ผมเคยคิดว่า ปรากฏการณ์เกาหลีในจอทีวีไทยนั้นดูเกินพอดี สักพักคงจะค่อยๆลดระดับไป แต่ผ่านหลายปีแล้วดูเหมือนปรากฏการณ์นั้นได้ขยายวงมากขึ้น ออกจากจอทีวีไปสู่กระแสความนิยมสินค้าเกาหลี(โดยเฉพาะConsumer electronics) ที่สำคัญ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย
สิ่งที่พยายามจะเสนอ มิใช่มาจากการค้นคว้าวิจัยตามสำนวนนักวิชาการไทย หากอรรถาธิบายปรากฏการณ์รอบๆตัวในชีวิตประจำวัน ในฐานะผู้ชมรายการทีวีทั้งฟรีและเสียเงิน อ่านและค้นหาข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตและสื่อสิ่งพิมพ์ ตลอดจนประสบการณ์ตรง อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ผมเคยเขียนถึงเกาหลีใต้มาบ้าง เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน งานเขียนเหล่านั้นเป็นเหมือน “จิกซอร์”ชิ้นเล็กๆ สามารถเชื่อมต่อประสบการณ์ใหม่ได้พอสมควร
เคยเขียนถึง “เทคนิคทางธุรกิจตะวันตก” กับ “ประสบการณ์จากตะวันตก” ว่าเป็นคนละเรื่องกันไว้ เมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว ในช่วงเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตครั้งใหญ่พร้อมๆกับบทบาทพวกMBA ในช่วงนั้นรถยนต์เกาหลีพยายามเจาะตลาดไทย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ นับเป็นงานเขียนเรื่องหนึ่ง ยกขึ้นมาอ้างอิงบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน การปาฐกถา อภิปราย หรือสนทนาวงแคบๆ
“บริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้เคยมีประสบการณ์อันเจ็บปวดของเรื่องทำนองนี้มาแล้ว พวกนักเรียนนอกมักมีบทบาทขยายตลาดในต่างประเทศ วันดีคืนดีพวกหัวนอกเหล่านั้น ได้ทำปฏิทินปีใหม่ภาพผู้หญิงแต่งตัวโชว์เนื้อหนังมังสา การณ์กลับปรากฏว่า ลูกค้าในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปต่อต้านกันอย่างหนัก ผู้บริหารต้องตัดสินใจเรียกคืน พร้อมกับบทสรุปว่า การส่งพนักงานไปเรียนต่างประเทศที่ผ่านมานั้น ไม่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จ พวกเขาเพียงรับความรู้ทางเทคนิคมาอย่างกระท่อนกระแท่น ดังนั้นบริษัทจึงจัดงบประมาณกับแผนการใหม่อีกเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อส่งพนักงานไปเรียนเมืองนอก มีเป้าหมายใหม่ ให้พวกเขาไปใช้ชีวิตไปเที่ยว สนทนา ดื่มเหล้า ฯลฯ เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ
ว่าไปแล้วภาพนั้นสะท้อนมายังผู้บริหารธุรกิจชาวเกาหลีส่วนใหญ่ด้วย พวกเขาชอบแต่งกายชุดสากล แต่กลับสวมถุงเท้าสีขาว ถุงเท้ากีฬา ซึ่งทหารอเมริกันใประจำที่ฐานทัพนเกาหลีใต้ใช้เวลาเล่นกีฬา”(ผมเคยเสนอใน “ผู้จัดการรายวัน” ปี 2536 ถ้าจำไม่ผิด อ้างมาจากบทความใน Asian wall street journal อ่านระหว่างเดินทางไปดูงานระบบการพิมพ์ผ่านดาวเทียมที่เกาหลีใต้)
บริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้จะกล่าวถึงต่อจากนี้ อาจเป็นรายเดียวกับกับข้างต้นก็ได้
Samsung ก่อตั้งเมื่อประมาณ70ปี จากโรงงานน้ำตาล จนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย มีแรงบันดาลใจและความพยายามในการขยายกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่เรียกว่าConsumer electronics เริ่มต้นจากการสร้างโรงงานผลิตทีวีในโปรตุเกส(2525) สหรัฐฯ(2527)และอังกฤษ(2530) จากนั้นเริ่มต้นผลิตจอ LCD รายแรกของโลก โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว(2535-2545)กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ยังอ้างว่าในช่วงเดียวกันนั้นSamsungกลายเป็นเจ้าของConsumer electronics รายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าSONYแห่งญี่ปุ่น พร้อมทั้งเป็นผู้ลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่NOKIA
ภายหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งไทยและเกาหลีใต้เผชิญปัญหาไม่น้อยกว่ากันนัก ในช่วงนั้นSamsungกำลังกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่Consumer electronics ดังกล่าวไว้ข้างบน ผมได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเกาหลีอีกครั้ง ตอกย้ำความมุ่งมั่นการศึกษาเรียนรู้จากตะวันตก
“เกาหลีใต้ มีกระแสการตื่นตัวไปศึกษาต่อต่างประเทศกันมาก ตั้งแต่ระดับมัธยม ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผ่านวิกฤติการณ์มามากเพียงใด Business Week เดือนสิงหาคม2544 รายงานว่าตัวเลขการเรียนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปี1998 (2541) จากระดับไม่ถึง70,000คนขึ้นสู่ระดับ200,000คนในปี2000(2543) ชาวเกาหลีใต้ชนชั้นกลางบางคนทุ่มเทเงินทองประมาณ70%ของรายได้ทั้งหมด เพื่อการศึกษาของบุตรหลานในต่างประเทศ
ในปี2000ชาวเกาหลีใต้ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นระบบการศึกษาแบบตะวันตกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ20% สำหรับนิวซีแลนด์ ชาวเกาหลีใต้เป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุด สนใจเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา “ (จากบางตอน ในหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” ปี2545)
แม้ว่าพอได้รับรู้มาบ้างว่า ละครเกาหลีเป็นที่นิยมพอสมควรในเมืองไทย แต่กลับมีโอกาสได้ชมอย่างจริงจังที่ออสเตรเลีย ระหว่างขับรถท่องเที่ยวกลางปี2549 เรานัดหมายบุตรชายคนโตซึ่งเรียนมัธยมที่นิวซีแลนด์ให้มาสมทบที่ซิดนีย์จุดเริ่มต้นโปรแกรมการท่องเที่ยวของครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ตอนคำๆเรานั่งดูละครเรื่องหนึ่งด้วยกัน ตามข้อเสนอของบุตรคนโต
Princess Hour’s เคยออกทีวีไทยมาก่อนแล้ว เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวสามัญชนกับรัชทายาท อาจวิเคราะห์ได้ว่าคนไทยชอบกันมาก อาจจะมาจากความเชื่อมโยงจินตนาการผูกพันกับชนชั้นสูงอย่างเหนียวแน่นมาช้านาน เป็นการถ่ายทอดจินตนาการและอารมณ์จากรุ่นสู่รุ่น ทำนองเดียวกับ “ปริศนา”ของกฤษณา อโศกสินซึ่งถ่ายทำมาแล้วหลายเวอร์ชั่น
บุตรชายบอกว่า เป็นละครที่คนเอเชียดูกันมาก ช่วงนั้นดูเขาตื้นเต้นกับละครเกาหลี แต่ในปีต่อมาเขา(อายุ15 ปี)กลับไม่สนใจอีกเลย โดยบอกว่า”ตาสว่างแล้ว”ผมคิดว่าเป็นอีกขึ้นของพัฒนาการความคิดอ่าน อย่างไรก็ตามเขาก็มีเพื่อนชาวเกาหลีหลายคน บางคนมาเที่ยวเมืองไทย มาแวะเยี่ยมบ้านเราตอนปิดเทอมด้วย
ต่อจากนั้นผมมีโอกาสได้ชมเกมโชว์เกาหลีทาง Pay-TVพร้อมกับบุตรชายคนเล็ก เขาบอกว่าดูไว้เพื่อคุยกับเพื่อนๆ โรงเรียนอินเตอร์ในกรุงเทพฯที่เขาเรียนมีนักเรียนชาวเกาหลีมากกว่า20% แต่ดูแล้วเด็กนักเรียนไทยจะชอบเกมโชว์เกาหลีมากกว่านักเรียนเกาหลีเอง รายการเกมโชว์เป็นภาพเชื่อมโยงบทบาทดาราเกาหลี ตามแนวทางการตลาดความบันเทิงแบบบูรณาการ(เกาหลีเป็นต้นแบบแนวทางการผสมผสาน บทบาทดารา จากนักร้อง สู่การแสดง ละคร ภาพยนตร์ หรืออื่นๆ ผมจำได้ว่าผู้บริหารค่ายเพลงอันดับต้นๆของเมืองไทยคนหนึ่งเคยยอมรับว่าเขาเดินตามแนวทางเกาหลีเช่นกัน) ผมยังมีอคติอยู่ว่า ดาราไทยดูดีไม่แพ้กัน เพียงแต่ดาราเกาหลีให้ภาพการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ และมิติความเป็นมนุษย์มากกว่าบ้าง
ชาวเกาหลีใต้ส่งบุตรหลาน ไม่เพียงไปเรียนในต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเท่านั้น ยังรวมโรงเรียนอินเตอร์ในประเทศไทยด้วย เป็นที่ทราบกันว่าโรงเรียนอินเตอร์ระบบอังกฤษในบ้านเรา มีค่าเรียนถูกกว่าโรงเรียนในสหราชอาณาจักร ดังนั้นนักเรียนชาวเอเชียหรือชาวยุโรปตะวันออกจำนวนหนึ่ง ก็มาเรียนที่นี่แทน กรณีเกาหลีใต้แสดงว่ากลุ่มคนส่งบุตรไปเรียนต่างประเทศมีฐานที่กว้างมาก
โรงเรียนอินเตอร์ไทยบางแห่งมีข้อตกลงและร่วมทุนกับโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษในเกาหลีใต้อย่างเป็นการเป็นงาน ในการจัดส่งนักเรียนเกาหลีมาเรียนที่เมืองไทย Daewon Foreign Language School คือโรงเรียนที่กล่าวถึง โรงเรียนเอกชนก่อตั้งไม่ถึง 30ปี คัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนอย่างเข้มงวด สร้างหลักสูตรที่เรียกว่า Global Leadership Program มีระบบการเรียนเข้มข้นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายให้เด็กเกาหลีสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกโดยเฉพาะใน Ivy League สหรัฐฯ (อ้างจาก New York Times April 27, 2008 Elite Korean Schools, Forging Ivy League Skills)
ถ้ามีคนมาบอกว่าคนไทยไม่เพียงชื่นชอบละคร ภาพยนตร์ เพลงเกาหลีเท่านั้น หากรู้จักดาราเกาหลีใต้ดีพอๆกับดาราไทย ผมจะเชื่อเช่นนั้น
ปรากฏการณ์รอบๆตัว มีเรื่องราวเกาหลีมากกว่านี้ จากดาราภาพยนตร์เกาหลี ชาวเอเชียอีกชาติที่แสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูด นอกจากจีนและญี่ปุ่น จนถึงนักฟุตบอลเกาหลีหลายคนเป็นสมาชิกเอาการเอางานในพรีเมียลีกของอังกฤษ รายการแข่งขันฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก รายการทีวีก็ไม่มีเพียงภาพยนตร์ เกมโชว์และเพลงเท่านั้น หากมีสารคดี พยามเสนอภาพสารคดีมาตรฐานโลก พยายามนำเสนอวัฒนธรรมของเกาหลี เปรียบเทียบกับความยิ่งใหญ่กับจีนและญี่ปุ่น ฯลฯ
สำหรับผมสนใจความเป็นเกาหลีอีกบางมิติ อาทิ ประวัติและประสบการณ์คนอย่าง BAN KI-MOON เลขายูเอ็น หรือผลงานสถาปนิกชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่งทำงานในสหรัฐฯ
Ban Ki-moon ในฐานะคูแข่งคนสำคัญของสุรเกียรติ เสถียรไทย ทั้งสองมีประสบการณ์ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศเช่นเดียวกัน เมื่อดูการศึกษาทั้งคู่แล้ว กล่าวไม่เข้าข้างคนไทย ผมว่าสุรเกียรติ มีโปรไฟล์ที่ดีกว่า เขาทั้งสองจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศตนเอง จากนั้นมีโอกาสเรียนในต่างประเทศโดยเฉพาะการศึกษาระดับโทจากHarvard University เช่นเดียวกันอีกด้วย แต่สุรเกียรติดูดีมากกว่านั้น เพราะมีปริญญาโทอีกใบจากTuft University และจบปริญญาเอกจาก Harvard ด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาประสบการณ์ระดับโลก ต้องยอมรับว่าว่าBan มีมากกว่าสุรเกียรติ (ลองไปอ่านใน www.un.org ) อย่างไรก็ตามผู้คนอาจจะคิดว่าการเลือกเลขายูเอ็น เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ก็แล้วแต่
Jinhee Park และ John Hong สถาปนิกชาวเกาหลีทำงานในสหรัฐ โดยเฉพาะในโครงการนำวัตถุใช้แล้วจากBig Dig project (อาทิ ฟื้นถนนเก่า และเหล็กที่ใช้งานแล้ว) ใช้สร้างบ้านและอาคารพักอาศัยได้อย่างดี Big Digเป็นโครงการปรับปรุงระบบขนส่งผ่านกลางเมืองBostonซึ่งเป็นโครงการใหญ่มาก ใช้เงินจำนวนมหาศาล และใช้เวลานาน ผมรู้จักคนทั้งสองผ่านซีรีย์ชุดหนึ่งของBrad Pittที่เรียกว่าE2 รายการเสนอเรื่องราวความพยายามในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดและมีประสิทธิผล (อ่านและชมได้ที่ www.e2-series.com) ปัจจุบันทั้งJinhee และJohnนอกจากจะได้รับรางวัลงานสถาปนิกต่างๆอย่างมากมายแล้ว ยังสอนหนังสือที่Harvardด้วย
ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องการศึกษามาบ้าง พบว่าดัชนีความสำเร็จของเกาหลี อย่างจับต้องได้ ไมว่าจะเป็นการศึกษาขององค์กรระหว่างประเทศ หรือความพยายามทางการตลาดและธุรกิจของบางสถาบันในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลก ปรากฏว่าเกาหลีใต้มีตำแหน่งอย่างมั่นคง
รายงานวิจัยศึกษาความสามารถของนักเรียนอายุ15ปี ของหน่วยงาน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) เรียกว่าPISA(The Programmed for International Student Assessment)รายงานการศึกษาต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2000 และ 2003 ล่าสุด 2006 เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ในหัวข้อLearning for Tomorrow’s World ว่าด้วยความสามารถในการใช้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน กับการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของวัยรุ่นในประเทศอุตสาหกรรม(กว่า30 ประเทศ)และประเทศที่เป็นพาร์ตเนอร์อีก11ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผลของรายงานระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มท้ายตารางในทุกวิชา ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ค่อนข้างบนๆของตาราง(ดูรายละเอียดใน www.pisa.oecd.org)
ส่วนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกล่าสุดที่จุฬาฯอ้างอิงเป็นพิเศษ(2009 THE – QS World University Rankings) มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทยอยู่อันดันที่138 ขณะที่อันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ (Seoul National University )อยู่ในอันดับ47 ใน200อันดับแรก มหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวอยู่ในนั้น ขณะที่เกาหลีใต้มีถึง3แห่ง ล้วนอยู่อันดับดีกว่าไทยทั้งสิ้น คือKAIST – Korea Advanced Institute of Science & Technology(69) Pohang University of Science And Technology (postech) (134)
ในฐานะผู้ติดตามปรากฏการณ์เกาหลี จึงพยายามศึกษาอย่างรอบด้าน ผมยังอยู่เพียงแค่นี้ ยังไม่ซื้อและไม่คิดจะซื้อสินค้าConsumer electronics ของเกาหลี
เพื่อนส่ง Link มาให้ เข้ามาอ่าน น่าสนใจดี ขอบคุณครับ เดี๋ยวจะติดตามอ่านเรื่อยๆครับ
เรื่องของคุณ กรณ์ ก็ชอบครับ