ผมหยั่งเชิงกับเขาในลิฟต์ระหว่างการเยี่ยมชม Office ที่ตกแต่งใหม่ ว่าใครๆ ก็มองมาที่เขาที่จะเป็นทายาทของชุมพล ณ ลำเลียง เขาตอบทันทีว่า “no comment”
กานต์ ตระกูลฮุน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ที่ดูแลสำนักงานใหญ่เป็นคนเดียวที่มีอายุเหลือเกือบๆ 10 ปี หากชุมพล ณ ลำเลียง อำลาตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ตามเวลาเกษียณ ขณะที่ผู้บริหารระดับเดียวกันคนอื่นๆ ถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกับชุมพลทั้งสิ้น ที่ชุมพลบอกว่า “ฝ่ายจัดการชุดนี้จะแก่เกินไปแล้ว” ซึ่งมีความหมายชัดเจน เขามิได้ไปคนเดียว
และที่แน่ๆ อีกประการหนึ่ง คงไม่มีคนนอกคนไหนมาอีกแล้ว ในเมื่อชุมพลบอกว่า คนปูนมีคนเก่งเยอะ และก็คงไม่มีอะไรเกินความคาดหมายไปสำหรับองค์กรเก่าแก่องค์กรนี้ หากมีปัญหาเช่นนั้น คนที่ถูกตำหนิมากที่สุดก็คือ ชุมพลนั่นเอง
กานต์มีบุคลิกหลายอย่างคล้ายๆ ชุมพล เขาไม่ใช่คนบุคลิกดีนัก เช่นเดียวกับชุมพล ซึ่งผู้คนวิเคราะห์กันว่าที่เครือซิเมนต์ไทย Low profile ในสังคมไทยในช่วง 10 ปีมานี้ เพราะบุคลิกที่ไม่ยอมออกตัว อาจจะด้วยภูมิหลังหรือวิถีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบของเขา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นคนละเรื่องกับความสามารถเป็นที่ยอมรับของคนในวงการ ซึ่งชุมพลได้รับสิ่งนั้นอย่างเต็มเปี่ยม แต่กานต์ต่างกับชุมพลที่เขากล้าออกตัว กล้าดีลกับสาธารณชนมากกว่า
เขาทั้งสองมีภูมิหลังบางอย่างคล้ายกัน เป็นลูกพ่อค้าเชื้อสายจีนธรรมดาๆ ที่มีธุรกิจไม่ใหญ่โต และประสบปัญหาธุรกิจจนต้องเลิกกิจการ บิดาของชุมพลค้าเม็ดพลาสติก ขณะที่ครอบครัวกานต์ค้าไม้อยู่แถวๆ บางโพ
ทั้งสองมีบุคลิกที่ไม่ใช่บุคลิกคนปูนที่ผู้คนเข้าใจ เขาเป็นกันเอง เรียบง่าย ไม่มีฟอร์ม และที่สำคัญ หัวทันสมัยที่ช่างขัดแย้งกับบุคลิกตนเอง
และนั่นคงไม่สำคัญเท่ากับบทบาทของกานต์ในปัจจุบันที่ใครๆ มองว่า เขายืนตรงจุดยุทธศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการมองไปในอนาคตใน 3-5 ปีข้างหน้าของเครือซิเมนต์ไทย
เขาเป็น Communication Strategist กำลังทำงานอย่างหนักในช่วงรับตำแหน่งใหม่ คือการทำความรู้จักกับนักลงทุนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นโมเดลความสำเร็จในยุควิกฤติการณ์ที่ชุมพลเป็นคนทำไว้ ทำให้เครือซิเมนต์ไทยเป็นบริษัทที่ดีในสายตานักลงทุนที่มีอิทธิพลในโลก งานนี้เขาต้องทำต่อไปเช่นเดียวกับนักลงทุนไทย
แต่ที่ต่างกว่าชุมพล คือเขากำลังวางแผนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระดับสาธารณชน ไม่ใช่เพียงประเทศไทย หากรวมไปถึงอาเซียนด้วย เป็นเป้าหมายใหม่ในภารกิจหลัก เครือซิเมนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมามีความสัมพันธ์กับสาธารณชนน้อยลง สังคมรู้จัก เข้าใจเครือซิเมนต์ไทยน้อยลง ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่เติบโตอย่างโฉบเฉี่ยวกลับทำงานกับสังคมในวงกว้างมาก “คนไทยยังรู้ว่าเครือฯ มีธุรกิจกระดาษ และปิโตรเคมีน้อยมาก” กานต์อ้างงานวิจัยที่เขาทำ ยิ่งสังคมในระดับภูมิภาคด้วยแล้ว กานต์บอกว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้จักเครือซิเมนต์ไทย
นี่คืองานใหม่ที่เป็นยุทธศาสตร์ของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยุคใหม่ มันเป็นความสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่ด้วย กานต์จะต้องทำหน้าที่นี้ ซึ่งถือว่าเป็นความบกพร่องของชุมพลก็ย่อมได้ ในฐานะคนที่เคยทำให้ธุรกิจเซรามิกเป็นสินค้าเดียวที่มีคุณค่าเชิงแบรนด์และภาพลักษณ์อย่างโดดเด่น อย่างไม่เคยมีในเครือซิเมนต์ไทย ในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ดูแลธุรกิจเซรามิกก่อนมาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน
เขาดูแลงานด้านวางแผนงานในอนาคตที่ว่าด้วยการลงทุน โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค โดยเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งซ่อนอยู่ คือแผนการสร้างบุคลากรเพื่อตอบสนองความเป็น Regional Organization ในวันที่คุยกับ “ผู้จัดการ” นัดหมายถัดไป เขาต้องไปรับประทานข้าวกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ที่เชิญมาพูดให้คนปูนฟังเรื่องการทำงานในระดับภูมิภาค
กานต์ ตระกูลฮุน นอกจากจะเป็นผู้บริหารคนแรกที่ตกแต่งห้องทำงานใหม่ให้ทันสมัย ที่อาจเรียกว่าเปลี่ยนภาพลักษณ์เลยทีเดียว ขณะนี้เขาเป็นผู้วางแผน และกำลังตกแต่งสำนักงานในอาคารสำนักงานใหญ่เครือซิเมนต์ไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพอย่างหนึ่งที่จับต้องได้ในรอบนับ 10 ปีทีเดียว
ประหนึ่งว่าเขาได้เริ่มนับหนึ่งในการฝึกงานเข้าสู่ยุคใหม่ของเครือซิเมนต์ไทย อย่างไรอย่างนั้น
คัดมาโดยไม่ตัดทอนจากต้นฉบับของผม ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2546และตีพิมพ์อีกครั้ง ในหนังสือ ชุมพล ณ ลำเลียง” ผมเป็นเพียงลูกจ้าง” โดยวิรัตน์ แสงทองคำ สำนักพิมพ์ผู้จัดการคลาสสิก 2549 โดยมีหมายเหตุท้ายบทความไว้ด้วย
ธันวาคม 2546
ข้อเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก โดยมีโอกาสสัมภาษณ์ ทั้งชุมพล ณ ลำเลียง และ กานต์ ตระกูลฮุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน
1 กรกฎาคม 2547
กานต์ ตระกูลฮุน ได้รับแต่งตัง เป็นรองผู้จัดการใหญ่
20 สิงหาคม 2548
คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเสนอชื่อกานต์ ตระกูนฮุน เป้นกรรมการบริษัท และมีมติเลือกเขาเป็นผู้จัดการใหญ่ ซึ่งมีผลตั้งแต่ มกราคม