กานต์ ตระกูลฮุน นักบริหารรุ่นใหม่ขององค์กรเก่า

เขาเป็นตัวอย่างของการสร้างคนขององค์กรเก่าแก่ของไทยที่ปรับตัวอยู่เสมอ กว่าจะก้าวขึ้นมาดูแลกิจการเซรามิก ที่มีสินทรัพย์หลายพันล้านบาท ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย  เป็นกระบวนการสร้างผู้บริหารใหม่ที่สามารถกล้าคิดออกจากกรอบ และสามารถสร้างโมเดลใหม่ให้กับธุรกิจเก่า

เขาเรียกว่า Fashion Business ให้ความสำคัญในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ในเชิงศิลปะมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเชื่อว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า เข้ามาแทรกสงครามราคาของสินค้าพื้นฐาน จากฐานการผลิตด้วยเทคโนโลยีไม่แตกต่างกัน

แนวคิดใหม่ค่อนข้างขัดแย้งกับยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเน้นประสิทธิภาพการผลิตอย่างเครือซิเมนต์ไทย   ธุรกิจโมเดลใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการดีไซน์ ขณะเดียวกันก็ต้องการEconomics of Scale

กานต์ ตระกูลฮุน มาจากครอบครัวเชื้อสายจีน มีธุรกิจการค้า ในย่านใกล้ๆสำนักงานใหญ่เครือซิเมนต์ไทย เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในช่วงเดียวกับธุรกิจของครอบครัวล้มละลาย เลยต้องมุทำงาน ทั้งๆที่จบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากจุฬาฯ  แต่บางบริษัทไม่รับเพราะเกรงว่าจะไปศึกษาต่อ

เครือซิเมนต์ไทยรับเขาเข้าทำงานโดยส่งไปเป็นนายช่างประจำโรงงานที่ทุ่งสง ทางภาคใต้ “ถ้ามันจะออก ก็ให้มันออกไปเลย หากมันอยู่ทุ่งสงได้ ก็คงไม่ไปไหนอีกแล้ว เพราะ ที่นั่นมันไกลสุด และเป็นแดนสีชมพู” เขาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดการบริหารบุคคลของเครือซิเมนต์ไทยในตอนนั้น

กานต์ ตระกูลฮุน เดินทางเช่นเดียวกับนายช่างพื้นฐานของเครือซิเมนต์ไทย  ต้องประจำโรงงานในต่างจังหวัดยาวนานช่วงหนึ่ง กว่าจะไต่เต้าในหน้าที่การงาน  เขาโชคดีตรงที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงงานใหม่ๆเสมอ การก่อสร้างโรงงานใหม่ทำให้เขามีความรู้ด้านการบริหารในภาพกว้าง ไม่เพียงเฉพาะเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุคของเขา โรงงานปูนซีเมนต์พัฒนาไปมาก ด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์จากบริษัทชั้นนำของโลก

เขาใช้เวลาคลุกคลีในโรงงานในช่วงของการขยายการก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา  จากทุ่งสงทางภาคใต้ขึ้นมาแก่งคอย ฐานการผลิตปูนซีเมนต์ใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทย จนล่วง 6 ปีเต็มจึงมีโอกาสได้ทุนบริษัทไปศึกษาต่อต่างประเทศ ใช้เวลาประมาณ 2 ปีสามารถจบปริญญาสองสาขาทั้งด้าน Ceramic Technology และ Management จาก The Georgia Institute of Technology

เขากลับมาในช่วงเดียวกับเครือซิเมนต์ไทยกำลังขยายกิจการต่างๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนั้นอีกประมาณ 13-14 ปี กานต์ ตระกูลฮุนใช้เวลาพัฒนาความรู้ ความสามารถจากประสบการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น แต่ในช่วงเวลานั้นคนรุ่นเดียวกับเขา ในวงการธุรกิจการเงิน และสื่อสารเติบโตในตำแหน่งการงาน และมีผลตอบแทนที่มากกว่ามาก

นอกจากบุกเบิกงานใหม่อยู่เสมอ  เขายังมีโอกาสเข้าไปแก้ปัญหากิจการธุรกิจอิฐทนไฟ  กรณีผู้บริหารระดับสูงตบเท้าลาออก   จากประสบการณ์ทั้งหลายด้าน  ทำให้เขามีโอกาสมากขึ้น  มีงานใหญ่ขึ้น  เกี่ยวข้องกับมิติของการจัดการมากกว่าการผลิต  จากการบริหารคนและเทคโนโลยีไปสู่การจัดการการเงิน

ประสบการณ์สำคัญ คือการริเริ่มโครงการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคที่อินโดนีเซีย เป็นโครงการที่ใหญ่มาก  เป็นกิจการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศ  แต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นเสียก่อน โครงการจึงต้องชะลอไป

กานต์ ตระกูลฮุน ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในทีมงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ในแผนการปรับโครงสร้างเครือซิเมนต์ไทยครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปีเมื่อปลายปี 2541

เขาได้รับคัดเลือกเป็นหัวหน้าทีมในภารกิจครั้งสำคัญ  เขามีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจภาพรวมกิจการ มีประสบการณ์ การเจรจา ต่อรอง การประนีประนอม ในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งเป็นงานที่หนักมาก  ในเวลาเดียวกันเขาก็ได้เรียนรู้จาก ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยโดยตรง

เมื่อโครงสร้างใหม่จัดขึ้น เขาถูกวางตัวเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจเซรามิก กลุ่มที่ยังมีปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาอีกมาก

กานต์ ตระกูลฮุน ใช้เวลา 22 ปีในการสะสมประสบการณ์   ก่อนก้าวสู่ตำแหน่ง ผู้บริหารอย่างเต็มตัว ยิ่งไปกว่านั้น เขากำลังเผชิญบททดสอบที่ท้าทายภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย

หากเขาผ่านไปได้  โอกาสของคนธรรมดาคนหนึ่งย่อมมีมากขึ้นแน่นอน

นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2543

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: