กรณีเสริมสุขกับ PEPSIเหมือนจะจบไปแล้ว แต่ก็ยังไม่จบเสียทีเดียว แต่ที่แน่ๆมีภาคใหม่ทีตื่นเต้นไม่แพ้ภาคแรก ถือเป็นภาคขยายวงก็ว่าได้
—————————————————————–
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
สริมสุข กับ Pepsi Co ตอนที่1 สถานการณ์
เสริมสุข กับ Pepsi Co ตอนที่2 บทวิเคราะห์
PEPSI: บทสรุป
——————————————————————-
เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างเสริมสุข กับ PEPSI เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างมากของสังคมธุรกิจไทย ผมเคยนำเสนอตอนสำคัญว่าด้วยบทสรุปของแนวทางของความพยายามหาทางออก (PEPSI: บทสรุป) เป็นการนำเสนอในช่วงก่อนจะถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ก่อนเหตุการณ์ 9 กันยายน 2554(วันที่เสริมสุขทำหนังสือแจ้งบทสรุปต่อตลาดหลักทรัพย์) ซึ่งเป็นการเปิดเผยเรื่องราวตอนสำคัญต่อสาธารณะชน อาจถือได้ว่าตอนจบภาคหนึ่งค่อนข้างสมบูรณ์
แท้ที่จริงบทสรุปมีมาก่อนหน้านั้น( 16 สิงหาคม 2554) โดยให้ความกระจ่างใน 2 ประเด็นสำคัญ
หนึ่ง– PEPSI ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในเสริมสุขออกไป ถือว่าความสัมพันธ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างคนไทยกับบริษัทระดับโลกกรณีเก่าแก่กรณีหนึ่งได้จบสิ้นลง
สอง- เป็นที่รู้กันดีว่า จุดเริ่มต้นความขัดแย่งที่ยุ่งยาก เนื่องมาจากการเข้ามาในเสริมสุขของผู้ถือใหญ่คนไทยรายใหม่ ก่อนหน้านั้นไม่นาน(บริษัท เอสเอสเนชั่นแนลโลจิสติกส์) ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายไทยกับ PEPSI ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนั้น เป็นที่กังขา คาดเดาไปต่างๆนาๆ ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง ในที่สุดก็เผยตัวออกมาในคราวเดียวกันนี้ ในฐานะผู้ซื้อหุ้นตัวจริง นั่นก็คือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด
ชื่อเสียงเรียงนามของผู้ซื้อ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทเสริมสุขในเวลาเต่อมา มีความตั้งใจเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ว่าอยู่เครือข่ายไทยเบฟเวอเรจ ของกลุ่มไทยเจริญ หรือทีซีซี เจ้าของเครือข่ายธุรกิจใหญ่เครื่องดื่มแอลกอร์ฮอล์ ซึ่งมีความพยายามในหลายปีมาแผ่ขยายสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอร์ฮอร์ด้วย
แม้ว่ายุทธศาสตร์กว้างๆของไทยเบฟฯว่าด้วยระบบลอจิสติก์ส์ เป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะผนึกผสานกับระบบเดิมอย่างไร ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหญ่และทรงอิทธิพลในเมืองไทย ภาพเล็กๆในมุมนี้ต่อจากนี้ คงไม่มีใครสนใจนัก ขณะที่เรื่องราวสำคัญ ที่น่าสนใจกว่านั้น อยู่ที่บทบาท PEPSI ในเมืองไทยต่อจากนี้ไป
เรื่องราวของ PEPSI มีผู้เฝ้ามองและติดตามอย่างกระชั้นชิด เนื่องจาก PEPSI มีเวลาเพียงประมาณหนึ่งปีเท่านั้น ในการปรับยุทธศาสตร๋สำคัญครั้งใหม่ในประเทศไทย แต่ทั้งนี้คงไม่มีใครคาดการณ์เลยว่า PEPSI จะทิ้งเมืองไทยไป
ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผมคิดว่าควรทบทวนบทสรุปตรรกะของการตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของ PEPSI ในเสริมสุขเสียก่อน เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์ใหม่ ซึ่งมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วในตอนนี้
“ขณะเดียวกันก็ปรับยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจใหม่ ว่าด้วยโอกาสและทางเลือกที่ดีขึ้นไม่ว่าจะซื้อหรือข่ายหุ้นทั้งหมด หากถามผมย่อมเชื่อว่า PEPSI ได้ประเมินยุทธ์ศาสตร์ในประเทศไทยอย่างถี่ถ้วนรอบคอบมากขึ้น ไม่ว่าประเด็นการแข่งขันกับ COKE ที่เข้มข้นมากขึ้น เพราะอีกฝ่ายกำลังมองว่า PEPSI อยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ การประเมินความเป็นไปได้ของการลงทุนสร้างเครือข่ายLogistics ใหม่ทั้งหมดในกรณีแยกตัวกัน รวมทั้งยุทธ์ศาสตร์การขยายตัวระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในอินโดจีนโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญที่สุดคือยุทธ์ศาสตร์ที่ว่าด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ อยู่ในมือ PEPSI อย่างเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับโมเดลมาตรฐานระดับโลก” ผมเคยตั้งประเด็นสำคัญๆในกระบวนการตัดสินใจของ PEPSI ไว้ในข้อเขียนครั้งก่อน ซึ่งที่สุด แล้ว ”การปรับที่สำคัญที่สุดคือยุทธ์ศาสตร์ที่ว่าด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ อยู่ในมือ PEPSI อย่างเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับโมเดลมาตรฐานระดับโลก” เป็นฐานในการตัดสินใจอย่างแท้จริง จำนวนเงินที่ขายหุ้นได้ประมาณ 6,400 ล้านบาท กับมีเวลาปรับตัวครั้งใหญ่เพียงประมาณ 1 ปี ถือว้าเป็นโอกาสและตารางเวลาที่ท้าทายอย่างมากที่เดียว ทั้งนี้ย่อมรวมถึงการประเมินสถานการณที่เป็นจริงของสังคมธุรกิจไทยอย่างจิงจังด้วย
ในฐานะ PEPSI อยู่ในเมืองไทยมานาน ย่อมมอง “ทะลุ” โครงสร้าง สายสัมพันธ์ และความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตนเอง บทสรุปหนึ่ง ที่ควรมี คือสังคมธุรกิจไทยขยายใหญ่มากขึ้น มีความหลากหลาย และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะระบบลอจิสติกส์ มีพัฒนาไปอย่างมากในช่วงทีผ่านมา มุมมองของ PEPSIกับไทยเบฟฯในเรื่องนี้ ย่อมแตกต่างกัน PEPSIมีเครื่องดื่มไม่กี่ชนิด ดำเนินธุรกิจอย่างโฟกัส ในขณะที่ไทยเบฟฯ มองภาพใหญ่ เครือข่ายใหญ่ และการครอบครอง
มีเหตุสองเหตุการณ์ ณ เวลานี้ เป็นบทสรุปเบื้องต้นของ PEPSI
หนึ่ง-เริ่มต้นด้วยซื้อโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่อยู่ในตลาดบางส่วน นั่นคือ โรงงานของซานมิเกล ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มเช่นเดียวกัน การปรับปรุงทางเทคนิค คงสามารถดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ว่าไปแล้วได้เริ่มผลิตเครื่องดื่มบางชนิดของPEPSI โดยเฉพาะLipton มาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว จากฐานโรงงานบางส่วน ซึ่งถือว่ายังไม่เต็มกำลังการผลิต หรือไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ ก็อาจจะเพิ่มเพิ่มได้ไม่ยาก ในเวลาต่อไป
สอง-การเจรจาเพื่อแสวงหาร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยเบฟฯ ทั้งการแชร์ระบบลอจิสติกส์ รวมไปถึงโอกาสในการร่วมลงทุนในการขยายกำลังการผลิต ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างมาก
ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร ก็สะท้อนเรื่องราวและความคิดสำคัญของ PEPSI ที่น่าสนใจไม่น้อย
ในภาพรวมเครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มในสังคมไทย ที่มีระบบลอจิสติกส์ของตนเอง มีความหลากหลายพอสมควร นอกจากกลุ้มไทยเบฟฯ บุญรอดบริวเวอรี่แล้ว ยังมีกลุ่มใหญ่ๆอีกอย่างน้อย2 กลุ่มคือโอสถสภา และกลุ่มกระทิงแดง ซึ่ง PEPSI สามารถเข้าไปอยู่เป็นชื้นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเหล่านั้นได้
แต่บุญรอดบริวเวอรี เป็นเพียงรายเดียว ถือว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงกับไทยเบฟฯ ที่สำคัญมีประสบการณ์การต่อสู้ทางธุรกิจอย่างเข้มข้น บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้บุกเบิกการผลิตเบียร์รายแรกของเมืองไทย ยึดครองตลาดอย่างมีความสุขมากว่าครึ่งศตวรรษ และแล้วเบียร์ช้างของกลุ่มทีซีซี อาจหาญเข้ามาต่อสู้และเอาชนะไปได้ช่วงหนึ่งด้วยความเจ็บปวด ไม่มีใครคาดคิดอีกเช่นกันว่า บุญรอดบริวเวอรี่ในฐานะธุรกิจเก่า ดูอนุรักษ์นิยม จะมีความพยายามและปรับตัวอย่างมาก เพื่อช่วงชิงฐานะผู้นำธุรกิจเบียร์ไทยกลับคืน
ในแง่นี้สะท้อนให้เห็นว่า PEPSI กับไทยเบฟฯ แม้ดีลดูเหมือนจะจบลงด้วยดีแบบ Win-win แต่ความสัมพันธ์จากนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี ถือเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มีรากฐานและทรงอิทธิพลในสังคมไทย รวมทั้งบรรดาทายาทรุ่นใหม่ๆของตระกูลภิรมย์ภักดี อาจถือเป็นAmerican connection ในฐานะที่หลายคนเรียนหนังสือตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาที่สหรัฐฯ
ในมุมนี้ อาจเกี่ยวพันกับมรดกทางความคิดของ PEPSI กับสังคมไทย ในบริบทช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของบริษัทอเมริกันในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับอิทธิพลทางการเมืองไม่มากก็น้อย PEPSIกับเสริมสุข เริ่มด้วยจากความสัมพันธ์กับตระกูลบูลสุข ซึ่งถือเป็นตระกูลธุรกิจไทยผู้ทรงอิทธิพลเวลานั้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องอาจไม่จบอย่างที่คาดไว้ แค่เชื่อแน่ว่า การจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง PEPSI กับพันธมิตรใหม่ คงไม่ดำเนินซ้ำรอยเดิม–เสริมสุขอย่างแน่นอน อาจคงไว้เพียงบางส่วนบางเสี้ยวของความสัมพันธ์แบบเดิม
ส่วนการบริหาร การตัดสินใจสำคัญซึ่งถือเป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์ธุรกิจระดับโลกปัจจุบัน คงไม่เว้นพื้นที่ไว้เป็นพิเศษเฉพาะที่ประเทศไทยเช่นที่ผ่านมาอย่างแน่นอน