แม้ว่าถนนหลายสายมุ่งไปที่ทีวีดาวเทียม แต่ทว่าโอกาสและความเป็นไปได้ ย่อมไม่เท่ากัน ภาพความเคลื่อนไหวใหญ่สะท้อนมาจากกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ กลุ่มที่มีทีมาและพัฒนาการจากจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน กำลังสู่เส้นทางที่”หลอมรวม”กันในไม่ช้า
บทเรียนจากความพยายามศึกษาความเคลื่อนไหวของบริษัท บีอีซีเวิลด์ (ทีวีช่อง3) ทรูวิชั่น และจีเอ็มเอ็มแกรมมีเป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจ ให้ภาพใหญ่ สู่เส้นทางทีวีดาวเทียมอย่างมีสีสัน และเป็นรูปธรรม แม้จะเป็นภาพสะท้อนของธุรกิจเป็นหลัก แต่ในบางด้านสะท้อนเชิงสังคมไว้ด้วย
ทีวีช่อง 3
ทีวีดูฟรี(Free TV) ส่งสัญญาณในขอบเขตทั้งประเทศ ผ่านเสาอากาศ (ก้างปลา) กลายเป็นสินค้ามาตรฐาน เป็นสิ่งจำเป็นของทุกครัวเรือนมานานพอสมควร เป็นกิจการอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานของรัฐ จึงถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับการปกป้องให้มีการแข่งขันน้อยราย รายได้หลักมาจากค่าบริการโฆษณาสินค้าซึ่งมีมูลค่ารวมกันนับหมื่นล้านบาท บีอีซีเวิลด์ (ทีวีช่อง3) เป็นกิจการทีวีดูฟรีรายเดียวที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย มีการเปิดเผยข้อมูลไว้ตามมาตรฐานที่ควรเป็น การศึกษาภาพสำคัญของทีวีดูฟรีของไทยในภาพรวม จึงเป็นได้ตามสมควร
จากข้อมูลทางการเงินท้ายบทความ กิจการทีวีดูฟรี มองผ่านทีวีช่อง 3 ถือเป็นกิจการที่มีผลประกอบการอย่างดีต่อเนื่อง “โมเดลธุรกิจข้างต้นของช่อง3 สร้างแรงดูดในมิติมากกว่าอำนาจของการควบคุมสื่อสำคัญอยู่ภายใต้รัฐ ข้อมูลทางการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นโอกาสที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถผ่านช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจมาได้อย่างดี“ดังที่ผมกล่าวไว้ในตอนที่แล้ว
“กลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่ม”มาลีนนท์” ในระหว่างปี 2538 โดยการรวบรวมบริษัทของ”มาลีนนท์” ที่ดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดำเนินการออกอากาศ(BROADCASTING) ,จัดหาและผลิตรายการโทรทัศน์ (SOURCING AND PRODUCING TV PROGRAMS) และสื่อโฆษณาอีเล็ค ทรอนิคส์ (ELECTRONICS ADVERTISING MEDIA ) เข้าด้วยกัน ปัจจุบันกลุ่มบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ประกอบด้วยบริษัททั้งหมดรวม 15 บริษัท ” ข้อมูลพื้นฐานของทีวีช่อง3 ให้ภาพโครงสร้างธุรกิจ ควรอรรถาธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจง่ายขึ้น
การบริหารทีวีช่อง 3 ภายใต้สัมปทานของรัฐที่ได้รับการต่อออกไปจนถึงมีนาคม 2563 ช่อง3 ข้อมูลข้างต้นแสดงโมเดลของการปรับตัวและโครงการบริหาร ถือเป็นโมเดลธุรกิจอ้างอิงบางระดับของธุรกิจทีวีดาวเทียมทั่วไปในปัจจุบัน โครงสร้างรายการของช่อง 3 ส่วนใหญ่ เป็นรายการบันเทิง โดยเฉพาะละคร และเกมโชว์ ต่อมารายการข่าวได้รับความสนใจมากขึ้น กระบวนการผลิตรายการทุกขั้นตอน อยู่ภายใต้เครือข่ายและการจัดการของช่อง 3 ทั้งสิ้น ส่วนช่องทางการนำเสนอรายการนั้น แม้จะมีรายการวิทยุอยู่ด้วย ถือเป็นมีส่วนประกอบในเชิงสนับสนุนกับรายการทีวีเป็นสำคัญ
แม้ในอนาคต เมื่อทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นและได้รับการตอบสนองอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทีวีดูฟรีแบบเดิมจะเผชิญการแข่งขันและท้าทายมากขึ้น แต่สถานการณ์ที่เป็นจริง มิได้มาเร็วอย่างที่บางคนคาด กลุ่มธุรกิจอิทธิพลดั่งเดิมของทีวีดูฟรี ยังมีโอกาสและเวลาปรับตัวอีกมาก เช่นเดียวกับช่อง 3 อยู่ในระหว่างการเตรียมการอย่างแข็งขันด้วยการตั้งกิจดารทีวีดาวเทียมทีเดียว 3บริษัท
การประเมินจากภาพย่อย ทีวีช่อง 3 ยังคงมีกำลัง (ทั้งทุนและบุคลากร) การปรับตัวสู่ทีวีดาวเทียม อย่างเข้มแข็งมากกว่าอีก 2รายที่กล่าวถึง
ทรูวิชั่น
ทีวีบอกรับสมาชิก(Pay TV) มีความเป็นมาค่อนข้างไม่ราบรื่น แม้ว่าจะเป็นระบบสัมปทานทีไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจอย่างเป็นทางการ แต่อีกด้านถือเป็นความพยายามในฐานะผู้บุกเบิก สร้างโมเดลธุรกิจทีวีระบบสมาชิก โดยในช่วงแรกมุ่งตลาดของคนในเมืองหลวง กว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ถึงทศวรรษมานี้ จากการเริ่มต้นอย่างล้มลุกคลุกคลานมาเกือบ 20ปี
แนวทางการจัดการรายการของทรูวิชั่น ส่วนใหญ่เป็นรายการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อให้มีความแตกต่างจากทีวีดูฟรี จึงเป็นต้นทุนธุรกิจที่สูงกว่าทีวีดูฟรี ขณะเดียวกันการขยายตัวระบบสมาชิกเป็นไปค่อนข่างช้า การปรับยุทธศาสตร์ครั้งล่าสุด เข้ามาอยู่กลุ่มทรู ในกระบวนการที่เรียกว่าConvergence ผนึกผสานกับธุรกิจประเภทสมาชิก ทั้งระบบโทรศัพท์ไร้สาย และบริการทางอินเทอร์เน็ต จนสามารถสร้างระบบสมาชิกได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น แต่อยู่ภายใต้โครงสร้างรายได้ต่อหน่วยที่ตำลงด้วย
หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ โอกาสของทรูวิชั่นคงจะมีมากขึ้น แต่ปรากฏการณ์ทีวีดาวเทียม เข้ามาเป็นอุปสรรคต่อแผนการระยะยาวอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งนี้สะท้อนจากรายงานการเงิน และรายงานของผู้บริหาร ที่สำคัญผลกระทบต่อทรูวิชั่น เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีดูฟรี”ในไตรมาส 1 ปี 2555 ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2.5 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในอัตราร้อยละ 0.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และร้อยละ 2.1 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้จาก 2 คอนเสิร์ตใหญ่ (Super Junior และ Girls’ Generation) สามารถชดเชยรายได้ค่าสมาชิกที่ลดลง ทั้งนี้ ผลจากการลักลอบใช้สัญญาณของทรูวิชั่นส์ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกและทีวีดาวเทียมรายอื่นๆ“
“มีนาคม 2551 กฎหมายให้มีโฆษณาในเคเบิลทีวี และแบบที่ไม่ใช้คลื่นซึ่งรวมถึงทีวีดาวเทียม ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของปรากฏการณ์ การเกิดขึ้นของทีวีดาวเทียมมากกว่า 200ช่อง ในช่วงเวลาไม่ถึง5 ปี ที่สำคัญมาจากแรงขับเคลื่อนของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและใหญ่จากเมืองหลวง โดยมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากทีวีบอกรับ –มุมตลาดระดับประเทศ”นี่คือสถานการณ์สำคัญที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว( หัวเมืองและชนบท : ทีวีดาวเทียม (1)) เป็นสัญญาณเร่งให้ทรูวิชั่นปรับตัวครั้งใหญ่
แม้ทรูวิชั่นสามารถมีโฆษณาได้เป็นครั้งแรก ซึ่งมีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมกันนับพันล้านบาท แต่ก็อยู่ในช่วงการลงทุนครั้งใหญ่ในการปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ที่มาแรงมาเร็วเช่นกัน
หนึ่ง-ความพยายามขยายฐานสมาชิกออกสู่หัวเมืองมากขึ้น
สอง-การบริหารจัดรายการทีวีอย่างเหมาะสมกันกลุ่มต่างๆ กับความเรียกร้องต้องการที่ทดแทนกับการมีโฆษณาสินค้า รวมทั้งการเผชิญการทีวีดาวเทียมที่เกิดขึ้น ต้องปรับตัวทั้งทางเทคโนโลยี่ และบริการ
สาม-ความพยายามผลิตรายการของตนเอง ถือเป็นความพยายามต่อเนื่องมาก่อนหน้าแล้ว ด้วยประเมินสถานการณ์ทั้งการแข่งที่แท้จริงจากนี้ เมื่อทีวีไทยได้การปลดปล่อย มีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรีมากขึ้น –จากปรากฏการณ์การของทีวีดาวเทียม สาระและรายการจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้งรายการต่างประเทศที่โด่งดัง ต้องเผชิญการแข่งขันช่วงชิงลิขสิทธิ์มากขึ้น ซึ่งทรูวิชั่นกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
แม้ว่าจะมีเครือข่าย มีเทคโนโยลี่มีเหมาะสม(ที่เรียกว่าเป็น Platform Operator) กับทีวีดาวเทียม มากกว่าทีวีดูฟรี แต่พายุที่โหมกระหน่ำดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่า
จีเอ็มเอ็มแกรมมี่
ในช่วงเพียง 3 ทศวรรษ แกรมมี่ได้สร้างความมหัศจรรย์ ผ่านมาจากยุคทรานซิสเตอร์ สู่คาสเซตเทป และทีวีดูฟรี ในฐานะผู้นำวงการบันเทิงไทย ในฐานที่สินทรัพย์สำคัญ—นักร้อง ดารา และรายการเพลง ละคร ภาพยนตร์ และอื่นๆที่แวดล้อม เป็นแกนสำคัญ แต่อยู่ในฐานะผู้ผลิตรายการ หรือ Content Provider โดยอาศัยช่องทางของทีวีดูฟรีเป็นสำคัญ
“1.ธุรกิจเพลงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเพลงแบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจค่าเพลงและลิขสิทธิ์ ธุรกิจดิจิตอล คอนเทนด์ ธุรกิจโชว์และธุรกิจบริหารศิลปิน 2.ธุรกิจสื่อประกอบด้วย สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สื่อสิ่งพิมพ์ 3.ธุรกิจภาพยนตร์ 4. ธุรกิจอื่นๆ ให้บริการสถานที่ออกกำลังกาย ธุรกิจบริหาร Call center และธุรกิจการศึกษา“ภาพโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจนมากขั้นของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่(จากข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์)
ความฝันของแกรมมี่ในความพยายามรวบขั้นตอนจากผู้นำในการผลิตรายการบันเทิง เข้ากับช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคอย่างจริงจัง(ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามมาหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงต้นของการเกิดขึ้นของทรูวิชั่น)ตามโมเดลทีวีดูฟรีที่แกรมมีเฝ้ามองมาตลอด สุดท้ายความเป็นจริงจึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการรุกสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม
ว่าไปแล้วเป็นเส้นทางเดินคล้ายๆกับโมเดลของทรูวิชั่น ในฐานะผู้มีเครือข่าย(ทีวีหลายช่อง) และระบบทีวีที่เป็นสมาชิก ในฐานะ Platform Operator
“ได้วางรากฐานส่ำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต ด้วยการเปิดตัวแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “GMM Z” เพื่อต่อยอดธุรกิจที่ดำเนินอยู่ ในปัจจุบัน และรองรับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไปในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจให้สามารถรองรับโอกาสใหม่ ๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมถึงคอนเทนต์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 28 ปี”รายงานของผู้บริหารจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (รายงานประจำปี2554)
แกรมมีเชื่อว่ามั่นการควบรวมบทบาท Content Provider กับ Platform Operator เข้าด้วยกัน จะกลายเป็นพลังที่น่าเกรงขามอย่างยิ่ง
พลั่งขับเคลื่อนจาก “ตัวแทน”ความเคลื่อนไหวอันคึกโครม กำลังมีเส้นทางร่วมที่ปลายทาง–ทีวีดาวเทียม ดูแล้วส่งผลต่อเมืองหลวงไม่มากนัก ขณะที่เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ต่อหัวเมืองและชนบทอย่างมากมายกว่าที่คิด
————————————————————————————————————-
ยอดขายเปรียบเทียบ
(ล้านบาท)
ปี 2554 2553 2552 2551 2550 2549 2548 2547 2546
—————————————————————————————————————-
บีอีซี เวิลด์ 12, 970 11,887 9,058 8,961 7,968 6,951 6,420 6,473 6,239
ทรูวิชั่น 9,273 9,305 9,305 9,273 8,631 8,352 7,943 7,569 7,037
แกรมมี 9,388 8,812 8,124 7,806 7,286 6,427 6,313 6,671 5,986
แหล่งข้อมูล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย