ทิศทางปี2553/4(4)สังคมหัวเมืองและชนบทซับซ้อนมากขึ้น

ว่าไปแล้ว ว่าด้วย  หัวเมืองและชนบท ไม่ใช่เรื่องใหม่   เพียงแต่เป็นความพยายามปะติดปะต่อความคิด จากข้อเขียนหลายชิ้น ต่างกรรมต่างวาระ จากความคิดค่อนข้างกระจัดกระจายในช่วงที่ผ่านมา ให้อยู่ในภาพเดียวกัน รวมทั้งอาจปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองให้เข้ากับภาพรวมและแนวโน้มด้วย

 จาก Contract farming สู่ plantation

ระบบเศรษฐกิจในชุมชนเกษตรดั้งเดิมของไทย เริ่มต้นปะทะกับปรากฏใหม่อันน่าทึ่งในช่วงท้ายของยุคสงครามเวียดนาม แม้จะเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆเมื่อเปรียบเทียบกับอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่  แต่ถือเป็นหน่อของวิวัฒนาการสำคัญ  ของโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ในชนบท

“ซีพีได้ค้นพบและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างผลสะเทือนไปทั่วชนบทไทย  ด้วยสิ่งเรียกว่า Contract farming   เป็นแนวคิดการขยายตัวทางธุรกิจโดยอาศัยโมเมนตัมทางสังคม แรงขับดันการพัฒนาการผลิตอาหารเชิงการค้า ….ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารของไทย และมีความพยายามขยายตัวในระดับภูมิภาคอย่างจริงในฐานะธุรกิจไทยรายแรกๆ    ท่ามกลางกระแสที่กล่าวถึงซีพีว่า เป็น ธุรกิจผูกขาด มาพรอมๆกับบทบาทในฐานะผู้นำการปฏิวัติการผลิตอาหาร”(อ้างจากเรื่อง อิทธิพลซีพี”)

แม้ว่าระบบเศรษฐกิจเกษตรดั้งเดิมตั้งแต่ยุคหลังสังคมโลกครั้งที่สอง ในช่วงข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ถือว่าเป็นช่วงของความพยายามพัฒนา   ด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูก และระบบชลประทาน แต่จากกรณี Contract farming เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ว่าด้วยการจัดการ เทคโนโลยี่สมัยใหม่    ด้วยการขยายจินตนาการเกษตรกรรมให้กว้างขวางออกไปจากเดิม

จากนั้นอีกเกือบสามทศวรรษ  Contract farming ซึ่งจำกัดบทบาทและลดอิทธิพลลงพอสมควร โดยแยกตัวเองออกจากระบบเศรษฐกิจเกษตรดั้งเดิม โดยเฉพาะ การทำนา ทำไร่ ซึ่งพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า แม้จะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอยู่ แต่โอกาสของเกษตรกรในระบบนั้นไม่ได้ดีขึ้น

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป Contract farming จึงกลับมามีบทบาท และยกระดับขึ้นอีกขั้น ในฐานะแกนกลางของระบบการจัดการเกษตรกรรมสมัยใหม่กับพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า plantation

กลุ่มไทยเจริญ ในฐานะผู้ครอบครองที่ดินจำนวนมาก  รวมทั้งในพื้นที่การเกษตรเดิมด้วย  มองเห็นโอกาสในการต่อยอดจากระบบครึ่งๆกลางๆ ในเป็นโมเดลใหม่ ด้วยการพัฒนาโมเดลมาจากประสบการณ์ของซีพี ในประเทศกำลังพัฒนา  เข้ากับระบบเกษตรกรรมของประเทศทุนนิยม

“Plantation ต้องการพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก เนื่องด้วยกลุ่มไทยเจริญเป็นเจ้าของพื้นที่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะภาคกลาง ย่อมสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ได้ง่าย ด้วยการควบคุมปัจจัยการผลิตพื้นฐาน และสร้างดึงดูดต่อรายย่อยให้เข้ามาในวงโคจร

Contract farming เป็นระบบที่ใช้มานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในเมืองไทยต้องยกให้ซีพี   ระบบนี้ได้ดึงรายย่อยเป็นดาวบริวาร ด้วยระบบที่ซับซ้อนมากกว่าการรับซื้อและประกันราคา   เป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นด้วยระบบธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้รายย่อยต้องจ่ายเงินคืนที่ได้การขายสินค้า กับปัจจัยการผลิตที่ควบคุมจากเจ้าของระบบ ตั้งแต่ พันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย แม้กระทั่งสินเชื่อ เชื่อว่าไทยเจริญจะค่อยๆพัฒนาสินค้าปัจจัยการผลิตใหม่ๆให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เป็นได้”  (อ้างจากเรื่อง ไทยเจริญ(4)เกษตรกรใหญ่ )

เป็นชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของภาพรวมสถานการณ์ใหม่ในชนบทไทย  กำลังเดินหน้าเข้าสู่ของระบบเศรษฐกิจพื้นฐานซับซ้อนขึ้น

จากโรงงานในกรุงเทพฯ สู่นิคมอุตสาหกรรม

ในแง่ระบบจ้างงาน และทักษะของผู้คนในชนบท  เริ่มต้นการเคลื่อนย้ายและปรับตัวอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบชุมชนเมืองตั้งแต่ยุคเดียวกันนั้น     การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรในชนบทมาสู่โรงงานในกรุงเทพฯและชานเมือง(บางส่วนออกไปทำงานในต่างประเทศด้วย)  ยุคนั้นอุตสาหกรรมรมพื้นฐานของไทยขยายตัวอย่างมาก มาจากกระบวนการโยกย้ายอุตสาหกรรมเก่าจากประเทศอุตสาหกรรม   โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ   ได้สร้างโอกาสใหม่ให้แรงงานจากภาคเกษตร ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการพัฒนาทักษะใหม่

ถือเป็นประสบการณ์สำคัญของแรงงานภาคเกษตรในการทำงานในแตกต่างออกไปเดิม  สร้างความชำนาญใหม่กับการทำงานที่ระบบมากขึ้น   ถือเป้นกระบวนการพัฒนาแรงงานจากภาคเกษตร สู่อุตสาหกรรม และพัฒนาต่อเนือง สู่ภาคบริการได้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง

ขณะเดียวกับแรงงานจากชุมชนชนบท ก็เริ่มคุ้นชินกับระบบการจ้างงานที่มีลักษณะถาวรมากขึ้น

“จากนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลในจังหวัดชลบุรีและระยองเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งปี 2525   เป็นต้นมา ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมกระจุกในอาณาบริเวณนี้ มากที่สุดอย่างน้อย 13 แห่ง  

นับเป็นว่าภาคอุตสาหกรรมการขยายตัวสู่หัวเมืองและชนบทอย่างเป็นกระบวนการมากที่สุด      ต่อเนื่องจากแนวทางนี้ รัฐบาลได้ขยายเขตการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปในขอบเขตทั่วประเทศ มากกว่า 35 แห่ง ยังไม่รวมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่สร้างขึ้นสำหรับกิจการในเครือข่ายของตน ไม่ว่า กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มกระทิงแดง และเกษตรรุ่งเรือง

ชนบทไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในเชิงสังคมครั้งใหญ่   อาชีพเกษตรกร  เริ่มเคลื่อนย้ายไปสู่โรงงานมากขึ้น   ในช่วงตุลาคม2516 แรงงานจากชนบาท ต้องเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองหลวงโดยตรง แต่จากนั้นมา ทางเลือกมีมากขึ้น เพียงเคลื่อนย้ายไปสู่หัวเมือง หรือแม้กระทั่งอยู่ในชนบท ที่ถูกพัฒนาใหม่” ( ตุลาคม 2552 เมืองรุกชนบท)

ความสัมพันธ์ของสังคมเกษตรเดิมเปลี่ยนแปลงไป  โดยเชื่อมโยงกับภาคนอกเกษตรกรรมมากขึ้น ไม่เพียงเศรษฐกิจ  ยังรวมถึงประสบการณ์ ทักษะ และระบบการจ้างงานด้วย

จากเอเย่นต์สู่เครือข่ายค้าปลีก

ธุรกิจในหัวเมืองส่วนใหญ่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ดูเหมือนเป็นอิสระนั้น แท้ที่จริงส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายหนึ่งทางการค้าของธุรกิจจากเมืองหลวง

ธุรกิจนายหน้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลัก ๆ คือที่มาของกลุ่มธุรกิจใหญ่ในหัวเมือง เริ่มจาก  เอเย่นต์ปูนซีเมนต์ เอเย่นต์สุรา ในยุคเมื่อ 4-5ทศวรรษที่แล้ว จนมาถึงตัวแทนขายสินค้าเกี่ยวกับไลฟืไตล์ ในยุคต่อจากนั้น

มีธุรกิจบางส่วน มีลักษณะภูมิภาคจริง ๆ ที่ผลิต-ขายสินค้า หรือบริการสำหรับในท้องถิ่น   ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหัตถกรรม และงานฝีมือ เช่นในภาคเหนือ

ธุรกิจหัวเมืองส่วนใหญ่ จึงดำรงอยู่ได้ด้วยระบบสื่อสารระหว่างเมืองหลวง กับหัวเมืองและชนบทไม่สะดวก ความจำเป็นต้องมีเครือข่ายอิสระจากส่วนกลาง

“ธุรกิจตัวแทน ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และเข้าใจผู้บริโภคท้องถิ่น ธุรกิจครอบครัวในหัวเมืองเหล่านั้น สะสมความมั่งคั่ง จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจอิทธิพลมากขึ้น ๆ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บางกลุ่มก็สามารถพัฒนาตนเองเป็นธุรกิจระดับชาติได้ อาทิ กลุ่มบุญสูง และภัทรประสิทธิ์ แต่ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว

เมื่อการคมนาคม สื่อสาร ระหว่างเมืองหลวง หัวเมืองและชนบทสะดวกขึ้น  ธุรกิจส่วนกลางสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจได้เองมากขึ้น

ในเวลาเดียวกัน การรุกคืบของธุรกิจจากส่วนกลาง (หมายถึงธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปจนถึงเครือข่ายของธุรกิจระดับโลก) เข้าสู่ต่างจังหวัด เท่ากับไปแข่งขันกับธุรกิจหัวเมืองโดยตรง” ( การต่อสู้ของธุรกิจท้องถิ่นไทย)

จากนั้นเครือข่ายธุรกิจใหญ่จากเมืองหลวง ก็ขยายกิจการด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย  “สายสัมพันธ์ท้องถิ่น” ขณะเดียวกลุ่มลูกค้าเดิมที่เน้นเฉพาะกลุ่มระดับบนในท้องถิ่นและชนบท เริ่มขยายฐานกว้างมากขึ้น นั่นคือการคืบคลาน เติบโตอย่างเนื่องและขยายวงอย่างรวดเร็วของเครือข่ายการค้าสมัยใหม่

โดยเฉพาะเครือข่ายการค้าปลีกขยายตัวทั่วประเทศ  เป็นตัวเร่งที่สำคัญมาก ระบบการค้าดั้งเดิมของผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เผชิญแรงกดัน ในการปรับตัวอย่างรุนแรง

เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ เริ่มต้นปักหลัก จากเมืองหลวงในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ราวปี 2531เป็นต้นมา  

เพียง2 ทศวรรษจากนั้น เครือข่ายการค้าขนาดใหญ่มีมีความสัมพันธ์กับธุรกิจระดับโลก   โดยเฉพาะ Big C, Tesco Lotus ขยายตัวถึงระดับอำเภอ ขณะที่ 7-Eleven ขยายตัวถึงระดับตำบลสำคัญๆของประเทศ

ผู้ประกอบการทั้งรายกลาง รายเล็ก ในหัวเมือง และชนบท จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก อย่างซับซ้อน กระบวนการที่เกิดขึ้นจากแรงบีบคั้น ได้ทำลายโครงสร้างระบบอุปถัมภ์เดิมไปมาก จนยากที่ผู้คนทั่วไปจะเข้าใจ

จากถนนชนบท สู่โทรศัพท์ไร้สาย

“ถนนชนบทสร้างและพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษมานี้ สอคล้องกับแนวทางการเข้าถึงชุมชนชนบท    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับนโยบาย เริ่มให้ความสำคัญชนบทมากขึ้น พร้อมๆกับความหวาดระแวงชนบทของบางฝ่าย กรมทางหลวงชนบทเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อไม่ถึง10 ปีมานี้ ปัจจุบันกลายเป็นกรมที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก กระแสนี้แรงขึ้นคู่ขนานกับการเติบโตของธุรกิจเครือข่ายจากกรุงเทพฯ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง แนวคิดของคนมองโลกในแง่ดี ว่าด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจของคนชนบทด้วย” (อ้างจาก ยุทธ์ศาสตร์ถนน )

ความสามารถและความสะดวกในการเคลื่อนย้าย และสื่อสารของชุมชนชนบทมีคุณค่ามากทีเดียว   “ถนน”ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ “ความเจริญ” และเป็นชิ้นส่วนสำคัญของคำโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ในหลายทศวรรษมานี้

“ระบบสื่อสารไร้สาย มิเพียงสร้างความร่ำรวยและอิทธิพลอย่างคาดไม่ถึงให้กับผู้มาใหม่ (เช่นกรณี ทักษิณ ชินวัตร) ยังสร้างเครือข่ายการสื่อสารในสังคมอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน   ถือได้ว่าทีบทบาทสำคัญ ให้สังคมชนบทกำลังเปลี่ยนวิถีเป็นเมืองมากขึ้น พึงพิงเมืองมากขึ้น”

ข้อความบางตอนทีผมเคยเสนอไว้  มีอีกด้านหนึ่งที่ควรเสนอด้วย “สังคมชนบทกำลังเปลี่ยนวิถีเป็นเมืองมากขึ้น พึงพิงเมืองมากขึ้น” มีความมายกว้างขึ้นด้วยว่า เรียนรู้เท่าทันเมือง และเกื้อกูลกันระว่างเมืองกับชนบทด้วย

โดยเฉพาะระบบโทรศัพท์ไร้สาย ในช่วงทศวรรษมานี้สร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ชนบทมากที่สุด ปฏิกิริยาของชุมชนชนบทในการตอบสนองการสื่อสารไร้สายอย่างคึกคักนั้น เรา(รวมทั้งผมด้วย) เคยมองว่า เป็นพฤติกรรมตอบสนองแผนการตลาดสมัยใหม่มากเกินไป และบริโภคอย่างไม่จำเป็น   อาจจะต้องปรับทัศนคติใหม่  คุณค่าของสื่อสาร สำหรับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าชุมชนเมือง  ย่อมมีคุณค่ามาก   มากกว่ากระแสนิยม หากเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูล ถือเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังปรากฏชิ้นส่วนย่อยที่เกิดขึ้นอีกหลายปรากฏการณ์   การศึกษาและการเรียนรู้ใหม่ๆเข้าถึงชนบทมากขึ้น ทั้งโดยตรงและความสามารถเข้าถึงชุมชนเมืองง่ายขึ้น  เป็นชุมชนที่เคลื่อนย้าย อพยพตัวเองไปอย่างคล่องตัว แสวงหาโอกาสมากขึ้น ขณะเดียวเริ่มดึงดูดผู้คนเมืองมาสู่หัวเมืองและชนบทมากขึ้น  กระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และทักษะในหัวเมืองและชนบทมีมากขึ้น

จากวันนี้ พื้นที่ที่แบ่งแยกออกจากกันในทางภูมิศาสตร์ ได้กลายเป็นพื้นที่ทางความคิดยุทธ์ศาสตร์ที่หลอมเข้าด้วยกันแล้ว

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: