อุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งนี้ บางคนบอกว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยโลกร้อน บางก็ว่า“นำท่วมข่าวมากกว่านำท่วมจริง” แล้วการแจกถุงยังชีพก็เป็นข่าวครึกโครมทางทีวี ตามมาด้วยมาตรการเยียวยา การผ่อนชำระหนี้ ของรัฐและบรรดาเจ้าหนี้ การรณณรงค์บริจาคเงิน สิ่งของช่วยเหลือของสื่อต่างๆ ดำเนินไปชุลมุนพอสมควร นักวิเคราะห์ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจตามระเบียบอย่างน่าตกใจ บางรายระบุอย่างน้อย 2- 3 หมื่นล้านบาท ตบท้ายด้วย ผู้นำรัฐบาลสำทับว่าจะต้องว่างแผนแก้ปัญหาระยะยาวทั้งระบบ ซึ่งอาจจะหมายถึง อีก2-3 เดือนข้างหน้า เรื่องจะค่อยๆเงียบลงไปอีกครั้งหนึ่ง
ผมเป็นคนหนึ่ง นั่งดูข่าวน้ำท่วมทางทีวีในกรุงเทพฯ บางคนอีกนั่นแหละ บอกว่าเราอยู่สุขสบายเพราะคนต่างจังหวัดรับภาระไว้ แม้มีความสับสนพอประมาณกับปรากฏการณ์นี้ แต่ก็สัมผัสได้ว่ามิติของเรื่องขยายออกไปมากกว่าครั้งใดๆ
เรื่องของป่าไม้ เขื่อน ถนน และ แม่น้ำ ผุดขึ้นมาเป็นเรื่องหยาบๆ ของภาพกว้าง แม้เป็นเรื่องแต่ละเรื่องแยกออกจากกัน ทว่ามีมิติเชื่อมโยงกันเป็นระบบ เช่นเดียวกับวิกฤติการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้นนั้น แท้จริงอยู่ในระบบใหญ่ที่มีปัญหา
ผมมักจะเริ่มต้นตรงนี้เสมอ
ภาพใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย จุดสำคัญเริ่มต้นยุคสงครามเวียดนาม(2507-2518) จากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเข้ามาในภูมิภาคนี้และต่อมาขยายไปทั่วโลก ได้กระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของโลก (จากกลุ่มธุรกิจจากตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐ แล้วมามาด้วยญี่ปุ่น)แสวงหาโอกาสใหม่ในขอบเขตทั่วโลกด้วย ในเวลานั้นเทคโนโลยีต่างๆในระดับโลกก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิตระดับบุคคล (individual)
“ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้ ในทางเศรษฐกิจเกิดการพัฒนาอย่างมากในด้านสาธารณูปโภค ที่เน้นระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบทบางพื้นที่ การเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น เปิดโอกาสเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เพื่อสนองพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ใช้สินค้าเพื่อความสะดวกสบายแบบตะวันตกมากขึ้น กระแสการตื่นตัวรับสินค้าสมัยใหม่ กว้างขวางกลายเป็นการตลาดที่คุ้มต่อการลงทุน “ ข้อความทำนองนี้มาจากงานเขียนเก่าของผมที่อ้างอิงมาแล้วหลายครั้งหลายหน ครั้งนี้ขอนำมาปูพื้น เพื่อเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นที่ไม่เคยกล่าวถึงมาก่อน
สัมปทานป่าไม้
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ยังเหลืออยู่มากในยุคนั้น จากยุคสัมปทานในยุคอาณานิคมเมื่อศตวรรษก่อนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยาม สู่ยุคสัมปทานของกลุ่มอิทธิพลในสังคมไทยเอง เพื่อป้อนตลาดภายในที่มีความต้องการสูงมากขึ้น สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
“จากสถิติพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่มีการบันทึกไว้ในปี 2504 พบว่าขณะนั้นป่าไม้ทั่วประเทศมีอยู่ถึง 273,628 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด 513,115 ตารางกิโลเมตร และเมื่อไล่ดูปีต่อ ๆ มาก็ปรากฏว่าพื้นที่ป่าได้ลดน้อยถอยลงตามปีที่เพิ่มขึ้น
2516 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 221,707 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43.21
2521 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 175,434 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34.15
2528 พื้นที่ป่าไม้เหลือ 149,053 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29.05
เพียงชั่วระยะเวลา 24 ปี ป่าไม้ได้ลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 5,190 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3 ล้าน 2 แสนไร่ต่อปี นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าตามหลักการอนุรักษ์ ที่จะต้องมีไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด เพื่อคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ” อ้างจาก “สัมปทานป่าไม้ บทเรียนจากสายน้ำเลือด” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร http://www.seub.or.th
จากข้อมูลข้างต้นพอจะมองเห็นภาพในมิติที่มากกว่าเศรษฐกิจ ขณะเดียวกับข้อสรุป เป็นสูตรสำเร็จที่ว่าด้วย “น้ำท่วมใหญ่มาจากการตัดไม้ ทำลายป่า” นั่นอาจเป็นข้อสรุปที่ไม่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง แม้ว่าสัมปทานป่าไม้ยังคงมีอยู่บ้าง การลักลอบตัดไม้ยังมีอยู่ แต่สภาพป่าไม้ธรรมชาติของประเทศไทยได้ถูกทำลายอย่างขนานใหญ่และรุนแรง ถึงขั้นเสียความสมดุลของธรรมชาติและระบบนิเวศน์มาแล้วเกือบสามทศวรรษ ที่สำคัญจากนั้นเป็นดัชนีถึงสาเหตุและกระบวนการของพัฒนาการในภาพรวมที่ขาดความสมดุล
สภาพป่าที่ถูกทำลายอย่างมากอย่างมีนัยสำคัญ มีผลต่อธรรมชาติอย่างมากมายอย่างที่เข้าใจกันดี ขณะเดียวกระบวนการซับน้ำและการชะลอน้ำจากกรณีฝนตกใหญ่ที่ประสิทธิภาพแต่เดิมนั่น เป็นระบบที่ไม่ทำงานมานานแล้ว การเคลื่อนตัวของปริมาณน้ำจำนวนมาก จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากขึ้น
แม้ว่ากรณีนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม รวมทั้งเป็นรากเหง้าของอุทกภัยครั้งใหญ่ แต่มิใช่ทั้งหมด
เขื่อน
การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเริ่มต้นในระยะเดียวกับขบวนการสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยดำเนินไปอย่างเข้มข้น พื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง
เขื่อนสำคัญของไทย ก่อสร้างในระยะนั้น ด้วยภารกิจหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ซึ่งขยายตัวตลอดเวลาตามความเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญได้แก้ เขื่อนภูมิพล(เปิดดำเนินการ2507) เขื่อนสิริกิติ์ (2515) เขื่อนศรีนครินทร์ (2524) และ เขื่อนวชิราลงกรณ์ (2527) ถือว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ในบรรดาทั้งหมดเกือบ20 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ
การสร้างเขื่อน เป็นยุทธ์ศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่า ไม่เพียงสร้างผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น หากได้มีจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงจำนวนมากด้วย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนในระยะหลังๆดูเหมือนยากขึ้น ด้วยกระแสต่อต้านของพวกอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยอ้างว่าการสร้างเขื่อน ต้องทำลายระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการทำลายพื้นที่ป่าไปจำนวนมาก
แผนการสร้างเขื่อนในระยะต่อมา จึงมียุทธ์ศาสตร์พลิกแพลงมากขึ้น โดยเฉพาะว่าด้วยการกักเก็บน้ำไว้ในในการเกษตรในยามฝนแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในกรณีฝนตกเกินขนาด ว่าไปแล้วประเทศไทย มีเขื่อนหรือแหล่งเก็บน้ำตามแนวคิดข้างต้นมีขนาดต่างๆ ประมาณ 70 แห่งที่ดูแลโดยกรมชลประทาน เป็นระบบน้ำมีวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นภาพสะท้อนสังคมไทย มีพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในการระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเกษตรกรรมอยู่มาก
ผมยังไม่เห็นรายงานประเมินในประเด็นสำคัญของยุทธ์ศาสตร์ใหม่นี้ แต่ในยามฝนแล้ง ความขัดแย้งระหว่างใช้นำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้ากับการปล่อยน้ำเพื่อช่วยเกษตรกร เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ในอีกมุมหนึ่ง วิกฤติการณ์น้ำท่วมยังเกิดขึ้นต่อไปอย่างคราวนี้ ดูเหมือนรุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ บางคนบอกว่าหากไม่เขื่อนอาจจะรุนแรงกว่านี้อีก
แต่ปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือปริมาณน้ำจำนวนมากไปรวมกันในที่เดียว เกินความจุของเขื่อน เมื่อถูกปล่อยออกมาจำนวนมากในเวลาอันสั้น มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ใต้เขื่อนที่ไม่มีระบบรองรับน้ำทิ้งจากเขื่อนปริมาณมากๆอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ แนวคิดการกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณเขื่อน เชื่อว่าสามารถควบคุมและจัดการได้ดีกว่าการปล่อยไปตามธรรมชาติ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ โดยอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่ามีนักบริหารจัดการที่มีความสามารถ ไม่เพียงมีเครื่องมือสมัยใหม่แสดงตัวเลขปริมาณน้ำไหลที่น่าตกใจเท่านั้น หากต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ วางแผนและบริหารจัดการ ป้องกันเหตุ ล่วงหน้า (Preventive Strategy)
บทสรุปว่าด้วยบทบาทเขื่อนที่ทรงพลัง ที่แท้จริงมีทั้งด้านบวกและลบในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำชนิดต่างๆ ที่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ อาจเรียกว่าเป็นระบบน้ำสถิต อยู่กับที่ของแต่ละแห่ง มิได้มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายโดยตรง ไม่ว่าจะมีปริมาณมากเพียงใด ก็ไม่สามารถรับน้ำได้หมดในกรณีฝนตกใหญ่ และเป็นไปไม่ได้ที่ฝนจะตกอย่างเจาะจงในปริมาณพอดีลงบริเวณที่มีระบบเก็บน้ำ
ระบบเชื่อมโยงที่สำคัญ หมายถึงแม่น้ำ ลำคลองที่สร้างขึ้นมาใหม่ โครงข่าย แม่น้ำ ลำคลองจำนวนมาก สัมพันธ์และเชื่อมโยงกับระบบน้ำสถิต จะกลายเป็นระบบน้ำพลวัตร ไม่เพียงเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำ หากการเคลื่อนย้าย ถ่ายเท จะดำเนินไปอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น
ถนน-แม่น้ำ ลำคลอง
สังคมไทยเริ่มจุดเปลี่ยนจากสังคมริมแม่น้ำไปสู่โมเดลการขยายระบบเศรษฐกิจไปตามถนนอย่างชัดเจน ก็คงในช่วงเดียวกันที่อ้างอิงมาข้างต้น
การสร้างถนนหนทางจำนวนมาก เชื่อมโครงข่าย การเดินทาง และขนส่งโดยรถยนต์ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในยุคใหม่ รวมทั้งเพื่อความมั่นคง การทหารในยุคสงครามเวียดนาม และการต่อสู้ภัยคอมมิวนิสต์ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ความทันสมัย ตั้งแต่ยุคนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันการสร้างถนนหลายสาย ได้ทำลายแหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลองไปโดยอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำนวนมาก ไม่ต้องอ้างอิงอื่นไกล ศึกษาพัฒนาการกรุงเทพมหานครดูก็ได้ ในขณะเดียวกันเครือข่าย เส้นเลือดในอดีต–แม่น้ำ ลำคลอง ถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้
ระบบเศรษฐกิจถนน สร้างชุมชนใหม่ ชุมชนในที่สูงขึ้น ไม่ว่าอาคารสำนักงาน โรงงานและ บ้านเรือน ล้วนปักหลัก หนักแน่น ด้วยความเชื่อว่า พื้นที่ระดับถนนคือพื้นที่ใหม่หรือภูมิทัศน์ใหม่ ของชีวิตผู้คนในอาคารคอนกรีตใช้ประโยชน์ตั้งแต่ชั้นล่างขึ้นไป ย่อมมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย กว่าอาคารบ้านเรือนในอดีต
การขยายตัวของชุมชนใหม่ โดยเฉพาะชุมชนเมือง คาดการณ์กันว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเร็วๆนี้ กานต์ ตระกูลฮุน ผู้จัดการใหญ่เอสซีจีกล่าวในงาน Sustainable Development Symposium 2010 ในตอนหนึ่งว่าด้วยSocial Movement ว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า (2050) ประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 พันล้านคน ส่วนใหญ่ (98%) มาจากประเทศกำลังพัฒนา และสภาพเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า (Double Urbanization)
แม่น้ำ ลำคลองไม่เพียงไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ตามแนวเศรษฐกิจทุนนิยมสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์จะถูกละเลย และขาดการพัฒนา แม้น้ำสายเก่ายังมีอยู่เท่าเดิม มิหนำซ้ำไม่ได้ดูแล รักษา ขุดลอกร่องน้ำ มีสภาพเสื่อมโทรมลงทุกขณะ นักวางแผนยุทธ์ศาสตร์ของสังคมไทยไม่อาจจะมองเห็นคุณค่าของแม่น้ำ ลำคลองเชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่
ในเชิงภูมิศาสตร์ ยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจถนน การตัดถนนใหม่และปริมาณเส้นทางที่มีมากขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการการขยายพื้นที่ของชุมชนเมือง ย่อมทำให้พื้นที่ราบลุ่มเดิม สำหรับเกษตรกรรมและการรับน้ำลดลงอย่างมากในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้โครงข่ายถนนคือ ระบบการตัดแบ่งพื้นที่ เป็นขนาดเล็กๆ จำนวนมากมายทั่วประเทศ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ปรากฏการณ์นำท่วมซ้ำซากในบางบริเวนน่าจะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขเช่นนี้
สำหรับประเทศในป่าฝนเขตร้อนซึ่งฝนยังตกต้องตามฤดูที่ควรจะเป็นโดยเฉลี่ย กับแนวโน้มกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมุมมองที่กว้างขึ้น ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและส่งแวดล้อม สัมพันธ์อย่างสมดุล กับยุทธ์ศาสตร์—แหล่งผลิตอาหารของโลกสมัยใหม่
ระบบเศรษฐกิจที่ว่านี้ มีความสัมพันธ์กับถนน-แม่น้ำลำคลองอย่างสมดุลมากขึ้น(คำว่า สมดุล มีความหมายสำคัญและยิ่งใหญ่มากในยุคนี้)
การพัฒนาแม่น้ำลำคลองเดิม การสร้างแม่น้ำ ลำคลองใหม่ ทั่วประเทศ (จำนวนมาก) เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ด้วยแนวคิดเข่นเดียวกันถนน โดยเชื่อมโยงไปยังเขื่อน แหล่งน้ำ หรือระบบน้ำสำคัญอื่นๆ(เช่น ระบบชลประทาน)ที่มีอยู่ในขอบเขตทั่วประเทศ
เครือข่ายแม่น้ำ ลำคลองใหม่ด้วยการการจัดการเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแดล้อมกับระบบเศรษฐกิจริมน้ำใหม่ เป็นทางเลือกและสร้างสมดุลโดยรวมมากขึ้น ชุมชนใหม่นี้จะเป็นโมเดลและบทเรียนสำหรับการพัฒนา และปรับเปลี่ยน ชุมชนริมน้ำดั่งเดิมให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น( Regeneration)
เครือข่ายแม่น้ำ ลำคลอง เป็นเครือข่ายคมนาคม ขนส่ง มีระบบการบริหารจัดการอย่างจริงจัง มิใช่เพียงทางเลือก หากเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกับระบบถนนด้วย
เครือข่ายแม่น้ำลำคลอง สร้างภูมิทัศน์และ สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ เป็นการฟื้นฟู สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งถนนไม่มีทางทำได้
เครือข่ายแม่น้ำ ลำคลอง เชื่อมโยงกับระบบน้ำสถิตอื่นๆ กลายเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ยังประโยชน์มากกว่า การสนับสนุนเกษตรกรรมสมัยใหม่ และการป้องกันอุทกภัย
การแก้ปัญหาหาแบบ”กรุงเทพฯ” ด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำสูง2.5 เมตร ยาวกว่า 70 กิโลเมตร เพื่อ “เอาตัวรอด”ของคนกลุ่มเดียวด้วยการอ้างระบบเศรษฐกิจใหญ่นั้น เป็นแนวคิด มาจากมุมองที่”คับแคบ” ด้วยสายตาอันสั้นมากๆ