ARCHIVE–เฉลียว Red Bull

เรื่องราวของเศรษฐี ย่อมเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมไทยเสมอ  โดยเฉพาะเศรษฐีไทยระดับโลก3 คนที่ประกาศโดยนิตรสารฝรั่งไปเมื่อไม่นานมานี้ สองคนในนั้นมีเรื่องราวของเขาเสนอมามากแล้ว แต่อีกคนหนึ่งที่เชื่อว่ายังดูลึกลับ และน่าสนใจอยู่พอสมควรเฉลียว อยู่วิทยา

สำหรับธนินทร์ เจียรวานนท์ แห่งซีพี และเจริญ สิริวัฒนาภักดี  แห่งกลุ่มไทยเจริญนั้น ดูเหมือนเป็นที่ยอมรับโดยดุษณีว่า ทั้งสองเป็นนักธุรกิจที่มีเครือข่ายธุรกิจอิทธิพล และมีเครื่อข่ายธุรกิจกว้างขวางอย่างมากในประเทศไทย  โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มธุรกิจของเฉลียว  อยู่วิทยา บทวิเคราะห์ถึงบุคคลทั้งสามที่น่าสนใจต่อจากนี้ไป ควรว่าด้วยความร่ำรวยหรือความมั่งคั่งของนักธุรกิจไทย หรือเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสถานการณ์ และระบบโดยรวมของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษนี้อย่างแนบแน่นอย่างไร

ผมค่อนข้างเชื่อว่าทั้งธนินทร์ และเจริญ นั้นมีความชัดเจนในประเด็นข้างต้นอย่างมาก ส่วนเฉลียวนั้น ยังเป็นปริศนาที่ควรค้นหาต่อไปพอสมควร

Forbes

นิตยสารธุรกิจอเมริกันฉบับนี้ มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องความสามารถของปัจเจก ตามแนวคิดของทุนนิยมอย่างเต็มที โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความมั่งคั่งของบุคคล โดยมีการจัดอันดับผู้คนอย่างหลากหลายมากมาย บางครั้งดูมากเกินความจำเป็น อาทิ   World’s Billionaires World’s Most Powerful People   World’s Most Powerful Women     แล้วยังแยกย่อยระดับประเทศอีกเช่น 400 Richest Americans 40 Richest China’s  40 Richest  Taiwan’s 40 RichestHong Kong’s 40 Richest  India’s  100 Richest  Japan’s  และThailand’s 40 Richest   เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับที่ว่านี้(World’s Billionaires) มีข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการ  หนึ่ง-การจัดอันดับที่เชื่อมโยงกับสังคมเศรษฐกิจไทยมีขึ้นหลังวิกฤติการณ์ปี2540 บุคคลที่ถือว่าร่ำรวยในช่วงจากนี้ ได้ผ่านการคัดเลือกอันเข้มข้นจากวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุด   พึงสังเกตว่าบุคคลเหล่านี้ เป็นผลผลิตมาจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาระยะหนึ่ง หรือในยุคสงครามเวียดนามต่อเนื่องมา    อาจจะกล่าวทั้งสามบุคคลกับเครือข่ายธุรกิจของเขาถือเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจ การสร้างมั่งคั่งอย่างมาก เพียงเพิ่งผ่านมาจากคนรุ่นเดียวเท่านั้น

สอง-กิจการของพวกเขาเป็นกิจการเชื่อมโยงกับลูกค้าที่มีฐานกว้างขวาง และมิใช่อยู่ในธุรกิจการเงินตามโมเดลการระดมเงินจากสาธารณะชน สนับสนุนกิจการในเครือข่ายตนเองในอดีตที่เพิ่งผ่านพ้น แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มต้น หรือยังอ้างอิงกับอิทธิพลจากรัฐอยู่ แต่ที่แตกต่างออกไป  เครือข่ายธุรกิจเหลานี้ อิงตลาดพื้นฐานอย่างกว้างขวาง รวมทั้งฐานตลาดในต่างประเทศด้วย

ในฐานะผู้ติดตามอันดับของ Forbes มาระยะหนึ่งพบว่า โมเดลความร่ำรวยของผู้คนระดับโลก เคลื่อนตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปบ้างพอสมควรในทำนองเดียวกัน จาก ราชินีเครือจักรภพ หรือผู้ครองรัฐที่มีน้ำมันจากตะวันออกกลางถึงบรูไน ไปจนถึงเจ้าของกิจการซอฟแวร์ที่ขายในตลาดทั่วโลกอย่าง Bill Gates   และมาเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อสารในปัจจุบัน ถือว่ามีการเคลื่อนย้าย จากโมเดลธุรกิจจากผู้ถือครองในสินทรัพย์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมาย มาสู่ธุรกิจมีเครือข่ายลูกค้าและตลาดที่กว้างขวางมาก

เฉลียว อยู่วิทยา

เรื่องราวของเขามีค่อนข้างน้อยในสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ    ผมเองเคยเขียนถึงเขาครั้งล่าสุดเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว  ว่าด้วยโมเดลของบุคคลธรรมดา สามารถไต่เต้าภายใต้ยุคที่มีผู้ครอบครองอย่างหนาแน่น การสร้างกิจการทีซีฟาร์มาซูทิคอล เติบโตอย่างเงียบๆ จากนักขายยาของบริษัทต่างชาติ ไปสู่การสร้างกิจการสร้างกิจการด้วยตนเองพร้อมๆกับ ตัวแทนผลิตและจำหน่ายสินค้าต่างประเทศ  จนถึงผลิตสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังเข้าสู่ตลาดฐานกว้างในนาม “กระทิงแดง” ในยุคหลังสงครามเวียดนาม ภายใต้แรงกระตุ้นให้ภูมิภาคหรือผู้คนฐานกว้างบริโภคสินค้าสมัยใหม่มากขึ้นในยุคเดียวกับการขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดของสินค้าคอนซูเมอร์ของกลุ่มสหพัฒน์ฯ สะสมความมั่งคั่งได้พอสมควร ต่อมาเข้าจึงเข้าถือหุ้นจำนวนพอสมควรในธนาคารกสิกรไทยในยุคที่ผู้ร่ำรวยคนไทย มองธนาคารเป็นเป้าหมายอันสูงส่ง จนได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมการธนาคาร

เขาอยู่ในตำแหน่งกรรมการธนาคารมายาวนาน ซึ่งเข้าใจกันในเวลาต่อมาว่าเป็นการลงทุนในกิจการทีมีการบริหารจัดการทีดี  เมื่อธนาคารแห่งนี้ปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองระบบธนาคารโลก จากวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ เขาก็พ้นตำแหน่งกรรมการไป

ตอนนั้นแม้ว่าจะประเมินกันว่าเฉลียว อยู่วิทยา ร่ำรวยอย่างเงียบๆ แต่ก็คงไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะสามารถทัดเทียมกับคนอื่นๆบางคน  โดยเฉพาะธนินท์ เจียรวานนท์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี

ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา Forbesบรรจุชื่อเฉลียว อยู่วิทยา เข้าอยู่ในกลุ่มผู้ร่ำรวยระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ (World’s Billionaires) ในอันดับสูงที่ที่สุดของคนไทย บ่อยครั้งก็อยู่ในอันดับหนึ่ง    เป็นที่น่าสงสัยของผู้คนในสังคมธุรกิจไทยพอสมควร คำอธิบายของForbesอย่างสั้นๆมองว่าการเฉลียวเป็นผู้ร่วมทุนคนสำคัญของ Red Bull   เครื่องดื่มชูกำลังที่กำลังขายดีในตลาดโลก    อย่างไรก็ตามผู้คนในสังคมไทยก็ยังประเมินสิ่งนั้นไปต่างๆนานา

Red Bull

ยอมรับว่าข้อมูลเกี่ยวกับ Red Bull ในประเทศมีน้อยมาก ข้อมูลจะวนเวียนอย่างทีกล่าวกันไปมา เหมือนอย่างที่ Forbes สรุปสั้นๆในตอนจัดอันดับ   หากศึกษาจากสื่อต่างประเทศแล้ว เรื่องราวของ Red Bull มีมากพอสมควร สื่อระดับโลก นอกจาก Forbes แล้วก็มี The Times (London)   Economist    เป็นต้น      รายงานเรื่องนี้มาแล้ว แต่น่าเสียดายที่พาดถึงเฉลียว อยู่วิทยาไม่มากนัก หรือเป็นไปได้ว่าเรื่องราวของเฉลียว อยู่วิทยามีสาระสำคัญเพียงแค่นั้น

เคยมีผู้คนสงสัยกันว่า Red Bull เป็นของใครกันแน่แน่ โดยเฉพาะเมื่อไปดู http://www.redbull.com ซึ่งถือว่า websiteทางการของ Red Bull   ระบุไว้อย่างจริงจังว่า Dietrich Mateschitz  เป็นคนสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา ในขณะสื่อไทยยังประเมินเรื่องค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อต่างประเทศ

เรื่องราวของคนๆนี้ มีสีสันและรายละเอียดมากกว่าเฉลียว อยู่วิทยา ประหนึ่งเป็นตำนานอันน่าทึ่งของนักธุรกิจยุโรปก็ว่าได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรีย ในฐานะผู้สร้างความร่ำรวยโดยใช้เวลาอันสั้นเพียง 2ทศวรรษ ก้าวขึ้นเป็นผู้รำรวยที่สุดในประเทศนี้ เพียงเพราะเป็นผู้ขยายตลาดทั่วโลกของ Red Bull

Dietrich Mateschitz(อายุ66ปี) เป็นชาวออสเตรียเชื้อสายโครเอเชีย  หลังจากจบการศึกษาViennaUniversityof Economics and Business Administration ก็เป็นนักขายให้กับบริษัทต่างชาติ เช่นเดียวกับเฉลียว (เขาขายสินค้าคอนซูเมอร์ของ Unileverขณะที่เฉลียวเคยขายยาให้กับ FE Zuellig) แต่อายุห่างกันประมาณหนึ่งรอบ(เฉลียว อายุ 79 ปี)   เขาทั้งสองโคจรมาพบกันเมื่อ Dietrich Mateschitz   เป็นผู้รับผิดชอบการตลาดยาสีฟันBlendax (ตอนนั้นเป็นของเยอรมนี) ซึ่งกำลังขยายเครือข่ายการจำหน่ายทั่วโลก โดยมี เฉลียว อยู่วิทยาเป็นตัวแทนตำหน่ายในประเทศไทย

Dietrich Mateschitz มีโอกาสรู้จักเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” ซึ่งกำลังเติบโตในตลาดประเทศไทย เขาเกิดความคิดจะนำสินค้านี้ไปสู่ตลาดใหม่ในยุโรป อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดทั้งรสชาติและแบรนด์ จึงเป็นที่มาของ Red Bull     ดังนั้นที่เขาอ้างว่าเป็นสร้าง Red Bull ก็น่าพอรับฟังได้

ข้อมูลทั่วไปที่รับรู้กันคือ Red Bull GmbH ที่ตั้งขึ้นในออสเตรีย ในปี 2527 ถือหุ้นร่วมกับระหว่างเขากับเฉลียว อยู่วิทยาในสัดส่วนที่เท่าๆกัน 49%โดยมีเฉลิม บุตรคนโตของแฉลียว ถือหุ้นส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ Dietrich Mateschitz  เป็นผู้บริหารกิจการ

Billionaires

เรื่องราวความสามารถของนักการตลาดคนหนึ่งของโลกได้รับการยกย่องไปทั่ว  ด้วยการสร้างสินค้าใหม่ เข้าสู่ตลาดใหม่ และสร้างประเภทตลาดขึ้นใหม่อย่างมหัศจรรย์

Dietrich Mateschitz ใช้เวลาเรียนรู้สินค้าจากตะวันออกกับตลาดยุโรป ในประเทศของตนเองเป็นเวลาประมาณ 5ปี ก็สามารถยึดตลาดออสเตรียได้ จากนั้นคือการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในปี2535  ความสำเร็จครั้งสำคัญคือการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยผ่านทางมลรัฐแคลิฟอร์เนีย    ในปี 2545  รวมทั้งได้ตั้งสำนักงานใหญ่สำหรับภูมิภาคขึ้นที่ดูไบ ในตอนนั้นสังคมธุรกิจระดับโลกยอมรับการแล้ว   Red Bull เป็นสินค้าอันดับหนึ่งของตลาดสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังที่กำลังเติบโตอย่างมากในโลกตะวันตก ครอบคลุมตลาดประมาณ100 ประเทศ โดยครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 70%

“ในปี2010  Red Bull มียอดขายประมาณ  4 พันล้านกระป๋อง และบริษัทมียอดขาย 3.7854   พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.8%”รายงานล่าสุด (www.redbull.com)

ยุทธ์ศาสตร์ของธุรกิจมุ่งไปที่การสร้างความเชื่อมโยงกับกีฬาโลดโผน และต่อมาเป็นดนตรี  ปัจจุบัน Red Bull มีทีมกีฬาของตนเองในหลายประเทศทั่วโลก

ความสำเร็จของRed Bull ในตลาดโลกเป็นเรื่องตื่นเต้นในระดับโลกมากกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะที่ทั้ง Dietrich Mateschitz  และเฉลียว อยู่วิทยา อยู่ในรายชื่อของWorld’s Billionaires ครั้งแรกในปี 2546      นอกจากจะเป็นเรื่องตื่นเต้นพอสมควร โดยเฉพาะในประเทศไทยและออสเตรียแล้ว ถือว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสำเร็จของ Red Bull โดยตรง

ทุกครั้งที่ Forbes จัดอันดับ Dietrich Mateschitz กับเฉลียว อยู่วิทยา มักมีสินทรัพย์พอๆกัน มักจะอยู่ในอันดับเดียวกัน ตลอดช่วงเกือบทศวรรษมานี้

ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ทั้งสองอยู่ในอันดับเดียวกันที่ 208 ของ World’s Billionaires   ถือว่าอันดับสูงขึ้นสอดคล้องกับการการเติบโตของRed Bull ด้วย     ทั้งนี้เฉลียว อยู่วิทยาอยู่ในอันดับสองของคนไทย (เป็นรองธนินท์ เจียรวานนท์ และสูงกว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี) ขณะที่ Dietrich Mateschitz  อยู่ในอันดับหนึ่งของ ออสเตรียตลอดมา

ข้อมูลนี้อาจมีแง่มุมว่า ความสำเร็จสำคัญของเฉลียว อยู่วิทยา ส่วนใหญ่อยู่กับ Red Bull ในตลาดต่างประเทศ   ซึ่งมีระบบการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอที่ Forbes จะเข้าถึงได้  แต่ในเมืองไทยกิจการของเขาจะเติบโตอย่างไรหรือไม่ ไม่มีข้อมูลแน่ชัด  เพียงแต่พอมีข่าวสารมาบ้างว่า เครื่องดื่มชูกำลังในตลาดไทยค่อนข้างอิ่มตัว และ “กระทิงแดง”หรือสินค้าในเครือเดียวกัน  ก็ไม่ไช่ผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง  ส่วนสินค้าอื่นๆที่เป็นรู้จักอย่างกว้างขวางว่าเป็นของเฉลียว อยู่วิทยานั้นน้อยมาก เรื่องราวของเขามักจะผ่านจากทายาท บางครั้งบางคราวในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ไทยที่ว่าด้วยวิถีชีวิตคนดังในสังคม ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าเฉลียว อยู่วิทยา ทำงานหนัก ใช้ชีวิตเรียบง่าย เป็นอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น ส่วนกิจการในกลุ่มของเขาในประเทศมักจะมีข่าวในเชิงสังคม  โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคมสงเคราะห์ ส่วนรายละเอียดอันพึงเข้าใจถึงแง่มุมความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ ยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

จะมีอยู่บ้างคงเกี่ยวกับบุตรชายคนโต—เฉลิม อยู่วิทยา กำลังดำเนินสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเองอย่างแข็งขัน    ถือไดว่ากำลังเติบโตมากขึ้นทุกที่ พอสัมผัสได้คือความคิดของการทำงาน มีความพยายามเทียบเคียงกับระดับโลกอย่างเห็นได้ชัด

ผลสะเทือน

จะอย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ  Red Bull  มีผลต่อสังคมธุรกิจไทยพอสมควร

ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ผมเชื่อว่า ความพยายามของนักธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจไทยบางกรณีได้รับอิทธิพลจากความสำเร็จที่กล่าวมานี้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มอัลกอรฮอลไม่ว่ารายเก่าทีมีอายุเกือบร้อยปีอย่าง  “สิงห์”และรายใหม่ที่มาแรงอย่าง”ช้าง” ในระยะหลังๆมานี้ มีความพยายามขึ้นมากในการก้าวเข้าสู่ตลาดโลก  อีกมิติหนึ่งความสำคัญของการการตลาด ที่พยายามนำสินค้าเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดโลก   มักเชื่อมโยงกับเรื่องกีฬามากขึ้นชัดเจน

ไม่ว่าเฉลียว อยู่วิทยาจะก้าวสู่ตลาดโลกด้วยความบังเอิญหรือไม่ อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญของธุรกิจไทย สอดคล้องกับโอกาสและยุคที่พรมแดนทางธุรกิจเปิดกว้างขวาง และบางธุรกิจก็ผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวในกิจการในต่างประเทศมาแล้ว

แค่นี้ควรจะศึกษาเรื่องราวของเขาแล้ว ผู้เกี่ยวข้องหรือคนรอบข้างเฉลียว อยู่วิทยา ควรพร้อมเปิดเผยเรื่องราวนี้มากขึ้น แทนที่สังคมธุรกิจไทยจะต้องเรียนรู้จากคนนอกหรือข้อมูลชั้นรองลงๆไป

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่  1 เมษายน 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: