หัวเมืองและชนบท (3) ห่วงโซ่ใหม่

การเฝ้ามองปรากฏการณ์ร่วม(เกิดขึ้นอย่างเสมอหน้า หรือช่องว่างลดลงอย่างมาก)ระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองและชนบท  ซึ่งดำเนินอย่างก้าวกระโดด  มิติหนึ่งที่สำคัญและควรเพ่งมองเป็นพิเศษจากนี้ไป  ว่าด้วยโอกาสและประสบการณ์ใหม่ทางเศรษฐกิจ

เบื้องต้นแรงขับเคลื่อนสำคัญ มาจากธุรกิจรายใหญ่ส่วนใหญ่ที่มีฐานในเมืองหลวง ได้ขยายเครือข่ายธุรกิจ ครอบคลุมหัวเมืองและชนบทอย่างทั่งถึง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  มาจากความพยายามขยายกิจการ ขยายตลาด  และพยายามแสวงหากำไรและผลตอบแทนทางธุรกิจในระดับที่น่าพอใจ   ตามคาดการณ์และคาดหวังของนักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้น

ความพยายามขยายตัวทางภูมิศาสตร์ทางธุรกิจในสังคมไทย  จึงกลายเป็นเรื่องง่าย และดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องที่สุด  กลายเป็นแนวคิดและยุทธศาสตร์พื้นฐานของบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจเครือข่าย จะโดยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม  ได้สร้างโมเมนตัมอันทรงพลัง –ขยายเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมหัวเมืองและชนบทอย่างกว้างขวางที่สุด  ใช้เวลาเพียงประมาณหนึ่งทศวรรษ

แรงงานในระบบการผลิตใหม่

ฐานการผลิตในหัวเมืองและชนบท เป็นคำที่มีความหมายและเป็นจินตนาการใหม่ๆอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน

จากจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบอย่างมาก เช่น ปูนซีเมนต์   โดยถือโรงงงานท่าหลวง(อำเภอท่าเรือ   อยุธยา) ของปูนซิเมนต์ไทย  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เป็นต้นแบบ  ต่อมาเมื่อการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ระหว่างธุรกิจยักษ์ใหญ่—ปูนซิเมนต์ไทยและปูนซีเมนต์นครหลวง ในการขยายฐานการผลิตสู่หัวเมือง เมื่อช่วงเริ่มต้นยุคสงครามเวียดนาม   ปรากฏการณ์นี้ได้สร้างชุมชนใหม่ในอาณาบริเวณแก่งคอย ห่างจากกรุงเทพฯเพียงประมาณ 100กิโลเมตร ถือเป็นต้นแบบการสร้างชุมชนใหม่ –ชุมชนโรงงาน จากเคยตั้งอยู่รอบๆเมืองหลวง มาสู่หัวเมืองและชนบทครั้งแรกๆ    รวมทั้งสร้างระบบการจ้างงานในท้องถิ่นขึ้นด้วย

ภาคอุตสาหกรรมไทย ได้ขยายตัวสู่หัวเมืองและชนบทอย่างเป็นกระบวนการใหญ่อย่างต่อเนื่อง เมื่อประมาณ2ทศวรรษมานี้   จากการขยายเขตการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของรัฐไปในขอบเขตทั่วประเทศ มากกว่า 35 แห่ง ไม่นับรวมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่สร้างขึ้นสำหรับกิจการในเครือข่ายของตน ไม่ว่า กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มกระทิงแดง หรือ เกษตรรุ่งเรือง ฯลฯ ไปจนถึง อุตสาหกรรมรายย่อยนอกนิคมอุตสาหกรรมอีกจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน เกษตรกรรม ฐานการผลิตเดิมในหัวเมืองและชนบท  ได้เริ่มสะท้อนภาพรวมสถานการณ์ใหม่เช่นกัน  ด้วยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ของระบบการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น   เกษตรกรรมกำลังพัฒนาโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมากขึ้น  ด้วยความพยายามสร้างวงจรทีทอดยาวไปยังการผลิตเชิงอุตสาหกรรม  พร้อมกับความพยายามสร้างมูลค่าผลิตผลเพิ่มมากขึ้น   ว่าไปแล้วเป็นภาพขยายหรือได้รับอิทธิพลจากโมเดลของ Contract farming และPlantation  โดยเฉพาะจากรากฐานพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

ปรากฏการณ์ข้างต้น ขับเคลื่อนโดยธุรกิจใหญ่จากส่วนกลางทั้งสิ้น

“ความจริงแล้วโครงสร้างการเกษตรพื้นฐานของไทยเปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว เกษตรกรรายย่อย ค่อยๆเปลี่ยนตัวเองเป็นลูกจ้างในภาคเกษตร ขณะที่พวกเขาจำนวนมากไม่มีที่ทำกินหรือมีบ้างก็ให้เช่าในราคาถูก กับ  “ผู้รับเหมา”รายค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเป็นผู้อำนาจทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น ดำเนินการบริหารแบบครึ่งๆกลาง ในพื้นที่แปลงค่อนข้างใหญ่ ด้วยระบบว่าจ้าง รวมทั้งสินเชื่อนอกระบบจากพ่อค้าสินค้าทีเกี่ยวข้อง”  อีกด้านหนึ่ง ผมเคยกล่าวถึงระบบการผลิตภาคเกษตรที่มาระดับชุมชนเดิมที่เปลี่ยนไปด้วย (จากเรื่อง ไทยเจริญ( 4)  เกษตรกรใหญ่    กรกฎาคม 2553  )

ในหัวเมืองและชนบทของไทย  ไม่เพียงมีฐานะเป็นฐานการผลิตอันมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยเท่านั้น ยังหมายถึงมีระบบการจ้างงานใหม่ เป็นส่วนผสมใหม่ที่สำคัญ

ในฐานะปัจเจก  ผู้คนในสังคมหัวเมืองและชนบทจากนี้ไป มีองค์ประกอบของความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์หลากหลายมากขึ้น และจะมากขึ้นๆ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม  ระบบการจ้างงานใหม่ ไม่เพียงสร้างระบบเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทเปลี่ยนไปจากเดิม  ในฐานะเป็นฐานลูกค้าใหม่กลุ่มใหญ่  เป็นตลาดใหม่ที่น่าดึงดูดเท่านั้น  ผมมองโลกในแง่ดีว่า ในแง่ปัจเจก กระบวนการเรียนรู้  การสะสมประสบการณ์ใหม่ดำเนินไปอย่างน่าสนใจ ติดตาม     ในภาพรวม เชื่อว่าจะมีผล  ในการเปลี่ยนโฉมหน้าและบุคลิก หัวเมืองและชนบท

สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หัวเมืองและชนบทไม่เพียง เป็นลูกค้าใหม่กลุ่มใหญ่มาก กำลังขยายตัว ควรถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงจากจุดโฟกัสจากเมืองหลวง  ไปสู่หัวเมืองและชนบทมากขึ้น  ที่สำคัญ ภายใต้เครือข่ายการผลิตใหม่ ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหม่ พนักงานและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง( Stakeholder) ตามหัวเมืองและชนบท ถือเป็นกลุ่มใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้น   ย่อมจะส่งผลต่อการปรับแนวคิดและโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในมิติจากเดิม คอยฟังและติดตามกระแสจากเมืองหลวง   อาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน อย่างระมัดระวังมากขึ้น

ภายใต้เครือข่ายธุรกิจ

จากโมเดล ธุรกิจนายหน้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลัก ๆ คือที่มาของกลุ่มธุรกิจใหญ่ในหัวเมือง   โดยเฉพาะ  เอเย่นต์ปูนซีเมนต์ เอเย่นต์สุรา  และ  รถยนต์  คงอยู่อย่างมันคงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เมื่อ 3-4ทศวรรษที่ผ่านมา   สู่เครือข่ายการค้าแบบใหม่ที่ดำเนินการอย่างรวมศูนย์จากส่วนกลาง   ถือเป็นประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยที่น่าสนใจ

จากระบบข้างต้นได้สร้างผู้ประกอบการจากหัวเมือง ให้สามารถสะสมทุน ก้าวมาเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองหลวงได้  นี่คือปรากฏการณ์ในช่วงสงครามเวียดนาม   ยังปรากฏร่องรอยถึงปัจจุบัน ทั้งกลุ่มที่ยังอยู่และจากไปแล้ว  อาทิ กลุ่มบุญสูง จากภาคใต้  กลุ่มกระทิงแดง และ เดอะมอลล์ จากภาคกลางตอนบน   เกษตรรุ่งเรืองจากฉะเชิงเทรา  หรืแม้แต่กลุ่มไทยเจริญ หรือทีซีซี ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโรงงานสุราในหัวเมืองทั่วประเทศ ก็สามารถเข้ามาปักหลักสร้างฐานธุรกิจใหญ่ในเมืองหลวงได้

ปัจจุบันสถานการณ์กลับตาลปัตรอย่างน่าสนใจ   กลุ่มกระทิงแดง  เกษตรรุ่งเรือง  ได้หวนหลับไปสร้างฐานเครือข่ายธุรกิจในหัวเมือง จากจุดที่เขาเคยมา หรือแม้แต่ กลุ่มทีซีซี ก็กลับไปใช้ประโยชน์จากที่ดินที่สะสมไว้ในหัวเมืองและชนบท

บรรดาเครือข่ายธุรกิจเดิม มีแรงบันดาลใจและเป้าหมายทีแตกต่างไปจากอดีต อีกประการหนึ่ง คือความพยายามผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองรายย่อยมากกว่ายุดใด  เลยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก  ในความพยายามสร้างเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่อย่างหลากหลาย    เช่นกรณี การแปลงโฉมเอเยนต์เก่าของเครือซิเมนต์ไทย(เอสซีซี)  สาขาแบบใหม่ของระบบธนาคารพาณิชย์   หรือเครือข่ายร้านอาหาร

ปรากฏการณ์อีกด้านหนึ่ง จากนั้นในช่วง 2 ทศวรรษมานี้ ภายใต้โมเดลเครือข่ายการค้าสมัยใหม่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเซ็นทรัล ขยายศูนย์การค้า สินค่าสมัยใหม่ เข้าสู่หัวเมืองสำคัญ    เครือข่ายค้าปลีกสินค้าคอนซูเมอร์พิ้นฐาน โดยเฉพาะ Big C, Tesco Lotus ขยายตัวถึงระดับอำเภอ ขณะที่ 7-Eleven ขยายตัวถึงระดับตำบลสำคัญๆของประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น เครือข่ายค้าปลีกเหล่านี้ได้นำบริการ นอกเหนือสินค้าคอนซูเมอร ไปสู่หัวเมืองและชนบทด้วย ไม่ว่า สินค้าไล่ฟสไตล์ ราคาแพง   ไปจนถึง สินค้าสื่อสาร

ผมกล่าวถึงบางตรรกะไว้ในตอนที่แล้ว ถือเป็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นผลมาจากการบุกรุก ครอบงำ และทำลายโครงสร้างธุรกิจท้องถิ่นดั่งเดิมในหัวเมืองของไทย โดยกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่มีฐานในเมืองหลวง” ในทางกลับกัน ได้เปิดโอกาสให้มีกระบวนการสร้างผู้ประกอบการขึ้นใหม่   ในกระบวนการนี้อาจจะมีข้อจำกัด ไม่เหมือนในอดีต แต่มีอีกด้านหนึ่งของการกระจายโอกาสที่กว้างขวางมากกว่ายุคใดๆ

หากเปรียบเทียบกัน ระหว่างเครือข่ายการผลิตกับเครือเครือข่ายค้าปลีกแล้ว เครือข่ายค้าปลีกได้สร้างเครือข่ายธุรกิจแวดล้อมอย่างหลากหลายมากกว่ามากทีเดียว  เครือข่ายค้าปลีกในหัวเมือง ได้สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงและโอกาสของหัวเมืองและชนบทอย่างมาก  อย่างน่าสนใจ   อย่างไรก็ตามแต่ละโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ล้วนเป็นระบบที่เป็นแบบแผนมากกว่า ความสัมพันธ์ลักษณะอุปถัมภ์ดั้งเดิม

จากเกษตรกรในเครือข่าย Contract farming และPlantationในฐานเครือข่ายการผลิต     พนักงานมืออาชีพ และผู้บริหารระดับกลาง ในกิจการเครือข่ายธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ธนาคาร ไปจนถึง franchisee และผู้ยืนในห่วงโซ่เครือข่ายค้าปลีกช่วงใดช่วงหนึ่ง อย่างหลากหลายรูปแบบ และความสัมพันธ์   ทั้งนี้ยังได้สร่างเครือข่ายข้างเคียง อยู่นอกระบบ เป็นดาวบริวารอีกจำนวนมาก

ปรากฏการณ์หนึ่งที่จะค่อยๆเกิดขึ้น เชื่อว่าได้ก่อตัวขึ้นบ้างแล้ว  และจะเกิดขึ้นต่อไปมากขึ้นๆ การปรากฏตัวของผู้ประกอบการอิสระ รายย่อย จากหัวเมืองและชนบทเอง ที่สวนกระแสหลัก จะกลายเป็นเครือข่ายอิสระ จากเครือธุรกิจใหญ่ ขณะเดียวกันถือเป็นธุรกิจรายย่อยใหม่ ที่อ้างอิง และดำรงอยู่ได้ ภายใต้ห่วงโซ่ของเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่

นี่คือด้านต่างๆหลายด้านของความสัมพันธ์ในเชิงระบบและผลประโยชน์ ไม่ว่าในฐานะผู้ร่วมมือในเครือข่ายธุรกิจ ไปจนถึงคู่แข่งขันทางธุรกิจ

แม้ว่าผมชอบชีวิตเรียบง่าย วิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชนของหัวเมืองและชนบท และมีความคิดจะรักษาเอาไว้ในฐานะผู้คนเข้าใจหรือสวนกระแสทุนนิยม หรืออย่างไรก็ตามที  ขณะเดียวก็เชื่อว่า การศึกษาความเป็นไปของหัวเมืองและชนบท ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างเชี่ยวกราก  ดังทีกำลังพยายาม  ควรเป็นจุดตั้งต้น เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งsy;

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: