ปรากฏการณ์ทีวีดาวเทียม อันสั่นสะเทือน แท้ที่จริงมีที่มาทีไป มีมิติความเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง มากว่าครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวง หัวเมืองและชนบท
ยุคฟรีทีวี
แม้ว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2498 แต่เรื่องราวที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม ต่อเนื่องมาถึงช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูก่อนปี 2540 นั่นคือวิวัฒนาการทีวีไทย ในความพยายามเชื่อมกรุงเทพฯเข้ากับหัวเมือง ในช่วงเวลาเพียง 15 ปีต่อมา ทีวีจึงมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น
บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ของตระกูลรัตนรักษ์ ได้สัญญาบริหารในนาม–ช่อง7 สี” จากกองทัพบก เปิดอย่างเป็นทางการในปลายปี 2510 ขณะที่บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ของตระกูลมาลีนนท์ได้สัญญาร่วมดำเนินงานทีวีสีช่อง 3 จากบริษัทไทยโทรทัศน์ (อสมท. ในปัจจุบัน) หลังช่อง 7 สีประมาณ 6 เดือน (มีนาคม 2511) ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของทีวีไทย ภายใต้การบริหารของเอกชน กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมากในเวลาต่อมา
ทีวีสองช่องสำคัญ เริ่มต้นแพร่ภาพในเขตเมืองหลวง พัฒนาการที่สำคัญเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2516 ช่อง 7 สี เริ่มสร้างสถานีเครือข่ายในต่างจังหวัด และในปี 2522 เริ่มใช้ดาวเทียมถ่ายทอด เชื่อมเครือข่ายทั่วประเทศ ถือเป็นจุดสำคัญของยุทธศาสตร์ธุรกิจ ทำให้ช่อง 7 สีก้าวไปไกลกว่าทีวีช่องอื่นๆ จนกลายเป็นผู้นำทางธุรกิจ มีฐานรายได้จากโฆษณาสินค้ามากที่สุดต่อเนื่องจากนั้นมา
ในที่สุดแล้วทีวีไทยทุกช่อง เริ่มพัฒนาเครือข่ายทั่วประเทศที่อย่างเห็นได้ชัดในราวปี 2531-2533 อันเป็นช่วงเบิกร่องและนำไปสู่เศรษฐกิจไทยที่พองโตอย่างมากในเวลาต่อมา และเป็นช่วงเวลาที่สังคมธุรกิจไทย แทบไมปรากฏผู้ประกอบการรายใหม่จากหัวเมืองแล้วเติบโตขึ้นในระดับชาติ ขณะเดียวกับเครือข่ายธุรกิจระดับชาติแผ่ขยายออกสู่หัวเมืองและชนบทอย่างขนานใหญ่ ที่สำคัญผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ จากฐานในกรุงเทพฯได้ใช้ทีวี เป็นเครือข่ายทรงพลังของสินค้าที่เชื่อมโยงไปถึงฐานรากระดับชุมชนชนบท
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)ก่อตั้งขึ้นในปี 2533 เข้าจดทะเบียนกับตลาดหุ้นไทยเมื่อกลางปี2539 “กลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก คือ 1) ธุรกิจดำเนินการออกอากาศและสื่อโฆษณา เช่น ธุรกิจโทรทัศน์ ระบบฟรีทีวี สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ภายใต้สัญญาร่วมดำเนินกิจการฯ กับ อสมท. และธุรกิจวิทยุ 2) ธุรกิจดำเนินการจัดหา ผลิตรายการ เช่น รายการบันเทิง สารคดี การแสดงโชว์/คอนเสิร์ต เป็นตน” (อ้างจากข้อสนเทศของตลาดหลักทรัพย์) โมเดลธุรกิจข้างต้นของช่อง3 สร้างแรงดูดในมิติมากกว่าอำนาจของการควบคุมสื่อสำคัญอยู่ภายใต้รัฐ ข้อมูลทางการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นโอกาสที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถผ่านช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจมาได้อย่างดี (โปรดพิจารณาตารางข้อมูลทางการเงินท้ายบทความ)
ยุคทีวีบอกรับ
ในปี 2532 ไอบีซี– ทีวีระบบบอกรับรายแรกเริ่มต้นขึ้น เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆในกระบวนการสร้างความมั่งคั่งอย่างท้าทายของทักษิณ ชินวัตร (ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานสื่อสารสำคัญหลายกิจการของประเทศ รวมทั้งสัมปทานดาวเทียมในปี 2534 ด้วย) จากระบบสัมปทานจากอสมท. ความตื่นเต้นของธุรกิจทีวีแบบบอกรับเกิดขึ้นจากนั้นไม่นาน(ราวปี 2537) มีผู้ตามแห่จำนวนมาก เมื่อพิเคราะห์แล้ว มิใช่โอกาสทางธุรกิจที่เป็นจริง หากมาจากโอกาสในกระบวนการระดมทุนจากตลาดหุ้น ไอบีซี เข้าตลาดหุ้นในปี 2535 สามารถระดมเงินผ่านตลาดหุ้นในหลายรูปแบบในช่วงปี2535-6 ได้นับพันล้านบาท (ยังไม่รวมตอนขายกิจการให้กลุ่มซีพี) ก่อนจะยอมรับว่า ในช่วงเมือทศวรรษที่แล้ว ทีวีบอกรับ (ต้องจ่ายเงิน) ไม่มีที่ยืนอย่างมั่นคงในตลาดเมืองหลวง
แต่แรงบันดาลใจไม่หมดสิ้นไปจากสังคมธุรกิจไทยเสียทีเดียว ซีพีกำลังเริ่มต้นธุรกิจสื่อสาร มองภาพเชิงผนวกพลัง อาจถือว่าเป็นทีมาของแนวความคิดConvergence ในเวลานี้ โดยได้ซื้อไอบีซีในปี 2541 และจากนั้นไม่นาน ได้ควบรวมกับกิจการสื่อสารหลายรูปแบบ ในนามกลุ่มทรู–เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานในเมืองหลวง และเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายอันดับสามของประเทศ
แม้ว่าดูเหมือนต่อมา แนวคิดทีวีบอกรับแบบพ่วง จากแนวคิด Convergence จะได้การตอบสนองอย่างดี แต่ยังน่าสงสัยว่าอาจกำลังจะกลายเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่ววูบในช่วงเวลาจากนี้ไป แต่ในแง่ผู้บริโภคในเมืองหลวง ถือได้ว่าได้มีประสบการณ์ที่ดี กับโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสาร และอื่นๆ และถือว่าเป็นประสบการณ์กับทีวีดาวเทียมช่วงต้นมาแล้วถึง2 ทศวรรษ
“ในไตรมาส 1 ปี 2555 ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2.5 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในอัตราร้อยละ 0.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และร้อยละ 2.1 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้จาก 2 คอนเสิร์ตใหญ่ (Super Junior และ Girls’ Generation) สามารถชดเชยรายได้ค่าสมาชิกที่ลดลง ทั้งนี้ ผลจากการลักลอบใช้สัญญาณของทรูวิชั่นส์ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกและทีวีดาวเทียมรายอื่นๆในตลาด ยังคงส่งผลกดดันต่อรายได้ค่าสมาชิกและฐานสมาชิกที่มีค่าบริการรายเดือนของทรูวิชั่นส์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทรูวิชั่นส์จึงเร่งด าเนินการเพื่อเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณใหม่ให้กับสมาชิก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานระบบออกอากาศใหม่ (ที่มีความปลอดภัยสูง) ได้ในไตรมาส 3 ก่อนกำหนดการเดิมในเดือนตุลาคม” รายงานวิเคราะห์การเงินฉบับล่าสุดของทรู ระบุไว้ถึงสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ
ยุคทีวีดาวเทียม
มีนาคม 2551 กฎหมายให้มีโฆษณาในเคเบิลทีวี และแบบที่ไม่ใช้คลื่นซึ่งรวมถึงทีวีดาวเทียม ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของทีวีดาวเทียมมากกว่า 200ช่อง ในช่วงเวลาไม่ถึง5 ปี ที่สำคัญมาจากแรงขับเคลื่อนของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและใหญ่จากเมืองหลวง โดยมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากทีวีบอกรับ –มุมตลาดระดับประเทศ
“จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ โอกาสของเครือเนชั่น
สื่อโทรทัศน์ในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เราได้เห็นโทรทัศน์ดาวเทียมเกิดขึ้นใหม่มากกว่า 200 ช่องผู้ชมทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลมีอัตราเติบโตก้าวกระโดด การแข่งขันของสื่อโทรทัศน์จะเข้มข้นอย่างน่าติดตาม ผู้ที่ได้เปรียบคือผู้ที่มี “เนื้อหา” (Content) เพราะไม่ว่าจะเป็นสื่อดั้งเดิมหรือสื่อใหม่ เนื้อหาสาระเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
เครือเนชั่นซึ่งมี Content มากองค์กรหนึ่งของประเทศ จะมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น ในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ในปี 2555 เราพร้อมที่จะผลิต Content ป้อนสู่ Free TV, Satellite TV, IPTV หรือ TVทุกๆ รูปแบบเครือเนชั่นไม่จำเป็นจะต้องตีกรอบตัวเองอยู่ภายใต้การทำธุรกิจสื่อเท่านั้น โอกาสที่เราจะลงทุนขยายธุรกิจอื่นๆ ที่มีอนาคตเราจะไม่ปฏิเสธ โดยเฉพาะธุรกิจด้าน Digital ทั้งในรูปแบบ E-Commerce,M-Commerce, S-Commerce, Education, Games และ Entertainmentซึ่งเป็นเวทีที่เปิดกว้าง รอผู้ที่มีความพร้อมเข้าร่วมแข่งขัน” ถ้อยแถลงสะท้อนสถานการณ์และแรงบันดาลใจของสุทธิชัย แซ่หยุ่น ประธานกรรมการบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (จากรายงานประจำปีฉบับล่าสุด)
“การเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาที่ยังคงไหลเข้ามาสู่สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างชัดเจน จากจำนวนผู้ชมโทรทัศน์ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารแพลตฟอร์มโทรทัศน์ดาวเทียม ด้วยการเปิดตัวกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม “GMM Z” ซึ่งนอกจากจะเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ และลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มโทรทัศน์ดาวเทียมรายอื่นแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถให้บริการโทรทัศน์แบบเสียค่ารับชม (Pay TV) และแบบรับชมเป็นรายครั้ง (Pay-Per-View) ได้อีกด้วย บริษัทฯ ยังได้ทำการทยอยซื้อคอนเทนต์ด้านบันเทิงและกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากต่างประเทศ และจะเปิดให้บริการโทรทัศน์แบบเสียค่ารับชมในปี 2555 นอกจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการจัดหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและผลิตรายการเองเพิ่มเติม เพื่อเสริมให้แพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของบริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในอนาคต
บริษัทฯ คาดว่าในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศจะรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นช่องฟรีทีวี หรือช่องทีวีผ่านดาวเทียม ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างช่องฟรีทีวี และทีวีผ่านดาวเทียมจะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าโฆษณาปรับมาใกล้เคียงกันตามไปด้วย” บทวิเคราะห์ว่าด้วยสถานการณ์และความเชื่อมั่นของกลุ่มจีเอ็มเอ็มแกรมมี (ผ่านรายงานประธานกรรมการ ในรายงานประจำปีฉบับล่าสุด) เน้นถึงความพยายามครั้งสำคัญ ในการปรับตัวจากความโมเดลธุรกิจเดิม สู่ความท้าทายใหม่
ทั้งเนชั่นและแกรมมี คือสองรายสำคัญ กำลังเคลื่อนไหวอย่างน่าติดตาม ถือเป็นพลังตัวแทน ตอบสนอง ปรากฏการณ์ทีวีดาวเทียมอันน่าทึ่ง
บทวิเคราะห์ จากชิ้นส่วน สถานการณ์ ความเชื่อมั่น และความเคลื่อนไวข้างต้น จะมีขึ้นในตอนต่อไป
———————————————————————-
ข้อมูลทางการเงิน
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)
(ล้านบาท)
———————————————————————————————————————————-
ปี 2554 2553 2552 2551 2550 2549 2548 2547 2546 2545
———————————————————————————————————————————-
สินทรัพย์ 9, 848 9,568 8,791 8,675 8,197 7,226 6,803 7,565 6,892 8,533
รายได้ 12, 970 11,887 9,058 8,961 7,968 6,951 6,420 6,473 6,239 5,540
กำไร 3, 530 3,302 2,635 2,875 2,252 1,643 880 1,602 1,970 1,668