แลนด์แอนด์เฮาส์(1)

หลายคนเชื่อว่า อนันต์ อัศวโภคิน คือสัญลักษณ์แลนด์แอนด์เฮาส์–ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย  ภาพที่แท้จริงอาจเป็นภาพใหญ่กว่านั้น และมีความหมายกว้างกว่าที่คิด สะท้อนบางแง่มุมประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสังคมธุรกิจไทยด้วย 

หนึ่ง-โอกาสเปิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากลักษะธุรกิจ

ผมเคยให้คำนิยามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ว่าเป็นธุรกิจสามัญ (อ้างมาจากเรื่อง เอสซี แอสเสท ) “ใครๆเข้ามาได้ เป็นธุรกิจที่เผชิญความเสี่ยงเป็นปกติ   พิจารณาจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างมีมากถึง111รายจากทั้งหมด473รายรวมกันทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (หมวดย่อยในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง) ถึง62ราย มากกว่าหมวดอื่นๆทุกกลุ่ม แต่มีความสามารถสร้างยอดขาย (ในปี 2553) ไม่ถึง 10% ของทุกบริษัทในตลาดหุ้นรวมกัน

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหุ้นมีหลากหลาย  ตั้งแต่ผู้ถือหุ้นอยู่ในกลุ่มราชวงศ์(บริษัทสัมมากร) จนถึงโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับรายใหม่ ที่ควรกล่าวถึง–กลุ่มพฤษภาของทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ มุ่งเจาะกลุ่มตลาดล้าง จากธุรกิจขนาดเล็ก พัฒนาขึ้นอย่างน่าสนใจสามารถสร้างรายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาทในปี2553 จากภูมิหลังคนธรรมดา กลายมาเป็นบุคคลที่รูจักกันกว้างขวางขึ้นในฐานะมีทรัพย์สินในตลาดหุ้นมากที่สุดรายหนึ่ง(คำนวณจากการเปิดเผยข้อมูลที่ตนเองถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกับราคาหุ้นของบริษัท) ทั้งนี้ยังไม่รวมกิจารนอกตลาดหุ้นอีกจำนวนมาก  โดยเฉพาะรายเล็กๆที่เกิดจากการจัดสรรทีดิน การสร้างตึกแถว 2-3 คูหา ริมถนน   โดยพื้นฐาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง มีคูแข่งในตลาดจำนวนมาก จึงถือว่ามีความสามารถเติบโตเป็นธุรกิจเพียงขนาดกลางๆ ไม่สามารถเป็นธุรกิจใหญ่ ควบคุมตลาดได้เช่นบางธุรกิจ

แม้อนันต์  อัศวโภคินกับแลนด์แอนด์เฮาส์ อยู่ในขบวนเดียวกัน แต่ก็มีหลายอย่างแตกต่าง   แม้เขาไม่อาจถือว่าเริ่มต้นธุรกิจในฐานะผู้บุกเบิก แต่เขาก็ได้รับยอมรับว่า เป็นผู้นำยุคใหม่อย่างแท้จริง 

เขามาจากครอบครัวธุรกิจขนาดกลางๆในสังคมไทย  จากธุรกิจโรงรับจำนำ จนถึงโรงแรม –แมนดาริน–  โรงแรมเก่าแก่ ถนนพระราม 4 ที่มีอายุกว่า 45 ปี(ขณะนี้ปิดปรับปรุง ครั้งใหญ่เป็นเวลา1ปี)   ที่สำคัญมารดาของเขา—เพียงใจ หาญพาณิชย์ ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกโครงการบ้านจัดสรรรายแรกๆของเมืองไทย ในช่วงสงครามเวียดนาม “ขณะนั้นไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก (First Oil Crisis) อย่างรุนแรง ยังได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากถึงร้อยละ 20-21” ประวัติทางการแลนด์แอนด์เฮาส์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่มีอุปสรรค

หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และIllinois Institute  of  Technology   Chicago, USA) อนันต์ เริ่มเข้ามาทำงานกับมารดา ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้กับคนรุ่นเก่าที่มีค่าช่วงหนึ่ง ก่อนที่เขาเข้ามาบทบาทบริหารโดยตรงในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ว่าไปแล้วใช้เวลาไม่นานเลย  อนันต์ อัศวโภคิน ในฐานะเป็นผู้บริหารอย่างจริงจังในปี2531 แสดงฝีมือ พัฒนาธุรกิจในเครือข่ายออกไปอย่างก้าวหน้าและกว้างขวาง   จากการเข้าตลาดหุ้น (ปี2532) และจากนั้นมียอดขายทะลุหนึ่งหมื่นล้านบาท  อีกเพียงประมาณ 5ปี

คุณค่าของแลนด์แอนด์เฮาส์ มากกว่านั้น  ถือเป็นกิจการทีมีการบริหารอย่างเป็นระบบ  มีทีมงานเชี่ยวชาญบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์   ไม่เพียงเป็นผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย  หากโครงการบ้านจัดสรรของแลนด์แอนด์เฮาส์  กลายเป็นสัญลักษณ์และสไตล์ของกรุงเทพฯสมัยใหม่ด้วย ไม่ว่ารูปแบบของหมู่บ้านจัดสรรที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ไปจนถึงสถาปัตยกรรมสำคัญแสดงถึงบุคลิกชุมชนเมืองที่กระจายเป็นหย่อมๆทั่วไป

ถือเป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตครั้งใหญ่   ชุมชนเมืองขยายตัว มาจากภาคธุรกิจขยายตัวอย่างมาก มนุษย์เงินเดือนและชนชั้นกลางในเมืองหลวงเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นยุคใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ไปตามภาวะสังคมกรุงเทพสมัยใหม่ที่เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

สอง-โอกาสจากตลาดหุ้น

บทสรุปของผมยังมั่นคง  คือการเติบโต ตลาดหุ้นไทย มาจาดการได้รับความสนใจจากนักลงทุนระดับโลก  โอกาสใหม่เปิดขึ้น สำหรับหน้าใหม่  มีผู้เข้าแถวแสวงหากันมากหน้าหลายตา ไมว่า ปิ่น จักกะพาก หรือ ทักษิณ ชินวัตร   ในอีกความหมายหนึ่ง เกิดกระบวนการหลอมรวมและสร้างสายสัมพันธ์ข้ามกันไปมาของคนรุ่นเดียวกันในกลุ่มธุรกิจต่างๆทั้งเก่าและใหม่ เป็นเนื้อเดียวในของกระบวนการ่วมทุน ควบรวมกิจการ  ขยายวงออกไปอย่างมากมาย  ซึ่งถือเป็นช่วงหนึ่งที่น่าสนใจของสังคมธุรกิจไทย

สำหรับอนันต์ อัศวโภคินแล้ว  คนรุ่นเดียวที่เกี่ยวนับว่ากว้างขวาง ทั้งภาคการเงิน การลงทุนที่เรียกว่า “มืออาชีพ” เช่น ก้องเกียรติ โอภาสวงการ และ โอฬาร ไชยประวัติ ไปจนถึงทายาทรุ่นที่สองเช่นเดียวกันเขา อย่าง สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัล

ในมิตินี้เขามีแนวคิดไม่แตกต่างจากคนอื่นๆในเวลานั้นนัก

จากความพยายามระดมทุนจากตลาดหุ้น  โดยด้วยการเพิ่มทุนหรือออกสารตราสารนี้   การร่วมทุนกับพันธมิตรก้าวพ้นพรมแดนธุรกิจ ทั้งกลุ่มใหม่-กลุ่มเก่า  โดยเฉพาะความพยายามร่วมลงทุนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ  ตามกระแสของธุรกิจไทยในเวลานั้น  จนถึงการเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆอย่างหลากหลาย ทั้งดูเหมือนเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิมหรือไม่เชื่อมกัน

กรณีหนึ่งที่น่าสนใจ  ผู้คนกล่าวถึงกันไม่มากนัก อนันต์ อัศวโภคินและแลนด์แอนด์เฮาส์ เข้าสู่กับดักการขยายตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างอย่างรวบรัดของเครือธนาคารธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะหุ้นส่วนรายสำคัญ  เครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะธุรกิจดั้งเดิม มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเจ้าของที่ดินแปลงที่ดีในกรุงเทพฯ  ต่อมากลายเป็นบทเรียนและปัญหาทางธุรกิจอย่างคาดไม่ถึงด้วย

เรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่ปี2531 เลยทีเดียว –สยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรม(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสยามสินธร)ตั้งขึ้นในยุคธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และโอฬาร ไชยประวัติ เป็นรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์   แลนด์แอนด์เฮาส์เข้าไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญธุรกิจอสังหาริมทรัพย์     ปี 2532 เริ่มมีโครงการต่าง ๆ เช่น รัตนโกสินทร์วิวแมนชั่น ดิโอลด์สยามพลาซ่า อาคารสินธร ศูนย์การค้าบางรัก ในบางแง่มองว่าแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง  แต่อนันต์และทีมงานเข้าไปมีบทบาทบริหารโดยตรง ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนตัว33% ในขณะทีแลนด์แอนด์เฮ้าส์ถือเพียง 15% จากนั้นไม่นานจึงหลวมตัวเข้าสู่โหมดการขยายตัวอย่างครึกโครมของสยามสินธร จนถึงจุดจบที่น่าตกใจภายในเวลาไม่นานจากนั้น   “กันยายน 2544บริษัทขายเงินลงทุนทั้งสิ้นในสยามสินธร  จำนวน 14.49% ในราคาหุ้นละ 1 สตางค์”บทสรุปของ แลนด์แอนด์เฮาส์ที่บันทึกไว้ในประวัติอย่างเป็นทางการ(http://www.lh.co.th/ )

ทั้งนี้ยังไม่รวมผลกระทบอันหนักหน่วงจากวิกฤติการณ์ปี2540 ซึ่งแลนด์แอนด์เฮาส์ ไม่สามารถหลีกหนีจากวงจรนั้นได้เช่นกัน

หากตัดภาพนั้นออกไป แลนด์แอนด์เฮาส์วันนี้  คือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย  ทั้งในฐานะผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริง (ผมเคยระบุว่ากลุ่มพฤษภา มียอดขายอันดับหนึ่ง  หากพิจารณาทั้งแลนด์แอนด์เฮาส์ และควอลิตี้ เฮาส์ แล้วยอดขายรวมกันย่อมมากกว่าอย่างแน่นอน) และกิจการในเครือข่ายเกี่ยวข้อง และที่สำคัญหลังจากวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ปี2540 แลนด์แอนด์เฮาส์ ก้าวไปข้างหน้า ด้วยการเกิดขึ้นและกำลังขยายตัวอย่างเงียบๆของเครือข่ายธนาคารของตนเอง

ไม่เพียงเป็น  “ผู้อยู่รอด”จากวิกฤติเท่านั้น หากก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วย –เพราะอะไร

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

 2516

เพียงใจ หาญพาณิชย์ มารดาของอนันต์ อัศวโภคิน ผู้ก่อตั้งแลนด์ แอนด์ เฮาส์ เป็นผู้ริเริ่มดำเนินโครงการบ้านจัดสรรเล็กๆ แห่งหนึ่งเป็นโครงการแรก –บ้านศรีรับสุข

2526 (สิงหาคม)

ก่อตั้งแลนด์ แอนด์ เฮาส์ขึ้นเป็นบริษัทจำกัด และได้เข้าดำเนินการในโครงการพฤกษชาติซึ่งเป็นโครงการบ้านที่ซื้อมาจากบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย

2526(ตุลาคม)

ก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ เฮาส์  โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกในการประกอบธุรกิจให้บริการรับจ้างก่อสร้างบ้าน

2520

เริ่มดำเนินการโครงการสีวลี  รังสิตโดย  ถือเป็นจุดกำเนิดสำคัญของโครงการบ้านจัดสรรสมัยใหม่ชานเมือง กลายเป็นบุคลิกสำคัญของ แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี

2532 (กุมภาพันธ์)

แลนด์ แอนด์ เฮาส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2532

ร่วมทุนกับกลุ่มธนาคารเอเชีย ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย สร้างโครงการใหญ่ พื้นที่ 740 ไร่ริมถนนวิภาวดีรังสิต—นอร์ธ ปาร์ค   ประกอบด้วยสนามกอล์ฟ  อาคารสำนักงาน  โรงแรม  และสปอร์ตคอมเพล็กซ์  ต่อมาในปี 2539แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ได้ขายหุ้นทั้งหมด 40% ให้กลุ่มของธนาคารเอเชีย

2533

ควอลิตี้ เฮาส์เริ่มธุรกิจให้เช่า 2 ประเภท — อาคารที่พักอาศัยและ อาคารสำนักงานให้เช่า

2534 (กันยายน)

ควอลิตี้ เฮาส์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

2535

ควอลิตี้ เฮาส์ เริ่มธุรกิจขายบ้านพร้อมที่ดิน ถือเป็นธุรกิจเดียวกับแลนด์ แอนด์ เฮาส์

2536

แลนด์ แอนด์ เฮาส์ เป็นบริษัทแรกที่ออกหุ้นกู้ยูโรแปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนชาวต่างชาติ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2537

แลนด์ แอนด์ เฮาส์ มีรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท

2538 กุมภาพันธ์

ซื้อกิจการหลักทรัพย์ ชาวไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทร โดยแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ถือหุ้น 36 % เป็นกลยุทธ์ใหม่ของความพยายามครั้งแรก ที่จะมีเครือข่ายสถาบันการเงิน   ต่อมาปี2542เงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทร ถูกทางการสั่งปิดกิจการ

2538 กันยายน

ก่อตั้ง โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ ดำเนินธุรกิจเครือข่ายจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ถือหุ้น40 %ถือเป็นการขยายไลน์ธุรกิจครั้งสำคัญ โดยร่วมทุนกับ ควอลิตี้เฮาส์   อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (AIA), บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม และ พงส์ สารสิน โดยก่อนหน้านั้น (พฤษภาคม 2538) แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ลดการถือหุ้นในเอส เค การ์เม้นท์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บิ๊กซี) จาก25%เหลือ 15 %

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: