ธนินท์ เจียรวนนท์

 หากถามผมว่า ผู้นำนักธุรกิจคนใด  แสดงบทบาทเชิงตัวแทน การปรับตัวของธุรกิจไทย  ในช่วง3-4ทศวรรษสำคัญที่ผ่านมาได้อย่างน่าทึ่ง   ก็คงยกให้ ธนินท์ เจียรวนนท์

บทบาท 

บางทีการศึกษาเรื่องราวของคนๆหนึ่ง จากข้อมูลพื้นๆ(ส่วนใหญ่เป็นสถิติหรือข้อมูลประวัติบุคคลสั้นๆ) ก็อาจจะมีมิติที่ลึกซ่อนอยู่   แม้ว่าผมจะติดตามเรื่องราวของธนินท์ เจียรวนนท์ มานาน  เมื่อกลับมาพิจารณาข้อมูลพื้นๆ ก็ยังพบเรื่องราวที่น่าสนใจ

 ธนินท์ เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปซีพีในวัยเพียง 25ปีเท่านั้น แม้ว่ามีการวิเคราะห์กันว่า ในการบริหารธุรกิจครอบครัว พี่ชายสามคน ย่อมมีอำนาจตัดสินใจมากกว่า โดยเฉพาะพวกเขามีบทบาทในการสร้างกิจการมาก่อน อย่างไรตาม บทบาทในตำแหน่งนี้มีความสำคัญมากน้อยขึ้นอยู่กับ การแสดงบทบาทของเขาเอง ผมคาดว่าจากประสบการณ์ในสหสามัคคีค้าสัตว์ และบทบาทในการบริหารงานอย่างแข็งขันด้วย ธนินท์ จึงเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับพอสมควร แม้ว่ามีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงมองจากซีพี ถือเป็นกิจการที่เติบโตพอสมควรในเวลานั้น หากในระดับสังคมธุรกิจไทยด้วย

 ในฐานะกรรมการผู้จัดการเครือเจริญโภคภัณฑ์  เมื่อปี 2522 ถือเป็นช่วงได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ ประหนึ่งให้ตำแหน่งเป็นของขวัญเมื่ออายุครบ 40   ปีพอดี   เวลานั้นซีพีขยายตัวอย่างมาก เป็นอาณาจักรธุรกิจใหญ่ ทั้งในประเทศและในย่านเอเชียอาคเนย์ ในด้านการบริหาร ซีพีปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่เพียงเป็น Holding company   ยังมีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยการนำบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ประสบการณ์เข้ามาเสริมทีมงานบริหารกิจการทีมีบริษัทในเครือจำนวนมาก

 สำหรับช่วงอายุ 50 ปี (ในปี2532) ถือเป็นการฉลองความสำเร็จด้วยตำแหน่งใหม่ที่ดูคล้ายๆกิจการระดับโลก   Chief Executive Officer (CEO) ในเวลาเดียวบทบาทของพี่ชายของเขาก็ลดลงอย่างมากแล้ว    ความสำคัญที่แท้จริงคือ การปรับตัวเข้ากับสังคมธุรกิจโลก ช่วงนั้นสื่อในโลกตะวันตก กล่าวถึงธนินท์ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Far Eastern Economic Review (2533) Forbes (2534) Fortune, Financial Times (2535) ที่สำคัญในปีเดียวกันนั้น Harvard Business School ได้ทำกรณีศึกษาซีพีด้วย

ธนินท์  เจียรวนนท์  เป็นผู้นำธุรกิจไทยคนแรกๆ ที่สื่อระดับโลกกล่าวถึงอย่างมากมาย

อิทธิพลทางความคิด

การศึกษาแนวทางการบริหารของผู้นำ ควรให้ความสำคัญศึกษาอิทธิพลทางความคิด ในมิติสัมพันธ์ ประสบการณ์ กับสังคม

โอกาสของชาวจีนโพ้นทะเล  ประสบการณ์วัยรุ่นที่เติบโตในสังคมไทยในช่วงยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถือว่าสำคัญมาก  บิดาของเขาจำต้องอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก แต่ก็แสวงหาโอกาสทางธุรกิจได้  เมื่อเขามีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนหนังสือในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง   เขาได้มองเห็นภาพที่เป็นจริงของโอกาสทางธุรกิจ เห็นภาพที่เป็นจริงของการก่อร่างสร้างกิจการของบิดา    โครงสร้างความสัมพันธ์นี้เป็นบทเรียนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเสมอ โดยเฉพาะในการแสวงหาโอกาสในช่วงสถานการณ์ผันแปร

ซีพีมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนมาแต่ต้นในการเชื่อมโอกาสทั้งจีนและไทยเข้าด้วยกัน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสนวุ่นวายในจีนแผ่นดินใหญ่หลังการปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ซีพีก็ปักหลังที่อ่องกง เวลาเดียวกันก็แสวงหาโอกาสในเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเล ไม่ว่าจะเป็นที่ใต้หวั่น  อินโดนเชีย หรือสิงคโปร์ แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลาสมควรก็เข้าปักหลักในแผ่นดินใหญ่    เช่นเดียวกันเมื่อเมืองไทยมีปัญหา ไม่ว่าทางการเมือง หรือแรงต้านมาก เขาก็แสวงหาโอกาสจากที่อื่น

ความสำเร็จของธนินท์ และซีพี มาจากแนวทางนี้มาดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงทุกวันนี้

ความรู้จากสหรัฐ ฯลฯ ในช่วงเริ่มต้นเข้ามาทำงานซีพี เป็นช่วงที่อิทธิพลสหรัฐมีต่อประเทศไทยย่างมาก ตั้งแต่ระดับนโยบายทางเศรษฐกิจ   และการขยายเข้ามาลงทุนของบริษัทอเมริกันในช่วงนั้น   ในฐานะธนินท์เคยทำงานในหน่วยของราชการที่มีกระทบต่อจากอิทธิพลสหรัฐระดับนโยบาย ไปจนถึง มองเห็นปรากฏการณ์ของสังคมธุรกิจแวดล้อม การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่กระทบต่อวิถีของชนบท เป็นรากฐานของการสร้างกิจการเลี้ยงไก่ สุดท้ายความรู้จากสหรัฐฯว่าด้วยการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซีพีเชื่อมั่นและนำมาประยุกต์ด้วยความสำเร็จนั้น   อิทธิพลของสหรัฐในมิติทางเทคโนโลยีและการจัดการทางธุรกิจ จึงมีอิทธิพลต่อธนินท์ เจียรวนนท์เสมอมา

ประสบการณ์ในการนำความรู่การเลี้ยงไก่ครบวงจร จากสหรัฐ นำมาใช้ในสังคมไทยไม่เพียงสร้างโอกาสใหม่เท่านั้น หากเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในยุคก้าวกระโดดครั้งแรกของซีพีเลยทีเดียว

“ธนินท์เริ่มมองหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เขาได้รู้ว่าอเมริกาเป็นประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่แบบครบวงจร และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ธนินท์จึงเดินทางไปดูงาน ที่สหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ในปี 2513 เขาก็ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับอาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) บริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งมาช่วยซีพีสร้างธุรกิจเพาะเลี้ยงไก่แบบทันสมัย และครบวงจรในไทย

ซีพีใช้ระบบสัญญารับซื้อ(Contract farming)ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการมีวิธีการผลิตแบบประหยัด จึงทำให้ซีพีได้ประโยชน์ จากการผนวกประสานในแนวตั้ง(Vertical integration) และยังช่วยให้องค์กรไม่ต้องขยายขนาดใหญ่โตเกินไป ประการที่สอง ซึ่งสำคัญมากก็คือ ธนินท์ตั้งใจ ที่จะโอนย้าย เทคโนโลยีไปสู่เกษตรกร เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ปรับปรุงผลผลิต การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นเป้าหมายเชิงนโยบายสำคัญของไทยนับแต่กลางทศวรรษ 1970 เนื่องจากในระยะเวลานั้น ประชากร 75.4% ของประเทศยังชีพ ด้วยการพึ่งพิงด้านการเกษตร”(ข้อความบางส่วนมาจาก”เครือเจริญโภคภัณฑ์ในมุมของฮาร์วาร์ด”)

ในมิติการศึกษาของบุตร-บุตรี ธนินท์ เชื่อมั่นระบบการศึกษาของสหรัฐ ลูกๆของเขาทั้งหมด ผ่านการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายและมหาวิทยาลัยที่สหรัฐทั้งสิน(ดู “ธนินท์ เจียรววนท์ หาโรงเรียนให้ลูก“)

ประสบการณ์สำคัญอีกครั้ง ในการสร้างอาณาจักรซีพียุคใหม่ ข้ามพรมแดนอาณาจักรธุรกิจอาหาร ไปสู่ธุรกิจกระแสโลก—สื่อสาร ซีพีก็ใช้ความรู้ของธุรกิจสื่อสาระดับโลกจากสหรัฐ-Bell Atlantic (ตามรวมกิจการกลายเป็นVerizon)

อย่างไรก็ตาม ธนินท์ แม้จะมองว่าความรู้จากสหรัฐสำคัญ ในระยะต่อมาเขาก็แสวงหาความรู้ และเทคโนโลยี ขยายวงจากที่ต่างๆของโลก  อาทิ   ประกับภัยจากAlliances แห่งเยอรมัน    อุตสาหกรรมพลาสติก จาก Solvay เบลเยี่ยม ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ แม้ซื้อลิขสิทธิ์จากสหรัฐ แต่โนวฮาวพัฒนาโดยญี่ปุ่น    จนถึงเทคโนโลยีอาหาร จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะ เทคโนโลยีผลิตไก่แช่แข็งคุณภาพสูง ที่เรียกว่า Individual Quick Freezing หรือ IQF

 สาระสำคัญของความรู้จากต่างประเทศ มีมิติกว้างขวาง   ไม่เพียงเทคโนโลยี หากรวมไปการจัดการ โมเดล และระบบทางธุรกิจด้วย   แนวทางการขยายตัวแบบครบวงจร หรือการควบคุมภาวะตลาดได้ระดับระดับหนึ่ง   เป็นบทเรียนทรงคุณค่าของธนินท์ เจียรวนนท์   โมเดล Vertical integration ในอุตสาหกรรมอาหาร       การรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างปูพรม และConvergence lifestyle ของTrue    ดูเหมือนมีร่องรอยความคิดเดียวกัน

เข้าใจนโยบายและกลรัฐ     ประสบการณ์การทำงานที่สหสามัคคีค้าสัตว์  นอกจากจะสร้างความสมพันธ์กับระบบราชการไทยแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแวดวงวิชาการด้านเกษตรของรัฐด้วย    ธนินท์ มองข้าม ความสัมพันธ์อย่างฉาบฉวยนั้น  ไปสู่ ความเจ้าใจกลไก  การทำงานของระบบราชการ  ซีพีถือเป็นองค์กรธุรกิจทีมีความสัมพันธ์แนบแน่น กับระบบราชการเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน   เข้าใจกลไก   กระบวนการผลิตนโยบายใหม่ และความรู้ใหม่ๆจากระบบราชการด้วย  เขาเคยกล่าวกับผมเองว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคุณูปการต่อซีพีไม่น้อยในการผลิตบุคคลการด้านการเกษตรให้

ประสบการณ์สำคัญเรื่องหนึ่ง ของธนินท์ เจียรวนนท์ คงหนีไม่พ้นเรื่องสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเขตปริมณฑล สามล้านเลขหมาย ที่ผ่านการเจรจาต่อรองหลายรัฐบาล

ไม่ว่าใครจะมองในมิติหลากหลายอย่างไร  แต่ก็คือปรากฏการณ์ที่ต้องยอมรับว่า เกิดขึ้นจริงในกระบวนการอำนาจในประเทศไทย ธุรกิจขนาดใหญ่  เช่น ซีพี ย่อมไม่ไร้เดียงสาในเรื่องนี้    เช่นเดียวกันแนวทางธุรกิจซีพี   ต้องการระบบการเมืองหรืออำนาจรัฐที่จัดระบบอย่างมั่นคงพอสมควรด้วย

ความสมดุล ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจของซีพี ในช่วงที่ผ่านมา ย่อมมีอีกด้านหนึ่งเสมอ   บทเรียนกรณีContract Farming เป็นเรื่องที่ธนินท์ เจียรวนนท์ เข้าใจและต้องปรับตัวอย่างในเวลาต่อไป แต่ยังคงเป็นบทเรียนที่ทันสมัยอยู่

แม้ในการศึกษาของ  Harvard  ก็ยังกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้  “ในชั้นต้น ระบบสัญญาซื้อคืนถูกคัดค้านจากนักวิชาการ และรัฐบาล ซึ่งมีความกังวลว่าการให้เกษตรกรแต่ละรายเลี้ยงไก่ถึงฝูงละ 10,000 ตัว จะเป็น การกดดันให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถอยู่ได้ อีกทั้งมีความกังวลว่าซีพีจะ ผูกขาดธุรกิจ ซีพีใช้วิธีการร่วมมือกับรัฐบาล และแสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาล ต้องการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และต้องการแข่งขันกับตลาดโลกแล้ว จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการผลิตด้านการเกษตร นอกจากนั้น ซีพียังจัดทำ โครงการย่อยอีกหลายโครงการ เพื่อให้การศึกษาแก่เกษตรกร และเปลี่ยนวิถีการผลิตจากแบบยังชีพไปสู่การผลิต เพื่อจำหน่าย”

  เมื่อปี  2545 ผมเขียนถึงธนินท์ และซีพี หลายชิ้น ส่วนหนึ่งเสนอภาพการติดตามความเคลื่อนไหวที่มีกระทบต่อวงกว้าง โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก

“ซีพีกำลังเผชิญปัญหาที่ใหญ่พอสมควร มาจากแรงต้านวิวัฒนาการค้าปลีก เพราะเป็นการต่อสู้ระดับนโยบายของรัฐ เข้าใจว่าเรื่องนี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ คงต้องออกแรงไม่น้อยไปกว่าการได้มาซึ่งสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเมืองหลวง”

“ การเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อเข้าแทรกแทนที่ธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมซึ่งล้าหลังมาก ซีพีอาศัยเทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวการค้าปลีกของคนอื่นๆ เพื่อมีน้ำหนักในการควบคุมมากพอ จึงใช้ยุทธวิธีเข้าลงทุนธุรกิจนี้กับเจ้าของเทคโนโลยีหลายราย และหลายระดับ เริ่มตั้งแต่การค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยการลงทุนร่วมกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร และ Makro แห่งฮอลแลนด์ มาจนถึงค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งเข้าปะทะกับระบบการค้าแบบเดิมที่เรียกว่า “โชว์ห่วย” โดยตรง เข้าร่วมทุนกับ 7-Eleven แห่งญี่ปุ่น ด้วยแนวทางนี้ซีพีจึงสามารถสร้างโมเมนตัมที่แรงพอสมควร เพื่อเข้าสู่กระแสวิวัฒนาการค้าปลีก”

จากนั้นซีพีพยายามลดบทบาทในธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่   มาให้ความสำคัญ 7-Eleven ประหนึ่งเป็นการปรับตัว ลดผลกระทบ แต่ดูเหมือนแผนการของซีพีราบรื่นกว่าที่คิด

ว่าด้วยการจัดการความสมดุล แนวทางหนึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์   เคยแสดงไว้  นั่นคือพยายามคงขนาดและอิทธิพลธุรกิจในแต่ละประเทศอย่างเหมาะสม

พิเคราะห์ภาพทั้งหมดข้างต้นกับสถานการณ์ปัจจุบัน    แนวทางธุรกิจเชิงรุกในประเทศคงเป็นไปยากมาก     และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้  กรณีซีพี เพิ่งประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่   ใน จีน  เวียดนาม   และ  อินเดีย  (ดูรายละเอียด ข่าว  Corporate communication ใน www.cpthailand.com)

ข้อมูลจำเพาะ

ธนินท์ เจียรวนนท์   (2482 – ปัจจุบัน)

การศึกษา

2492   โรงเรียนสารสิทธิ์วิทยา บ้านโป่ง ราชบุรี

2496   Shantou Secondary School เมืองชัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

2498-2501 Commercial School ประเทศฮ่องกง

ประสบการณ์

2501แคชเชียร์ร้านเจริญโภคภัณฑ์

2501 ตั้งโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกในประทศไทย

2502 ตั้งกิจการที่ฮ่องกง เป็นเครือข่าย ส่งออกสินค้าเกษตรจาก ไทย ไป ฮ่องกง, จีน และสิงคโปร์

2504หัวหน้าผู้ค้าสัตว์ปีกและไข่ บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด

2506ผู้จัดการทั่วไป เจริญโภคภัณฑ์

2512 ซีพีทดลองเลี้ยงไก่พันธ์ใหม่ Arbor Acres จากสหรัฐฯ

2514 ตั้งบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส (ประเทศไทย) พัฒนาการเลี้ยงไก่สมัยใหม่

2514 เริ่มกิจการที่ไต้หวัน

2515 ตั้งโรงงานที่ อินโดนีเชีย

2516 ส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นนครั้งแรก

2517 เปิดโครงการ Contract Farming   และเริ่มกิจการที่มาเลเซีย

2519 ตั้งโรงงานอาหารสัตว์ที่สิงคโปร์

2522กรรมการผู้จัดการ เครือเจริญโภคภัณฑ์

2522 ซีพีเข้าสู่ประเทศจีนอย่างจริงจัง

2530 CP (Taiwan) เข้าตลาดหุ้นไต้หวัน

2531 CP.Pokpand กิจการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง และต่อมาอีก 2 ปีจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน

2531 ร่วมทุนกับ Solvay (Belgium) เข้าสู่อุตสาหกรรม พลาสติค และร่วมทุนกับ Makro (Netherland) ในธุรกิจค้าส่ง

2531 ซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven

2532 ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์      

2533 ร่วมทุนกับ Bell Atlantic เริ่มต้นธุรกิจสื่อสาร

 ตีพิพม์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่  11-18  กันยายน 2552

RELATED  STORIES

อุตสาหกรรม “ครบวงจร” ของซีพี

เครือเจริญโภคภัณฑ์ในมุมของฮาร์วาร์ด

ธนินท์ เจียรวนนท์ หาโรงเรียนให้ลูก

ซีพี ศตวรรษที่ 21 ภาระสุดท้าย ธนินท์ เจียรวนนท์

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: