ภาพสะท้อนเขาใหญ่(1) จากโชคชัย ถึงไพวงศ์

ภาพ “เขาใหญ่” กับ “หัวหิน”แตกต่างกันอย่างมาก ในเรื่องบุคลิก และความเป็นมา   “หัวหิน” มีเอกลักษณ์ มีที่มาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในช่วงWesternization of Siam เมื่อศตวรรษที่แล้ว ในขณะที่ “เขาใหญ่” เพิ่งเริ่มต้นประมาณ 3 ทศวรรษมานี้เอง

“เขาใหญ่” วันนี้ ยังแสวงหาบุคลิกและตัวตนต่อไป  เป็นภาพสะท้อน มีความเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ รุ่นที่มีอิทธิพลที่สุดของสังคมไทย นั่นคือ Baby Boomer ภาพสะท้อน มีมิติสัมพันธ์ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิถีชีวิต

โชคชัย บูลกุล

จุดหมายปลายทางหนึ่งในการเดินทางไปเขาใหญ่ ในหนังสือท่องเที่ยวต้องรวมฟาร์มโชคชัยไว้ด้วยเสมอ  ฟาร์มโชคชัยมีความสำคัญกับ “เขาใหญ่” มิใช่เพียงแหล่งท่องเที่ยว หากสะท้อนพัฒนาการของอาณาบริเวณนี้ ในฐานะกระแสหนึ่งของวีถีชีวิต มีอิทธิพลต่อเนื่องมา พอๆกับความหมาย “เขาใหญ่” ที่ผู้คนเข้าใจกันในปัจจุบัน

โชคชัย บูลกุล มาที่นี่คนแรกๆ เมื่อถนนมิตรภาพสร้างเสร็จ ด้วยความฝันอยากจะเป็น “คาวบอย”อเมริกัน เขาคงไม่คิดว่า สิ่งนี้จะกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ขายได้ แต่กว่าจะรู้ว่ามีค่า เวลาก็ล่วงเลยไปแล้วถึง40 ปีเต็ม

ถ้าเขาไม่ใช่บุตรชายคนหนึ่งของ มา บูลกูล เขาคงมาไม่ไกลถึงนี้

ม้าเลียบคุน ชาวจีนกวางตุ้งอพยพครอบครัวมาเมืองไทย เริ่มต้นอาศัยความชำนาญพิเศษอันเป็นลักษณะของชาวกวางตุ้ง คือช่างฝีมือ รับจ้าง สร้างฐานะจนมีกิจการโรงสี เขาได้เรียนรู้งานช่างโรงสีไปพร้อมกับการค้าข้าว ต่อมาได้ตั้งสมาคมโรงสีไฟแห่งประเทศไทย โดยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกันเป็นเวลานาน สมาคมโรงสีไฟฯ มีอิทธิพลมาก เป็นทั้งผู้ประกอบกิจการโรงสี อุตสาหกรรมที่มีพลังที่สุดในเวลานั้น พร้อมกับเป็นผู้ส่งออกข้าว

ม้าเลียบคุน พัฒนาธุรกิจส่งออกข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง โดยไปตั้งสาขาที่ต่างประเทศ ทั้งที่ฮ่องกง และสิงคโปร์

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวการณ์ค้าข้าวตกต่ำสุดขีด ญี่ปุ่นมีความต้องการข้าวมาก แต่พ่อค้าข้าวเชื้อสายจีนแอนตี้ญี่ปุ่น กระทรวงเศรษฐการ(ขณะนั้น)จึงตั้งบริษัทข้าวไทย เพื่อดำเนินกิจการโรงสี และส่งออกข้าวแทนเอกชน

ม้าเลียบคุน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มา บูลกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทข้าวไทยตั้งแต่นั้น

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าประเทศไทย กิจการโรงสีหรือส่งออกข้าวของชาวอังกฤษจึงต้องถอนตัว บริษัทข้าวไทยได้ยึดกิจการเหล่านั้นมาดำเนินการ

โชคชัย เติบโตขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่บิดาทรงอิทธิพลในวงการธุรกิจมากแล้ว

เพราะมา บุญกุล ผ่านการศึกษาจากฮ่องกง เขาจึงส่งโชคชัยเป็นเรียนที่นั่น แม้ว่าโชคชัยจะไม่ค่อยชอบนัก แต่ก็เป็นพื้นฐานทำให้เขาไปเรียนต่อที่สหรัฐเมอริกาได้

จากหนังสือ “ผมฝันอยากเป็นคาวบอยตั้งแต่เด็กๆ”ของโชคชัย บูลกุล (พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2552) เขาบอกว่าสนใจเป็นคาวบอยตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบ ขณะเรียนหนังสือในเมืองไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน (พร้อมๆกับบทบาทสหรัฐอเมริกาโดดเด่นในสังคมโลก) และยอมรับว่า จินตนาการเกี่ยวกับคาวบอยที่ชัดเจนมากขึ้นมาจากภาพยนตร์ แม้หนังสือไม่บอกก็พอจะคาดเดาได้ว่า เป็นภาพยนตร์อเมริกัน

เมื่อเขาถูกส่งไปเรียนอยู่หลายปีในสหรัฐฯ นอกจากได้เห็นภาพคาวบอยอย่างแท้จริง เขามีความรู้ในเรื่องปศุสัตว์อย่างดีในฐานะที่จบการศึกษาด้านนี้มา

ฟาร์มโชคชัยเริ่มต้นอย่างไม่ราบรื่น และไม่อาจจะเป็นธุรกิจอย่างแท้จริงในช่วง20ปีแรก ถ้าเขาไม่มีความสัมพันธ์กับฐานทัพอเมริกัน ในช่วงสงครามเวียดนาม ก็อาจจะไม่มีฟาร์มโชคชัยอย่างเป็นจริงเป็นจัง ในเวลาต่อมา

หลังจากพยายามสร้างฟาร์มระยะหนึ่ง โดยยังไม่มีทิศทางแน่ชัด โชคชัยตัดสินใจแสวงหาโอกาสใหม่เพื่อสะสมทุนรอนมาทำฟาร์ม เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะได้สร้างสนามบินหลายแห่งของฐานทัพสหรัฐฯ(2508-2512) รวมทั้ง ก่อสร้างตึกสูงที่สุดในกรุงเทพ(2509) ให้หน่วยงานสหรัฐฯเช่า และโชคชัยสเต็คเฮ้าส์ ถือเป็นภัตรคารสเต็คแห่งแรก (2514)

เมื่อสงครามเวียดนามจบลง ด้วยหนี้สินจำนวนมาก เขาตัดใจขายตึกโชคชัย (สุระ จันทร์ศรีชวาลา ซื้อไป และเปลี่ยนชื่อเป็นตึกทอง จากนั้นตำนานของตึกนี้ ก็โลดโผนมากขึ้น) แล้วเริ่มต้นฟาร์มอีกครั้งอย่างจริงจัง พัฒนาฟาร์มให้ทันสมัย มุ่งหวังทางธุรกิจมากขึ้น การลงทุนก็มากตามไปด้วย แต่ในที่สุดเขาได้ค้นพบว่า การเลี้ยงวัวนม เป็นทางออก กว่าเขาจะสรุปได้อย่างแน่ชัดเช่นนั้น ก็ต้องสูญเสียสิ่งที่มีสำคัญอย่างหนึ่งไป

ภายใต้ชื่อเสียงของฟาร์มทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และมีผลิตภัณฑ์นมสดที่มีคุณภาพ มาพร้อมกับหนี้สินหลายร้อยล้านบาท เป็นวิกฤตบนโอกาสที่แทบเอาตัวไม่รอด ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ พบว่ากิจการ“นมโชคชัย”เป็นสินทรัพย์อย่างเดียวที่มีราคาพอชำระหนี้ได้ จำเป็นต้องตัดขายไป ในช่วงปี 2537 ถือเป็นการสูญเสียคุณค่าหลักของฟาร์ม ไม่เพียงแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ หากรวมทั้งฟาร์มโชคชัยจากนี้ ก็ไม่สามารถผลิตนมสดขายได้ด้วย

แรงบีบคั้นครั้งใหม่นี้ หนักหนาสาหัส แต่โชคชัยตัดสินใจอย่างกล้าหาญให้บุตรๆของเขาเผชิญ และหาทางออกต่อไป

ไพวงศ์ เตชะณรงค์

ถือเป็นคนรุ่นหลังโชคชัย บูลกูล ไม่เกิน10 ปี เขาเกิดช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ย่อมถือว่าเป็นในยุคที่อยู่ท่ามกลางอิทธิพลสหรัฐฯเช่นเดียวกัน ไพวงศ์เอง ใช้ชีวิตในสหรัฐฯมากกว่าโชคชัยด้วยซ้ำ ในฐานะที่ต้องเรียนหนังสือจนชั้นปริญญาตรี ในฐานะคนไทยที่บุกเบิกสร้างสังคมคนไทยในเมืองที่มีคนไทยมาก–แคลิฟอร์เนีย และในฐานะคนไทยทีมีธุรกิจในสหรัฐฯด้วย

เขาเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างจริงจัง ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวครั้งใหญ่ในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เศรษฐกิจไทยเติบโต หลังจากความวิตกต่างๆที่ครอบงำมาตั้งแต่สงครามเวียดนาม จางหายไป ทั้งการลงทุนของต่างชาติ ตลาดหุ้นบูม และที่สำคัญย่อมรวมถึง อสังหาริมทรัพย์ ในฐานะเขามีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในสังคมไทย ผ่านสมาคมคนไทยในสหรัฐ เข้าจึงมามีบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผยช่วงหนึ่งในฐานะผู้บริหารพรรคความหวังใหม่ ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ขณะเดียวกันดูเหมือนการเริ่มต้นธุรกิจในเมืองไทยจะค่อนข้างราบรื่นด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าโครงการโบนันซาที่เขาใหญ่ของไพวงศ์ เตชะณรงค์ เป็นที่แวะเวียนของนักการเมืองอยู่เสมอ ตั้งแต่โครงการสร้างขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในราวปี 2535 แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจในข้อเขียนนี้

“คุณไพวงษ์ เตชะณรงค์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโบนันซ่า เริ่มวางแผนและสร้างโบนันซ่ามาเป็นเวลา 17 ปีเต็ม มีเนื้อที่รวมกว่า 4พันไร่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์แนวคาวบอยเรื่องโปรด คือเรื่อง Bonanza การออกแบบอาณาจักรแห่งนี้ จึงเป็นสไตล์ American Country โดยวัสดุในการสร้างมากกว่า 80% ทำจากไม้ โบนันซ่า ถือเป็นโครงการรุ่นแรก ในบริเวณเขาใหญ่ที่ได้มีการบุกเบิกถากถางผืนป่าแห่งนี้ให้เป็นสถานที่พักผ่อนและสนามกอล์ฟ คุณไพวงษ์ต้องการให้ Bonanza เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศที่ครบวงจรเสมือนยกอาณาจักรจาก American West มาไว้” ข้อมูลของโบนันซ่า ว่าไว้( www.bonanza-khaoyai.com) เกี่ยวกับโครงการที่ตั้งไม่ไกลจากถนนธนะรัชต์นัก

ไพวงศ์ ในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีความเชื่อมั่นในการสร้างธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ และโครงการบ้านตากอากาศ ที่เขาใหญ่ แม้ว่าในเวลาต่อมา ต้องเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจพอสมควร แต่เขาก็รอคอยโอกาสใหม่ๆ โดยอาจไม่คาดคิดว่าแนวทางนี้ ได้สร้างอิทธิพลต่อความเป็นไปของเขาใหญ่ ในเวลาต่อมา โดยเชื่อมโยง และ ต่อเนื่อง มาจากฟาร์มโชคชัย อย่างไม่น่าเชื่อ

ไลฟ์สไตล์อเมริกัน

ในที่สุด เขาใหญ่ก็สร้างบุคลิกชัดเจนขึ้นมาได้อย่างหนึ่ง

หลังจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ ว่าด้วยบ้านตากอากาศเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในอาณาบริเวณเขาใหญ่ ในช่วงเดียวกับโบนันซ่าเกิดขึ้น มีอันเป็นไปตามวงจรเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ และค่อยๆปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ก็คือการแสวงหาและยอมรับบุคลิกที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของ “เขาใหญ่” ในฐานะเมืองคาวบอย เมืองที่มีการถ่ายทอด ยอมรับวิถีชีวิตอเมริกันชน มาสู่ดินแดนป่าเขาเขตร้อน

ฟาร์มโชคชัย ในฐานะผู้บุกเบิกในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงในเขาใหญ่ กลับมาสู่แนวทางใหม่นี้อย่างชัดเจน เป็นการค้นพบรากเหง้าตนเอง เป็นประหนึ่งเสาค้ำ ความโลดแล่นของคุณค่าใหม่ เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่มีสีสันน่าสนใจ ซึ่งให้คำจำกัดความที่ดูธรรมดาว่า “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร”(www.farmchockchai.com) กระแสนี้แผ่ขยายไปมากพอสมควร

มรดกของโชคชัย บูลกุล ทิ้งไว้ ตกทอดมาสู่ทายาทของเขานั้น มิใช่เพียงที่ดินจำนวนมากมาย ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในเวลานี้ หากเป็นความเชื่อ และแรงบันดาลใจของตนเอง ได้ก่อตัวเป็นสินค้าวัฒนธรรมให้กับชุมชนใหม่ ชุมชนที่แสวงหาตนเองอยู่ตลอดเวลา

แน่ละ เขาใหญ่ยังต้องพัฒนาต่อไปอีก

———————————————

ลำดับเหตุการณ์

2500 ถนนมิตรภาพ หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (สระบุรี-หนองคาย ) เป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานสากล และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมาว่า “ถนนสุดบรรทัด” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปี2493 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนมิตรภาพ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2500 เป็นถนนหลักที่จะเดินทางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแยกจากถนนพหลโยธินที่ทางแยกต่างระดับมิตรภาพ ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ไปสิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว(ในปัจจุบัน) จังหวัดหนองคาย

2500 ฟาร์มโชคชัย เกิดขึ้น

2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์ค ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการเลี้ยงโคนม ต่อมารัฐบาลเดนมาร์คและสมาคมเกษตรโคนมเดนมาร์คได้ร่วมกันน้อมเกล้าถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมโดยร่วมมือกับรัฐบาลไทย จัดตั้งฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์คขึ้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พระมหากษัตริย์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าเฟดเดอริคที่ 9 ได้เสด็จเปิดฟาร์มโคนม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 ต่อมาโอนกิจการทั้งหมดให้รัฐบาลไทย และจัดตั้งเป็น ” องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” (อ.ส.ค.) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2505 อุทยานแห่งชาติแห่งแรก ในปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจราชการโดยเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่าเขาใหญ่ ปรากฏว่ามีการทำลายป่าซึ่งมีมากขึ้น จึงมีคำสั่งให้ทางกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันสำรวจเพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2505 นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย

2505 เปิดทางหลวงแผ่นดินสายปากช่องเขาใหญ่ ซึ่งชื่อว่า “ถนนธนะรัชต์” เป็นทางหลวงแผ่นดินเปิดใหม่โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี ถนนสายนี้แยกจากถนนมิตรภาพถึงเขาใหญ่ระยะทาง 40 ก.ม.

2507-2512 สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศไทย สนับสนุนการทำสงครามเวียดนาม มีทหารมาประจำการ ในช่วงสูงสุด เกือบ5 หมื่นคน และมีเครื่องบินประจำการมากถึง 600 ลำ โดยมีสนามบินมากถึง 7 แห่ง ส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในภาคอีสานและตะวันออก

ฐานทัพมาพร้อมกับอิทธิพลสหรัฐหลากหลายมิติในสังคมไทย ตั้งแต่แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะนำเงินดอลลาร์มาสู่ประเทศ ด้วยการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรม ธุรกิจการเงิน และการผลิตสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคชาวไทย จากเมืองหลวง สู่หัวเมือง

2510 เขื่อนลำพระเพลิง เป็นเขื่อนดินปิดกั้นลำน้ำลำพระเพลิงที่ไหลมาจากเทือกเขาสันกำแพง ที่ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ 2506 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ 2510

2512 เขื่อนลำตะคอง เป็นเขื่อนดินที่มีความสำคัญในการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรในเขตจังหวัดนครราชสีมา เก็บกักน้ำได้ 324 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างกันลำตะคองที่ช่องเขาเขื่อนลั่น กับช่องเขาถ่านเสียด อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สร้างเสร็จปี 2512

2518 สหรัฐฯแพ้สงครามเวียดนาม “ทฤษฎีโดมิโน”ถูกกล่าวถึงด้วยความวิตกถึงการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชีย เมื่อจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนามเหนือ ตกเป็นคอมมิวนิสต์ และต่อมา ลาว (ปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ปี2518) และ เขมร (เขมรแดงปกครองปี 2518-2522) คาดกันว่าเป้าหมายต่อไป คือ ไทย

2519 หลังจากเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคม นักศึกษาจำนวนหนึ่งเดินเข้าเข้าป่าเขา รวมทั้งป่าภาคอีสานด้วยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล ร่วมกับพรรคอมมิวนิสต์

2522 ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยอ่อนกำลังลง ขบวนนักศึกทยอยออกจากป่า

2530-1 “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นโยบายรัฐบาล ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นภาพสะท้อน ความเชื่อมั่นว่าในภูมิภาคนี้ จะไม่เป็นไปตามทฤษฏีโดนมิโน ที่สำคัญต่อมา สงครามในกัมพูชา ก็ค่อยๆสงบลง

สัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังสงครามเวียดนามเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ตลาดหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์ กระแสบูมที่ดินเกิดขึ้น ในย่านสำคัญทั่วประเทศ รวมทั้งบริเวณเขาใหญ่ ด้วย ขณะเดียวกัน เครือข่ายธุรกิจจากกรุงเทพฯ เริ่มขยายอิทธิพล ไปหัวเมือง

2530 โรงแรมจุลดิศ สร้างขึ้นริมถนนธนะรัชต์

2535 โครงการโบนันซา เริ่มต้น

เรื่องต่อเนื่อง ภาพสะท้อนเขาใหญ่(2)  จากพีบี ถึงทอสคาน่า ภาพสะท้อนเขาใหญ่(3)จากคีรีมายาถึง จิมทอมป์สันฟาร์ม

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น