กานต์ ตระกูลฮุน(2)

ceo-growth-01ในบรรดาผู้จัดการใหญ่ที่ได้ถือเป็น”ลูกหม้อ”ของเอสซีจี กานต์ ตระกูลฮุน เป็นคนที่ 4ปีในช่วง 3 ทศวรรษ โดยได้มองเห็น ความเป็นไปตลอดช่วง ถือเป็นประสบการณ์เชื่อมโยงสู่ยุคของเขา

แม้ว่า กานต์ ตระกูลฮุนได้เข้าทำงานครั้งแรกในบริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี มาตั้งแต่ยุคสมหมาย ฮุนตระกูล(คนละนามสกุล)  แต่เขาแทบไม่ได้สัมผัสความเป็นไปในยุคนั้น โดยเฉพาะยุคเริ่มต้น Japanese connection เพราะเขาใช้ชีวิตในฐานะวิศวกรประจำโรงงานที่ไกลที่สุดของเอสซีจี– ทุ่งสง นครศรีธรรมราช “หากมันอยู่ทุ่งสงได้ ก็คงไม่ไปไหนอีกแล้ว เพราะที่นั่นไกลสุด และเป็นแดนสีชมพู” เขาเคยกล่าวกับผมไว้เมื่อปี2543 สะท้อนวิธีคิด HRของเอสซีจีที่พยายามจัดการกับผู้จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยุคลูกหม้ออย่างแท้จริง เริ่มต้นเมื่อ จรัส ชูโต ขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่(2523-2528) แม้ว่าเขากับผู้จัดการใหญ่อีก 2คน ล้วนมีประสบการณ์จากที่อื่นมาก่อน– พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ผู้จัดการใหญ่ 2529-2535) และ ชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่ 2536-2548) แต่ก็มีประสบการณ์ร่วมกันในยุคใหม่ของเอสซีจี

ยุคใหม่พยายามก้าวพ้นยุคเดนมาร์ก(2456-2517) ด้วยการระดมคนไทยที่ประสบการณ์จากบริษัทต่างชาติ เป็นทีมงานสัญลักษณ์ของมืออาชีพยุคใหม่   เอสซีจีได้รับการยอมรับว่าเป็นทีที่อยู่ของมืออาชีพที่มีความสามรารถ   เป็นที่รู้กันว่า จรัส ชูโต มาจากเอสโซ่ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา มาจากเชลล์ และ ชุมพล ณ ลำเลียง มาจากทิสโก้

ภายใต้ยุคใหม่  ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาบุคลากรขนานใหญ่  โดยเฉพาะแผนการส่งพนักงานไปเรียนต่อต่างประเทศ  ในโมเดลที่มีอิทธิพลจากสหรัฐฯ —การเรียนMBA   เอสซีจีเริ่มให้ทุนการศึกษาอย่างเป็นระบบมาก่อนหน้ากานต์ ตระกูลฮุน จะเข้าทำงานระยะหนึ่งแล้ว แต่เขากลับตัดสินใจเลือกเส้นทางที่แตกต่าง

อาจเป็นไปว่าเพราะเขามีฐานะเป็น”นายช่าง” หรือ “วิศวกร”ที่อยู่ในธุรกิจพื้นฐานดั้งเดิม—โรงงานปูนซีเมนต์มาตลอดในช่วงแรกของอาชีพ (2520-2527)   เขาจึงตัดสินใจรับทุนการศึกษาต่างประเทศ ด้วยการเรียน Master of Sciences, Ceramic.  The Georgia Institute of Technology   ถือว่าเป็นความพยายามเดินตามเส้นทางคลาสสิค แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้หาโอกาสเรียนวิชาการด้านบริหารเพิ่มด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปี เขาได้ Master of Sciences, Management มาด้วย ผมจำได้ว่า เขาเคยบอกว่าได้เลือกเรียนด้าน marketing มาหลายวิชาซึ่งเป็นประโยชน์ในเวลาต่อมาอย่างไม่น่าเชื่อ

เขาใช้เวลาศึกษาต่างประเทศเกือบสิ้นยุคของจรัส ชูโต   ยุคที่ผู้จัดการใหญ่เอสซีจีถูกยกขึ้นฐานะเป็นนักบริหารยุคใหม่   เกือบตลอดยุคจรัส ชูโต ธุรกิจไทยวิกฤตการณ์สถาบันการเงิน ธุรกิจไทยประสบปัญหามากมาย  การแก้ปัญหาสยามคราฟท์ที่เอสซีจีดำเนินมาตั้งแต่ปี 2518 ก้าวหน้าไปเป็นระยะ ๆ   ที่สำคัญได้เข้าซื้อกิจการธุรกิจเซรามิค (2522) ซึ่งนอกจากเป็นเริ่มต้นกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑฺก่อสร้างอย่างจริงจัง อาจถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อการศึกษาต่างประเทศดังที่กล่าวมาแล้วของกานต์ ตระกูลฮุนด้วย

กานต์ ตระกูลฮุน  กลับมาทำงานอีกครั้ง(2530) เมื่อผ่านไปสู่ยุคพารณ อิสระเสนา  ณ อยุธยาแล้ว   โดยเริ่มต้นเป็นผู้บริหารระดับต้นที่โรงงานปูนซีเมนต์แก่งคอย ซึ่งถือว่าเขายังไม่มีโอกาสกลับเข้าทำงานที่กรุงเทพฯเกินกว่า 10 ปีแล้ว  จากนั้นไม่นานก็เริ่มยุคที่เขามีบทบาทตามกระแสมากขึ้น แม้เป็นบทบาทในช่วงสั้นมากๆ มีส่วนร่วมในความคึกคักของยุคพารณ ยุคที่มีการขยายตัวทางธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะด้วยการซื้อกิจการ การริเริ่มด้วยตนเอง ตลอดจนการร่วมทุนกับธุรกิจระดับโลก  ถือเป็นช่วงที่เอสซีจีเติบโตที่สุดในช่วงแรกในประวัติศาสตร์

ในยุคนั้นการร่วมลงทุนระหว่างเอสซีจีกับธุรกิจญี่ปุ่น เป็นกรณีที่สำคัญมาก กานต์ ตระกูลฮุน มีบทบาทในช่วงสั้นๆ กับการร่วมลงทุนผลิตจอโทรทัศน์สีกับAsahi  glass ที่เพิ่งเริ่มต้นในราวปี 2532 โดยเขาไม่รู้มาก่อน ในอีกไม่ถึงสองทศวรรษ  เทคโนโลยี่จอที่วีที่เรียกว่า CRT (cathode -ray tube)กลายเป็นธุรกิจตะวันตกดิน

ในยุคขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่อย่างคึกคัก ยุคเอสซีจีมีบทบาทต่อสังคมอย่างมากมาย ผู้บริหารเอสซีจีหลายคนดำรงตำแหน่งในหน่วยงานสำคัญ ของภาครัฐและเอกชน  อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการลงทุน  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลเอกชน  ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของเอสซีจีที่มีความโดดเด่น ในฐานะตัวแทนของอุตสาหกรรมไทย

เส้นทางของกานต์ ตระกูลฮุนค่อนข้างสวนกระแสพอสมควร เขากับต้องมาแก้ปัญหาธุรกิจเก่า  นั่นคือกิจการวัสดุทนไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแม่—บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เขาใช้เวลาแก้ปัญหาธุรกิจอยู่หลายปี (2534-2539) จนจัดการปรับโครงสร้างอย่างที่ควรเป็น ถือได้ว่าเขาอยู่ตรงนี้จนข้ามจากยุคพารณ อิสระเสนา ณ อยุธยา ไปสู่ยุคชมพล ณ ลำเลียง เลยทีเดียว

ยุคชุมพล ณ ลำเลียง  เป็นยุคที่มีผกผันมากที่สุด จากการขยายตัวอย่างขนานใหญ่ที่เริ่มต้นในยุคก่อน มาถึงความสำเร็จที่แท้จริง  ในช่วง5 ปีแรก เอสซีจีเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ถือว่าเป็นก้าวที่ใหญ่มากๆ ทำลายสถิติก่อนหน้านั้น (โปรดพิจารณาแผนภูมิประกอบ)   ส่วนกานต์ ตระกูลฮุน ยังคลุกอยู่ในงานเดิม กว่าเขาจะพิสูจน์ผลงานความสำเร็จแล้ว เข้าสู่กระแสหลัก ดูเหมือนอยู่ในช่วงเวลาทีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากๆ

ยุคชุมพล ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างจริงในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งเขามองออกว่าจะกลายเป็นธุรกิจทีมีอนาคต ซึ่งก็เป็นจริง     กานต์ ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในจุดที่สำคัญที่สุดของความพยายามขยายวงจรธุรกิจเคมีภัณฑ์ให้ครบวงจรและมีพลัง  โดยย้ายมาอยู่ตำแหน่งที่ดี —รองกรรมการผู้จัดการ  บริษัทระยองโอเลฟินส์ (ต้นปี 2539) จากนั้นก็ก้าวสู่บทบาทบริหารจัดการโครงการลงทุนในต่างประเทศ—อินโดนิเชีย (ต้นปี 2540) –Executive Vice President & Chief Operating Officer   PT. Trans- Pacific   และแล้วสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อประเทศไทย เผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด

กานต์ ตระกูลฮุน สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ  เขาใช้เวลาก้าวข้ามสิ่งต่างๆ อย่างกระฉับกระเฉง ในที่สุดจึงมาอยู่ในตำแหน่งในการแกปัญหาวิกฤติการณ์ ดูเผินๆเขามีประสบการณ์งานบริหารไม่มาก แต่อีกด้าน เขาเป็นพลังสดใหม่ที่พร้อมจะต่อสู้กับวิกฤติ    ท่ามกลางผู้บริหารรุ่นก่อนที่ทำงานมามาก มีประสบการณ์มาก ได้รับการยอมรับอย่างมาก ย่อมมี่ความวิตกกับสถานการณ์ยุ่งยากอย่างมากเช่นกัน

เขากลายเป็นลูกหม้ออย่างแท้จริงในฐานะ กล่าวได้เริ่มต้นการทำงานที่เอสซีจีเท่านั้น กลายเป็นพลังสดใหม่ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ  พลังดังกล่าวจะอยู่กับเขาไปอีกนานเพียงใด  เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: