ใช้เวลาเพียง 4-5 ปี สามารถก้าวขึ้นผู้ค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย

Kimeng Holdings Limited ก่อตั้งที่สิงคโปร์เมื่อปี 2532 ในปีเดียวกันนั้นได้เริ่มต้นกิจการค้าหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ โดยเปิดสาขาในฮ่องกงทันที และในปีต่อมาเปิดสำนักงานขายในลอนดอน การขยายกิจการสู่เมืองไทย—บริษัทหลักทรัพย์กิมเองในปี2541 ด้วยการประมูลซื้อกิจการหลักทรัพย์นิธิภัทธ ในช่วงเวลาที่สถาบันการเงินไทยเผชิญวิกฤติการณ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการขยายตัวสู่ภูมิภาค สู่อินโดนิเชีย มาเลเซียในปี 2543 สำนักงานที่นิวยอร์ก สหรัฐฯในปี 2544 และ ฟิลิปปินส์ในปี 2546

กิมเองก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในเมืองไทย เกิดการเข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์หยวนต้าของไต้หวันในประเทศไทยในปี 2544 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่าง Kimeng Holdings และYuanta Financial Holdings แห่งไต้หวัน ในแผนยุทธ์ศาสตร์ขยายธุรกิจให้กว้างขึ้นทั่วเอเชีย ภายในเวลาอันรวดเร็ว

Yuanta Financial Holdingsก่อตั้งในปี 2501 เป็นกิจการหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีเครือข่ายทั้งในไต้หวัน ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือและแบ่งเขตอิทธิพลระหว่าง กันของ Kimeng และ Yuanta สำหรับตลาดหุ้นไทย แล้วเมื่อกิมเองซื้อกิจการหยวนต้าแล้ว ในทันทีก็ก้าวขึ้นเป็นโปรกเกอร์อันดับหนึ่งในทันทีตั้งแต่นั้นมา

ยังมีโปรกเกอร์ที่ประกาศชัดว่าเป็นกิจการในเครือข่ายสิงคโปร์ที่ควรกล่าวถึง  ซึ่งมีที่มาที่ไปคล้ายๆกันอย่างที่ว่ามาแล้ว   Phillip Brokerage กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (ต่อมาขายเครือข่ายบริการการเงินกว้างขวางขึ้นนาม Phillip Capital) เริ่มก่อตั้งที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2518 ต่อมาขยายเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์ โดยมีสำนักงาน 30 แห่งใน 11 ประเทศทั่วโลก  เริ่มขยายเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย โดยเข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์ในเครือข่ายกลุ่มเอกธนกิจ –หลักทรัพย์เอกเอเชีย  ซึ่งในปลาย ปี 2540 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ต่อมาได้มีการขยายกิจการ สำนักงานบริการในกรุงเทพฯ 7 แห่ง รวมถึงต่างจังหวัดในเมืองใหญ่ๆอีก 5 แห่ง

ทุกวันนี้ผู้ค้าหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นไทยที่ประกาศตนเองอย่างเปิดเผยว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจจากสิงคโปร์  มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญในฐานะมียอดการซื้อขายหุ้นรวมกัน มีน้ำหนักมากกว่า20% ของการซื้อขายแต่ละวัน

แต่ภาพรวมมีมิติกว้างมากกว่านี้  โดยเฉพาะโครงสร้างสำคัญอิทธิพลเครือข่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ที่มีมากขึ้นอย่างมาก มีส่วนผสมที่น่าสนใจ ทั้งเครือข่ายจากโลกตะวันตก สู่ตะวันออก รวมทั้งความพยายามครั้งใหม่ของธนาคารใหญ่ของไทย หลังจากเอาตัวรอดมาได้ระยะหนึ่ง ในความพยายามกลับเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง แม้จะดูช้าไปบ้างก็ตาม

เพื่อเชื่อมโยงสู่ภาพเปลี่ยนแปลงที่มีสีสันอย่างชัดเจน จำเป็นต้องอรรถาธิบายต่ออีกตอนหนึ่ง

มติชนสุดสัปดาห์   26 สิงหาคม 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “ผู้เล่นสำคัญ(1)”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: