ผู้คนคงงุนงงกันมากทีเดียว หลังจากที่Forbes ผู้จัดอันดับ Thailand‘s 50 richest เปิดตัวเจ้าของกิจการ โกลบอลเฮาส์เข้ามาอยู่ในอันดับที่27 ในฐานะ Thailand‘s richest newcomers
เรื่องราวของ โกลบอลเฮาส์ แม้ไม่มีความลับดำมืด แต่นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง ผมเคยจุดประเด็นขึ้นมาครั้งแรก ยังไม่ครบหนึ่งปีด้วยซ้ำ
“เป็นดีลไม่ใหญ่เลย สำหรับเครือข่ายกิจการระดับภูมิภาค และบริษัทเก่าแก่ของสังคมไทย อย่างเอสซีจี ด้วยการลงทุนไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นประมาณ หนึ่งในสามในบริษัทโกลบอลเฮาส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่อยู่ภาคอีสาน…ถือเป็นธุรกิจไทยรายแรก เอสซีจีให้ความสำคัญเป็นพิเศษ” (จากข้อเขียนของผมในเรื่อง Experience’s SCG กันยายน 2555)
“โมเดลธุรกิจของสยามโกลบอลเฮาส์ แม้ดูเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญ แต่มีความสัมพันธ์กับบริบททั้งสังคมและธุรกิจ ไม่ว่าความเป็นไปของการเติบโตอย่างไม่มีใครคาดถึงของภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอีสาน กับการเรียนรู้ใหม่อีกครั้งของผู้ประกอบการท้องถิ่น” (สยามโกลบอลเฮาส์ ตุลาคม 2555)
“โอกาสจากตลาดหุ้น (สยามโกลบอลเฮาส์ เข้าตลาดหุ้นปี 2552) นอกจากเป็นพลังในการขยายเครือข่าย ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ขณะเดียวก็เป็นการปรากฏตัวในที่ “โล่งแจ้ง” หากเอสซีจีไม่เชื่อมั่นในระบบการเปิดเผยข้อมูล ตามมาตรฐานตลาดหุ้น ดีลนี้คงไม่เกิดขึ้น
ในฐานะผู้เชื่อมั่นและพยายามอรรถาธิบายกระแสลมพัดแรงที่ภูธรมาตลอดในช่วงหลังๆมานี้ มองเห็นภาพที่กว้างขึ้น ไม่เพียงโอกาสของธุรกิจใหญ่ทั้งระดับชาติและเครือข่ายระดับโลก ในพื้นที่ที่กว้างใหญ่ในหัวเมืองและชนบทมากขึ้นเท่านั้น หากเป็นที่เพาะโอกาสใหม่ๆให้กับคนพื้นที่ เพื่อเข้าสู่กระแสที่สวนทาง จากระดับภูธรสู่เวทีที่กว้างขึ้น”บทสรุปของผมในตอนนั้น
เท่าที่จับประเด็นแนวคิดหลักของ Forbes เกี่ยวกับความร่ำรวยของ วิทูร สุริยวนากุล เจ้าของและผู้บริหารสยามโกลบอลเฮาส์ (จากเรื่อง Thailand‘s Richest Newcomer Is a Retailer Who Made His Fortune in Nation’s Poorest Area, Forbes Asia. July 15, 2013) ไม่มีสาระสำคัญที่แตกต่างจากนั้นนัก
ความสนใจของสื่อต่างประเทศ ดูเหมือนมีมากขึ้น ว่าด้วยปรากฏการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่งของภาคอีสาน ส่วนหนึ่งมักวิเคราะห์ว่ามีสาเหตุมาจากแรงกระตุ้นจากนโยบายทางการเมือง อาทิ บทความเรื่อง Thailand’s boom: To the northeast, the spoils Reuters Jun 15, 2013
แต่กรณีForbes ให้ความสำคัญเป็นพิเศษไปที่ข้อมูลในตลาดหุ้น อ้างอิงกับมูลค่าหลักทรัพย์ โดยพิจารณาจากราคาหุ้นของสยามโกลบอลเฮาส์ ซึ่งอ้างว่าได้เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 129% หลังจากขายหุ้นหนึ่งในสามให้เอสซีจี ได้เพียงปีเดียวเท่านั้น หรือสูงขึ้นถึง 8 เท่าหลังจากเข้าตลาดหุ้น ตั้งแต่ปี 2552 การคำนวณมูลค่าหุ้นสยามโกลบอลเฮาส์ที่วิทูร สุริยวนากุล ถืออยู่ น่าจะเป็นที่มาของบทสรุปที่ว่าเขามีความมั่งคั่งมูลค่าถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผมลองคำนวณดูบ้าง โดยอ้างอิงกับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์(สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน- GLOBALบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด) เช่นเดียวกัน มูลค่าหุ้นของสยามโกลบอลเฮาส์ปัจจุบัน(12 กรกฎาคม 2556) มีมูลค่ามากกว่า 50,000ล่านบาท หากวิทูร สุริยวนากุล (และครอบครัว) ถือหุ้นมากกว่า50% ก็สามารถตีมูลค่าได้มากกว่า 25,000ลานบาท ข้อมูลชุดนี้ จึงดูสอดคล้องกับวิธีคำนวณของForbes
สิ่งทีผมสนใจเป็นพิเศษ ในช่วงเกือบหนึ่งปี หลังจากเอสซีจีเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่มีความหมาย ความเป็นไปของสยามโกลบอลเฮาส์ เป็นอย่างไรบ้าง
ความเคลื่อนไหวอันเป็นปกติหลังจากสยามโกลบอลเฮาส์ขายหุ้นให้เอสซีจี คือกระบวนการเพิ่มทุนซึ่งดำเนินไปอย่างครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง แม้ว่าผมไม่สนใจมากนัก แต่เชื่อว่านักลงทุนทั่วไปคงให้ความสำคัญพอสมควร เนื่องจากหลังกระบวนการดังกล่าวสิ้นสุดลง ข้อมูลทางการเงินของสยามโกลบอลเฮ้าส์ จึงดูดีอย่างทันตาเห็น
การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจยิ่งกว่า เริ่มต้นเมื่อปลายปีที่แล้ว(พฤศจิกายน 2555) เมื่อมีการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญของสยามโกลบอลเฮ้าส์
–แต่งตั้งกรรมการใหม่ 3 คน (จากจำนวนทีมีอยู่ทั้งหมด10 คน) จากเอสจีจี คือ ขจรเดช แสงสุพรรณ อารีย์ ชวลิตชีวินกุล และนิธิ ภัทรโชค
–แต่งตั้ง นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นกรรมการบริหาร
–เพิ่มตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านพัฒนาธุรกิจอีกตำแหน่งหนึ่งให้กับคนของเอสซีจี–นำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี แลนด์สเคป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อการตกแต่งภูมิทัศน์ ภายใต้แบรนด์ “แลนด์สเคป ตราช้าง”
กลุ่มบุคคลที่มาจากเอสซีจี ล้วนเป็นบุคคลสำคัญของธุรกิจที่เพิ่งมีการปรับโครงสร้างใหม่ครั้งสำคัญในรอบ 100 ปี (มีนาคม 2556) นั้นคือ การนำธุรกิจซีเมนต์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจจัดจําหน่าย มารวมกันเป็นกลุ่มใหม่เรียกว่า ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
“การปรับโครงสร้างการบริหารงานโดยการรวมธุรกิจที่เกี่ยวของกับภาคการก่อสร้างครั้งนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินธุรกิจของ SCC เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาสินคาและบริการเพื่อตอบสนองความตองการลูกค้า การพัฒนาเทคโนโลยีและการขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการ เติบโตของธุรกิจในระยะยาว”คำแถลงของกานต์ ตระกูลฮุน ผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ให้เหตุผลที่พอคาดเดาได้ ทั้งนี้เชื่อว่ายุทธศาสตรใหม่ข้างต้น ย่อมส่งกระทบมาถึงสยามโกลบอลเฮ้าส์ด้วยไม่มากก็น้อย
สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนั้น อ้างอิงจากการปรากฏขึ้นของงาน Global house Analyst conference Q1/2013April 25, 2013 ผมเข้าใจว่า เป็นรูปแบบใหม่ครั้งแรก ของสยามโกลบอลเฮ้าส์ ในการนำเสนอข้อมูลสำหรับนักลงทุน โดยมีรูปแบบเหมือนกับที่เอสซีจีนำเสนอมาเป็นประจำ ในกรณีนี้ ผมไม่ให้ความสำคัญของตัวเลขทางการเงินมากนัก แต่สนใจแนวทางธุรกิจใหม่ๆที่นำเสนอในงานนี้
–สร้างความเข้มแข็งในตลาดภาคอีสาน ซึ่งเป็นตลาดหลักในปัจจุบัน ในขณะเดียวมุ่งขยายและสร้างความเป็นผู้นำทางธุรกิจเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ
แนวทางใหม่ข้างต้น เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากยุทธศาสตรต์เอสซีจี จากบทสรุปวิเคราะห์จุดแข็งของสยามโกลบอลเฮ้าส์ โดยกำหนดแผนการในการขยายเครือข่ายอย่างมียุทธศาสตร์ ที่มีโฟกัสมากขึ้น เชื่อว่าก่อนหน้านั้นแนวทางเดิมของสยามโกลบอลเฮ้าส์ อาจมองกว้างๆทั่วประเทศ
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์ ซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคจรัส ชูโต( ผู้จัดการใหญ่เอสซีจีที่เป็นคนไทยคนที่3) แผนการใหม่ของสยามโกลบอลเฮาส์จึงเริ่มต้นขึ้นทันที ภายใต้การสนับสนุนของเอสซีจีอย่างเข็งขัน คือสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งสำคัญขึ้นริมถนนพลโยธิน อยุธยา ถือเป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ในการขนส่งและกระจายสินค้าสู่เครือข่ายทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้บริหารชุดใหม่ของสยามโกลบอลเฮ้าส์ มีส่วนผสมระหว่ากลุ่มของวิทูร สุริยวนากุล และเอสซีจี ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยพยายามเชื่อมโยงมุมมองทางธุรกิจในอนาคต กับแผนการที่ชัดเจน
หนึ่ง-การเติบโตของกิจการมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน ภาพใหญ่นี้ดูเป็นจริงเป็นจังพอสมควร สอง-ความเข้มแข็งทางการเงินของสยามโกลบอลเฮ้าส์ จะทำให้แผนการขยายเครือข่ายดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย ด้วยยุทธศาตร์เชิงรุกมากกว่าอดีต จากเคยขยายสาขาได้ปีละไม่กี่แห่ง ไปสู่แผนการขยายสาขาปีละ 12-15 แห่ง และสาม-พัฒนาสินค้าที่มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น ทั้งการพัฒนาสินค้าตนเอง (house brands) การนำสินค้าจากแหล่งอื่น (sourcing) และระบบการดำเนินธุรกิจในขนาดที่เหมาะสม (economy of scale)
คนรวยหน้าใหม่ จะสามารถก้าวข้าม ความมั่งคั่ง จากตัวเลขในตลาดหุ้น สู่”ของจริง”ได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าติดตาม
ประชาชาติธุรกิจ 19 กรกฎาคม 2555