ทีวีดาวเทียม(3)บทเรียนจากเนชั่น

ปรากฏการณ์ทีวีดาวทียมอันคึกคัก เริ่มต้นมาจากหัวเมืองและชนบท  ขณะเดียวกันกำลังกลายเป็นความเชื่อมั่นใหม่ของธุรกิจสื่อข่าวสาร การบรรจบกันของ “พลัง”ทั้งสองด่าน แม้ว่าจะยังดูไม่ออกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมหรือไม่ อย่างไร แต่เบื้องต้นสะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระจากระบบเดิมมากขึ้น

ความตื่นตัว

แม้จะยอมรับว่า ความตื่นตัวของหัวเมืองและชนบท ในการสร้างกระแสทีวีดาวเทียม   มาจากความตื่นตัวทางการเมือง ความตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสาร เฉพาะกลุ่ม เฉพาะสี  แต่ได้ให้ภาพรวมของหัวเมืองและชนบทในภาพรวม ในการตอบสนองกับปรากฏการณ์ทีวีดาวทียม ในการรับรู้ข่าวสารที่เป็นที่ต้องการเฉพาะ เป็นอิสระจากทีวีดูฟรีเดิม เป็นที่รู้กันอย่างดี ว่าเป็นสื่อภายใต้กำกับหรือได้รับสัมปทานจากรัฐ

ปรากฏการณ์ทางแยกระหว่างทีวีดูฟรีกับทีวีดาวเทียม มีพัฒนาการต่อเนื่องในช่วงกว่า3 ทศวรรษมาถึงช่วงสำคัญ   จากจุดเริ่มต้น หัวเมืองและชนบท ในฐานะเป็นดาวบริวารของเมืองหลวง ในฐานะผู้ชมชั้นสองของทีวีดูฟรี (รายการข่าวที่ล่าช้ากว่าผู้ชมในเมืองหลวงและใกล้เคียง) ในช่วงสงครามเวียดนาม จนถึงยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู    ทีวีดูฟรีขยายเครือข่ายสัญญานอย่างทั่วถึงทั่วประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณสองทศวรรษก่อนหน้านี้ แล้วก็ถึงยุคทีวีดาวเทียม ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ของความเป็นอิสระและตัวของตัวเองมากขึ้นของหัวเมืองและชนบท โดยไม่อ้างอิงกับทีวีดูฟรีของรัฐอย่างเข้มข้นอีกต่อไป

ปรากฏการณ์ทีวีดาวเทียม เกิดขึ้นและมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก จากปรากฏการณ์ข้างเคียงอื่นที่สำคัญ

หนึ่ง-ความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนระดับกลางของสังคม ซึ่งกระจายตัวในสัดส่วนค่อนข้างมากในหัวเมืองและชนบท เป็นความตื่นตัวครั้งสำคัญครั้งแรกๆของสังคม ขยายตัวค่อนข้างกว้างขวาง แม้ว่าความตื่นตัวทางการเมืองได้สร้างความขัดแย้ง  มาจากความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย  แต้ถือเป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งในความกระตือลือร้นในการรับรู้ข่าวสารครั้งสำคัญ

สอง–การเติบโตของสื่อสังคม(Social media) ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายและอินเตอร์เน็ต ในกลุ่มแกนสำคัญๆของสังคม กลายเป็นพลังเสริมที่สร้างความตื่นตัวและความอิสระ ไม่เพียงเป็นผู้รับข่าวสารหากเป็นผู้สร้างเครือข่ายข่าวสารของตนเองด้วย ในกระบวนการรับรู้ข่าวสารจากระดับลึกมากขึ้น และค่อยๆ กระจายสู่วงกว้างมากขึ้นในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามทีวียังเป็นสื่อที่ผมเรียกว่า “สื่อกระแสหลัก” ทั้งในฐานะทีวีเป็นอุปกรณ์จำเป็นในครัวเรือนทุกครัวเรือน กระจายอย่างกว้างขวางที่สุด จากเมืองหลวง หัวเมือง สู่ชนบท จากเครือข่ายผ่านเสาอากาศแบบเดิม สู่จานดาวเทียมที่เสริมทั้งช่องและรายการที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากทีวีของรัฐดั้งเดิม ที่สำคัญรวมทั้งในแง่อิทธิพล และโอกาสทางธุรกิจ

บทเรียนจากเนชั่น

เรื่องราวของกลุ่มเนชั่น เป็นภาพสะท้อนอีกด่านหนึ่ง ว่าด้วยความพยายามในฐานะผู้นำของการผลิตข่าวสารในมิติความพยายามทั้งขยายพื้นที่การรับข่าวสาร และจากสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม สู่สื่อใหม่ๆ  โดยเชื่อมั่นว่าเป็นทั้งโอกาสธุรกิจและสร้างพลังของข่าวสาร

จากข้อมูลพื้นฐานประกอบบทความ(ลำดับเหตุการณ์และข้อมูลทางการเงิน)ให้ภาพสำคัญบางภาพของกล่มเนชั่น ที่สำคัญย่อมเป็นภาพ  “ตัวแทน”ของสื่อข่าวสารโดยทั่วไปด้วยเช่นกัน

หนึ่ง-เนชั่นเริ่มต้นในฐานะผู้เผลิตข่าวสารเฉพาะกลุ่ม(ผู้อ่านภาษาอังกฤษ) สู่สังคมธุรกิจในฐานะหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจรายวันฉบับแรก–กรุงเทพธุรกิจ ในยุคตลาดหุ้นไทยขยายตัวครั้งใหญ่ สะท้อนการเติบโตและโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นเมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว  จากนั้นก้าวสู่ฐานกว้างมากขึ้น ด้วยหนังสือพิมพ์รายวันทั่วไปอีกฉบับหนึ่ง    ในกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับของกลุ่มเนชั่น ถือเป็นฐานสำคัญในการสร้างเครือข่ายข่าวสาร ทั้งในแง่ปริมาณและความครอบคลุม

สอง-กลุ่มเนชั่นในฐานะบุกเบิกการผลิตข่าวสารผ่านสื่อใหม่  จากสื่อสิ่งพิมพ์  สู่วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มรากฐานสื่อสิ่งพิมพ์รายแรกๆ   แม้ว่าในการบุกเบิก แผ้วทางนั้น ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆมากมาย  แต่ประสบการณ์ข้ามสื่อ ถือว่าเป็นการเสริมสร้างความสามารถและโอกาสมากกว่าสื่อดั้งเดิมรายอื่นๆ    ท่ามกลางภาวะความผันแปรของสื่อในช่วงทีผ่านมา

สาม –ประสบการณ์สำคัญและเชื่อว่าได้ใช้พลังงานของกลุ่มเนชั่นมากเป็นพิเศษ และมีแรงเฉื่อยมากเป็นพิเศษ คือการนำเสนอข่าวสารผ่านทีวีในโมเดลเดิม จากประสบการณ์ลุ่มๆดอนๆกับปรากฏการณ์ไอทีวี จนมาถึงการผลิตรายการอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อทีวีดูฟรี   ทีวีดาวเทียมจากระบบสัมปทาน (ยูบีซีหรือทรูวิชั่น) เป็นการผจญภัยกับความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากระบบพึ่งพิง อ้างอิงกับอำนาจทางการเมือง ถือเป็นประสบการณ์ข้ามทศวรรษ จนถึงทุกวันนี้

สี่—ปรากฏการณ์ทีวีดาวเทียม สร้างโอกาสใหม่ให้กลุ่มเนชั่น   มิติที่แรก –เปิดช่องทางสื่อเข้าถึงผู้คนกว่างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกมิติหนึ่ง—เปิดทางเลือกเพิ่มขึ้น และลดความเสี่ยงจากระบบพึ่งพิงพันธะกับทีวีดูฟรีแต่เดิม ดูเหมือนว่ากลุ่มเนชั่น ไม่เพียงมีช่องรายการทีวีของตนเองเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงสั้นๆที่ผ่านมา พร้อมกับมีพันธะสัญญาอย่างหลากหลายกับเครือข่ายทีวี ทั้งทีวีดูฟรี เครือข่ายทีวีดาวเทียมใหญ่ ไปจนถึงเครือข่ายทีวีดาวเทียมระดับชุมชนในหัวเมือง

จากสมมติฐานข้างต้น เป็นไปได้ว่า กลุ่มเนชั่น กำลังดำเนินยุทธศาสตร์สองแนว   หนึ่ง-เพิ่มช่องทีวีของตนเองมากขึ้น ในที่สุดอาจสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่    เป็นพัฒนาการจาก Content provider สู่Platform provider ในโมเดลเดียวกับทรูวิชั่น หรือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่   สอง-จาก Content provider ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษทีครอบคลุมเครือข่ายทั้งประเทศ จากเมืองหลวง หัวเมืองสู่ชนบท มีความเป็นไปได้ว่าจะข้ามพรมแดนรอยต่อไปสู้ระดับภูมิภาคที่มีลักษณะเฉพาะระดับหนึ่ง—ภูมิภาคอาเชี่ยน เพื่อสร้างจุดเด่นจุดหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคหลอมรวมกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่ากลุ่มเนชั่นจะมีความกระตือลือร้นกับการเปลี่ยนแปลงมากเพียงใด แต่(ดูจากรายงานการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา–ท้ายบทความ และ การลดทุนบริษัท) ยังถือว่าต้องเผชิญอุปสรรคและความไม่แน่นอนในการปรับตัวอีกพอสมควร

แต่ความแน่นอนที่สำคัญของกลุ่มเนชั่นในวันนี้ คงอยู่ที่มุ่งมองไปยังฐานผู้บริโภคข่าวสารระดับกว้าง จากเมืองหลวง สู่หัวเมืองและชนบทอย่างจริงจัง

ผมเชื่อและคิดเอาเองเช่นนั้น

——————————————————————————————————————————

 

กลุ่มเนชั่น–ลำดับเกตุการณสำคัญ

2514

เนชั่นก่อตั้ง โดยออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรก

2530

จัดทำหนังสือรายวันภาษาไทย—กรุงเทพธุรกิจ เสนอข่าวทางด้านเศรษฐกิจ

2525

ก่อตั้งวิทยุเนชั่น เพื่อนำเสนอข่าวสารจากเนชั่นและกรุงเทพธุรกิจ ในรายการวิทยุ

2536

เนชั่นบรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น ตั้งขึ้น “เป็นบริษัทย่อยในสายธุรกิจสื่อกระจายภาพและเสียงของ เนชั่นกรุ๊ป โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ในเชิงข่าวสารและสาระความรู้ เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์แบบไม่เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ชม (ฟรีทีวี หรือ Free TV) และโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี) ช่องต่างๆ รวมทั้งประกอบธุรกิจร่วมผลิตรายการวิทยุและข่าวต้นชั่วโมง ออกอากาศทางสถานีวิทยุคลื่นต่างๆ โดยดำเนินการผ่าน บริษัท เนชั่น เรดิโอ เน็ทเวิร์ค จำกัด”

2539

เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

2542

ยุติการเป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

2543

เปิดตัวNation Channel   สถานีข่าว 24 ชั่วโมง

2544

จัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน  คมชัดลึก เพื่อเสนอข่าวทั่วไป สำหรับตลาดฐานกว้าง ทั่วประเทศ

2546

ยุติการออกอากาศ Nation Channel ทาง UBC ช่อง 8 และเปลี่ยนการแพร่ภาพมายังสถานีโทรทัศน์ไททีวีช่อง 1 (TTV ช่อง 1) ผ่านทางระบบ MMDS คลอบคลุมพื้นที่การรับชมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง ขยายช่องทางการแพร่ภาพเพิ่มขึ้นทางเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ และทีวีดาวเทียม ABS1 ระบบ C-Band ครอบคลุมพื้นที่การรับชมทั่วประเทศไทยและบางประเทศในทวีปยุโรป

2549

ขยายช่องทางการออกอากาศข่าววิทยุต้นชั่วโมงไปยังสถานีวิทยุชุมชนในต่างจังหวัด จำนวน 27 สถานี ทุกภูมิภาค

2551

ขยายช่องทางการแพร่ภาพ Nation Channel โดยส่งสัญญาณแบบ Free-to-air ผ่านดาวเทียม NSS-6 ในระบบ KU-Band ครอบคลุมพื้นที่การรับชมทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย

2553

สถานีบันเทิง Mango TVเริ่มออกอากาศ

2554

สถานี ASEAN TV เริ่มออกอากาศ—สถานีเพื่อข่าวสาร สาระ และความบันเทิง สำหรับ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยร่วมกับ อสมท. ผลิตรายการวันละ 6ชั่วโมง

สถานีข่าวระวังภัย เริ่มออกอากาศ–สถานีข่าวที่มุ่งน�ำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรม การจราจร สภาพอากาศภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สถานี RAMA Channelเริ่มออกอากาศ—สถานีสาระความรู้เพื่อสุขภาพดี24 ชั่วโมง เสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค และผลงานวิจัยจากคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ข้อมูล  เรียกเรียง และคัดมาจาก http://www.nationgroup.com และ http://www.nbc.co.th

ข้อมูลทางการเงิน

บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จํากัด   (มหาชน)และบริษัทย่อย

(ล้านบาท)

ปี                          2554      2553       2552         2551       2550        2549      2548      2547       2546         2545

รายได้               2,797     2,934      2,522       3,017      3,208       3,087    3,474     3,388      3,146       2,896

กำไร(ขาดทุน)      150       382        (56)          (65)        (797)       (154)      (332)      113          150         (239)

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: