กรณ์ กับ ธารินทร์ (3)

กรณ์ จาติกวณิช

หากเปรียบเทียบกันแล้ว ตอนก้าวขึ้นตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้น ธารินทร์  นิมมานเหมินทร์ มีความมั่นใจมากกว่ากรณ์  จาติกวณิช มากนัก ถ้าเปรียบเทียบกับ ธารินทร์หรือแม้กระทั่ง ปิ่น จักกะพาก  ดูเหมือนเขามีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจคล้ายคลึงกันในต่างประเทศ  เมื่อพิจารณาอย่างกว้างๆทั้งธารินทร์ และปิ่น มีมิติที่กว้างขวางกว่า  แต่ในสาระสำคัญบางมุมมีความแตกต่างกันพอสมควร  ผมเชื่อว่าอาจทำให้กรณ์  จาติกวณิช มีมุมมองและยุทธ์ศาสตร์ที่ยืดหยุ่น

 ธารินทร์ทำงานด้านธนาคารอย่างต่อเนื่อง   ในขณะนั้นธนาคารสหรัฐ กำลังพัฒนาระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ   ประสบการณ์นี้ ธารินทร์สามารถนำมาเชื่อมต่อกับการพัฒนาธนาคารเก่าแก่ของไทยที่ล้าหลังได้อย่างดี

 ส่วนปิ่น มีส่วนคล้ายธารินทร์พอสมควร ในฐานะนักเรียนอเมริกัน และทำงานในธนาคารอเมริกัน  แต่เขามีประสบการณ์ในต่างประเทศมากกว่าทั้งธารินทร์ และกรณ์   ในChase Manhattan bank   ประมาณ 7-8 ปี    ที่สำคัญเขามีประสบการณ์ค่อนข้างกว้างขวางทั้ง    credit analysis    commercial account    และ treasurer    ก่อนจะมาพัฒนากิจการเงินทุนในประเทศไทย

 แต่ ปิ่นอาจจะประเมินตนเองสูง  และมีความผูกพันกับจินตนาการเกี่ยวกับธนาคารมากเกินไป  เขาจึงสร้างและขยายอาณาจักรกิจการเงินทุนเป็นสำคัญ กิจการเหล่านี้ สำหรับเมืองไทย   ถือเป็นสิ่งที่สามารถอ้างอิงกับอำนาจของระบบธนาคาร พาณิชย์ไทยได้    ปิ่นอาจจะมองวา ธนาคารเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่  เช่นเดียวกับผู้มาใหม่ ผู้พยายามคนอื่นๆ ในอดีต  ที่เชื่อว่า ระบบธนาคาร คือศูนย์กลางอำนาจของระบบเศรษฐกิจของไทย  บทเรียนในอดีตบอกเช่นนั้น เช่นเดียวกับในช่วงปี2522-4   ผู้มาใหม่รุ่นแรก ภายใต้การนำของ พร   สิทธิอำนวย สร้างบริษัทเงินทุน เป็นสะพานเพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่โต แล้วล้มเหลว ก็เป็นบทเรียนอีกด้านหนึ่ง ว่าด้วย ธุรกิจเงินทุน ซึ่งเชื่อมโยงกับเงินฝากสาธารณะชน และเงินกู้จากระบบธนาคารนั้น มีกฎเกณฑ์   มีความ “อ่อนไหว”อย่างมาก

 สำหรับ กรณ์  จาติกวณิช มีประสบการณ์เป็นการเฉพาะมากๆ กับ S.G. Warburg & Co    ในฐานะกิจการที่เรียกว่า   Investment banker     ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และเข้ากับสถานการณ์สำหรับเมืองไทยในช่วงตลาดหุ้นบูม และมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตอนที่เข้าเริ่มต้นทำงานพอดี

 จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  กรณ์ มองความสำเร็จของเขาเองอย่างสมดุล  แรงบันดาลใจในฐานะผู้ประกอบเขาดูไม่สูงเท่า คนรุ่นก่อนๆ สิ่งนี้ผมก็ไม่แน่ใจ ว่า เป็นเพราะโอกาส หรือว่า เมื่อเผชิญและผ่านวิกฤติการณ์ปี2540 มาได้ จึงเข้าใจและตกผลึก    อย่างไรก็ตามดูเขาจะถ่อมตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องของ “ดวง” และ”โชค”

 ในช่วงธารินทร์  ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่เขาดูจะควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดี และมีความพร้อมอย่างเต็มที่

 ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโต ในฐานะประเทศที่น่าลงทุนแหล่งใหม่(Emerging market) ของโลกการเงิน

 ในฐานะผู้บริหารธนาคารเก่าแก่ที่เชื่อมโยงกับสังคมวงใน ไม่เพียงฐานะของธนาคารพาณิชย์ในตอนนั้นเท่านั้น หากธนาคารแห่งนี้มีบุคคลเช่นว่านั้นอย่างเข้มข้นด้วย   ยิ่งเมื่อเขาสร้างความสำเร็จในการพลิกโฉมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ขึ้นมาอยู่หัวขบวนได้  ก็ถือเป็นสิ่งได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง  

 อีกมิติหนึ่งของสถานการณ์ในตอนนั้น ที่ควรยกขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่ง   การกำเนิดของเครือข่ายมือผู้นำรุ่นใหม่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกลุ่มหนึ่ง  พวกเขาล้วนมีบทบาทอย่างมากในวงในสังคมการเงินทั้งในฐานะผู้บริหารธุรกิจและผู้กำกับดูแลระบบ   

 นี่คือโอกาสครั้งหนึ่งที่เปิดกว้างสำหรับคนอายุประมาณ 40 ปี   เริ่มจากธารินทร์(  เกิดปี 2488  )  ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาพณิชย์     ชุม พล ณ ลำเลียง  (2490  ) ผู้ช่วยผู้จัดการเครือซิเมนต์ไทย(  แต่มีบทบาทในเชิงยุทธ์ศาสตร์มากกว่าผู้จัดการใหญ่)   ในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ   หรือ  ศุภชัย พาณิชศักดิ์(2489)    เอกกมล  คีรีวัฒน์  ( ( 2488 )ผู้อำนวยการ ฝ่ายที่มีบทต่อวงการเงินไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย  ฯลฯ  ในส่วนขอบๆของวงใน  นั้น อาจจะต้องรวม ปิ่น จักกะพาก (2493  ) หรือ ทักษิณ ชินวัตร( 2492  ) ฯลฯ เข้าไปด้วย  พวกเขาไม่เพียงมีบทบาทในฐานะผู้นำเท่านั้น ในหน้าหนังพิมพ์สื่อเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเคียงคู่เศรษฐกิจเวลานั้น ก็อุทิศเนื้อที่กล่าวถึงบทบาทผู้คนเหล่านี้ในทางบวกอย่างมากมาย

 ถ้าเทียบกับคนอื่นๆแล้ว ธารินทร์    อยู่ในฐานะใจกลางสังคมวงใน ที่มี Prestige มากกว่าใครๆก็ว่าได้

 นอกจากนี้ยังครอบคลุมเครือข่ายต่างประเทศด้วย  เขาก็มีประสบการณ์มากมาย ในการดีลกับนักลงทุนต่างประเทศ  ตั้งแต่การเจรจา ปรับโครงหนี้ ในฐานะเจ้าหนี้ร่วมกับสถาบันการเงินตะวันตกหลายครั้ง  หรือการเจรจาร่วมทุนกันธุรกิจญี่ปุ่น ที่พาเหรดเข้ามา ในฐานะตัวแทนของธนาคารและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

 กรณ์  จาติกวณิช  เผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป

 ในฐานะรุ่นหลัง   เขาได้มองเห็นและเรียนรู้ บทบาทรุนพี่ ซึ่งกำลังมีอิทธิพลในสังคมการเงิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางสังคมเศรษฐกิจไทย  ในช่วงที่เขาทำงานในเมืองไทยพักใหญ่ ในฐานะผู้เดินตาม  เก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมทั้งการอ้างอิงระดับระดับหนึ่ง

 โดยเฉพาะกับ ปิ่น จักกะพาก แห่งเอกธนกิจ  เขาก็รักษาระยะพอสมควร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลักษณะเฉพาะทางธุรกิจของเขา   และในฐานะ“สายสัมพันธ์”

 ตระกูลจาติกวณิช  มีบุคคลสำคัญรับราชการ หรือเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  แม้จะมีความสัมพันธ์กับตระกูลลำซำ (ผ่านเกษม จาติกวณิช)ก็ยังถือว่าไม่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจเก่าแก่ ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ผ่านมา   เช่นเดียวกับธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเอกธนกิจพอสมควรทั้งถือหุ้นและเครือข่ายลูกค้า แต่ด้วยลักษณะธุรกิจที่ไม่เชื่อมโยงกับความเป็นสถาบันการเงิน   ความเสี่ยงในด้านกฎ กติกาของรัฐ จึงไม่มาก

 ที่สำคัญเนื้อแท้ของการเป็นผู้บริหารและถือหุ้นส่วนน้อยในกิจการ ย่อมทำให้กรณ์ได้เรียนรู้ความสมดุลในการทำงานในกิจการส่วนตัว ที่มิได้เชื่อมโยงหรือเข้าไปอยู่ในสังคมวงใน  มิได้เชื่อมโยงกับสายสัมพันธ์ที่ทรงอิทธิพลโดยตรง  ประสบการณ์ตรง  ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ในการบริหาร และการสร้างเครือข่ายธุรกิจตนเองขึ้นมาใหม่

 สาระสำคัญของการบริหาร ในฐานะ Deal maker เกี่ยวข้องมากที่สุด คือ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าสำคัญๆทั้งในและต่างประเทศ นี่คือหัวใจของประสบการณ์ของผู้บริหารคนหนึ่งที่อิงกับกลุ่มคน เครือข่ายวงกว้าง ในฐานะต้องมองผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ในฐานะที่ไม่มีใครคอรบงำใครอย่างถาวร

 ยิ่งเมื่อผ่านประสบการณ์ในวิกฤติการณ์  ท่ามกลางการล่มสลายของอาณาจักรของปิ่น จักกะพาก  ความเสื่อมถอยของระบบธนาคารครอบครัว ซึ่งเคยเป็นฐานที่แข็งแรงที่สุด ทั้งกลุ่มที่มีความสัมพันธ์บางระดับกับตนเอง และกลุ่มอื่นๆ และความผันแปรของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ    การประเมินตนเองของกรณ์ จาติกวณิช จึงน่าจะเป็นการประเมินที่สมดุลมากขึ้น

 เมื่อเข้าสู่วงการการเมือง และในฐานะรัฐมนตรีคลัง  เขาจึงให้ความสำคัญกับ คุณค่าความสัมพันธ์กับบุคคลมากเป็นพิเศษ    จากความสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลในแวดวงการเงินในช่วง15 ปีในการทำงาน ไปสู่ความสัมพันธ์กับบุคคลทางการเมือง หนังสือเรื่องเล่าของเขาพาดถึงบุคคลจำนวนมาก แม้แต่การเล่าเรื่องตนเอง ก็พยายามสะท้อนความเป็นตัวตน มากว่าระบบความคิดในเชิงสังคม

 ต่อจากนั้นกรณ์ พยายามสร้างความสัมพันธ์เชิงคุณค่ากับบุคลลกว้างขึ้นอีก โดยให้ความสำคัญกับทั้ง Old media ตั้งแต่การผลิตหนังสือเล่าเรื่องตนอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อไทยและเทศ ไปจนถึงเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ไทย   อีกด้านหนึ่งเขาให้ความสำคัญ   Social media   มากทีเดียวด้วยการสร้าง website, blog, Hi5 และ Twitter เพื่อสื่อสาร โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชั้นกลาง

 จากนี้ไป  กรณ์  จาติกวณิช ควรข้ามพรมแดนจากความสัมพันธ์กับบุคคล กลุ่มบุคคล  สู่การเสนอระบบความคิดสะท้อนยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจนมากขึ้น   ถือเป็นก่ารยกระดับความเป็นผู้นำ จากให้ความสำคัญเฉพาะหน้ากับความสำเร็จของตนเอง ทั้งในฐานะนักธุรกิจ หรือนักการเมืองแบบเดิม สู่อุดมการณ์ทางสังคม ในฐานะผู้นำในอนาคต

กรณ์  กับ ธารินทร์ (1)

กรณ์ กับ ธารินทร์(2)

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: