สหพัฒน์มีอะไรใหม่(1)

ผมเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพัฒน์มาเป็นพิเศษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ด้วยความพยายามแสวงหาคำตอบใหม่ๆของธุรกิจไทย    ธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสังคมสมัยใหม่มากที่สุดธุรกิจหนึ่ง     แม้ไม่พบปรากฏการณ์ใหม่ที่สำคัญ  แต่เชื่อว่ามีความเข้าใจสิ่งที่เป็นไปมากขึ้น

เรื่องเกี่ยวเนื่อง

บทเรียนสหพัฒน์(1) ช่วงก้าวกระโดด

กลุ่มสหพัฒน์(2)โมเดลทางธุรกิจ

Japanese town

มีปรากฏการณ์สองเหตุการณ์ทีควรกล่าวถึงจากนี้  ถือเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ของกลุ่มสหพัฒน์ที่ควรพิจารณาเพื่อความเข้าใจแนวทางธุรกิจอันคงเส้นคงวา ของผู้บริหารปัจจุบัน  ถือว่าเป็นรุนที่สองที่มีความต่อเนื่องมากที่สุดในสังคมธุรกิจไทยก็ว่าได้

เหตุการณ์แรก–เครือสหพัฒน์ รุกตลาดอสังหา จับมือกลุ่มชาญอิสสระรุกคอนโดหรูริมหาดชะอำ(ข่าวจากไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จากัด (มหาชน) หรือไอซีซี http://www.icc.co.th โดยอ้างจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 10 มกราคม 2555)

“เครือสหพัฒน์ได้หันมาบุกการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยแนวทางของบริษัทจะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวยังไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท

 

โดยล่าสุด ทางสหพัฒนพิบูล และบริษัท ไอ.ซี.ซี.ได้ร่วมทุนกับบริษัท ชาญอิสสระ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมที่ชายหาดชะอำโดยเฉพาะ” อ้างคำแถลง บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

ในทางปฏิบัติกลุ่มสหพัฒน์ดำเนินการตามแผนการมาก่อนหน้านั้น อ้างจากรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ของไอซีซี เมื่อ 29เมษายน2554 เกี่ยวกับตั้งบริษัทร่วมทุนในนามบริษัทร่วมอิสระ โดยมีโครงสร้างผู้ถือหุ้น   —กลุ่มชาญ อิสระ 50% กับกลุ่มสหพัฒน์ (ไอซีซีกับสหพัฒนพิบูล) 50%   เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

อีกเหตุการณ์หนึ่ง – ไอซีซีแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า  เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ที่ประชุมกรรมการบริหาร ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการลงทุนในบริษัท ซอรรูฮะ (ประเทศไทย)   ดำเนินกิจการ ร้านค้าปลีกและจาหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ และเสริมความงาม รวมทั้งผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทใหม่—-   Tsuruha Holdings Inc. 49%   ไอซีซี15%. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง 15% สหพัฒนพิบูล 15%

จากนั้นอีกหลายเดือนจึงมีคำแถลงต่อสื่ออย่างเป็นทางการ  “มาแล้ว “สหพัฒน์” จับมือ”ซูรูฮะ” เปิด “ดรักสโตร์” ท้าชนวัตสัน-บู๊ทส์”อ้างจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 22 พฤษภาคม 2555

“เครือสหพัฒน์ต้องการขยายธุรกิจร้านค้าปลีกด้านสุขภาพและความงาม ล่าสุดได้ร่วมทุนกับกลุ่มซูรูฮะประเทศญี่ปุ่น ภายใต้เงินทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เปิดให้บริการร้าน ดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่น สาขาแห่งแรกจะเปิดที่ศูนย์การค้าเกตเวย์เอกมัย ในกลางเดือนมิถุนายนนี้

“นอกจากการร่วมมือกับซูรูฮะเปิดร้านดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการนำสินค้าในเครือไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และมีแผนจะมีการแลกเปลี่ยนโนว์ฮาว ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร รวมถึงการทำวิจัยและพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ร่วมกันด้วย”บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์เป็นคนแถลงเอง  ร่วมผู้บริหารชาวญี่ปุ่นของ TSURUHA  มองในแง่หนึ่งเป็นความต่อเนื่องของ Japan connection ของกลุ่มสหพัฒน์   ส่วน  TSURUHA  คือกิจการเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดเล็กมีเพียงประมาณ500 แห่งทั้งญี่ปุ่น  แม้จะเป็นกิจการก่อตั้งมานานพอสมควรประมาณ 70 ปี

ทั้งบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา( เกิดปี2480 ) ในฐานะประธานเครือสหพัฒน์ กับบุญเกียรติ โชควัฒนา ( เกิดปี2490)  ประธานไอซีซี กิจการสำคัญในกลุ่มสหพัฒน์ ถือเป็นรุ่นต่อเนื่อง ในยุคกิจการขยายตัวอย่างมากมายเมื่อ 2-3ทศวรรษที่แล้ว ตามแนวทางของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำที่มีบทบาทอย่างสูงตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และก็ยังดำรงบทบาทต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน   ส่วนบุญเกียรติแม้เป็นน้องคนสุดท้องทีมีอายุห่างจากบุณยสิทธ์ถึง10 ปี แต่ถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกัน

มองในมุมอย่างหยาบๆและตั้งคำถามอย่างง่ายๆ  กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวพันกับไลฟสไตล์และการเติบโตของสังคมไทยของคนรุ่นหลังยุคBaby boomers อย่างกลุ่มสหพัฒน์ ด้วยการบริหารของคนรุ่นก่อนหน้า   ล้วนเป็นคนมีประสบการณ์ความสำเร็จอย่างมากมาย จะนำกลุ่มสหพัฒน์ก้าวผ่านยุคนี้ไปได้อย่างไร

ตามโมเดลธุรกิจที่ว่าด้วยขยายกิจการทั้งสองกรณี   ยังคงดำเนินไปตามแบบแผนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

–สร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ด้วยแผนการลงทุนจากกิจการหลัก(สหพัฒนพิบูล  ไอซีซี และ  สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ) ซึ่งถือเป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถมีช่องทางการระดมทุนจากสาธารณะชนไดบ้าง แนวโน้มที่เป็นมาและเป็นไป ไม่สามารถระดมทุนจำนวนมากพอในการลงทุนขนาดใหญ่(หากมีแผนการ) การลงทุนของฝ่ายกลุ่มสหพัฒน์ ผ่านทั้งสามบริษัท  ดำเนินไปอย่างอนุรักษ์นิยม  ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงิน กลุ่มสหพัฒน์มักใช้แนวทางการร่วมทุนเพื่อแชร์การลงทุนไปยังผู้ร่วมทุน  เป็นการกระจายความเสี่ยงเพิ่มอีกด้วย

–การเข้าสู่ธุรกิจใหม่ มักดำเนินการร่วมกับผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้นๆ ทั้งกรณีชาญ อิสระ และ TSURUHA   ถือว่ามาในแนวทางเดียวกัน และที่สำคัญส่วนใหญ่กลุ่มสหพัฒน์ มักจะร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนที่มีขนาดกลางๆ เชื่อว่ามี่ความเชื่อมโยงพลังอำนาจในการต่อรองด้วย

แนวทางข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า  แม้ว่ากลุ่มสหพัฒน์ก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ  แต่นับว่าเป็นการก้าวไปอย่างอนุรักษ์นิยม  เมื่อพิจารณาเชื่อมโยงไปยังผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์(โปรดพิจารณาตารางท้ายบทความ) แสดงให้เห็นว่า ผลประกอบโดยรวมยังดำเนินไปได้ด้วยดีตามสมควร เติบโตบ้างตามสมควร แม้ไม่มาก   ภาวะเช่นนี้ พิเคราะห์ว่าเป็นภาวะที่มีแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก –กิจการยังไม่มีปัญหาทางการเงิน แต่ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มไม่สดใสเท่าที่ควร บางช่วงบางเวลาไม่สอดคล้องกับภาวะธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าคอนซูเมอร์และไลฟ์สไตล์โดยรวมที่ดูเหมือนเติบโตมากกว่านี้

กลุ่มสหพัฒน์ภายใต้การบริหารของผู้บริหารที่มีอายุมากกว่า 60ปี โดยยังไม่ปรากฏโฉมหน้ารุ่นใหม่ที่ต่อเนื่องอย่างแท้จริงนั้น จึงยังเป็นสิ่งที่ควรติดตามอย่างกระชั้นชิดต่อไปอีก


ข้อมูลทางการเงินของบริษัทสำคัญของกลุ่มสหพัฒน์

(ล้านบาท)

ปี                                2551            2552            2553              2554

—————————————————————————————————————-

รายได้                                      

สหพัฒนพิบูล           17,673.27     20,098.32    22,352.95     24,818.02

ไอซีซี                      11,479.78    11,218.81    11,904.52     13,416.57

สหพัฒนาอินเตอร์ฯ   2,892.87      3,014.61      3,062.26        3,355.79

—————————————————————————————————————

กำไร

สหพัฒนพิบูล                573.40           708.86          752.36           930.21

ไอซีซี                           778.61           652.29          810.13           744.30

สหพัฒนาอินเตอร์ฯ     923.44         1,003.34      1,021.74      1,022.04

ที่มา    ข้อมูลข้อสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่  9 มิถุนายน 2555

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: