หลายคนเชื่อว่า แลนด์แอนด์เฮาส์ กลับมายืนอย่างแข้งแกร่งอย่างรวดเร็วจากวิกฤติการณ์ มาจากเงินลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ แต่ผมเชื่อว่ามีอีกบางมิติที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการค้นหาและประเมินคุณค่าแท้จริงของแลนด์แอนด์เฮาส์ ถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญสำหรับนักลงทุนที่อ้างว่ามองภาพใหญ่ แต่กลับสนใจลงทุนธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับผู้บริโภคระดับชุมชน
เมื่อพิจารณาเครือข่ายการลงทุนของสิงคโปร์ในประเทศไทย พบว่า กรณีแลนด์แอนด์เฮาส์ ถือเป็นครั้งแรกๆของ GIC (Government of Singapore Investment Corporation Pte Ltd) ในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผู้คนในสังคมไทยบางส่วนคาดการณ์ว่า จากความเป็นหน่วยงานลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ อาจมีความเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์ไปไกลกว่าการลงทุนธรรมดา ก็แล้วจะคิดกัน ขณะที่ข้อมูลของ GICเองไม่ถือว่าการลงทุนครั้งนี้มีความสำคัญนัก เมื่อเปรียบเทียบในภูมิภาคเดียวกัน ด้วยไม่ปรากฏในรายงานฉบับสำคัญๆ ของ GIC ขณะที่การลงทุนกรณีอื่นๆที่ใหญ่กว่ามากปรากฏไว้อย่างเด่นชัด เช่น Seoul Finance Centre–South Korea, Shiodome City Centre,–Japan, China Industrial Bank Co Ltd—China, China International Capital Corporation (CICC)–China, Infrastructure Development Finance Company (IDFC)–India
จากข้อมูลชุดเดียวกันของ ระบุว่า GIC–หน่วยงานลงทุนของรัฐบาลมุ่งมองเป็าหมายการลงทุนในระยะยาว โดยมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์ เมื่อเปรียบเทียบกับTemasek Holdings หน่วยงานลงทุนสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีบทบาทในเมืองไทยอย่างน่าตื่นเต้นนั้นแล้ว ถือได้ว่า GIC เป็นหน่วยการลงทุนที่มีแนวทางอนุรักษนิยมมากกว่า และดูมีสีสันน้อยกว่า อย่างไรก็ตามทั้งสองหน่วยลงทุนสำคัญของสิงคโปร์ ถือว่ามีแนวทางในทำนองเดียวกัน สอดคล้องกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและจากนี้ไปนั่นคือ ความพยายามปรับPortfolio จากการลงทุนที่เน้นหนักในซีกโลกตะวันตก(ถูกวิจารณ์ว่าขาดทุนไปมากในหลายกรณี) มาสู่ตะวันออกในฐานะตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
ข้อมูลที่น่าสนใจจากนั้น Lee Kuan Yew ผู้นำที่ทรงอิทธิพลของสิงคโปร์ เคยเป็นประธานกรรมการ GIC มานาน เพิ่งลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2554) แต่ยังเป็น SENIOR ADVISORอยู่ โดยบุตรชาย— Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ส่วน Temasek Holdings คณะกรรมการและผู้บริหารส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วย ผู้มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจ โดยมี Ho Ching ภรรยาของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารคนสำคัญ
อย่างไรก็ตามมองในมุมแคบลง ถือได้ว่า แลนด์แอนด์เฮาส์ เป็นกิจการมีคุณค่าพอสมควรในสายตาของสิงคโปร์ และไม่อาจปฎิเสธได้ว่า มาจากอนันต์ อัศวโภคิน กับบทบาทการสร้างแลนด์แอนด์เฮาส์ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว
ความจริงแล้ว แลนด์แอนด์เฮาส์ มีความสายสัมพันธ์ระดับภูมิภาค มาตั้งแต่ยุคพัฒนาใหม่อย่างรุ่งโรจน์(ราวปี2538-9) ด้วยมีความร่วมมือร่วมทุนระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับกระแสและทิศทางของธุรกิจไทยเวลานั้น ในเวลาต่อมาแม้มีบางบทสรุปว่า เป็นช่วงเวลาสั้นๆแห่งความห้าวหาญเกินเหตุของธุรกิจไทย แต่สำหรับอนันต์ อัศวโภคิน ถือว่าไม่เป็นเช่นนั้น หากเป็นผลพวงที่ส่งผลดีในเวลาต่อมา
“2538
–ร่วมทุนกับ Manuela Corporation ก่อตั้ง M L&H Corporation ในประเทศฟิลิปินส์ โดยแลนด์แอนด์เฮาส์ เข้าถือหุ้น 40% เพื่อเข้าไปปรับโครงสร้างทางการเงินของ Bonafacio Land Corporation ต่อมาได้ขายหุ้นทั้งหมดให้ ML&H ในราคา 1,483 ล้านบาท
2538
เข้าร่วมทุน พันธมิตรสิงคโปร์ ประกอบด้วย Government of Singapore Investment Corporation (GIC) และ OCBC Capital Management, บริษัทย่อยของ OCBC Bank Group การร่วมทุนในประเทศไทยตามแผนมีทุน 2,500 ล้านบาท ใน3 ปีแรก และจะขยายไปเป็น 5,000 ล้านบาท ต่อไป ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารกรุงเทพ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทร และ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์วรรณ ซึ่งแต่ละแห่งถือหุ้น 12.5% ขณะที่กลุ่มทุนสิงคโปร์ ถือหุ้น 50% ต่อมาการลงทุนดังกล่าวได้ยกเลิกไป
2539
-ร่วมหุ้นกับบริษัทอินโดนีเซีย 5 บริษัท ได้แก่ PT PRIMA SEHATI, PT MEKANUSA CIPTA, PT ANEKAGRIYA, PT RUMINUSA, PT KANAKA GRANAASRI, และ PT PUTRA PRABUKRAYA เพื่อเข้าไปลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทถือหุ้น19.9% ในแต่ละบริษัท” ข้อมูลของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ระบุไว้
GIC เข้ามาถือหุ้น แลนด์แอนด์เฮาส์ และควอลิตี้ เฮาส์ ในสัดส่วนที่มีความสำคัญ ทั้งส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการ โดยเฉพาะที่แลนด์แอนด์เฮาส์ด้วย ทั้งนี้ทั้งสองบริษัทยังได้ร่วมก่อตั้งและ เข้าถือหุ้นใหญ่ (ร่วมกันประมาณ สองในสาม) ในบริษัทแอลเอชไฟแนนซเชียลกรุ๊ป ซึ่งเป็นHolding companyเข้าถือหุ้น100%ในเครือข่ายการเงินใหม่—ธนาคารแลนดแอนดเฮาส์เพื่อรายย่อย ภาพใหญ่ภาพใหม่ของแลนด์แอนด์เฮาส์ ย่อมต่อเนื่องมาจากฐานการลงทุนที่ควรสนใจ และน่าติดตามของ GIC ด้วยอย่างมิพักสงสับ
ผมเคยเสนอมาครั้งหนึ่งว่า แลนด์แอนด์เฮาส์ เป็นผู้สร้างบุคลิกของชุมชนและเมือง โดยมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและสังคมสมัยใหม่ เป็นภาพสะท้อนของการเติบโตของเมืองหลวง–กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบทบาทในการสร้างชุมชนใหม่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่า “กรุงเทพฯและปริมณฑล” โดยเฉพาะในช่วงเวลาการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างไม่หยุดยั้ง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่อมองจากฐานลูกค้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหม่ของเมืองหลวง เป็นคนกลุ่มที่ได้อานิสงส์เติบโตจากภาวะเศรษฐกิจ บางคนเรียกว่าเป็นการเกิดขึ้นของ “กลุ่มชนชั้นกลางใหม่” ด้วยอ้างอิงกับกับราคาบ้านของแลนด์แอนด์เฮาส์ และควอลิตี้ เฮาส์ ซึ่งพุ่งเป้ากลุ่มระดับกลางและบนเป็นสำคัญ ฐานลูกค้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ และควอลิตี้เฮาส์ถือเป็นฐานข้อมูลชุดสำคัญชุดใหญ่ เป็นข้อมูลที่มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องตลอดช่วง2ทศวรรษ ฐานข้อมูลลูกค้าชุดนี้ ย่อมให้มิติของเรืองราวมากกว่าฐานข้อมูลลูกค้าในทางธุรกิจและการตลาดเท่านั้น
การเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มสำคัญของแลนด์แอนด์เฮาส์และควอลิตี้ เฮาส์ ให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากกว่าฐานข้อมูลลูกค้าในธุรกิจอื่นๆ เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ด้วยเชื่อมโยงกับข้อมูลทางการเงิน ย่อมไม่เพียงให้ภาพการเปลี่ยนแปลงรากฐานของสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในมิติกว้างเท่านั้น หากย่อมเป็นเรื่องน่าสนใจเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หรือในฐานะนักวางแผนของสังคมก็ตาม
สำหรับธุรกิจหนึ่งๆในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมธุรกิจไทย ถือว่า ฐานลูกค้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ คือคุณค่าอย่างแท้จริง ดังผมเคยทีบทสรุปไว้ก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มธุรกิจใหม่หรือ “ผู้มาใหม่”ที่สามารถอยู่รอด จากการทดสอบครั้งสำคัญในช่วงต่างๆมาได้นั้น มักมาจากธุรกิจมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับลูกค้าฐานกว้าง
ในแง่ปัจเจกแล้ว อนันต์ อัศวโภคิน คือบุคคลหนึ่ง ไม่เป็นเพียงผู้ผ่านประสบการณ์ช่วงสำคัญที่น่าจดจำเท่านั้น หากเป็นเพียงไม่กี่คน ที่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างน่าสนใจ
————————————————————————————————————
เหตุการณ์สำคัญ
2542 – 2543
ควอลิตี้ เฮาส์ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารและสถาบันการเงินและสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ด้วยดี
2542(กันยายน)
แลนด์แอนด์เฮาส์ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโครงสร้างผู้ถือหุ้น GIC (Government of Singapore Investment Corporation Pte Ltd.) ได้เข้าถือหุ้น 21.17% ได้เงินเพิ่มทุนทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท
2542(พฤศจิกายน)
แลนด์แอนด์เฮาส์ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เกือบ 20.000 ล้านบาท ถือว่าเสร็จสิ้นเกือบทั้งหมด ในหลายวิธีตั้งแต่การยืดการชำระหนี้ แปลงหนี้เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพ ไปจนถึงลดหนี้ลงจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ระดมทุนอีกครั้งด้วยการเพิ่มทุน ขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม ได้เงินประมาณ 3000 ล้านบาท
2544
ควอลิตี้ เฮาส์ได้เพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นให้แก่ Government of Singapore Investment Corporation Pte Ltd. (GIC) สัดส่วน 20% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท
2544(กันยายน)
แลนด์แอนด์เฮาส์ขายเงินลงทุนทั้งสิ้นใน บ.สยามสินธร 14.49% ในราคาหุ้นละ 1 สตางค์ และขายเงินลงทุนใน โนเบิ้ลเคลียร์โฮลดิ้ง (บีวีไอ) 14.42% ในราคาหุ้นละ 1 สตางค์ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีผลขาดทุนเกินทุนเป็นจำนวนมาก
2544
แลนด์แอนด์เฮาส์นำกลยุทธ์ “บ้านสบายสร้างเสร็จก่อนขาย” มาใช้ในการพัฒนาโครงการทุกๆโครงการ
2546
การพัฒนาระบบการก่อสร้างแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีในการก่อสร้างเข้ามาใช้ คือระบบผนังสำเร็จรูป (Pre-Fab) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้าง ความแม่นยำและความรวดเร็ว
2548
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้เปิดดำเนินการ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2548 มาจากความร่วมมือกันของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และควอลิตี้เฮาส์
2554
แลนด์แอนด์เฮาส์ ได้ขายหุ้นบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ จำนวน 24.99 % ให้กับบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท